31 มี.ค. 2022 เวลา 08:49 • ประวัติศาสตร์
เรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ (Fletcher Class Destroyer)
เรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ (Fletcher Class Destroyer) เรือพิฆาตที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกออกแบบขึ้นในปี ๒๔๘๒ เพราะในขณะนั้นแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะต้องทำสงครามกับญี่ปุ่นมีมากขึ้น ทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯ ต้องการเรือพิฆาตแบบใหม่เพื่อที่จะเตรียมรับมือกับเรือพิฆาตของราชนาวีญี่ปุ่นที่ติดอาวุธหนักกว่า และมีความคล่องตัวสูงกว่าเรือพิฆาตแบบต่างๆ ที่กองทัพเรือสหรัฐฯ มีใช้อยู่ในขณะนั้น
เรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี ๒๔๘๕ – ๒๔๘๗ รวมทั้งสิ้นถึง ๑๗๕ ลำ นับว่าเป็นเรือพิฆาตแบบเดียวที่มียอดรวมการสร้างขึ้นใช้งานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ถูกออกแบบมาอย่างลงตัว เป็นเรือที่มีความคล่องตัวสูง มีความเร็วสูงถึง ๓๘ น๊อต ติดปืนใหญ่ขนาด ๕ นิ้ว ๕ ป้อมเดี่ยว มีตอร์ปิโดขนาด ๒๑ นิ้ว จำนวน ๒ แท่นๆ ละ ๕ ท่อยิง ปืนต่อสู้อากาศยานทั้งขนาด ๔๐ ม.ม. และ ๒๐ ม.ม. อีกเป็นจำนวนหนึ่ง และ มีระบบตรวจจับสัญญาณใต้น้ำ พร้อมอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ ทำให้เรือพิฆาตชั้น เฟลทเชอร์ เป็นเรือรบขนาดเล็กที่ทรงอนุภาพ มีขีดความสามารถในการต่อต้านเป้าหมายทั้งสามมิติ เป็นกำลังสำคัญของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในสงครามแปซิฟิก
เรือพิฆาตชั้น เฟลทเชอร์ (ตามแผนแบบ) มีข้อมูลจำเพาะดังนี้
• ประเภท เรือพิฆาต
• ระวางขับน้ำ ปรกติ ๒,๐๕๐ ตัน เต็มที่ ๒,๕๐๐ ตัน
• ความยาวตลอดลำ ๑๑๔.๘๐ เมตร
• ความกว้างที่สุด ๑๒ เมตร
• กินน้ำลึก ๕.๓๐ เมตร
• ระบบขับเคลื่อน เครื่องยนต์กังหันไอน้ำ ๒ แกนเพลา หม้อน้ำแรงดันสูง ๔ ใบ ให้กำลังขับเคลื่อน ๖๐,๐๐๐ แรงม้า ๒ ใบจักรความเร็วสูงสุด ๓๖.๘ – ๓๘ น๊อต
• พิสัยทำการ ๘,๘๕๐ กิโลเมตร ที่ความเร็ว ๑๕ น๊อต
• พลประจำเรือ ๓๒๙ นาย
• อาวุธประจำเรือ
o ปืนใหญ่ขนาด ๕ นิ้ว/๓๘ คาลิเบอร์ ป้อมเดี่ยว ๕ ป้อม (ภาคหัวเรือ ๒ ป้อม และภาคท้ายเรือ ๓ ป้อม) ควบคุมการยิงโดยระบบควบคุมการยิงแบบ มาร์ค ๓๗ กับ เรดาร์ควบคุมการยิงแบบ มาร์ค ๒๕ เชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ควบคุมการยิงแบบ มาร์ค ๑ เอ
o ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๑.๑ นิ้ว/๗๕ คาลิเบอร์ แท่นแฝดสี่ ๑ แท่น ที่หอปืนภาคท้ายเรือระหว่างป้อมปืนหลายเลข ๓ และ ๔
o ปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด ๑๒.๗ ม.ม. แท่นเดี่ยว ๖ แท่น ต่อมาหลังญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ ได้มีการแก้ไขแผนแบบ โดยแทนที่ปืนกลขนาด ๑๒.๗ ม.ม. ด้วยปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๒๐ ม.ม. แท่นเดี่ยว ๔ แท่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้อากาศยาน
