20 ก.ค. 2021 เวลา 12:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เครดิต : National Geographic Thailand
ใน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพบเห็นภาวะแห้งแล้ง ขณะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของพสกนิกรทางภาคอีสานบริเวณเทือกเขาภูพาน
.
เนื่องจากสภาพอากาศจากพื้นดินถึงระดับฐานเมฆ ไม่เอื้ออำนวยให้ไอน้ำกลั่นตัวเป็นเมฆและยากต่อการเหนี่ยวนำให้ฝนตกลงสู่พื้นดิน จึงมีฝนตกน้อยหรือไม่ตกเลย เป็นเหตุให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลายาวนาน สร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรอย่างสาหัส
.
พระองค์พระราชทานพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรวิศวกรรม ว่าน่าจะมีวิธีประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการดัดแปรสภาพอากาศ มาช่วยให้เมฆกลั่นตัวเป็นหยดน้ำฝนได้
.
การรับสนองพระราชดำริ นำไปสู่การดำเนินการอย่างจริงจังของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ม.ล.เดช สนิทวงศ์ และ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เพื่อศึกษาวิธีทำฝนเทียมของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล มาประยุกต์ใช้กับสภาพอากาศของประเทศไทย
การทำฝนเทียมหรือฝนหลวง (Artificial Rain) เป็นเทคนิคการเหนี่ยวนำนํ้าจากฟ้าโดยอาศัยหลักการความร้อนชื้นปะทะกับความเย็น มีการใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีจนไอนํ้าในอากาศอิ่มตัว และควบแน่นกลั่นตัวลงมาเป็นฝน เทคนิคนี้ต้องอาศัยความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิที่เหมาะสม และความสามารถในการบินประกอบกัน
.
ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองปฏิบัติการฝนหลวง ประเทศไทยยังไม่มีนักวิชาการด้านการวัดแปรสภาพอากาศ หรือนักวิชาการทำฝนอยู่เลย รัชกาลที่ 9 จึงได้ทรงติดตามผลการวางแผนการทดลองปฏิบัติการ โดยทรงสังเกตจากรายงานแทบทุกครั้งอย่างใกล้ชิด
.
14 ปีต่อมา จากการค้นคว้าและคิดค้นอย่างจริงจัง การปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆบนท้องฟ้าจริงๆ จึงเกิดขึ้นบริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จากการสนับสนุนเครื่องบินของแผนกปราบศัตรูพืชทางอากาศและกองเกษตรวิศวกรรม ในวันนี้เมื่อ พ.ศ. 2512
.
การทดลองดำเนินการ 3 เที่ยวบินด้วยกัน เที่ยวแรกดำเนินการโปรยน้ำแข็งแห้ง (Dry-ice) ทับยอดเมฆที่ระดับ 6,000-8,000 ฟุต ช่วงแรกเมฆยังไม่หนาแน่นมาก และไม่ปรากฏหยดน้ำเกาะที่กระจกกระจังหน้าเครื่องบิน
.
เที่ยวบินที่ 2 นักบินต้องปรับเพดานบินสูงขึ้น เพื่อโปรยน้ำแข็งแห้งทับยอดเมฆที่พัฒนาตัวสูงขึ้นเป็น 8,000-10,000 ฟุต ปรากฏว่าเมฆมีสภาพแน่นและทึบแสง เริ่มมีละอองน้ำขนาดเล็กเกาะที่กระจกกระจังหน้าของเครื่องบิน
.
เที่ยวบินที่ 3 น้ำแข็งแห้งถูกโปรยที่ยอดเมฆระดับ 12,000-15,000 ฟุต ฐานเมฆเปลี่ยนเป็นเป็นสีเทาเกือบดำ เม็ดน้ำที่จับกระจังหน้าของเครื่องบินมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหยดฝน เครื่องบินมีอาการสั่นสะเทือน และโยนตัวขึ้นลงรุนแรงหลายครั้ง สรุปผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังไม่สามารถควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้
.
หลังจากนั้น การพัฒนาฝนหลวงได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ รัชกาลที่ 9 ทรงวิเคราะห์กรรมวิธีผลิตฝนหลวงว่ามี 3 ขั้นตอนด้วยกัน
.
ขั้นที่ 1 ก่อกวน (ใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบนเป็นก้อนเมฆ)
.
ขั้นที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน (โปรยสารเคมีฝนหลวงที่ทรงค้นคว้าขึ้นมา โดยไม่มีสารพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ก้อนเมฆขยายตัวหรืออ้วนขึ้น)
.
ขั้นที่ 3 โจมตี (เมื่อกลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอ ภายในจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมายที่พร้อมตกลงมาเป็นหยาดฝน)
.
พ.ศ. 2518 รัฐบาลตระหนักถึงการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานฝนหลวงเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ดังนั้น เพื่อให้ปฏิบัติการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ครอบคลุมขึ้น จึงมีการตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง ‘สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง’ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป
.
พ.ศ. 2535 สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงถูกรวมเข้ากับกองบินเกษตร ก่อตั้งเป็น ‘สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร’ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้แก่เกษตรกรและประชาชน เติมน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ รวมถึงบินบริการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
.
พ.ศ. 2556 สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมฝนหลวงและการบินเกษตร’ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2556 เพื่อให้การบริหารจัดการการปฏิบัติการฝนหลวง เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวในการบูรณาการภารกิจร่วมกับส่วนราชการอื่น
__
ภาพถ่ายโดย อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
โฆษณา