Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่า คนเลี้ยงปลา
•
ติดตาม
31 ก.ค. 2021 เวลา 02:56 • ไลฟ์สไตล์
ออกจากงานประจำมาทำเกษตรยังไง...ให้รอด !!
การได้มาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว มีอิสระทางเวลา มีอากาศบริสุทธ์ ปลูกผัก เลี้ยงปลากินเองเป็นชีวิตในฝันของหลายคน แต่นั่นหมายความว่า ต้องมีเงินเพียงพอระดับหนึ่ง !!
หลายคนจึงตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินในเมืองเพื่อที่จะไปใช้ชีวิตบั้นปลายแบบนั้น แต่ถ้าหนทางยังอีกยาวไกล และเราไม่สนุก ไม่มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ล่ะ เราจะสามารถกลับไปอยู่บ้านทำการเกษตรตั้งแต่วัยหนุ่มสาวพร้อมมีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้ไหม ?
สิ่งสำคัญอยู่ที่ "เป้าหมาย" ว่าเราจะกลับบ้านไปทำเกษตร "เพื่ออะไร" บางคนก็เพื่อที่จะได้มีชีวิตที่เรียบง่าย มีเวลาให้กับครอบครัว ได้อยู่กับธรรมชาติ พออยู่พอกิน แต่เป้าหมายของบางคนก็เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองชอบแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างฐานะจากการทำเกษตร
ซึ่งการทำเกษตรยุคก่อน โอกาสที่จะร่ำรวยเป็นไปได้น้อยเพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าของตัวเองได้ ในขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย สารเคมี วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ราคามีแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่เคยลดลง
อีกทั้งงานยังหนักและเหนื่อย ยิ่งถ้าไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่คนอื่นในการทำเกษตร โอกาสได้กำไรก็ยิ่งน้อยลง จึงไม่แปลกที่รุ่นพ่อรุ่นแม่จะไม่อยากให้ลูกมาเป็นเกษตรกร
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
แต่คนรุ่นใหม่ได้เปรียบตรงที่ยุคนี้มีข้อมูลและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ มีรายได้ที่น่าพอใจไม่ต่างจากอาชีพอื่นจึงมีโอกาสเป็นไปได้แต่ต้องไม่ใช่แค่การทำเกษตร แต่ต้องเป็น "ผู้ประกอบการด้านการเกษตร"
2
ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนทั้งการผลิต การตลาด การเงิน ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ การเตรียมตัวเตรียมใจจึงสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น
📍มีใจรัก ขั้นแรกต้องรักในงานเกษตร เพราะใคร ๆ ต่างรู้ดีว่าการทำเกษตรเป็นงานที่หนัก ตากแดดตากลม หากไม่มีใจรักก็พาลที่จะล้มเลิกได้ง่าย
บางคนเห็นภาพสวย ๆ จากอินเตอร์เน็ต มีสวนร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า พืชผักงามตา แต่พอมาสัมผัสด้วยตัวเองกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น ต้องเจอหนอนแมลงกัดกินพืชผล ดินแห้งแล้ง อากาศร้อน หญ้าขึ้นรก มีกลิ่นเหม็นของน้ำหมักชีวภาพต่าง ๆ และสารพัดปัญหาให้ต้องแก้
1
ขอบคุณภาพจาก Pinterest
ในช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมา การกลับบ้านไปทำการเกษตรเพราะตกงานจากในเมืองพบเห็นได้มากขึ้น ซึ่งต่างจากช่วงก่อนหน้านั้นที่การออกจากงานประจำมาทำการเกษตรจะต้องมีใจรักและต้องแข็งแกร่งระดับหนึ่ง
เพราะหลายคนมักจะเจอกับคำพูดลบ ๆ จากคนรอบข้าง โดยเฉพาะความขัดแย้งกับพ่อแม่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการออกจากงานประจำ นั่งห้องแอร์ เงินเดือนมั่นคง มาตากแดดทำการเกษตรที่รายได้ไม่แน่นอน และสังคมชนบทยังยกย่องอาชีพราชการหรือการทำงานในเมืองใหญ่ว่าดูดีมีเกียรติ และมองว่าการทำการเกษตรทั้งเหนื่อยและโอกาสร่ำรวยมีน้อย
บางคนมองว่าคนที่กลับบ้านมาทำเกษตรเพราะล้มเหลวจากงานที่ทำอยู่ เลยกลับมาทำงานที่คนไม่ต้องจบปริญญาก็ทำได้ ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าเขาพูดจากประสบการณ์ของเขาเอง เขาไม่ได้เข้าใจเป้าหมายของเรา เราทำได้แค่หยุดแสวงหาการยอมรับจากคนอื่น และมุ่งหน้าแสวงหาความสุขของตัวเอง