o แท่นยิงตอร์ปิโดแบบ มาร์ค ๑๔/๑๕ จำนวน ๒ แท่นๆ ละ ๕ ท่อยิง ติดตั้งอยู่บริเวณกลางลำเรือด้านหน้าและด้านหลังปล่องควันปล่องที่สอง
o อาวุธต่อสู้เรือดำน้ำ รางปล่อยลูกระเบิดน้ำลึก ๒ ราง แท่นยิงลูกระเบิดน้ำลึกแบบ เค อีก ๖ แท่น
หลังจากเริ่มทยอยนำเรือพิฆาตชั้น เฟลทเชอร์ เข้าประจำการได้ไม่นาน ในช่วงปี ๒๔๘๕ ก็มีการเปลี่ยนปืนต่อสู้อากาศยาน ๑.๑ นิ้ว/๗๕ คาลิเบอร์ แท่นแฝดสี่ ที่หอปืนด้านท้ายเรือ มาเป็นปืนต่อสู้อากาศยาน ๔๐ ม.ม. แท่นคู่ เนื่องจาก ปืน ๑.๑ นิ้ว จะมีปัญหาเกี่ยวกับความร้อนของลำกล้องเมื่อทำการยิงต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเพิ่มปืนต่อสู้อากาศยาน ๔๐ ม.ม. ที่ท้ายเรืออีก ๑ แท่นคู่ และ ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๒๐ ม.ม.เข้าไปอีก กราบละ ๑ แท่น เป็น ๖ แท่นเดี่ยว
USS.Helford (DD 480) หนึ่งในสาม ของเรือพิฆาตชั้น เฟลทเชอร์ ที่ได้รับการดัดแปลงติดตั้งเครื่องบินทะเลและอุปกรณ์ดีดเครื่องบินพร้อมเครน
ต่อมาในปลายปี ๒๔๘๕ มีแนวความคิดในการนำเครื่องบินทะเลมาร่วมปฏิบัติการกับเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ ด้วยการติดตั้งรางดีดเครื่องบินทะเลพร้อมเครนสำหรับยกเครื่องบินที่บริเวณด้านหลังปล่องควันปล่องที่สอง การดัดแปลงแบบในครั้งนี้ต้องถอดป้อมปืนขนาด ๕ นิ้วออก ๑ ป้อม หอปืนต่อสู้อากาศยาน ๔๐ ม.ม. และแท่นตอร์ปิโดแท่นที่สองออกไป จะมีเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ จำนวน ๖ ลำ ได้รับการดัดแปลงตามโครงการนี้ แต่มีเพียง ๓ ลำเท่านั้นที่ได้รับการดัดแปลง
เนื่องจากเรือพิฆาตซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดไม่ใหญ่มีความกว้างของลำตัวไม่มากนัก หลังจากทำการปล่อยเครื่องบินทะเลออกไปแล้ว เมื่อเครื่องบินร่อนลงในทะเลจะวิ่งเข้ามาเทียบข้างตัวเรือเพื่อในเครนประจำเรือยกเครื่องบินขึ้นเก็บบนเรือ การใช้เครนยกเครื่องบินทะเลขึ้นเก็บบนเรือนั้นสามารถทำได้ระหว่างการทดสอบในสภาพอากาศปรกติ แต่ในระหว่างนำออกทดสอบในปฏิบัติการจริงในมหาสมุทรที่มีสภาพคลื่นลมแรง การใช้เครนยกเครื่องบินทะเลเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากและยุ่งยากในการปฏิบัติการมาก กองทัพเรือสหรัฐฯ เลยตัดสินใจยกเลิกโครงการและถอดอุปกรณ์ดีดเครื่องบินทะเลกับเครนออก ก่อนจะนำเรือทั้งสามมาปรับปรุงติดอาวุธให้เป็นไปตามมาตรฐานของเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ เหมือนเดิม
ภาพนี้แสดงให้เห็นตำแหน่งการติดอาวุธปืนต่อสู้อากาศยานยนเรือพิฆาตชั้น เฟลทเชอร์ เริ่มจากหมู่ปืน ๒๐ มม. ภาคท้ายเรือ (ปืน ๒๐ มม. แท่นเดี่ยว ๓ แท่น) ระหว่างป้อมปืน ๕ นิ้ว ป้อมที่สามและสี่ เป็นปืน ๔๐ มม. แท่นคู่ บนหอปืน ด้านข้างแท่นยิงตอร์ปิโดทั้งสองกราบเป็นหมู่ปืน ๒๐ มม. กราบละ ๒ แท่นเดี่ยว และด้านข้างปล่องควันเป็นปืน    ๔๐ มม. แท่นคู่กราบละ ๑ แท่น
กลางปี ๒๔๘๖ มีการปรับปรุงอาวุธประจำเรืออีกครั้ง ด้วยการถอดปืนต่อสู้อากาศยาน ๔๐ ม.ม. แท่นคู่บริเวณท้ายเรือออก เปลี่ยนเป็นหมู่ปืนต่อสู้อากาศยาน ๒๐ ม.ม. จำนวน ๓ แท่นเดี่ยวแทน เพิ่มปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๔๐ ม.ม. แท่นคู่ที่บริเวณกลางลำตัวข้างปล่องควันปล่องที่สอง กราบละ ๑ แท่น และเพิ่มปืนต่อสู้อากาศยาน ๒๐ ม.ม. อีก ๑ แท่นเดี่ยวที่ด้านหน้าสะพานเดินเรือ หลังป้อมปืน ๕ นิ้วป้อมที่สอง การปรับปรุงครั้งนี้เพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้อากาศยานให้กับเรือชั้นเฟลทเชอร์ขึ้นอีกมาก ต่อมาได้ถอดปืน ๒๐ ม.ม. ที่ด้านข้างหอบังคับการทั้งสองข้างออก และที่ด้านหน้าหอบังคับการออก แล้วติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน ๔๐ ม.ม. แท่นคู่ที่ด้านข้างหอบังคับการทั้งสองกราบ รวมแล้วเรือพิฆาตชั้น เฟลทเชอร์ มีปืนต่อสู้อากาศยาน ๔๐ ม.ม. ทั้งสิ้น ๕ แท่นคู่ ปืนต่อสู้อากาศยาน ๒๐ ม.ม. อีก ๗ แท่นเดี่ยว
ในช่วงปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างปี ๒๔๘๗ – ๒๔๘๘ กองเรือสหรัฐฯ ต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีแบบฆ่าตัวตายของหน่ายบินคามิกาเซ่ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง จึงมีการเพิ่มอำนาจการยิงของปืนต่อสู้อากาศยานประจำเรือให้กับเรือต่างๆ ในกองเรือ เพื่อยับยั้งความบ้าบิ่นของเหล่านักบินเลือดซามูไร สำหรับเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์เอง ก็ได้ปรับปรุงอาวุธปืนต่อสู้อากาศยานด้วยการเปลี่ยนปืน ๔๐ ม.ม. แท่นคู่ที่อยู่ตรงกลางลำเรือเป็นปืน ๔๐ ม.ม. แท่นแฝดสี่ และเปลี่ยนปืน ๒๐ ม.ม. แท่นเดี่ยวเป็นแท่นคู่ทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสำหรับเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์
1
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ มีเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ จำนวน ๑๙ ลำ สูญเสียในระหว่างสงคราม โดยระหว่างสงครามสามารถจมเรือดำน้ำของญี่ปุ่นลงได้ ๒๙ ลำ หลังสงครามกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการปลดเรือรบประเภทต่างๆ ที่เกินความจำเป็น รวมทั้งเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ด้วย บางส่วนยังคงประจำการอยู่ต่อไป แต่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัย บางส่วนปลดเป็นเรือสำรองสงคราม นอกจากนี้ยังมีประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ จำนวน ๑๔ ประเทศ ได้รับมอบเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ ไปใช้งานตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร
เรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ลำสุดท้ายปลดประจำการจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ในปี ๒๕๑๔ และเรือลำสุดท้ายของเรือพิฆาตชั้นเฟลทเชอร์ ได้ถูกปลดประจำการลงในปี ๒๕๔๔ จากกองทัพเรือเม็กซิโก เป็นการสิ้นสุดการใช้งานเรือพิฆาตที่มีความยิ่งใหญ่มากที่สุดแบบหนึ่งของประวัติศาสตร์การทหาร
โฆษณา