Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
21 ก.ค. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
[UPDATE] Netflix กำไรต่ำกว่าคาด ยืนยันจะรุกเข้าสู่ธุรกิจเกม
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา Netflix ได้รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2021
ซึ่งถือว่าเป็นไตรมาสที่นักลงทุนหลายคนให้ความสนใจเพราะไตรมาสที่แล้ว
ทางบริษัทได้คาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีสมาชิกรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านบัญชี
1
แล้วบทสรุปของ Netflix ไตรมาสที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ? มาดูกัน
เริ่มกันที่ผลประกอบการบริษัท Netflix ไตรมาสที่ 2 ปี 2021
รายได้ 241,000 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19%
กำไร 44,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88%
โดยบริษัทได้รายงานผลการเติบโตของรายได้มาจาก
จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นบวกกับการปรับค่าสมาชิกรายเดือนสูงขึ้น
2
ในขณะที่กำไรที่ทำได้ แม้จะเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน
แต่ก็ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้
แล้วยอดสมาชิกของ Netflix เป็นอย่างไร ?
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 Netflix มีสมาชิก 209.18 ล้านบัญชี
โดยเป็นสมาชิกที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสนี้ 1.5 ล้านบัญชี
ทำได้ดีกว่าตัวเลขที่บริษ้ทคาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านบัญชี
ที่น่าสนใจจากยอดสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้น ก็คือ สมาชิกที่เพิ่มขึ้น
มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 2 ใน 3 ที่เหลือมาจากยุโรปและแอฟริกา
ในขณะที่ยอดสมาชิกชาวอเมริกันและแคนาดา ปรับตัวลดลง 4 แสนบัญชี
ซึ่งคู่แข่งที่ตามมาอย่าง Disney ก็เพิ่งประกาศยอดสมาชิกล่าสุดไว้ที่ 103.6 ล้านบัญชี
ก็เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันของทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ถือเป็นอะไรที่น่าติดตาม
ทั้งนี้ บริษัทได้ให้เหตุผลต่อผลประกอบการในไตรมาสนี้ไว้ว่าโรคระบาดโควิด 19
ได้ทำให้ความต้องการบริการวิดีโอสตรีมมิงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา
จึงทำให้มีการเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกใหม่รวมถึงปริมาณการใช้งานวิดีโอสตรีมมิงต่อวันสูงเพราะช่วงเวลานี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เกิดการระบาด หลายประเทศมีการล็อกดาวน์
ซึ่งก็ได้สะท้อนไปยังสมาชิกรายใหม่ในไตรมาสที่ 2 ปีที่แล้ว ที่เพิ่มขึ้นมากถึง 10.09 ล้านบัญชี
พอเรานำตัวเลขปีนี้ไปเปรียบเทียบจึงจะเห็นว่ามีอัตราการเติบโตที่ลดลง
ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ Netflix จะกลับมามียอดการสมัครสมาชิกรายใหม่เข้ามาราว 3.5 ล้านบัญชี สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ 2.2 ล้านบัญชี
1
ทีนี้พอมาดูเรื่องการแข่งขัน Netflix ก็ได้เริ่มต้นจากการกางสัดส่วนการรับชมสื่อบันเทิง
ในประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนมิถุนายน 2021 จะแบ่งออกเป็น
เคเบิล 40%
วิดีโอสตรีมมิง 27%
บรอดแคสต์ 23%
อื่น ๆ 9%
จากข้อมูลชุดนี้เมื่อนำไปรวมกับการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการในช่วงที่ผ่านมา ที่บริษัทเคเบิลและบรอดแคสต์รายใหญ่ได้เริ่มถูกเข้าซื้อและควบรวมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
การควบรวมระหว่าง Warner Media Group และ Discovery
Amazon เข้าซื้อ MGM Studios
Disney เข้าซื้อ Fox
สะท้อนให้เห็นถึงผู้ผลิตคอนเทนต์ในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะควบรวมกันเพื่อทำให้คอนเทนต์มีความหลากหลายและครอบคลุมผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุดเพื่อดึงดูดสมาชิกรายใหม่
1
แต่ Netflix ไม่ได้มองว่าผู้เล่นเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เพราะบริษัทมองว่าการแข่งขันทุกวันนี้ คือการแย่งเวลาจากจอสมาร์ตโฟนมากกว่า ซึ่งคู่แข่งคนสำคัญก็คือ YouTube, Epic Games (เจ้าของ Fortnite) และ TikTok
นอกเหนือจากเรื่องของธุรกิจสตรีมมิงแล้ว Netflix ยืนยันว่าจะรุกเข้าสู่ธุรกิจเกมและจะเริ่มต้นโฟกัสไปที่ “เกมสมาร์ตโฟน”
โดยลักษณะของธุรกิจใหม่นี้ จะถูกรวมเข้ากับสมาชิกวิดีโอสตรีมมิงในราคาเดิม
หมายความว่าผู้ที่เป็นสมาชิก Netflix อยู่แล้ว ก็จะสามารถเข้าถึงเกมได้ทันที
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดก็คือการว่าจ้าง Mike Verdu อดีตรองประธานแผนก AR/VR จากบริษัท Facebook เข้ามาเป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาเกมของบริษัท
ปัจจุบัน Netflix มีมูลค่าบริษัท 7.7 ล้านล้านบาท
นับเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับที่ 39 ของโลก
ก็น่าสนใจว่าการรุกเข้าสู่ธุรกิจเกมของ Netflix จะมาในรูปแบบไหน และจะสามารถเข้ามาเติมเต็มธุรกิจวิดีโอสตรีมมิงได้ดีหรือไม่
จากการยืนยันรุกเข้าสู่ธุรกิจเกมของ Netflix ทำให้คิดได้ว่า
ไม่ว่าผู้ผลิตสื่อบันเทิงจะออกผลิตภัณฑ์แบบไหน
พวกเขาจะขอแค่ผลิตภัณฑ์นั้น แย่งเวลาผู้ใช้งาน ทั้งแย่งกันเอง ไปจนถึง แย่งเวลานอนเราได้ ก็พอ..
References
-
https://s22.q4cdn.com/959853165/files/doc_financials/2021/q2/FINAL-Q2-21-Shareholder-Letter.pdf
-
https://www.youtube.com/watch?v=C-Lhv2YSvis
-
https://www.cnbc.com/2021/07/20/netflix-nflx-q2-2021-earnings.html
-
https://companiesmarketcap.com/
12 บันทึก
51
3
11
12
51
3
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย