19 ก.ค. 2021 เวลา 04:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมการทำตามคำสั่ง ถึงสามารถทำให้ใครบางคนที่รับคำสั่งนั้นสามารถก้าวข้ามศีลธรรมและจริยธรรมจนนำไปสู่การทำสิ่งเลวร้ายได้ง่ายขึ้น?
[สรุปให้ถ้าใครไม่อยากอ่านยาว :
การทำความเจ็บปวดให้กับคนอื่นผ่านการบีบบังคับให้ทำหรือออกคำสั่ง สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจและความรู้สึกผิดจะถูกกระตุ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการกระทำด้วยความสมัครใจและไม่มีใครออกคำสั่ง ซึ่งมันอธิบายได้ว่าทำไมผู้คนถึงสามารถกระทำเรื่องผิดศีลธรรมภายใต้คำสั่งของผู้บังคับบัญชาพวกเขา]
โฮวาร์ด ซินน์ (Howard Zinn) นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน เคยกล่าวถึงปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศว่าเกิดจาก
1
“การทำตามคำสั่ง”
“การไม่ทำตามคำสั่งไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ปัญหาที่แท้จริงคือคือการทำตามคำสั่ง ผู้คนทั่วโลกล้วนทำตามคำสั่งจากผู้นำของพวกเขา และประชาชนหลายล้านคนต้องถูกฆ่าล้มหายตายไปจากคำสั่งเหล่านี้ ปัญหาของเราคือผู้คนที่เชื่อฟัง ในขณะที่คุกเต็มไปด้วยหัวขโมยเล็กๆ น้อยๆ แต่พวกหัวขโมยใหญ่กำลังบริหารประเทศ นั่นแหละคือปัญหาของเรา”
1
มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้คนเชื่อฟังคำสั่งจากผู้มีอำนาจแล้วนั้น พวกเขาจะสามารถทำสิ่งที่เลวร้ายต่อผู้อื่นได้โดยไม่มีข้อจำกัดของความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันโหดร้ายทั้งหมดที่เรารู้จักก็เกิดจากสิ่งเหล่านี้
นักประวัติศาสตร์เรียกมันว่า
“อาชญากรรมการเชื่อฟัง”
ประชากรส่วนหนึ่งสวมเครื่องแบบ สวมหัวโขน และปฏิบัติตามคำสั่งให้ไปกำจัดมนุษย์โลกด้วยกัน จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ทำลายวัฒนธรรมและอารยธรรมนับไม่ถ้วน
โดยปกติแล้ว เมื่อมนุษย์เราเห็นผู้อื่นกำลังเจ็บปวด ไม่ว่าจะเจ็บปวดทางอารมณ์หรือทางร่างกาย มนุษย์ทุกคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเสมอ ปฏิกิริยาตอบสนองที่ว่าคือความรู้สึกที่จะทำให้เราไม่อยากที่จะทำร้ายผู้อื่น
1
“เราต้องการที่จะเข้าใจว่าทำไมการเชื่อฟังคำสั่งจึงส่งผลต่อพฤติกรรมทางศีลธรรมอย่างมาก เหตุใดพวกเขาถึงเต็มใจที่จะทำเรื่องที่ผิดศีลธรรมในสถานการณ์ที่บีบบังคับ”
ดร.เอมิลี แคสปาร์ นักวิจัยของสถาบันประสาทวิทยาแห่งเนเธอร์แลนด์กล่าว
กลุ่มนักวิจัยจากสถาบันประสาทวิทยาแห่งเนเธอร์แลนด์(Netherlands Institute of Neuroscience) ได้ทดลองวัดการทำงานของสมองในกลุ่มตัวอย่างขณะที่พวกเขากำลังตัดสินใจทำร้ายผู้อื่นให้เจ็บปวด
“เราสามารถวัดความเห็นอกเห็นใจในสมองได้ เพราะเราเห็นว่าสิ่งต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวดของเราเอง รวมไปถึงสมองส่วน anterior insula และ rostral cingulate cortex ที่จะทำงานเมื่อเราเห็นความเจ็บปวดของผู้อื่น และยิ่งกิจกรรมนั้นรุนแรงขึ้น ความเห็นอกเห็นใจก็จะยิ่งมีมากขึ้น และเราจะยิ่งทำบางสิ่งเพื่อป้องกันอันตรายแก่คนอื่นมากขึ้น”
ดร.วาเลเรีย กัซโซลา ผู้ร่วมวิจัยกล่าว
ในการทดลองจะใช้ผู้เข้าร่วมทดสอบเป็นคู่
คนแรกได้รับมอบหมายในบทบาทของ "ผู้กระทำ"
และคนที่สองได้รับบทบาทเป็น "เหยื่อ"
“ผู้กระทำ” จะถูกบันทึกการทำงานของสมองในเครื่อง MRI ในระหว่างการทดลอง
“ผู้กระทำ” นั้นมีปุ่มสองปุ่มให้กดด้วยกัน ปุ่มแรกจะเป็นการช็อตไฟฟ้าใส่มือของ”เหยื่อ” ที่สร้างความเจ็บปวดระดับเบา แต่ทุกครั้งที่กด”ผู้กระทำ” จะได้เงิน 0.05 ยูโร ส่วนอีกปุ่มนั้นจะไม่มีการช็อตไฟฟ้าและไม่ได้เงิน
การทดลองระยะเวลากว่า 60 รอบ “ผู้กระทำ” มีการถูกปล่อยให้ตัดสินใจเองว่าจะทำร้าย”เหยื่อ”หรือไม่ก็ได้ รวมทั้งมีการออกคำสั่งให้”ผู้กระทำ”ลงมือทำร้าย”เหยื่อ” การทดลองนี้ออกแบบมาเพื่อให้กลุ่มทดลองมีการตัดสินใจทางศีลธรรมที่ยากลำบาก
คำถามที่อยู่ในหัวของของพวกเขาคือ
”เราควรได้เงินจากการทำให้คนอื่นเจ็บปวดหรือไม่?”
จากการทดสอบพบว่า”ผู้กระทำ”จะช็อตไฟฟ้าใส่”เหยื่อ” มากขึ้นเมื่อพวกเขาได้รับคำสั่ง มากกว่าที่พวกเขาได้รับการตัดสินใจให้กดโดยอิสระ
ผลการตรวจสมองแสดงให้เห็นว่าสมองส่วนที่ เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจนั้นถูกกระตุ้นน้อยลงเมื่อพวกเขาเชื่อฟังคำสั่ง เทียบกับการที่ถูกปล่อยให้ทำอย่างอิสระที่มีความเห็นอกเห็นใจในสมองมากขี้น
นอกจากนี้ยังพบว่าการปฏิบัติตามคำสั่ง ยังช่วยลดการกระตุ้นในบริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกผิด
จากภาพเราจะเห็นว่าเมื่อถูกบีบบังคับให้ทำหรือทำตามคำสั่ง สมองส่วนที่ทำงานด้านความรู้สึกผิดและความเห็นอกเห็นใจจะทำงานน้อยลง ภาพจาก Netherlands Institute of Neuroscience
นั่นอธิบายได้ว่าทำไมผู้คนถึงสามารถกระทำเรื่องที่ผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรงแก่ผู้อื่นได้ในสภาวะภายใต้การบีบบังคับขู่เข็ญ พวกเขาขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไปโดยปริยาย
“ขั้นตอนต่อไปคือการทำความเข้าใจว่าทำไมถึงมีคนเพียงไม่กี่คนที่ต่อต้านคำสั่งที่ผิดศีลธรรมนี้ มันเป็นเพราะว่าความเห็นอกเห็นใจของพวกเขาน้อยลงเมื่อพวกเขาต้องทำตามคำสั่งหรือไม่? สิ่งนี้อาจนำไปสู่วิธีที่จะช่วยให้เราต่อต้านการใช้ความรุนแรงได้ในอนาคต”
ดร.เอมิลี แคสปาร์ กล่าว
แหล่งข้อมูล :
โฆษณา