📍มีความรู้ด้านการเกษตร เพราะพืชผักที่เราปลูกแต่ละชนิดก็มีลักษณะเฉพาะของมัน อาศัยการดูแลที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราสามารถหาความรู้ด้านวิชาการได้ไม่ยาก แต่มันช่วยให้เราย่นระยะเวลาการเรียนรู้ให้เร็วขึ้น ช่วยให้การลงมือปฏิบัติจริงเจอข้อผิดพลาดน้อยลง
1
📍มีความเข้าใจธรรมชาติรอบตัว เพราะสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แม้จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันก็ตาม การสังเกตและเข้าใจเกี่ยวกับฤดูกาล แหล่งน้ำ อากาศ ลม แดด จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จง่ายขึ้น
1
📍ศึกษาด้านการตลาด เป็นสิ่งสำคัญและเป็นข้อได้เปรียบของคนรุ่นใหม่ ต้องรู้จักใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ ปัจจุบันระบบโลจิสติกส์ก็ก้าวหน้าขึ้นมาก เราสามารถยกสินค้าของเราไปไว้ในโลกออนไลน์ สร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักและขายตรงให้ลูกค้าได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
1
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
และนอกจากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรแล้วยังสามารถขายเป็นสินค้าแปรรูป เมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ ต้นพันธุ์ หรือทำเป็นแหล่งเรียนรู้หรือทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวได้อีกด้วย
จุดอ่อนของการทำเกษตรยุคก่อน คือ ผลิตสินค้าตาม ๆ กัน และเป็นสินค้าขั้นพื้นฐาน พอถึงฤดูสินค้าออกมาพร้อมกัน สินค้าก็ล้นตลาด ราคาตกต่ำจนแทบจะไม่มีราคา เช่น ทุกปีจะมีผลผลิตมังคุด เงาะ ลองกอง ล้นตลาด ราคาในท้องตลาดหลักสิบแต่ราคารับซื้อจากสวนหลักหน่วย จนไม่คุ้มค่าแรงในการเก็บเกี่ยว บางเจ้าก็เลยปล่อยให้เน่าเสียบนต้น
หรือสินค้าที่ปลูกง่าย ใช้เวลาน้อย แต่ราคาถูก เน่าเสียง่าย ไม่เหมาะกับการขนส่งนาน ๆ เช่น ผักสวนครัว ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีโอกาสที่จะทำกำไรกับสินค้าพวกนี้ก็มีน้อย
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
📍ลดรายจ่าย = เพิ่มรายได้ การสร้างอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน เช่น ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารแล้วยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประหยัดเวลา ได้อาหารที่สด ปลอดภัย
1
แต่อย่างน้อยควรจะมีสัก 30 ชนิด ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะเราไม่สามารถที่จะกินอะไรซ้ำ ๆ ทุกวันได้ ความหลากหลายของอาหารก็เป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่งของชีวิต นอกจากนี้การปลูกพืชหลากหลายยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากโรคพืชต่าง ๆ อีกด้วย และเมื่อเราไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าไปซื้ออาหาร เงินก็เหลือ เท่ากับเป็นการสร้างรายได้อีกทาง
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
📍จัดสรรที่ดินทำกินให้เหมาะสม สร้าง Passive income และ Active income ให้สมดุล
1
Passive income คือ รายได้ที่เราไม่จำเป็นต้องไปลงมือทำมันทุกวันแล้วได้เงิน พวกไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก ยางนา มะค่า พะยูง มะฮอกกานี เป็นต้นไม้ที่ใช้เวลาปลูกนานประมาณ 10-20 ปีกว่าจะสร้างรายได้ แต่ต้องการการดูแลแค่ช่วงแรก หลังจากนั้นแทบไม่ต้องดูแลอะไรแต่มูลค่ากลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือเป็น Passive income อย่างหนึ่ง
ส่วน Active income หมายถึง รายได้ที่ต้องลงมือลงแรงทำถึงจะได้เงินมา ซึ่งพวกพืชระยะสั้นถือเป็น Active income ที่เราต้องทำเรื่อย ๆ แต่ให้ค่าตอบแทนในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่น ผักต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สร้างรายได้แล้ว พวกผลไม้ยืนต้นส่วนใหญ่ใช้เวลา 3-5 ปีก็เริ่มมีผลผลิต การดูแลไม่มากเท่าการปลูกผัก เราจึงต้องจัดสรรการปลูกให้เหมาะสมเพื่อให้มีรายได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
📍วางแผนทางการเงินไว้ในกรณีที่ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้า ช่วงแรกของการทำการเกษตรเป็นช่วงเวลาแห่งการลงทุน แต่ผลผลิตกลับยังไม่ผลิดอกออกผล ซึ่งเรามักจะทำใจกับตรงนี้ไว้แล้ว แต่หลังจากนั้นถ้าเกิดรายได้ไม่เป็นไปตามแผน เราจะทำอย่างไร จะยังมีรายได้ทางใดได้บ้าง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้ามีมากมาย ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เช่น
4
🔑 ภัยธรรมชาติ งานด้านเกษตรต้องพึ่งพาธรรมชาติ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับภัยธรรมชาติ แต่เราสามารถป้องกันและบรรเทาได้ถ้ามีการเตรียมการรับมือที่ดี หลัก ๆ เช่น ภัยจากน้ำท่วม ยิ่งภาคใต้นี่เป็นปกติของน้ำท่วมเลย ขึ้นอยู่ว่าจะท่วมมาก ท่วมน้อย ท่วมเวลาไหน เราจึงต้องคิดเผื่อไว้กรณีถ้าเกิดน้ำท่วม เราจะรับมืออย่างไร
1
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
ภัยแล้งก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการทำเกษตร หน้าแล้งน้ำทำการเกษตรมีไม่เพียงพอ น้ำเลี้ยงปลาก็ไม่มี น้ำในคลองแห้งขอด น้ำร้อนจนปลาลอยตายเกลื่อน สภาพอากาศก็แปรปรวน ทำให้สัตว์อ่อนแอ ป่วยง่าย โรคต่าง ๆ ก็ระบาดและอีกสารพัดปัญหาที่ควบคุมไม่ได้
🔑 ศัตรูธรรมชาติ การปลูกพืชผักมักจะมีศัตรูธรรมชาติเป็นของคู่กัน เช่น หนู แมลง หนอน โรคต่าง ๆ ซึ่งศัตรูเหล่านี้เป็นต้นทุนที่เราต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการและทำให้ผลผลิตเราเสียหาย
1
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
📍มีประสบการณ์ ฟังดูขัดแย้งกันเพราะเป็นมือใหม่มาทำเกษตรจะมีประสบการณ์ได้อย่างไร แต่ประสบการณ์มีความสำคัญในการทำเกษตรจริง ๆ เพราะการศึกษาข้อมูลเพียงอย่างเดียวกับการลงมือทำจริงต่างกันมาก
1
หลายคนหอบเงินก้อนโตมาจากในเมือง หวังลงทุนทำการเกษตรใหญ่โต แต่สุดท้ายต้องหมดเงินไปในระยะเวลาอันสั้น
สิ่งที่จะได้มาซึ่งประสบการณ์ คือ การเริ่มลงมือทำทีละน้อย ๆ ถ้าตัวไหนไปได้ดีค่อยขยับขยาย ลองไปสัมผัสกับการทำงานจริง ลงพื้นที่จริงดู ลองไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นดู บางอย่างก็เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด เช่น สภาพดินไม่เป็นแบบที่คิดไว้, สัตว์เลี้ยงเพื่อนบ้านเข้ามาทำลายผลผลิต, โจรขโมย ฯลฯ
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
ถึงแม้ทุกอย่างจะไม่ได้ราบรื่นไปหมดแต่มันก็เป็นธรรมดาของทุกงานที่ต้องเจออุปสรรคกันบ้าง ถ้างานนั้นเป็นงานที่เรารัก เราก็จะสามารถแก้ปัญหาและฝ่าฟันมันไปได้ เมื่อเทียบกับการได้มาอยู่กับครอบครัว มีอิสระในด้านเวลา ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ ได้ดูแลพ่อแม่ในช่วงบั้นปลายของท่าน แค่นี้มันก็คุ้มแล้วไม่ใช่หรือ
2
นิ้วกลมเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตในฝันของใครหลายคนที่อยากนั่งกินนอนกิน แท้จริงแล้วเป็นชีวิตที่น่าสงสาร เพราะมนุษย์มิได้อยู่ได้ด้วยอาหารท้องเท่านั้น หากยังอยู่ได้ด้วยอาหารของหัวใจ นั่นคือความหมายและคุณค่าของตัวเอง ชีวิตที่มีความสุข คือ ชีวิตที่ได้ใฝ่หาตัวตนที่ดีกว่า ตัวตนที่ยอดเยี่ยมที่สุด เราจะได้พัฒนาร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณผ่านในเส้นทางนั้น"
1
2
ขอให้ทุกคนมีความสุขและสำเร็จกับเส้นทางที่ตัวเองเลือกนะคะ ❤️
8 บันทึก
48
98
26
8
48
98
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย