21 ก.ค. 2021 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
《จาก “ปมเชือก” สู่ “อักษรจีน”|中国文字演变》
“อักษรจีน” หรือในชื่อ “ฮั่นจื้อ(汉字)”, “จงเหวินจื้อ(中文字)” หรือ “จงกั๋วเหวินจื้อ(中国文字)” เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่ไว้ใช้จดบันทึกภาษาจีน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในมรดกโลกที่มีอายุถึง 5000 กว่าปีที่ยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
.
หากเราสภาพบ้านเมืองของประเทศจีนก็จะพบว่า ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา เทคโนโลยีล้วนมีการพัฒนามาเรื่อยๆ ซึ่ง ‘อักษรจีน’ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นเดียวกัน
.
สำหรับบทความนี้จะพาท่านผู้อ่านมาเจาะเวลาหาอักษรจีนด้วยกันนะครับ อาจจะสอดแทรกเนื้อหาสำหรับเตรียมสอบ Pat7.4 ไปบ้างเล็กน้อย
การมัดปมเชือก(结绳说)
การมัดปมเชือก|结绳说
การผู้เชือกหรือการมัดปมเชือกคือวิธีการจดจำสิ่งต่างๆ ของชาวจีนในยุคบรรพกาล โดยในตำราอี้จิง หมวดซี่ฉือเซี่ย《易经·系辞下》ได้กล่าวไว้ว่า: “คนในยุคโบราณใช้วิธีมัดปมเชือกเพื่อการจัดการ แล้วอนุชนรุ่นหลังก็เปลี่ยนมาเป็นการแกะสลักตัวหนังสือแทน”
.
นอกจากนี้การมัดผูกเชือกให้เป็นปมนั้นเพื่อบันทึกเรื่องราวและตัวเลข ซึ่งขนาดของปมจะเป็นตัวบ่งบอกถึงเรื่องราวนั้นๆ โดยเชือกที่มีปมใหญ่จะเป็นเรื่องราวใหญ่และสำคัญ แต่ถ้าเป็นปมเล็กจะเป็นเรื่องราวไม่ได้สำคัญอะไรมากหรือเป็นเรื่องสั้นเท่านั้น แต่ทว่าการมัดปมเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยเตือนความจำมากกว่าการบันทึกภาษาและการสื่อสารของมนุษย์โบราณ
.
ในหนังสือประวัติศาสตร์จีนได้บันทึกไว้ว่า ชาวจีนในยุคโบราณดำรงชีวิตโดยการกินสัตว์เป็นหลัก ซึ่งยังไม่รู้เรื่องของภาษาและหนังสือ จนกระทั่งมีเทพบิดรฮกซี(伏羲)สังเกตเห็นแมงมุมทอใย เขาจึงนำการทอใยมาประยุกต์และประดิษฐ์เป็นเชือกไว้สำหรับการจับสัตว์บกและสัตว์น้ำ ภายหลังจึงสอนมนุษย์ให้รู้จักการจดจำสิ่งต่างๆ โดยการผูกเชือกให้เป็นปมต่างๆ ในเวลาต่อมา
.
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการมัดเชือกข้างจะช่วยให้มนุษย์สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ในการจดบันทึกแบบลายลักษณ์อักษรและการสื่อสารได้
การแกะสลัก(刻契说)
การแกะสลัก|刻契说
การแกะสลักลงบนแผ่นไม้หรือแผ่นศิลาก็เพื่อใช้บันทึกเรื่องราวและจำนวนต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้อย่างแพร่หลายในทุกมุมโลก ซึ่งการแกะสลักจะกินเวลามากกว่าการมัดปมเชือก แต่ประสิทธิภาพและความทนทานของวัสดุจะดีกว่าการใช้เชือก ซึ่งสามารถหลงเหลือให้ศึกษามาจนถึงปัจจุบันได้
.
ทว่าในความเป็นจริง อิทธิพลทั้งการมัดปมเชือกและการแกะสลักนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับอักษรที่สร้างขึ้นเพียงไม่กี่ตัว แต่ให้ความสำคัญกับ “ลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นของตัวอักษรทั้งหมด(约定俗成)”
.
หากเรานำทั้งสองมีวิธีมาเปรียบเทียบแล้วก็จะพบว่าทั้งสองวิธีคือการสร้างอักษร แต่วิธีการแกะสลักจะมีลักษณะของความเป็นการขีดเขียนอักษร(书写)มากกว่า
สัญลักษณ์ปากว้า(八卦说)
สัญลักษณ์ปากว้า|八卦说
“สัญลักษณ์ปากว้า(八卦)” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แผนภูมิแปดเหลี่ยม” เป็นสัญลักษณ์แห่งฟ้าดินตามความเชื่อในศาสนาเต๋า ซึ่งมักจะใช้คู่กับสัญลักษณ์หยิน-หยาง(阴阳)ตามที่คนไทยเคยพบเห็นตามศาลเจ้าและในหนังจีน โดยถือว่าปากว้าเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างอักษรจีนในยุคต่อมา
.
สำหรับผู้สร้างสัญลักษณ์นี้ก็คือเทพบิดรฮกซี(伏羲)โดยเขาได้สังเกตสภาพดินฟ้าอากาศและการผันเปลี่ยนหมุนเวียนของโลก ในช่วงเริ่มแรกเขาใช้วิธีการมัดปมเชือกเพื่อบันทึกเหตุการณ์ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นการแกะสลักและสร้างสัญลักษณ์ที่มีลักษณเป็นเส้นประขึ้นมาเพื่อบันทึกทุกสรรพสิ่งบนโลก
.
บนแผนภูมิแปดทิศ (ปากว้า) จะมีสัญลักษณ์หยิน-หยางอยู่ตรงกลางเพื่อบ่งบอกถึงวัฏจักรธรรมชาติ และเส้นประอยู่รอบทั้ง 8 ทิศเพื่อบ่งบอกตำแหน่งและสิ่งต่างๆ บนโลก
.
ขีดประ (--) หมายถึงหยิน(阴), ขีดเต็ม (—) หมายถึงหยาง(阳), ขีดบน แทนฟ้า (สวรรค์), ขีดกลาง แทนมนุษย์ (โลก), ขีดล่าง แทนดิน ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ตรีลักษณ์” โดยอักษรบนปากว้าประกอบด้วย;
เฉียน(乾、☰):ตำแหน่งแห่งฟ้า
คือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
หมายถึง พ่อและการสร้างสรรค์
.
คุน(坤、☱):ตำแหน่งแห่งดิน
คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้
หมายถึง แม่
.
เจิ้น(震、☲):ตำแหน่งแห่งสายฟ้า
คือ ทิศตะวันออก
หมายถึง ลูกชายคนโตและการตื่นตัว
.
สวิน(巽、☳):ตำแหน่งแห่งสายลม
คือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
หมายถึง ลูกสาวคนโตและความอ่อนโยน
.
ตุ้ย(兑、☴):ตำแหน่งแห่งทะเลสาบ
คือ ทิศตะวันตก
หมายถึง ลูกสาวคนเล็กและความร่าเริง
.
เกิ้น(艮、☵):ตำแหน่งแห่งภูเขา
คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
หมายถึง ลูกชายคนเล็กและความสุขุม
.
ข่าน(坎、☶):ตำแหน่งแห่งสายน้ำ
คือ ทิศเหนือ
หมายถึง ลูกชายคนกลางและความลึกลับ
.
หลี(离、☷):ตำแหน่งแห่งไฟ
คือ ทิศใต้
หมายถึง ลูกสาวคนกลางและการติดตาม
.
หากกล่าวโดนสรุป ปากว้านั้นมีความสัมพันธ์กับจักรวาลและเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จากร้อนเป็นหนาว จากบวกเป็นลบ จากร้ายเป็นดี ฯลฯ นับว่าเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของอักษรจีนในยุคต่อมา
อักษรชังเจี๋ย(仓颉造字)
ชังเจี๋ยและการประดิษฐ์อักษร|仓颉造字
ตามตำนานกล่าวว่า ชังเจี๋ย(仓颉)เป็นขุนนางที่รับผิดชอบในการจดบันทึกประวัติศาสตร์และการประดิษฐ์อักษรในสมัยจักรพรรดิหวงตี้(黄帝)ซึ่งหลังสงครามรวมชนเผ่าบริเวณภาคกลางให้เป็นปึกแผ่นได้ หวงตี้มีความต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าด้วยการทูตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างสัญลักษณ์สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน ดังนั้นชังเจี๋ยจึงมีบทบาทในการสร้างอักษรจีนขึ้น
.
อักษรจีนเป็นอักษรที่สืบทอดความน่าอัศจรรย์จากรุ่นสู่รุ่น หลังจากการประดิษฐ์ขึ้นผู้คนสามารถนำประสบการณ์หรือเรื่องราวที่พบเจอมาถ่ายทอดผ่านลายลักษณ์อักษรจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
.
อย่างไรก็ตาม การที่ชังเจี๋ยประดิษฐ์อักษรจีนขึ้นจะเป็นเพียงคำเล่าลือ ซึ่งไม่สามารถเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด แต่เมื่อดูจำนวนตัวอักษรและวิวัฒนาการคงเป็นไปไม่ได้ที่คนคนเดียวจะทำสำเร็จได้
อักษรเซี่ยยวี่(夏禹书)
อักษรเซี่ยยวี่|夏禹书
ราชวงศ์เซี่ย(夏朝)เป็นราชวงศ์ที่ยังคงมีการถกเถียงกันถึงการมีตัวตนของราชวงศ์นี้ แม้แต่เรื่องของตัวอักษรจีนก็เช่นกัน ถ้ามีตัวตนก็ต้องสามารถพิสูจน์ได้ด้วยลายลักษณ์อักษรในสมัยนี้
.
กล่าวกันว่า “อักษรเซี่ยยวี่(夏禹书)” และ “แผ่นศิลาเซี่ยหวาง(夏王碑)” มีอักษรที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์เซี่ย ซึ่งลักษณะลายเส้นจะประณีต โค้งมน สมมาตรและมีมาตรฐานที่ชัดเจน โดยมีการสลักลงบนแผ่นกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์และเป็นแม่แบบแก่ราชวงศ์ซางในยุคต่อมา
.
แม้จะเป็นถกเถียงกัน แต่อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของอักษรจีน แม้จะเป็นเพียงตำนานหรือเรื่องเล่าเท่านั้น
อักษรกระดูกสัตว์-เจี๋ยกู่เหวิน(甲骨文)
อักษรกระดูกสัตว์-เจี๋ยกู่เหวิน|甲骨文
“อักษรกระดูกสัตว์” หรือ “เจี๋ยกู่เหวิน(甲骨文)” เป็นอักษรจีนที่โบราณที่สุดเท่าที่มีการขุดค้นพบมา กล่าวกันว่าอักษรประเภทนี้มีการพัฒนาแบบเต็มรูปแบบมาจากอักษรในสมัยราชวงศ์เซี่ย ซึ่งเจี๋ยกู่เหวินเริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซาง(商朝)มีจุดประสงค์ก็เพื่อใช้บันทึกเหตุการณ์และการทำนายต่างๆ
.
เจี๋ยกู่เหวินเป็นอักษรภาพที่เพียงแค่มองก็สามารถรับรู้ถึงความหมายได้ทันที โดยรูปแบบอักษรจะบางและไม่ได้โค้งมนเหมือนอักษรเซี่ยยวี่ แต่อักษรชนิดนี้มีความแตกต่างจากอักษรเซี่ยยวี่ตรงที่ มีการเขียนอักษรที่สมมาตร รูปแบบตายตัว มีการผสมคำและมีลักษณะของความเรียง ซึ่งถือได้ว่าอักษรในราชวงศ์ซางได้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อยแล้วและยังเป็นรากฐานในการพัฒนาอักษรในยุคถัดไป
อักษรโลหะ-จินเหวิน(金文)
อักษรโลหะ-จินเหวิน|金文
“อักษรโลหะ” หรือ “จินเหวิน(金文)” เป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรเจี๋ยกู่เหวิน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางของราชวงศ์ซาง แต่เป็นที่นิยมในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก เหตุที่สลักลงบนพาชนะสำริดแทนกระดูกสัตว์หรือกระดองเต๋าก็เป็นเพราะเครื่องสำริดค่อนข้างเป็นที่นิยมในยุคนี้และมีความคงทนมากกว่า เนื้อส่วนใหญ่จะเป็นบันทึกเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ ราชโองการหรือหนังสือสัญญา
.
จินเหวินจะมีลักษณะลายเส้นที่หนา โค้งมนและอักษรมีความจับกลุ่มมากกว่าเจี๋ยกู่เหวิน
อักษรต้าจ้วน(大篆)
อักษรต้าจ้วน|大篆
อักษรต้าจ้วน(大篆)เริ่มใช้ครั้งแรกในช่วงปลายราชวงศ์โจวตะวันตก ซึ่งเป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรจินเหวิน แต่พัฒนาและใช้อย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก
.
อักษรต้าจ้วนมีลักษณะพิเศษ 2 ประการคือ ประการแรก เส้นค่อนข้างตรง มีน้ำหนักความหนาบางไม่เท่ากันในแต่ช่วง ลายเส้นสม่ำเสมอและดูอ่อนนุ่ม, ประการสอง มีมาตรฐานที่ตายตัว รูปแบบอักษรเริ่มออกจากความเป็นอักษรภาพและเป็นรากฐานของการเขียนอักษรจีนในตารางสี่เหลี่ยมในยุคหลัง
อักษรเหนี่ยวฉง(鸟虫书)
อักษรเหนี่ยวฉง|鸟虫书
หลังการล่มสลายของราชวงศ์โจวตะวันออก แผ่นดินจีนก็สู่ช่วงที่วุ่นวายที่สุด นั่นก็คือ ยุคชุนชิว-จ้านกั๋ว แม้ว่าแผ่นดินจะแบ่งออกเป็นแคว้นต่างๆ แต่อิทธิพลของอักษรต้าจ้วนก็ยังได้รับการถ่ายทอดในยุคนี้ โดยในแต่ละแคว้นยึดเค้าโครงต้าจ้วน แล้วพัฒนาหรือประดิษฐ์ในแบบของตัวเอง แต่มีอีกหนึ่งอักษรที่ไม่เหมือนใครในแคว้น นั่นคือ “อักษรเหนี่ยวฉง(鸟虫书)”
.
อักษรเหนี่ยวฉง เป็นอักษรที่ใช้อย่างแพร่หลายของแคว้นที่อยู่ทางตอนใต้อย่างเช่น แคว้นฉู่(楚国)แคว้นอู๋(吴国)แคว้นเยว่(越国)เป็นต้น ซึ่งอักษรนี้เกิดจากการดัดแปลงมาจากอักษรต้าจ้วนจดผิดรูปผิดร่าง มีรวดลายที่คาดเดาได้ยาก แต่ลักษณะลายเส้นจะมีความคล้ายคลึงกับนกและหนอน
อักษรรูปนก(鸟书):เป็นอักษรที่มีรวดลายคล้ายกับนก ซึ่งจะเพิ่มตรงบริเวณส่วนปลายของเส้น ด้านข้างหรือด้านล่างของคำ
.
อักษรรูปหนอน(虫书):เป็นอักษรที่มีรวดลายคล้ายกับหนอน ลายเส้นจะมีความคดเคี้ยวไปมา โดยบริตรงกลางของเส้นจะนูน ปลายจะแหลม ซึ่งเป็นลักษณะของหนอน
ไม่ว่าจะเป็นอักษรรูปนอนหรือนกก็ล้วนเป็นทายาทวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่งที่มาจากอักษรต้าจ้วน แม้ว่าจะมีขอบเขตการใช้งานที่จำกัดกว่า แต่กลับเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่อยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำฉางเจียง(长江)ได้ดีที่สุด
อักษรเสี่ยวจ้วน(小篆)
อักษรเสี่ยวจ้วน|小篆
หลังแคว้นฉิน(秦国)สามารถรวบรวมแคว้นอื่นๆ และแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นได้ อิ๋งเจิ้ง(嬴政)ก็สถาปนาราชวงศ์ฉินและตั้งตนเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้(秦朝秦始皇)หลังการสถาปนาราชวงศ์แล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้ก็กำเนิดภาษา วัฒนธรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และหนึ่งในนั้นก็คือ “อักษรเสี่ยวจ้วน”
.
อักษรเสี่ยวจ้วน เป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรต้าจ้วน แต่มีจุดต่างตรงที่อักษรเสี่ยวจ้วนมีลายเส้นที่บางลง ทรงยาว มีความโค้งมนที่สม่ำเสมอและลดความเป็นอักษรภาพ ซึ่งอักษรชนิดนี้ใช้อย่างแพร่หลายช่วงต้นราชวงศ์ฉินถึงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก แต่ในปัจจุบันก็ยังมีใช้อยู่ในเชิงงานของงานศิลปะทางพู่กันจีน
อักษรทาส-ลี่ซู(隶书)
อักษรทาส-ลี่ซู|隶书
“อักษรทาส” หรือ “ลี่ซู(隶书)” เป็นอักษรที่มีวิวัฒนาการมาจากอักษรเสี่ยวจ้วนในช่วงปลายราชวงศ์ฉินและนิยมมากที่สุดในช่วงราชวงศ์ฮั่น โดยกล่าวกันว่าอักษรชนิดนี้ประดิษฐ์โดยทาสนามว่า “เฉิงเหมี่ยว(程邈)” เขาคิดว่ารูปแบบของอักษรเสี่ยวจ้วนที่ใช้มาแต่เดิมนั้นมีเวลาในการเขียนค่อนข้างกินเวลา เขาจึงประดิษฐ์รูปแบบอักษรชนิดใหม่ที่สามารถรองรับการเขียนและประหยัดเวลาขึ้น นั่นคือ “อักษรลี่ซู”
.
ลี่ซู เป็นอักษรที่พัฒนามาจากเสี่ยวจ้วน ซึ่งลักษณะลายเส้นส่วนใหญ่จะเหมือนกับการเขียนในกรอบสี่เหลี่ยม เปลี่ยนจาก “เส้นต่อเนื่อง” มาเป็น “เส้นแบ่ง” ทำให้ง่ายต่อการเขียนมากขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อรูปแบบอักษรในยุคต่อไปได้ดี
อักษรบรรจง-ข่ายซู(楷书)
อักษรหวัด-เฉ่าซู|草书
“อักษรหวัด” หรือ “เฉ่าซู(草书)” เป็นอักษรที่เกิดจากการเขียนอย่างรวดเร็วของอักษรลี่ซู เริ่มใช้ครั้งแรกในช่วงปลายสามก๊กที่รัฐวุยก๊กถึงต้นราชวงศ์จิ้นตะวันตกและใช้มาจนถึงปัจจุบัน
.
เฉ่าซู เป็นอักษรชนิดหนึ่งที่ประดิษฐ์เพื่อความสะดวกในการจดบันทึกหรือเรื่องราวต่างๆ โดยลักษณะของการเขียนจะเขียนแบบลากเป็นเส้นเดียวกันและไม่ยกมือขึ้นในแต่ละตัวอักษร มีความสม่ำเสมอในลายเส้น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับต้นหญ้าที่เมื่อลมพัดก็พลิ้วไหวได้ นอกจากนี้ เฉ่าซูก็ยังใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันและในงานศิลป์ต่างๆ ดูน้อยลง
อักษรหวัด-เฉ่าซู(草书)
อักษรกึ่งหวัดบรรจง-สิงซู|行书
“อักษรกึ่งหวัดบรรจง” หรือ “สิงซู(行书)” เป็นอักษรชนิดหนึ่งที่เกิดจากการรวมการเขียนของข่ายซูและเฉ่าซูเข้าด้วยกัน โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในช่วงราชวงศ์จิ้นตะวันตกถึงปัจจุบัน
.
สิงซู ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วในการเขียนอักษรข่ายซู แต่ยังคงไว้ซึ่งเค้าโครงของตัวอักษรอยู่และอ่านง่ายกว่าการเขียนแบบเฉาซู ลักษณะลายเส้นจะทำให้รู้ถึงความรีแลกซ์และลื่นไหลมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นอักษรอีกหนึ่งชนิดที่เป็นที่นิยมในการเขียนอักษรจีนในยุคปัจจุบัน ดูน้อยลง
อักษรกึ่งหวัดบรรจง-สิงซู(行书)
อักษรบรรจง-ข่ายซู|楷书
“อักษรบรรจง” หรือ “ข่ายซู(楷书)” เป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรลี่ซูในช่วงราชวงศ์ฮั่น แต่เริ่มใช้ครั้งแรกช่วงปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก
.
อักษรชนิดนี้มีลักษณะลายเส้นที่ประณีตมาก เขียนตั้งตรง ทรงเหลี่ยม มีความบรรจง สมดุลแลมีลักษณะที่เขียนในกรอบสี่เหลี่ยมที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอักษรมาตรฐานในการเขียนอักษรจีนในยุคปัจจุบัน ดูน้อยลง
อักษรแบบซ่ง-หมิง(宋明体字)
อักษรแบบซ่ง|宋体字
“อักษรแบบซ่ง” หรือ “ซ่งถี่(宋体字)” เป็นอักษรที่ใช้ครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่งจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากในสมัยราชวงศ์ซ่งมีการสร้างแท่นพิมพ์(印刷术)สำเร็จ ซึ่งสามารถประหยัดเวลาในการเขียนได้มาก จึงทำให้เกิดอักษรชนิดนี้ขึ้น
.
ซ่งถี่ เป็นอักษรในรูปแบบของการพิมพ์ ซึ่งไม่นิยมเขียนด้วยพู่กัน ลักษณะลายเส้นมีความบาง ปลายอักษรจะมนๆ เหมือนการลงน้ำหนักของการเขียนพู่กันจีนและเริ่มเป็นเหลี่ยม อักษรชนิดนี้ถือว่าเป็นแม่แบบการพิมพ์อักษรจีนในสมัยราชวงศ์หมิงอีกด้วย
อักษรแบบหมิง|明体字、明朝体
“อักษรแบบหมิง” หรือ “หมิงเฉาถี่/หมิงถี่(明朝体、明体字)” เป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรแบบซ่ง ซึ่งเริ่มใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในสมัยราชวงศ์หมิงจนถึงปัจจุบัน ช่างแกะสลักแม่พิมพ์ได้พัฒนารูปแบบอักษรให้มีความเป็นอักษรแบบพิมพ์และมีเสน่ห์มากขึ้น
.
หมิงถี่ เป็นอักษรในรูปแบบของการพิมพ์ที่พัฒนามาจากอักษรแบบซ่ง ลักษณะลายเส้นจะหนาและเด่นชัดกว่า ปลายของอักษรจะแหลมและเหลี่ยมเหมือนที่เราพบได้ในปัจจุบัน
.
กล่าวได้ว่าทั้งอักษรแบบซ่งและแบบหมิงถือเป็นแม่แบบของฟอนต์ “Simsun(新宋体)” และ “Mincho(明朝体)” ที่ใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์อย่างที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน
.
ติดตามและอ่านเพิ่มเติมได้ที่
.
โฆษณา