21 ก.ค. 2021 เวลา 11:46 • ข่าว
“บิ๊กตู่” รับข้อเสนอ 40 CEOs ดึงร่วมสู้โควิด เปิดช่องให้เจรจาหาวัคซีนเข้ามาได้
นายกรัฐมนตรี หารือ 40 ผู้บริหารภาคเอกชน หาทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมรับข้อเสนอเอกชนไปพิจารณา พร้อมเปิดโอกาสให้เอกชนช่วยเจรจาหาวัคซีนที่ดีมีคุณภาพเสริมจากที่ทางรัฐบาลได้เตรียมการไว้ เพื่อให้ประชาชนได้วัคซีนเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลา 14.20 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ 40 ซีอีโอ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ผ่านระบบ Video Conference
ภายหลังการประชุม "สนั่น อังอุบลกุล" ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้รับข้อเสนอของเอกชนไปพิจารณา ทั้ง 4 ข้อ โดยได้ขอขอบคุณภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนการป้องกันการระบาด ให้ประชาชนในทางต่าง ๆ โดยภาครัฐก็ยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้เอกชนช่วยเจรจาหาวัคซีนที่ดีมีคุณภาพเสริมจากที่ทางรัฐบาลได้เตรียมการไว้ เพื่อให้ประชาชนได้วัคซีนเร็วที่สุด ส่วนประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน นายกฯ พร้อมเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนต่อไป
สำหรับข้อเสนอของทางเอกชนทั้ง 4 ข้อ คือ 1. การควบคุมการแพร่ระบาด โดยเสนอให้จัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ของภาคเอกชนร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้ เช่นเดียวกับการจัดยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการ Isolation ทั้ง จัดให้มี Rapid Tests อย่างทั่วถึง สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation จัดให้มียารักษาอย่างพอเพียง และเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม
2.การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน โดยขยายมาตรการก่อนหน้านี้ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการตาม คำสั่งของรัฐที่เกินกว่า 90 วัน ให้ได้รับการช่วยเหลือ พร้อมทั้งเร่งรัดออกมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ประกอบด้วย
เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ เร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย ตามมติ คณะรัฐมนตรี เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 500,000 ราย พร้อมทั้ง กำหนดแนว ทางการนำแรงงานใหม่เข้ามาโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และเร่งตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อป้องกันภาคการผลิตไม่ให้หยุดชะงัก
3. การกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอให้นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทภายใน 1 ไตรมาส กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่ม เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และ ทบทวนความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy โดยกำหนดนโยบาย และกฎหมายที่ชัดเจนเฉพาะธุรกิจบางประเภท และกำหนดโครงสร้างฐานภาษีใหม่
4. การฟื้นฟูประเทศไทย โดยตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯขอบคุณเอกชนที่มาร่วมหารือ โดยรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงมากขึ้นนี้ ยังเดินหน้าแก้ไขอย่างรอบด้าน โดยสิ่งที่ได้รับฟังข้อมูลในวันนี้ สอดคล้องกับนโยบายและแนวคิดของรัฐบาล ซึ่งทุกข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ซึ่งทั้งการช่วยเหลือ การให้สิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตราเยียวยาต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย และหลักการงบประมาณ เพราะเงินที่รัฐบาลที่นำมาใช้จ่ายมาจากภาษีของประชาชน
“รัฐบาลทำหน้าที่กำหนดนโยบายสร้างโอกาสให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ลดความขัดแย้ง ขอยืนยันการเดินหน้าเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งเริ่มแล้วที่ภูเก็ตและสมุย และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งรัฐบาลและเอกชนต่างก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจเดินหน้าประเทศ เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน พร้อมรับข้อเสนอ ข้อห่วงใยทุกประเด็น ซึ่งจะได้นำไปหารือกับคณะรัฐมนตรีและ ศบค. ต่อไป”
โฆษณา