สำนวนสุภาษิตที่ว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” หมายความว่าอะไร?
ความหมายตามพจนานุกรมอาจหมายถึง ‘ผู้ที่เกิดก่อนย่อมมีประสบการณ์มากกว่าเด็กหรือผู้ที่เกิดทีหลัง’ แต่ในด้านการนำมาใช้ คำนี้เหมือนจะบอกกับผู้ฟังว่า ‘หยุด! ห้ามเถียง’ เสียมากกว่า
.
แต่รู้หรือไม่ การถูกบังคับให้เชื่อ(ง)ตาม เป็นเด็กที่ ‘ว่านอนสอนง่าย’ แบบที่ผู้ใหญ่ต้องการ กำลังค่อยๆ ทำลายความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ไปจากเด็กในสังคม
.
.
เด็กไทยส่วนใหญ่ ขาด Critical Thinking?
.
การฝึกทักษะในการใช้ชีวิตของเด็กควรเริ่มมาตั้งแต่การเลี้ยงดู และการศึกษา แต่การเรียนการสอนในประเทศไทย ไม่ได้เน้นให้เด็กตั้งคำถาม หรือแลกเปลี่ยนความเห็นกันในชั้นเรียน แต่แค่สอนให้เชื่อและจำไปสอบให้ผ่านระดับชั้นต่อไป เพื่อให้จบตามหลักสูตรภาคบังคับเท่านั้น บรรยากาศถกเถียงประเด็นต่างๆ ในห้องเรียนเป็นสิ่งที่แทบไม่มีให้เห็นได้เลยในระดับชั้นมัธยมศึกษา และยังมีระบบชนชั้นในสังคม ที่ทำให้ผู้น้อยไม่สามารถออกความคิดเห็นแย้งกับผู้ที่ใหญ่กว่าได้ ยิ่งเป็นการทำให้คนในสังคมยอมทำตามๆ กันต่อๆ ไป โดยไม่สามารถฝึกฝนทักษะ Critical Thinking ตั้งแต่เด็กกันได้เลย
.
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนจะขาดทักษะนี้ เพียงแค่ระบบในสังคม ‘ไม่ส่งเสริม’ ให้เด็กมีทักษะนี้ ถ้ามีเด็กคนไหนกล้าเสนอข้อคิดเห็นขึ้นมา ก็จะถูกกดทับด้วยคำพูดที่ว่า “เถียงคำไม่ตกฟาก” ทำให้เด็กไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในครั้งต่อไป และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมบางคนจึงขาดทักษะ Critical Thinking รวมไปถึง Creativity เพราะการโดนจำกัดกรอบความคิดตั้งแต่เด็ก จากการถูกตีกรอบเช่นนี้บ่อยๆ ทำให้เด็กเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง กลายเป็นคน ‘ว่านอนสอนง่าย’ ตามที่สังคมต้องการ แต่กลับไม่กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าได้ในสังคม
.
และอาจพูดใหม่ให้ถูกว่า ‘คนไทย’ บางส่วนขาดทักษะนี้ มากกว่าแค่ ‘เด็กไทย’ ด้วยระบบสังคมและความเชื่อที่ถูกสั่งสอนถ่ายทอดต่อๆ กันมาทุกยุคทุกสมัย ผู้ใหญ่ในวันนี้ ก็คือเด็กที่ถูกตีกรอบมาในวันนั้น และก็ยังคงถ่ายทอดความเชื่อนี้ต่อไปให้คนรุ่นถัดไป
.
.
สิ่งที่ใช้ได้ในวันนั้น อาจใช้ไม่ได้ในวันนี้
.
เพื่อให้เห็นภาพ มาลองเทียบ ‘ความเชื่อ’ กับ ‘วิวัฒนาการด้านการสื่อสาร’ สมัยก่อนใช้นกพิราบ ต่อมาเป็นจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์มือถือ และสมาร์ตโฟนตามลำดับ ปัจจุบันนี้คงไม่มีใครใช้นกพิราบในการสื่อสารแบบสมัยก่อนกันแล้ว ความเชื่อต่างๆ ก็เช่นกัน ในเมื่อบริบทปัจจุบันต่างออกไป อาจมีของเดิมบางอย่างที่อาจไม่เข้ากับบริบทในปัจจุบันไปแล้ว ทุกคนจึงจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยน ความคิด ทัศนคติ ให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ สิ่งที่เหมาะสมในอดีต อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมในบริบทปัจจุบัน
.
.
การชนกันของคนต่างเจเนอเรชัน
.
การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างไกลยิ่งขึ้น เราสามารถหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่งข่าวได้อย่างรวดเร็ว และมองเห็นโลกจากในมุมมองอีกหลายๆ แง่มุม ทำให้เด็กเริ่มตั้งข้อสังเกต สงสัยกับสิ่งต่างๆ รอบตัว พร้อมเสิร์ชหาข้อมูลเพื่อค้นหาความจริงมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันมักจะพบปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชันของเด็ก Gen Y หรือ Gen Z ที่พร้อมสงสัย กล้าตั้งคำถามกับผู้ใหญ่โดยเฉพาะในยุค Baby Boomer ที่ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของลำดับชั้นและการเชื่อฟังอยู่
.
แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า หลังจากนี้ห้ามผู้ใหญ่สั่งสอนเด็ก หรือเด็กจะพูดอะไรใส่ผู้ใหญ่ก็ได้ เพราะไม่ว่าใครก็ต่างต้องการได้รับการยอมรับในความเชื่อ ความคิดเห็นของตนเองทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนมาเป็น การรับฟังความเห็นของกันและกัน พูดคุยกันด้วยเหตุผล มากกว่าใช้อารมณ์และอำนาจ ลด Ego ของตัวเองลง ไม่มีใครผิด หรือถูกเสมอไป ถ้าอีกฝ่ายมีความเห็นไม่เหมาะสม ก็สามารถอธิบายให้ฟังกันได้ด้วยหลักการเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็ตาม
.
.
เพราะเด็กอาจไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่ผู้ใหญ่ก็อาจไม่ได้รู้ทุกอย่างเหมือนกัน
.
ไม่ว่าจะเด็กกว่า หรือโตกว่า ทุกคนมีความคิด ความเชื่อ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาต่างกัน ไม่มีสิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิดอย่างตายตัว แต่เราสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยน เพื่อทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันได้
.
.
เราสามารถสอนเด็กให้รู้จักน้ำร้อนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราได้ แต่เราก็ต้องฟังวิธีทำน้ำร้อนแบบใหม่จากเด็กด้วยเหมือนกัน
.
เพราะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน น้ำร้อนในตอนนั้น กับตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงในอนาคตต่อไปก็ด้วยเช่นกัน
.
.
เพียงแค่ทุกคน ‘ยอมรับ’ ความเห็นอีกฝ่าย ‘รับฟัง’ และ ‘เปิดใจ’ แล้วหลังจากนี้ลองหันกลับมาพูดคุยด้วยเหตุผลทั้งสองฝ่ายกันแทนเถอะ
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
#society