19 ก.ค. 2021 เวลา 05:37 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Wealth Management Like A Pro
วางแผนการเงินอย่างไรให้โปร ..รู้แล้วทำไปใช้ได้ตลอดชีวิต
วันนี้ #เด็กการเงิน ขอแนะนำการลำดับความสำคัญของเงิน ด้วยปีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid)
เราควรดูแลความมั่งคั่ง หรือ wealth อย่างไร? เริ่มต้นจากฐาน สร้างเป็นเส้นทางสู่ยอดปีระมิด
ก่อนนำมาสร้างแผนการเงิน ซึ่งแผนการเงินที่ดี ต้องเริ่มจากรากฐานที่แข็งแรง
ก่อนอื่น มาทำความเข้า 6 ขั้นของปีระมิดทางการเงินกัน
1. Wealth Creation การสร้างความมั่งคั่ง
2. Cash Flow Management and Emergency Cash การจัดการสภาพคล่องและเงินฉุกเฉิน
3. Tax Planning การวางแผนภาษี
4. Wealth Protection การปกป้องความมั่งคั่ง
5. Wealth Accumulation การสะสมความมั่งคั่ง
6. Wealth Distribution การส่งต่อความมั่งคั่ง
โดย 6 ขั้นนี้ปรับปรุงจากปิระมิดทางการเงินฉบับ Classic
คือ 1. Risk Management 2. Wealth Protection 3. Wealth Accumulation & Distribution
เรานำมาปรับปรุง เพื่อให้เห็นภาพ และนำไปใช้งานได้จริง 😍
1. Wealth Creation การสร้างความมั่งคั่ง 🤖
มาจากการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นจากงานประจำหรืออาชีพเสริม โดยส่วนใหญ่ การสร้างความมั่งคั่งเกิดจากแหล่งรายได้หลักที่สม่ำเสมอ และสามารถหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่าย และเงินสะสม
หรือถ้าเป็นเจ้าของกิจการ หรือ Freelance รายได้ก็จะเข้ามาจากการสร้างสินค้าและบริการ ซึ่งจะมีความไม่แน่นอน แต่สามารถวางแผนล่วงหน้าและระมัดระวังกว่างานประจำ ให้เพียงพอกับรายจ่าย และเงินสะสม ในแต่ละเดือน
แหล่งของความมั่งคั่งอีกทาง คือ Passive Income เกิดการนำเงินไปซื้อทรัพย์สินที่สามารถให้รายได้เสริม ซึ่งนับเป็นการสร้าง หรือต่อยอดความมั่งคั่งเช่นกัน
นักธุรกิจและนักลงทุน Full Time มักจะสร้าง Passive Income จากการซื้อสินทรัพย์ และไม่มีงานประจำ
2. Cash Flow Management and Emergency Cash ✌️
2.1 การบริหารเงินสภาพคล่อง
เมื่อมีรายได้เข้ามา เราต้องมีการจัดการสภาพคล่อง หรือเงินสดในแต่ละเดือนให้ดี มีพอสะสมไปในขั้นที่สูงขึ้น
🎯สมการที่ถูกต้องสำหรับคนที่สามารถบริหารจัดการเงินได้ดี คือ:
รายได้ - เงินสะสม = รายจ่าย
หมายความว่า ให้กำหนดเงินสะสมมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปเก็บออม หรือลงทุนก่อน ส่วนที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่ายทั้งรายจ่ายจำเป็น และซื้อของที่อยากได้ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่สามารถบริหารรายจ่ายให้เหลือพอมีเงินสะสม = เราไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้ ตรงนี้สำคัญมาก!!
ถ้าเป็นเช่นนั้น เราต้องลดรายจ่ายลง หรือ หารายได้ให้มากขึ้น
โดยรายจ่ายจำเป็น คือ ปัจจัย4 / หนี้สิน / ภาษี เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องจ่าย ควบคุมให้อยู่ที่ 50%
ส่วนหนี้ระยะสั้นจากการผ่อนของไม่จำเป็น หรือรายจ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ความฝันจำกัดอยู่ที่ 30%
และนำ 20% ไปใช้ประโยชน์ต่อในส่วนปีระมิดที่เหลือ
สำหรับคนที่ยังมีรายจ่ายที่จัดการไม่ได้ หรือหนี้สินจำนวนมาก จะเข้าสู่สมการ:
รายได้ - รายจ่าย = เงินสะสม
หมายความว่า ให้จัดการกับรายจ่าย หรือหนี้สินต่างๆก่อน ซึ่งจะทำให้การสร้างความมั่งคั่ง
ต้องพิจารณาแก้ไขให้เราคุมรายจ่ายได้ ไม่ก่อหนี้ไม่จำเป็น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
หรือ ถ้าพอมีเวลา ต้องหารายได้เสริมให้เพียงพอ ชดเชยรายจ่าย
(บางคนเลือกรัดเข็มขัด บางคนเลือกหามากขึ้น)
2.2 เงินฉุกเฉิน หลังจากมีก้อนเงินสะสมแล้ว ต้องไม่ลืมเก็บเงินก้อนฉุกเฉินไว้ ซึ่งเงินก้อนฉุกเฉินที่ควรมีถ้าเป็นมุนษย์เงินเดือน คือ 3-6 เดือน เผื่อตกงานแล้วจะไม่มีการ burn wealth หรือนำเงินเก็บที่วางแผนดีแล้วมาใช้ก่อน โดยเราแนะนำให้เก็บเงินฉุกเฉินก้อนนี้ไว้ในที่ๆมีสภาพคล่องสูง นั่นคือสามารถนำมาใช้ได้สะดวกในเวลาที่ต้องการ และสามารถสร้างผลตอบแทนได้บ้างเล็กน้อย เช่น การออมเงินผ่านบัญชีธนาคารที่เป็นเงินฝากดิจิตอล ซึ่งหลายที่ได้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.5% ถือว่าได้มากกว่าลงทุนในกองทุนตราสารเงิน หรือตราสารหนี้บางกอง นอกจากนี้ยังมีสภาพคล่องสูงกว่าอีกด้วย
👾จะเห็นได้ชัดว่าจากการที่มีCOVIDเข้ามาในชีวิตเรา การสร้างความมั่งคั่งโดยการมีอาชีพเสริมด้วย ถือเป็นตัวเลือกที่น่านำมาพิจารณาอย่างหนึ่ง รวมไปถึงเงินฉุกเฉินนั้นจำเป็นมากๆ เพราะไม่รู้เลยว่า เราจะเสี่ยงตกงาน หรือได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน การเตรียมความพร้อมไว้ เป็นเรื่องที่ควรทำ
หลังจากพูดถึงเรื่องกันเงินฉุกเฉินแล้ว ให้กลับมาที่เงินสะสมหรือเงินที่เรากันไว้ ซึ่งเราจะนำไปพิจารณาเรื่อง Tax Planning, Wealth Protection และ Wealth Accumulation ต่อไป
3. Tax Planning 👔
พอเรามีรายได้เข้ามาแล้ว ภาษีก็ตามมาแน่นอน เราจะต้องจัดการภาษี โดยนำเงินไปจ่ายส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีประกันชีวิต ประกันสุขภาพต่างๆ เราจะกล่าวต่อไป (ในข้อ 4) และการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี (ในข้อ 5) โดยหัวใจสำคัญของเรื่อง Tax Planning คือ เราควรเสียภาษีให้น้อยที่สุด หรือเท่าที่จำเป็น และยังบรรลุ Wealth Protection และ Wealth Accumulationได้ นั่นก็คือ ลดหย่อนภาษี+ปกป้องความมั่งคั่งให้คนข้างหลัง และได้ลงทุน ลดหย่อนภาษี+เพิ่ม wealth ให้กับตัวเองในอนาคต
เสริม สำหรับคนที่มีงานประจำ และบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถการจัดการภาษีโดยให้บริษัทหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงสุดที่ 15% นอกจากเราจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีแล้ว เรายังได้มีโอกาสสะสมเงินไว้ใช้ยามเกษียณเพิ่มขึ้น และถ้าหากกองทุนที่เรานำไปลงทุนนั้นให้ผลตอบแทนที่ดี เราก็จะยิ่งมี Wealth เพิ่มขึ้นด้วย (เป็น Wealth Accumulation)
🧐แล้วลดหย่อนภาษีแบบไหนดีสำหรับเรา?
ตามลำดับขั้นของปิระมิด เราต้องพิจารณาปกป้องความมั่งคั่ง ก่อนที่จะสะสมความมั่งคั่ง ดังนั้นต้องพิจารณาข้อ 4 ก่อน ข้อ 5
*ถ้ามีหนี้สิน หรือภาระ ต้องปิดความเสี่ยงให้หมด และนำส่วนที่เหลือไปสะสมให้มากขึ้นผ่านการลงทุน*
4. Wealth Protection 💪
การปกป้องความมั่งคั่ง เป็นการสร้างหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเราและคนรอบข้าง ทำให้ความมั่งคั่งทีเราสะสมมาถูกรักษาไว้ ไม่ต้องนำไปจ่ายให้กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือแผน สามารถทำได้ผ่านประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ เป็นการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และพาเราไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้
การทำประกันนั้นก็ควรเลือกประกันให้เหมาะสมกับตนเอง โดยให้เริ่มคิดจากว่าเรามีหนี้สินเท่าไหร่ หรือมีคนข้างหลังที่เราต้องคอยดูแลหรือไม่ ถ้าหากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับเรา ใครจะเป็นผู้แบกรับหนี้สินนั้นเเทนเรา หรือคนข้างหลังจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีเรา ในเคสเเบบนี้จะเห็นว่าประกันชีวิตจำเป็นมาก
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ยังต้องมีภาระ ให้คนข้างหลังดูแลหรือไม่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าการศึกษาขั้นต่ำบุตร หรือรายจ่ายในบ้านที่หายไป หากเราเป็นหนึ่งในเสาหลักของครอบครัว
ลองคิดออกมาว่าถ้าหากเราเป็นอะไรไป เราต้องเตรียมเงินสำหรับหนี้ก้อนที่เรามีอยู่ หรือให้คนข้างหลังได้มีเงินใช้เท่าไร เช่น ถ้ามีหนี้และคนข้างหลังจะอยู่สบายก็ต่อเมื่อต้องมีเงินก้อน 5 ล้านบาทให้เขา (เรียกว่าทุนประกัน หรือความคุ้มครอง) เรามีหน้าที่จ่ายเบี้ยประกัน เพื่อให้ความคุ้มครองยังคงอยู่
ดังนั้นในเคสนี้ก็อาจต้องทำทุนหรือเบี้ยประกันชีวิตให้ได้เท่ากับความคุ้มครองที่ได้ที่จำเป็น และประกันบางแบบ สามารถคืนเงินบางส่วนให้กับผู้ทำประกันเมื่อครบกำหนด
หลังจากที่เราทำประกันชีวิตเพื่อปกป้องความเสี่ยงให้คนข้างหลังเราแล้ว ถ้ายังมีเงินเหลือก็อย่าลืมนึกถึงประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรงให้กับตัวเองด้วย และต้องพิจารณาควบคู่ไปกับสวัสดิการที่มี ทั้งนี้ส่วนประกันสุขภาพ และโรคร้ายแรงนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกับประกันชีวิตได้ด้วยรวม 100,000 บาท
5. Wealth Accumulation 💲
การสะสมความมั่งคั่งนั้นเกิดหลังจากที่พิจารณาเรื่อง Tax Planning และ Wealth Protection แล้ว
เงินสะสมที่เหลือ สามารถนำมาลงทุน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์
เป้าหมายระยะสั้น เพื่อค่าใช้จ่ายในอนาคตอันใกล้
เป้าหมายระยะกลาง เพื่อความฝัน หรือชีวิตที่ดีขึ้น
เป้าหมายระยะยาว หรือ เป้าหมายเกษียณ พอกิน พอใช้หากเราไม่ได้ทำงานประจำแล้ว
กองทุนลดหยอนภาษีรูปแบบ SSF/RMF ส่งเสริมให้เราสร้างความมั่งคั่งได้ในระยะยาว เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง Tax Planning และ Wealth Accumulation ในระยะยาว
หมายเหตุจำนวนเงินที่สามารถซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีสามารถอ่านได้จาก
คำนวณเงินพอเกษียณได้หรือไม่จาก
เงินที่เหลือจากการซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี สามารถนำมาลงทุนในกองทุนรวมปกติ หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ได้ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งของเรา ในเป้าหมายเกษียณ หากไม่พอจากกองทุนแบบลดหย่อนภาษี หรือเป้าหมายอื่นๆ สั้น กลาง ที่เราได้วางไว้
การวางแผนการลงทุน ต้องทำควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง โดยการจัดพอร์ท พร้อมกับทำ Asset Allocation ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ และมีระยะเวลาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสามารถในการเติบโตได้
6. Wealth Distribution 😇
การส่งต่อความมั่งคั่งสามารถทำได้โดยเขียนพินัยกรรม เพื่อให้ความมั่งคั่งของเราได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ สิ่งนี้หลายคนสามารถทำได้เลยตั้งแต่อายุยังน้อย และสามารถทำมรณสติ ได้โดยการจำลองว่า ถ้าเราตายไป ทรัพย์สินที่มีอยู่ส่วนไหนบ้างต้องไปชดเชยหนี้ระยะยาว สั้น หรือประกันชีวิตที่ทำไว้ สามารถปิดความเสี่ยงได้หมดจริงหรือไม่ คนที่อยู่ข้างหลังเรายังไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ สิ่งนี้แม้จะดูไกลตัว แต่เราขอแนะนำให้ทำปีละครั้ง และอาจจะแต่งตั้งทนาย หรือคนรู้จัก ให้เป็นพยาน พินัยกรรมของเรา
อีกทางเลือกของการส่งต่อความมั่งคั่งคือไปยังสาธารณะ หรือการกุศล เพื่อให้องค์กรหรือมูลนิธิที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้นำเงินไปสร้างสิ่งที่ดียิ่งขึ้นๆไป พัฒนาสังคมของมนุษย์ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
เป็นจุดสูงสุดของปิระมิดการเงิน
❤️สรุปใจความสำคัญ:
1. หาเงินให้พอ รายจ่ายและสะสม
2. บริหารสภาพคล่องให้ดี และมีเงินฉุกเฉิน
3. วางแผนลดหย่อนภาษีพร้อมกับบรรลุเป้าหมายอื่นที่สูงขึ้น
4. ปิดความเสี่ยง รักษาความมั่งคั่ง โดยการซื้อประกัน
5. สะสมความมั่งคั่ง ลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย
6. ส่งต่อความมั่งคั่ง ให้กับคนที่เรารัก หรือสาธารณะ
✅สรุปได้ว่า ปิระมิดการเงิน จะทำให้เราเห็นภาพว่าเราควรจัดการเงินอย่างไร
นำไปสู่การวางแผนการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้ความพยายามและวินัย
ตั้งแต่การสร้างความมั่งคั่ง จนส่งต่อได้ ไม่นำเงินไปใช้ในในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำจนเป็นนิสัย
แค่นี้เราก็เริ่มต้นได้ถูกต้อง จะทำให้ชีวิตของเราและคนที่เรารักไม่ลำบาก
คุณเองก็สามารถให้เวลากับการวางแผนการเงินได้เอง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตามตัวเราเองนี่แหละ จะต้องเข้าใจสถานะการเงินของตัวเองดี
และนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายให้ได้
เพราะ การวางแผนการเงิน = การวางแผนชีวิต 🎯
โฆษณา