28 ก.ค. 2021 เวลา 03:55 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต: 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 (พ.ศ. 2337) มักซิมิเลียง โรเบสปิแอร์ (Maximilien Robespierre) ทรราชชาวฝรั่งเศสถูกประหารชีวิตด้วยการใช้กิโยตีนตัดศีรษะ
ต้นฉบับของภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Robespierre.jpg
ในปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) หลังความนิยมของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสตกต่ำถึงขีดสุด ประชาชนชาวฝรั่งเศสก่อการปฏิวัติทลายคุกบัสตีย์ (Bastille) และก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1792 (พ.ศ. 2335) หลังจากนั้น สาธารณรัฐฝรั่งเศสถูกปกครองด้วยระบอบรัฐสภา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกถอดถอนเป็นสามัญชน
รัฐสภาในช่วงนั้น สมาชิกส่วนใหญ่มีท่าทีรอมชอม ต้องการให้อดีตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีชีวิตต่อไป และเชื่อว่าการไม่ประหารอดีตกษัตริย์จะแสดงถึงความไม่สุดโต่งของรัฐสภา และจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง มีชื่อเรียกว่า กลุ่มฌีรงแดง (Girondin)
แต่ก็มีสมาชิกส่วนหนึ่ง ที่เชื่อว่าต้องขุดรากถอนโคนอดีตกษัตริย์และพระราชวงศ์เท่านั้น จึงจะทำให้ความเป็นสาธารณรัฐในฝรั่งเศสยั่งยืน มีชื่อเรียกว่า กลุ่มลามงตาญ (La Montagne) ซึ่ง โรเบสปิแอร์ คือผู้นำของกลุ่มนี้
ในขณะนั้น สาธารณรัฐฝรั่งเศสพบปัญหาหลายประการ มีสงครามกับเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนอดอยาก เกิดกบฏต่อต้านรัฐบาล (สนับสนุนระบอบเก่า) ขึ้นจากภายในประเทศ
อาศัยสถานการณ์ที่ล่อแหลมนี้ ใน ค.ศ. 1793 (พ.ศ. 2336) กลุ่มลามงตาญ และผู้สนับสนุน ปิดล้อมรัฐสภา บังคับให้สมาชิกกลุ่มฌีรงแด็ง (กลุ่มรอมชอม) ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด ทำให้กลุ่มลามงตาญ และโรเบสปิแอร์ จึงขึ้นปกครองประเทศแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
โรเบสปิแอร์ ได้วางระบบอำนาจของตน โดยใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐ 2 แห่ง คือ คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ (Comité de salut public) และศาลอาญาปฏิวัติ (Tribunal révolutionnaire) ในการปราบปราม จับกุม และตัดสินโทษทางการเมือง ที่ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อระบอบสาธารณรัฐ
โรเบสปิแอร์เชื่อว่าเขากำลังปกป้องระบอบสาธารณรัฐให้ปลอดภัยโดยการกำจัดศัตรูที่อาจฟื้นฟูระบอบเก่าขึ้นมากดขี่ประชาชนดังในอดีต เขาจึงใช้อำนาจ จับกุมและประหารบุคคลที่สำคัญกับระบอบเก่า เพื่อขุดรากถอนโคนระบอบกษัตริย์ให้สิ้น รวมถึงตัวอดีตกษัตริย์และอดีตพระราชินี มารี อองตัวเนต
ทว่า โรเบสปิแอร์กลับไหลต่อไปประหารประชาชนที่ไม่รู้ประสาเป็นจำนวนมาก ประชาชนเหล่านี้หลายครั้งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย หรือมีความเห็นทางการเมืองต่างไปจากรัฐบาล หรือบังเอิญได้รับประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งจากกลุ่มหรือผู้คนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล แม้กระทั่งถูกใส่ร้ายจากบุคคลอื่น
ประชาชนเหล่านี้ถูกนำไปขึ้นศาลอาญาปฏิวัติ, ถูกตัดสินโทษประหารอย่างรวบรัด ถูกแห่ประจานทั่วเมือง ก่อนที่จะถูกตัดศีรษะด้วยกิโยตีนท่ามกลางฝูงชน
ต้นฉบับของภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Octobre_1793,_supplice_de_9_%C3%A9migr%C3%A9s.jpg
ประชาชนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ว่าจะทำผิดใจรัฐฯ จนถูกลากไปประหารเมื่อใด หรือจะถูกเพื่อนบ้านใส่ความจนถูกตัดสินประหารเมื่อใด ในช่วงเวลานี้ของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ถูกเรียกว่า "สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" (la Terreur)
ในช่วงเวลาเพียง 1 ปี ที่โรเบสปิแอร์ และองค์กรทั้ง 2 เรืองอำนาจ มีการตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยตีนมากถึง 16,594 คน และเสียชีวิตด้วยวิธีอื่นๆ อีกประมาณ 25,000 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 40,000 คนในหนึ่งปี
ต่อมา ในกลุ่มลามงตาญเอง เริ่มขัดแย้งกันเองกับโรเบสปิแอร์ ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 (พ.ศ. 2337) จึงลงมติปลดโรเบสปิแอร์ออกจากทุกตำแหน่ง, จับกุม และตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยกิโยตีน
โรเบสปิแอร์ ผู้ซึ่งทำให้ชีวิตประชาชน 40,000 ต้องจบชีวิต และอีกหลายล้านคนต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัว ถูกประหารชีวิตในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 (พ.ศ. 2337) ด้วยอายุ 36 ปี
โฆษณา