21 ก.ค. 2021 เวลา 14:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คุณทำ DCF ก่อนซื้อหุ้นรึเปล่า? ผมบอกเลยว่าผมไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้ผมกำลังจะเปลี่ยนใจ..
ล่าสุดผมตัดสินใจทิ้งความเชื่อ ว่าการทำ DCF (Discounted Cashflow Model) ในการตีราคาหุ้น มันยาก มันเสียเวลา และมีความลำเอียง และเปิดใจเข้าคลาส “Valuation” กับ Prof. Aswath Damodaran แห่งมหาลัย NYU Stern ปรมจารย์แห่งการตีราคาหุ้นกับวิชา Valuation
30 ชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว บอกเลยว่า OMG “โคตรๆ คุ้ม” คอร์สนี้เปิดโลกแห่ง Valuation แบบที่ผมไม่ได้คาดคิดมาก่อน แถมคลาสนี้เรียนฟรีใน Youtube นะ คิดดู! (Link อยู่ด้านล่าง)
 
วันนี้ผมจะพูดถึง 6 ความเข้าใจผิดๆ ที่ผมและพวกเรานักลงทุนอาจจะมีเกี่ยวกับการทำ DCF กันครับ
Misconception #1: ทำ DCF ละเอียดแค่ไหน เราก็ปรับราคาสุดท้ายให้ตามใจเราได้อยู่ดี
ไม่ว่าจะใช้โมเดลอะไร เราก็สามารถเล่นแร่แปลธาตุให้ได้ราคาที่เราต้องการได้อยู่ดี แต่อาจารย์บอกว่าถ้าเราอยากเป็นนักลงทุนพื้นฐานที่ดี เราต้องมี "ความเชื่อ" ใน Valuation ของเรา ในระดับที่ว่าถ้า value ที่ได้ออกมาสูงกว่าที่ตลาดให้ในตอนนี้พอควร เราก็ควรจะซื้อ
"ความเชื่อ" นี้เกิดจากความการใส่ตัวเลขที่เราคาดว่าจะเป็นจริงในอนาคตได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ไม่ใช่พยายามปรับราคาให้ได้ตามที่ "ใจ" ต้องการ ทำแบบนี้แล้ว DCF (หรือโมเดลอื่นๆ) ถึงจะมีประโยชน์ครับ คือใชัมันเป็นกระจกสะท้อนความจริง เราไม่ได้เอาราคาไปให้ใครใช้ ไม่ได้ตีราคาให้ใครชอบ เราทำเพื่อตัวเราเองครับ
Misconception #2: อนาคตเดายาก ทำไปก็ไม่ถูก
เราตีราคาหุ้นไม่ได้เพื่อนที่จะถูกครับ อาจารย์บอก "ทุกคนผิดหมด" แต่ที่สำคัญคือเราต้องพยายาม "ผิดให้น้อยกว่าคนอื่น" และเราก็จะทำกำไรได้ดีกว่าตลาดในระยะยาว DCF ช่วยเราตรงนี้ได้ครับ
ข้อดีของ DCF คือการทำให้เราลดการพึ่งพาอารมณ์ของตลาดครับ เพราะเราจะโฟกัสกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทนั้นจริงๆ ต่อให้ตลาดร่วงทั้งแผง หรือกดราคาบริษัทนี้เอาไว้ บริษัทก็ยังทำเงินให้ผู้ถือหุ้นได้เรื่อยๆ อยู่ดี
Misconception #3: DCF ไม่สนใจสตอรี่ของธุรกิจ
อันนี้ตอบได้เลยว่าไม่จริงครับ การทำ DCF ที่ดีเราต้องไม่ใช่แค่เอาตัวเลขผลประกอบการของปีที่ผ่านมา แล้วตีเส้นตรงออกไป แต่เราต้องเข้าใจ Story ของบริษัท และแปลงสตอรี่นั้นมาเป็นผลกระทบทางการเงิน เอาเข้ามาใส่ในโมเดล DCF ของเราให้ได้ครับ (เช่น Tesla จะออกระบบรถขับเองได้ในปี 2022 ทำให้ยอดขายโตขึ้นจากปกติอีก X% Margin เพิ่มขึ้น X%)
Misconception #4: DCF เหมาะกับบริษัทที่โตช้าแล้ว ใช้กับบริษัท "เติบโตเร็ว" ไม่ได้
จริงๆ แล้ว DCF เป็นเพียงแค่โมเดลตัวเลขครับ ถ้าเราสามารถแปลงสตอรี่ไปเป็นตัวเลขได้ ไม่ว่าบริษัทนั้นจะโตเร็วหรือช้า เราก็ยัดเข้าโมเดลได้ บริษัทเติบโตเร็วก็คือบริษัทที่ยอดขายโตเร็ว ก็แค่นั้นเอง ถ้าเราคิดว่าจะโตได้อีกนาน เราก็ทำ DCF ที่ยืดออกไปนานหน่อยครับ
ถ้าคุณบอกว่า "ประเมิณ DCF ออกมามักจะได้มูลค่าบริษัท growth ที่ต่ำกว่าราคาจริงเสมอ" อาจจะมี 2 สาเหตุครับ: 1) ตลาดแพงไปจริงๆ 2) คุณให้ราคาต่ำไปอย่างสม่ำเสมอ ถ้าอยากรู้ว่าเป็นเพราะสาเหตืไหน ให้เวลาพิสูจน์ครับ รอดูว่าตอนตลาดแย่ๆ โมเดลคุณบอกให้ "ซื้อ" หุ้น growth กลุ่มไหนบ้างรึเปล่า ถ้าผ่านไปปีแล้วปีเล่า ไม่ได้ตัวไหน undervalued เลย นั่นแหละว่าคุณอาจจะมี Bias ที่ให้มูลค่าต่ำไปทั้งแผงตลอดครับ
Misconception #5: ค่า Terminal Value คือทุกอย่าง ที่เหลือมีผลน้อย
 
อันนี้ Technical นิดนึงนะครับ ผมเคย DCF (แบบมั่วๆ ซั่วๆ) มาแล้วปรากฎว่าตัวค่า Terminal Value (ช่องสุดท้าย) นั้นใหญ่มากๆ เพราะให้ Growth rate ของบริษัทสูง แค่นี้ไม่พอ ค่านี้ยัง sensitive มาก คือเพิ่ม growth 1% มูลค่าบริษัทเปลี่ยนไปอย่างมาก
เพื่อแก้ปัญหานี้ อาจารย์มีกฎเหล็กง่ายๆ คือห้ามให้ค่า Growth ใน Terminal Value มีค่าสูงกว่า Risk Free Rate ของประเทศนั้นๆ ครับ (Risk Free Rate คืออัตราการโตเฉลียของประเทศนั้นๆ ในระยะยาว ถ้าบริษัทเราโตเร็วกว่าประเทศตลอดเวลา สักวันบริษัทเราจะใหญ่กว่าประเทศนั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้) ทำแบบนี้แล้วโมเดลเราจะไม่พังอย่างแน่นอน
ทุกอย่างสำคัญ story, revenue, margin, reinvestment rate, return on capital etc. ไม่ใช่แค่ growth ใน terminal value ครับ
Misconception #6: DCF ใช้เวลาเยอะมากๆ ในการทำ
DCF มันใช้เวลา แต่สำหรับบริษัทที่ไม่ได้มีบริษัทลูกเป็นสิบๆ มันก็ใช้เวลาหลักไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นเองครับ ไม่ใช่เป็นวันๆ และสำคัญที่สุดนะครับ อาจารย์บอกว่า DCF คือ "Craft" หรืองานที่ใช้ทักษะ เฉกเช่นการทำอาหาร ยิ่งเราทำบ่อย เราก็จะยิ่งทำได้ดี และทำได้คล่องขึ้นเรื่อยๆ ครับ
"DCF is a craft, not Art or Science" (Art = ขึ้นอยู่กับความชอบ และพรสวรรค์ของแต่ละคน Science = ตายตัว พัฒนาไม่ได้)
จริงๆ สิ่งที่ใช้เวลาเยอะ อาจจะไม่ใช่ตัว DCF แต่การเข้าใจ story ธุรกิจ แล้วเอาตัวเลขนั้นมาแปลงเป็นตัวเลขทางการเงินในอนาคตอีกที ซึ่งต่อให้ตีราคาด้วย Ratio แบบ Forward P/E หรือ EV/S เราก็ต้องทำในส่วนนี้อยู่ดีครับ
สรุปว่า:
หลังจากเรียนแล้ว DCF ผมเห็นประโยชน์ และว่าจะเอามันมาใช้บ้างละ ถ้าเราทำ DCF ได้ดี เราจะไม่โดนความโลภของตลาด หรือคำพูดของผู้บริหารบริษัทหลอกเอาง่ายๆ ครับ ลดความเสี่ยง และเพิ่มความสบายใจได้เยอะ คุ้มค่ากับเวลานะ ผมว่า
ผมเลยตั้งเป้าว่า ต่อไปนี้ผมจะใช้ DCF กับทุกบริษัทที่ผมถืออย่างน้อย 10% ในพอร์ตผมครับ (เริ่มจาก Tesla ก่อนเลย) และจะแชร์มาในโพสต์ให้ด้วย เพราะฉะนั้นอย่าลืมติดตามเพจนี้นะครับ ^^
PS. สิ่งที่ผมเล่ามาคือคอเส็ปนะครับ แต่คลาสของอาจารย์จะลงลึกถึงวิธีการทำ Valuation ในแต่ละขั้นตอนเลย รับประกันว่าถ้าคุณตั้งใจเรียน คุณจะออกมาพร้อมกับความรู้ล้ำค่าแน่นอน (ต่อให้คุณไม่คิดจะทำ DCF เหมือนเดิมก็ตาม) อาจารย์สอนสนุก อธิบายเก่ง แถมมีเอาประสบการณ์ตัวเองกับบริษัทมาแชร์อยู่เรื่อยๆ ครับ นับถือเลย
โฆษณา