22 ก.ค. 2021 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
ความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระเพทราชา
ผลจากการปฏิวัติของพระเพทราชาใน ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231) ทำให้อิทธิพลของฝรั่งเศสถูกกำจัดออกไปจากสยาม หลายคนเข้าใจว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ราชสำนักอยุทธยาตัดขาดความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง
แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าหลังจากการปฏิวัติเพียงไม่กี่ปี สยามได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสขึ้นใหม่ รวมทั้งอนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสเข้ามาทำการค้าในสยามได้อยู่ แต่พยายามรักษาระยะห่างโดยลดระดับความสัมพันธ์ลง ไม่ปล่อยให้ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลมากเท่ารัชกาลสมเด็จพระนารายณ์อีก
ภาพวาดการปิดล้อมทหารฝรั่งเศสที่ป้อมเมืองธนบุรี (บางกอก) ฝั่งตะวันออกเมื่อ ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231) จากหนังสือ Usages du Royaume de Siam : cartes, plans et vues en 1688
เมื่อต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสยังอยู่ในภาวะตึงเครียด เนื่องจากสยามต้องรบกับกองทหารฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louise XIV) ส่งเข้ามาที่ป้อมเมืองธนบุรี นอกจากนี้มีกระแสความไม่พอใจฝรั่งเศสแพร่หลายอยู่ทั่วไปในหมู่ราษฎรที่เกรงว่าฝรั่งเศสจะมายึดครองสยามเป็นเมืองขึ้นและทำลายศาสนาพุทธ มีรายงานการฉุดคร่าทำร้ายและจำคุกชาวคริสต์ในสยามจำนวนมากแม้ว่าไม่ได้เป็นชาวฝรั่งเศส
ราชสำนักอยุทธยาสามารถเจรจาสงบศึกโดยทำหนังสือสัญญาให้นายพลเดส์ฟาร์ฌส์ (Desfarges) ผู้บัญชาการกองทหารฝรั่งเศสยืมเรือเพื่อถอนทหารออกไปจากสยามได้ในปลาย ค.ศ.1688 (พ.ศ. 2231) โดยมีมงเซนญอร์หลุยส์ ลาโน สังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส (Louis Laneau, L'Evêque de Metellopolis) ประมุขมิสซังสยามกับบรรดาบาทหลวงฝรั่งเศส เมอซิเออร์เวเรต์ (Monsieur Véret) ผู้อำนวยการราชบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส (Compagnie Royale des Indes Orientales) ในสยาม และชาวฝรั่งเศสในสยามลงนามเป็นนายประกัน แต่ในขณะที่เดส์ฟาร์ฌส์เดินทางออกจากสยามได้ฉุดขุนนางไทยสองคน คือ ออกพระพิไชยสงครามและหลวงราชนิกุลนิตยภักดี (คือ ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูตที่ไปฝรั่งเศส) ที่เป็นตัวประกันในช่วงถอนทหารขึ้นเรือออกสันดอนไปด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะถูกฝ่ายไทยโจมตีขนาดเดินทางออกจากสยาม และอ้างเหตุว่าว่าไทยไม่ยอมส่งเรือและทหารของฝรั่งเศสที่ตกค้างอยู่คืน
3
ภาพพิมพ์ เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) หรือ โกษาปาน เมื่อยังมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระวิสุทสุนธร ผลงานของ โยฮันน์ ไฮเซลมานน์ (Johann Hainzelmann) ตีพิมพ์ในกรุงปารีส ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229)
การละเมิดสัญญาถอนทหารของเดส์ฟาร์ฌส์ ทำให้ราชสำนักอยุทธยาไม่พอใจมาก ภายหลังเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) หรือโกษาปาน เสนาบดีกรมพระคลังผู้รับผิดชอบการต่างประเทศ ได้มีจดหมายถึงฟร็องซัวส์ เดอ ลา แชส (François de la Chaise) บาทหลวงผู้อภัยบาป (confessor) ในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใน ค.ศ. 1693 (พ.ศ. 2236) เพื่อชี้แจงความผิดของเดส์ฟาร์ฌส์ว่า
“แลซึ่งเยนตราน [นายพลเดส์ฟาร์ฌส์] แลทหารฝรั่งเศสทำให้ผิดหนังสือสัญญานั้น ทำให้เสียจารีตแผ่นดินพิภพนี้ อัตโนแลเสนาบดี คิดด้วยกันเห็นเนื้อความนั้นแจ้งว่า เยนตราน แลทหารฝรั่งเศส ณ ป้อมเมืองทณบุรีย แลป้อมเมืองมะฤทิ มิได้ทำตามพระมหากระษัตรเจ้ากรุงฝรังษสั่ง แลธรรมเนียมในพิภพนี้ ถ้าเนื้อความสิ่งใดก็จะว่าต่อกัน ตามเนื้อความผิดแลชอบนั้น แลเกลือกได้คิดอ่านด้วยผู้ผิดแล้วแลสะดุ้งใจ แลกระทำร้ายตามอำเพอใจเอง จะให้เสียทางพระราชไมตรี แลเนื้อความทั้งนี้ ไทยจะได้ทำผิดทางพระราชไมตรีหามิได้ แลพระเป็นเจ้าแลหากใจพระมหากระษัตรเจ้ากรุงฝรังษให้เห็นเนื้อความผิดแลชอบแจ้ง จึงมิได้เชื่อเนื้อความแต่ข้างเดียว
แลพระธรรมษาคร [สังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส] แลปาตรีฝรั่งเศสผู้ทำหนังสือประกันนั้น ขนบธรรมเนียม ณ กรุงไทย ครั้นแลผู้ใดทำผิดความสัญญาไซร้ย่อมลงโทษหนัก ถ้าแลมิได้ตัวผู้ทำหนังสือสัญญาไซร้ ย่อมเอาผู้ประกันนั้นลงโทษแทน แลพระธรรมษาคร แลปาตรีแลมุงศูรเวเรศกะปิตันกุมปันหญี แลฝรั่งเศสบรรดาอยู่ ณ กรุงไทย ทำหนังสือประกัน จะให้เยนตราน แลทหารฝรั่งเศสทำตามหนังสือสัญญา แลประกันให้ยืมกะปั่น แลยืมเงินซื้อกะปั่น แลเสบียงออกมา เยนตรานแลทหารฝรั่งเศส มิได้ทำตามหนังสือสัญญา ถ้าจะทำตามขนบ ณ กรุงไทยก็จะเอาพระธรรมษาคร แลปาตรีฝรั่งเศสผู้ประกันฆ่าเสีย แล้วอัตโนช่วยเอากราบทูลแต่สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้ากรุงไทยให้แจ้ง แต่สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงไทย ทรงพระราชดำริะว่าเยนตรานแลทหารฝรั่งเศสทำร้ายทั้งนี้ พระมหากระษัตรเจ้ากรุงฝรังษมิรู้ทราบ แลจะทำการสิ่งใดไซร้ ให้คิดอ่านแต่สมควร อย่าให้เสียทางพระราชไมตรี”
จดหมายของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) อ้างต่อฝรั่งเศสว่าสมเด็จพระเพทราชาทรงคำนึงถึงพระราชไมตรีที่มีต่อฝรั่งเศส ฝ่ายไทยจึงพยายามไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามทหารฝรั่งเศสและไม่ประหารชีวิตนายประกัน เข้าใจว่าสยามในเวลานั้นยังเกรงว่าฝรั่งเศสอาจไม่พอใจจนอาจยกกำลังทหารมารุกรานสยามเป็นการตอบโต้
หลุยส์ ลาโน สังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส (ขวาสุด) ดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังสยามในปี ค.ศ. 1674-1696 (พ.ศ. 2217-2239)
ถึงกระนั้นสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิสและชาวฝรั่งเศสที่เป็นนายประกันจึงถูกจำคุกเป็นเวลา 21 เดือน บาทหลวงมาร์ตีโน (Martineau) ที่อยู่ในสยามเวลานั้นได้แต่งจดหมายเหตุในช่วงนั้นไว้โดยนิยามว่าใน ค.ศ. 1688-1691 (พ.ศ. 2231-2234) เป็นช่วงเวลาที่มิชชันนารีฝรั่งเศสถูก “เบียดเบียนข่มเหง” (persécution) และได้บรรยายถึงความทุกข์ยากของมิชชันนารีในเวลานั้นอย่างละเอียด เช่น
“ในทันทีที่พวกถูกจับขังคุก ได้ถูกเปลื้องเครื่องแต่งกายออกแทบทั้งหมด เริ่มจากหมวกและรองเท้า เสื้อคลุมยาวของนักบวช (soutane) ไม่เป็นที่ต้องการของผู้คุมจึงเหลือไว้ให้พวกมิชชันนารีกับพวกพระนักเรียน แต่เสื้อคลุม เสื้อชั้นใน กางเกงชั้นใน กางเกงชั้นนอกถูกริบหมด บางคนต้องเปลือยกายอยู่ถึงสองเดือน ในเวลานั้นก็มีลมเหนือที่หนาวเย็น ทั้งกลางวันและกลางคืนมีเพียงเศษผ้าขี้ริ้วคลุมตัวเพราะพวกผู้คุมมีความละอายใจไม่กล้าริบไว้ พวกเขาถูกจำ 5 ประการ หรือที่จริงควรเรียกว่า 7 หรือ 8 ประการ เพราะถูกผูกมัดด้วยเครื่องพันธนาการจำนวนมาก พวกเขาตกอยู่ในสภาพนี้ทั้งคืน ในช่วงกลางวันก็ไม่ต่างกัน โดยพวกเขาผู้คุมถูกล่ามโซ่ 10 หรือ 12 อยู่รวมกับผู้ร้ายอุจฉกรรจ์ที่สุดในอาณาจักรนี้ แล้วจึงถูกลากไปทำงานหนักตั้งแต่เช้าจรดเย็น ได้แก่ ขนดินขนอิฐขนขยะและสิ่งปฏิกูลในเมือง ทำความสะอาดท่อ หลุมบ่อ และส้วมด้วยตนเอง ลากท่องซุง และอื่นๆ
ในครั้งนั้นชาวต่างประเทศจำนวนมากมีความประหลาดใจมากที่ได้เห็นชาวยุโรปในสยาม ทั้งเด็กนักเรียนอายุ 13 -14 ปีและบรรดามิชชันนารีซึ่งต่างมีใบหน้าที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกลากไปตามถนนและถูกกระทำเหมือนกับโจรและฆาตกรที่เลวร้ายที่สุดในโลก ถ้ามีผู้ล้มลงด้วยเพราะเจ็บป่วย ถูกความร้อนจากแดดแผดเผา หรือเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานจนต้องยอมแพ้ต่อภาระอันหนักอึ้ง ไม่นานก็ต้องลุกขึ้นเพราะถูกไม้โบยตีอย่างแรง
ในตอนเช้าเวลาเดินไปทำงานและในตอนเย็นเมื่อกลับมา พวกเขาต้องขอทานตามประตูบ้านและร้านค้าทุก ๆ แห่ง เช่นเดียวกับนักโทษชาวสยามและพะโคที่ถูกล่ามไว้ด้วยกัน พวกเขาได้รับข้าว ปลาเค็มจำนวนเล็กน้อย บางครั้งได้หอยเบี้ยซึ่งใช้เป็นเงินที่นี่ พวกเขาต้องพบเจอผู้คนตลอด มีคนบางกลุ่มที่อดแสดงความสงสารไม่ได้ แต่ก็คนบางกลุ่มยินดีที่จะดูหมิ่นเหยียดหยามเมื่อเดินทางผ่าน ทั้งถอนเครา เตะต่อย ด่าทอสาปแช่ง ฯลฯ และบางคนก็ทำเป็นพูดว่าพวกเขาสมควรถูกกระทำเช่นนี้ เป็นความจริงที่พวกเราไม่ประหลาดใจที่จะได้ยินคำพูดเช่นนั้นจากคนนอกศาสนา เพราะพวกเขากล่าวหาว่าเรามีความผิดที่ต้องการทำลายศาสนาของพวกเขา แต่เราไม่รู้ว่าว่าชาวคริสต์บางคนที่อ้างว่าเป็นชาวโปรตุเกสอาศัยหลักการใดมากล่าวหาเราเช่นนี้ด้วย”
กลานุกรมฝรั่งเศสประจำปี ค.ศ. 1692 (พ.ศ. 2235) แสดงภาพพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในสงครามล้อมเมืองมงส์ (Siege of Mons) เมื่อ ค.ศ. 1691 (พ.ศ. 2234) ส่วนหนึ่งของสงครามมหาสัมพันธมิตร (War of the Grand Alliance)
นายพลเดส์ฟาร์ฌส์เดินเรือไปถึงเมืองปอนดิเชอร์รี (Pondicherry) เมืองท่าของฝรั่งเศสในอินเดีย แล้วย้อนกลับมาที่เมืองถลาง (ภูเก็ต) โดยมีจุดประสงค์จะยึดครองเมือง แต่ภายหลังตัดสินใจส่งตัวออกพระพิไชยสงครามกลับมากรุงศรีอยุทธยาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1689 (พ.ศ. 2232) สยามยังเจรจากับเจรจากับเดส์ฟาร์ฌส์มาอีกระยะหนึ่งจนเดสฟาร์ฌส์ยอมส่งตัวหลวงราชนิกุลกลับมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน แล้วจึงกลับไปปอนดิเชอร์รี
หลังจากฝรั่งเศสคืนตัวประกันให้สยามครบ สยามจึงผ่อนปรนกับมิชชันนารีฝรั่งเศสที่ถูกคุมขังลงบ้าง แต่กว่ามิชชันนารีทั้งหลายจะได้รับการปลดปล่อยต้องใช้เวลาถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1690 (พ.ศ. 2233) โดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ช่วยดำเนินการและจัดหาที่ดินให้มิชชันนารีปลูกที่อยู่อาศัย เมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1691 (พ.ศ. 2234) จึงปล่อยตัวนักโทษชาวฝรั่งเศสที่ไม่ได้เป็นมิชชันนารีทั้งหมด ภายหลังมิชชันนารีทั้งหมดได้กลับไปอยู่ที่โรงเรียนสามเณรที่เกาะมหาพราหมณ์ตามเดิม
เดิมราชสำนักฝรั่งเศสเตรียมการจะส่งกองทหารเข้ามาในสยามเพิ่มเติมเพื่อเป็นกองทหารรักษาพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ และเพื่อดำเนินการทางทหารในสยามตามที่เคยวางแผนประสานงานกับ คอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constance Phaulkon) หรือ ออกญาวิไชยเยนทร์ เสนาบดีชาวกรีกของสมเด็จพระนารายณ์ แต่เมื่อทราบข่าวการปฏิวัติในสยามเมื่อช่วงปลาย ค.ศ. 1689 (พ.ศ. 2232) ทำให้แผนการถูกล้มเลิกไป
นอกจากนี้หลังการปฏิวัติในสยามเพียงไม่กี่เดือนได้เกิด สงครามมหาสัมพันธมิตร (War of the Grand Alliance) ขึ้นในยุโรป โดยอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สเปน โปรตุเกส ซาวอย ฯลฯ ได้รวมตัวเป็นมหาสัมพันธมิตร (Grand Alliance) ต่อต้านการขยายอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี ทำให้ฝรั่งเศสไม่สามารถมายุ่งเกี่ยวกับสยามได้มากนัก แต่ฝรั่งเศสไม่ได้เพิกเฉยต่อการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในสยาม และพยายามส่งบาทหลวงกีย์ ตาชารด์ (Guy Tachard) เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามอีกครั้ง
บาทหลวงตาชารด์เคยเดินทางเข้ามาสยามพร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศสในอดีต และได้สมคบคิดกับฟอลคอนวาง “แผนลับ” ให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงระบบราชการสยามเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและการศาสนา จนได้เป็นผู้มีบทบาทเบื้องหลังคณะทูตสยามชุดโกษาปานที่เดินทางไปฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) คณะทูตฝรั่งเศสชุดลาลูแบร์ และคณะทูตสยามชุดสุดท้ายที่เดินทางไปฝรั่งเศสและอิตาลีใน ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานให้ฟอลคอนในฝรั่งเศส
ค.ศ. 1690 (พ.ศ. 2233) บาทหลวงตาชารด์มาอยู่ที่เมืองบาลาซซอร์ (Balassor) ในอินเดียเพื่อรอทางสยามเรียกตัว และส่งคณะทูตไทยที่เดินทางกลับมาพร้อมตนไปแจ้งข่าวที่สยาม นอกจากนี้ยังมีจดหมายติดต่อกับเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) รวมถึงขุนนางไทยและชาวฝรั่งเศสในสยามหลายฉบับ แต่ในช่วงแรกไม่ปรากฏว่าเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ไม่ตอบกลับ บาทหลวงตาชารด์จึงยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในสยามเป็นเวลาอีกหลายปี
มีหลักฐานของทางฝรั่งเศสที่ระบุว่า บาทหลวงตาชารด์มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับราชสำนัก เพราะถูกสยามเพ่งเล็งว่าเคยร่วมมือกับฟอลคอนวางแผนยึดครองราชอาณาจักรมาก่อน จนทั้งสมเด็จพระเพทราชากับเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ต่างลังเลอยู่ว่าจะจับกุมตัวดีหรือไม่ กล่าวกันว่าหากไม่ใช่เพราะบาทหลวงฝรั่งเศสกับพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บาทหลวงตาชารด์คงถูกจับกุมไปแล้ว
บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ (Guy Tachard) ผลงานของ คาร์โล มารัตตา (Carlo Maratta) จิตรกรชาวอิตาเลียน วาดเมื่อ ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230)
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1690 (พ.ศ. 2233) บาทหลวง เดอ ลา แชส มีจดหมายมาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) เพื่อแสดงความยินดีที่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง (Grand Barcalon) และแจ้งว่าการที่มิชชันนารีฝรั่งเศสในสยามถูกลงโทษและขับไล่ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงพระพิโรธ แต่เนื่องจากฝรั่งเศสได้ทราบข่าวจากดัตช์ซึ่งเคยรายงานข่าวเท็จมาก่อน ตนจึงกราบทูลให้พระเจ้าหลุยส์ทรงระงับความพิโรธโดยให้รอข้อเท็จจริงจากสยาม และเชื่อว่าเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) “จะจัดการให้พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงชี้แจงเหตุผลให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสถึงการปฏิบัติต่อชาวฝรั่งเศสอย่างเลวร้ายและผิดทำนองคลองธรรม”
นอกจากนี้ยังแจ้งว่าเป็นโอกาสดีที่เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) จะร่วมกับบาทหลวงตาชารด์เพื่อให้สมเด็จพระเพทราชาทรงแก้ไขความสัมพันธ์ในอดีต “เพื่อป้องกันการแตกร้าวอันจะมีแต่ผลเสีย ฝ่ายข้าพเจ้าจะพยายามให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงกลับมาไว้วางพระทัยอย่างเดิมและทรงระงับความพิโรธไว้ เพราะผลของความพิโรธขุ่นเคืองของพระองค์จะส่งผลร้ายแก่ผู้ที่ไม่ประสงค์จะรักษาสัมพันธไมตรีกับพระองค์ได้”
ฟร็องซัวส์ เดอ ลา แชส (François de la Chaise) บาทหลวงผู้อภัยบาป (confessor) ในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ช่วง ค.ศ. 1691 (พ.ศ. 2234) สยามกลับมามีท่าทีต้องการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสอีกครั้ง เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ได้ส่งหนังสือไปถึงเจ้าเมืองและบาทหลวงฝรั่งเศสที่เมืองปอนดิเชอร์รี แจ้งความประสงค์ที่จะฟื้นฟูสัมพันธไมตรีขึ้นใหม่ ชาวฝรั่งเศสในอินเดียได้รับข้อมูลว่าในเวลานั้นชาวดัตช์ (ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับสยามขับไล่ฝรั่งเศส) ไม่เป็นที่โปรดปรานแล้วเนื่องจากผิดสัญญาต่อสมเด็จพระเพทราชา
อย่างไรก็ตามสันนิษฐานว่าสยามไม่ต้องการผูกขาดความสัมพันธ์ต่างประเทศไว้กับชาติยุโรปเพียงชาติเดียว จึงต้องการนำฝรั่งเศสกลับมาถ่วงดุลอำนาจดัตช์อีกครั้ง ทั้งนี้สมเด็จพระเพทราชาก็ทรงรักษาระยะห่างไม่ให้ดัตช์เข้ามามีอิทธิพลเหมือนฝรั่งเศสในอดีตเช่นเดียวกัน ทำให้ดัตช์ไม่ได้ผลประโยชน์จากสยามมากนักหลังจากช่วยขับไล่ฝรั่งเศสออกไป
.
จดหมายของสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส ถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสใน ค.ศ. 1692 (พ.ศ. 2235) รายงานว่าในเวลานั้นมิชชันนารีมีชีวิตพอเป็นสุขบายอยู่ และฝ่ายไทยยังหวังเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส โดยส่งคนไปรับบาทหลวงตาชารด์ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่เกรงว่าการจะไปช้าที่เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ที่สังฆราชเห็นว่าเป็นคนที่ดีแต่พูด แต่ไม่สามารถทำการใดให้สำเร็จได้ และยังมีความกลัวจนไม่กล้านำความใดๆ กราบบังคมทูลสมเด็จพระเพทราชา นอกจากนี้ไม่พอใจบาทหลวงตาชารด์และติเตียนบาทหลวงตาชารด์อย่างเปิดเผยเสมอ
หลุยส์ เฟลีโปซ์ เดอ ปงต์ชาร์แตร็ง  (Louis Phélypeaux de Pontchartrain) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือฝรั่งเศสช่วง ค.ศ. 1690-1699 (พ.ศ. 2233-2242)
ใน ค.ศ. 1693 (พ.ศ. 2236) เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) มีจดหมายติดต่อกับบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส คือบาทหลวง เดอ ลา แชส และ เมอซิเออร์ เดอ บริซาซิเยร์ (Monsieur de Brisacier) ผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส เพื่อชี้แจงว่าความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในอดีต เป็นเพราะฟอลคอนคบคิดทหารฝรั่งเศสวางแผนร้าย ทหารฝรั่งเศสที่ป้อมเมืองธนบุรีเป็นฝ่ายโจมตีและสังหารคนไทยก่อนจนเกิดรบกัน และเดส์ฟาร์ฌส์เป็นฝ่ายละเมิดสัญญา ในขณะที่ฝ่ายไทยพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส สมควรจะทำนุบำรุงทางพระราชไมตรีให้รุ่งเรืองต่อไป เช่นเดียวกับจดหมายถึง หลุยส์ เฟลีโปซ์ เดอ ปงต์ชาร์แตร็ง (Louis Phélypeaux de Pontchartrain) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือฝรั่งเศสชี้แจงว่า “ทหารฝรั่งเศสซึ่งเข้าไปอยู่ ณ กรุงไทย เป็นคนใหม่ มิรู้ขนบธรรมเนียม ณ กรุงไทย จึงเกิดวิวาทผิดหมองกับชาวไทย”
จดหมายถึงบาทหลวง เดอ ลา แชส และ ปงต์ชาร์แตรง ยังมีเนื้อหาว่า เมื่อฝ่ายไทยทราบข่าวบาทหลวงตาชารด์เข้ามา สมเด็จพระเพทราชาทรงยินดีมากจึงรับสั่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมราชส่งออกหลวงวรวาที หรือ วินเซ็นตึ ปิไญรู (Vincent Pinheiro) ออกไปรับบาทหลวงตาชารด์ เมื่อบาทหลวงตาชารด์ยังเข้ามาไม่ได้จึงมีรับสั่งให้ส่งบาทหลวงเฟเรอ (Ferreaux) ไปรับอีกครั้งหนึ่ง
เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ยังตอบกลับจดหมายที่บาทหลวงตาชารด์ส่งมา มีเนื้อหาว่า ที่ตาชารด์แจ้งว่าในเวลานั้นยังมีสงครามอยู่ในยุโรปทำให้ฝรั่งเศสไม่สามารถส่งเรือมาที่อินเดียได้ ผู้อำนวยการราชบริษัทฝรั่งเศสที่เมืองปอนดิเชอร์รีเห็นว่าบาทหลวงตาชารด์ไม่ควรโดยสารเรือพ่อค้าธรรมดาเข้ามาสยาม เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) เห็นชอบเพราะเห็นว่าถ้าอัญเชิญพระราชสาส์นมาในเรือพ่อค้ามาแล้วเกิดเหตุไม่ดีกลางทางจะเสียพระเกียรติยศพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงหวังจะให้สงครามสงบลงก่อน ถ้ามีเรือมาจากยุโรปเมื่อใดแล้ว สยามพร้อมจะรับรองตามเกียรติยศ
เนื่องจากจดหมายของบาทหลวงตาชารด์มีเนื้อหาแกมข่มขู่ว่าหากสงครามในยุโรปจบลง สยามจะได้รับความเดือดร้อนเพราะพระเจ้าหลุยส์คงจะทรงพระพิโรธจากการปฏิวัติ ถ้าสยามดำเนินการเรียบร้อยเองคงจะพ้นจากความลำบากไปได้ แต่หากต้องทำสงครามกันฝรั่งเศสก็สามารถจัดการให้เรียบร้อยได้อย่างมากเช่นกัน เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) จึงตอบโต้ว่าตนได้ชี้แจงเรื่องความผิดของนายพลเดส์ฟาร์ฌส์กับกองทหารฝรั่งเศสในจดหมายที่ฝาก วินเซ็นตึ ปิไญรู ไปแล้ว ควรลืมความผิดในอดีตและส่งผู้แทนราชบริษัทฝรั่งเศสเข้ามาเจรจาเรื่องบัญชีที่ยังค้างอยู่กับพระคลังหลวง แต่เพราะบาทหลวงตาชารด์และผู้แทนราชบริษัทไม่ยอมเข้ามา จึงยังดำเนินการไม่ได้
เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ยังแจ้งว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีพระปรีชาจะไม่ฟังความข้างเดียวหรือกระทำการที่ไม่เป็นประโยชน์ และยังกล่าวว่าไทยพร้อมรับมือหากถูกรุกรานด้วยกำลัง
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาในเมืองไทยได้ปรากฏว่า ผู้ใดที่ต้องการใช้กำลังแล่นเรือข้ามสันดอนเข้ามาต่างพ่ายแพ้ ชาวไทยหาได้เกรงกลัวผู้ที่จะทำเช่นนี้ เพียงแต่รักษาเส้นทางและป้องกันไม่ให้เรือใหญ่เข้ามาได้ก็เพียงพอ แม้นข้าศึกต้องการจะเข้ามาด้วยเรือเล็กแล้วก็เฉกเช่นเดียวกับยื่นเหยื่อมาให้แก่ชาวไทย หากเรือใหญ่ต้องการจะเทียบท่าในเมืองไทยก็ดี เมืองมะริดก็ดี ล้วนต้องขาดเสบียงและลูกเรือจะต้องเจ็บป่วยมาก หากจัดให้เรือเล็กเข้ามาหาน้ำหาฟืน ย่อมถูกป้องกันไม่ให้กระทำได้ ผู้ใดคิดการเช่นนี้ย่อมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค”
ด้วยเหตุนี้หากบาทหลวงตาชารด์ปรารถนาจะรักษาไว้ซึ่งพระราชไมตรีของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) แจ้งว่ามีรับสั่งว่าสามารถเข้ามาในสยามได้อย่างปลอดภัย จะได้จัดการสิ่งต่างๆ และสะสางบัญชีของบริษัทฝรั่งเศสให้เรียบร้อย
ภาพวาดกองทัพเรือดัตช์ปิดล้อมเมืองปอนดิเชอร์รีใน ค.ศ. 1693 (พ.ศ. 2236) จากหนังสือ Usages du Royaume de Siam : cartes, plans et vues en 1688
จดหมายของสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส ถึงปงต์ชาร์แตร็ง ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1693 (พ.ศ. 2236) รายงานว่าเวลานั้นชาวฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าออกสยามอย่างอิสระ และสยามได้เตรียมการรับรองบาทหลวงตาชารด์ตามเกียรติยศเช่นเดียวกับคณะทูตฝรั่งเศสในอดีต
แต่ก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1693 (พ.ศ. 2236) เมืองปอนดิเชอร์รีถูกดัตช์ยึดครอง ฝรั่งเศสเสียฐานที่มั่นในภูมิภาคอินเดียตะวันออก ชาวฝรั่งเศสในเมืองรวมถึงบาทหลวงตาชารด์จึงถูกดัตช์คุมตัวส่งกลับยุโรป การส่งคณะทูตมายังสยามจึงหยุดชะงักไปอีกหลายปี
.
ช่วงหลังของรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มิชชันนารีฝรั่งเศสในสยามกลับมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปกติ จดหมายของบาทหลวงอ็องตวน ปิงตู (Antione Pinto) ใน ค.ศ. 1696 (พ.ศ. 2239) รายงานว่าสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส และมิชชันนารีต่างได้กลับมาอยู่ในโรงเรียนสามเณรตามเดิม สามารถปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่มีผู้ใดขัดขวาง เข้าถึงทั้งคนชั้นสูงและต่ำเป็นที่รักใคร่นับถือโดยทั่วไป แม้แต่สมเด็จพระเพทราชาก็ได้พระราชทานเงินจำนวนมากให้สังฆราชใช้ซ่อมแซมโบสถ์ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างพระราชทานไว้ด้วย
ก่อนสงครามมหาสัมพันธมิตรจบไม่นาน บาทหลวงตาชารด์เดินทางเข้ามาอีกครั้งพร้อมกับกองเรือรบฝรั่งเศส 6 ลำ แต่เนื่องจากเรือใหญ่ทำให้การเดินทางล่าช้ามาก จะไม่ทันฤดูมรสุม ประกอบกับต้องเผชิญหน้ากับเรือของดัตช์ บาทหลวงตาชารด์จึงแยกจากกองเนือที่เมืองสุรัตโดยสารเรือเล็กที่ชักธงของโปรตุเกสเดินทางไปเบงกอล แล้วอาศัยเรือพ่อค้าแขกมัวร์ไปถึงเมืองมะริดของสยามในเดือนมกราคม ค.ศ. 1697 (พ.ศ. 2240)
ฝ่ายเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ซึ่งกำลังล้มป่วยแสดงท่าทีไม่ต้องการรับรองฝรั่งเศสมากเท่าครั้งก่อน และอ้างว่าบาทหลวงตาชารด์โดยสารเรือพ่อค้าแขกมัวร์เข้ามาเป็นการผิดธรรมเนียม จึงขอให้กลับไปเมืองสุรัตแล้วเดินทางกลับมาใหม่พร้อมกับกองเรือฝรั่งเศส ทั้งนี้เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ยังกล่าวว่าถ้าบาทหลวงตาชารด์เดินทางมาในฐานะราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จริง ควรจะมาโดยมีเกียรติยศเหมือนคณะทูตฝรั่งเศสในอดีต นอกจากนี้ยังไม่มีตัวแทนราชบริษัทฝรั่งเศสเข้ามาด้วย จดหมายที่บาทหลวงตาชารด์ส่งมาไม่มีการพูดถึงของต่างๆ ที่สมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงขอให้ราชบริษัทฝรั่งเศสจัดทำขึ้น และไม่มีการพูดถึงนักเรียนไทยที่ที่ฝรั่งเศสที่สยามขอให้ส่งกลับมาเลย และกล่าวอย่างเปิดเผยหลายครั้งว่าบาทหลวงตาชารด์เป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้
บาทหลวงฝรั่งเศสในสยามพยายามช่วยเจรจาหลายครั้ง แต่เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ขัดขวางอยู่เสมอ ในขณะที่บาทหลวงตาชารด์เขียนจดหมายด่าทอเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) อย่างรุนแรง สุดท้ายบาทหลวงตาชารด์ต้องอยู่ที่เมืองมะริดอีกปีกว่า
การลงนามในสนธิสัญญาไรสวิก (Treaty of Ryswick) ในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1697 (พ.ศ. 2240)
สงครามมหาสัมพันธมิตรจบลงด้วยการทำสนธิสัญญาไรสวิก (Treaty of Ryswick) ใน ค.ศ. 1697 (พ.ศ. 2240) ดัตช์ทำสัญญาคืนเมืองปอนดิเชอรีให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสแต่งตั้ง เชอวาลิเยร์ เดส์ โอฌิเอรส์ (Chevalier Des Augiers) เป็นผู้บัญชาการกองเรือใหญ่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม โดยมีจุดประสงค์หลักคือเพื่อเจรจาขอเมืองมะริดจากสยามเหมือนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพื่อใช้เป็นสถานีที่สร้างป้อม สถานีการค้า และใช้เป็นเมืองท่าจอดเรือ
หนังสือของ เชอวาลิเยร์ เดส์ โอฌิเอรส์ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1699 (พ.ศ. 2242) รายงานว่าที่ก่อนหน้านั้นบาทหลวงหลวงตาชารด์ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ามาสยาม เป็นเพราะเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ร่วมมือกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือ) ที่อาจมีดัตช์ซึ่งเป็นศัตรูกับฝรั่งเศสอยู่เบื้องหลัง
“…บาทหลวงตาชารด์ได้ไปที่เมืองมะริดในเรือลำหนึ่งของแขกมัวร์เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1697 (พ.ศ. 2240) เพื่อไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม แต่พระราชบุตรของกษัตริย์พระองค์นั้น ซึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นใจกับพวกฮอลันดา และด้วยความร่วมมือกับเจ้าพระยาพระคลัง (Barcalon) ได้นำความมาแจ้งแก่บาทหลวงตาชารด์ในพระนามของกษัตริย์พระองค์นั้นว่าให้บาทหลวงตาชารด์กลับไปเสียเถิด โดยอ้างว่าเขามาในเรือแขกมัวร์ และสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะทรงส่งพสกนิกรของพระองค์ท่านมาก็แต่โดยเรือของพระองค์ท่านเท่านั้น แต่เป็นความจริงอยู่เหมือนกันที่ว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบว่าบาทหลวงตาชารด์ไปถึงเมืองมะริดและมีการขับไล่บาทหลวงตาชารด์ไป โดยไม่มีผู้ใดกราบทูลให้พระองค์ทราบ ก็โปรดให้เอาหวายเฆี่ยนหลังเจ้าพระยาพระคลังด้วยข้อหาสองหรือสามประการโดยมีเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ...”
.
จดหมายของกาเบรียล โบรด์ (Gabriel Braud) รองประมุขมิสซังสยาม ส่งถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส ลงวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1699 (พ.ศ. 2242) ระบุว่าในช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1698 (พ.ศ. 2241) สยามได้ข่าวว่าสงครามมหาสัมพันธมิตรจบลง ทำให้ราชสำนักกรุงศรีอยุทธยาระแวงว่าฝรั่งเศสจะยกกองทัพเข้ามารุกรานเมืองไทย ในเวลานั้นมีข่าวว่าเรืออังกฤษหลายลำเดินทางเข้ามาในอินเดีย ประกอบกับสยามได้ข่าวจากนายเรือดัตช์ว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสได้เดินทางผ่านแหลมกู๊ดโฮปจะมายึดเมืองปอนดิเชอร์รีคืน และอาจบุกมายึดเมืองมะริดของกรุงศรีอยุทธยาด้วย ทำให้เกิดความวุ่นวายทั่วทั้งราชสำนัก และมีการฝึกซ้อมรบเตรียมทำสงคราม
แต่เมื่อบาทหลวงตาชารด์อาศัยเรือในกองเรือของเชอวาลิเยร์ เดส์ โอฌิเอรส์ เดินทางมาถึงเมืองมะริดในเดือนตุลาคม และมีจดหมายแจ้งมาถึงราชสำนักเรื่องการเจริญสัมพันธไมตรี ความวุ่นวายในสยามจึงสงบลง และราชสำนักได้ให้การรับรองบาทหลวงตาชารด์ตามธรรมเนียมแต่ยังคงมีการเจรจาต่อรองเรื่องพิธีการรับราชทูตอีกหลายครั้ง เพราะบาทหลวงตาชารด์พยายามเรียกร้องให้รับรองด้วยเกียรติยศเหมือนคณะทูตของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ (Alexandre, Chevalier de Chaumont) ในอดีต ในขณะที่สยามเห็นว่าบาทหลวงตาชารด์ไม่ได้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการมาตามธรรมเนียมจึงสมควรลดพิธีการให้น้อยลง
ในที่สุดสยามยอมอ่อนโอนตามข้อเรียกร้องเพราะยังเกรงอิทธิพลของฝรั่งเศส บาทหลวงตาชารด์จึงได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น (ฉบับเก่าที่เตรียมถวายสมเด็จพระนารายณ์) ต่อสมเด็จพระเพทราชาในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1699 (พ.ศ. 2242) โดยสมเด็จพระเพทราชาทรงแต่งพระราชสาส์นตอบกลับไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยไม่ปรากฏว่ามีการเจรจาทำข้อตกลงใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้บาทหลวงตาชารด์ไม่ยอมเจรจาขอเมืองมะริดจากสมเด็จพระเพทราชาแม้แต่คำเดียว
เรือพระที่นั่งในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคของสยาม จากหนังสือ Voyage de Siam, des peres jesuites, envoyez par le roy aux Indes & à la Chine ของบาทหลวงตาชารด์
หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งมงเซนเญอร์เกเมแนร์ (Mgr. Louis Quémener) สังฆราชแห่งสุรัตมาเป็นผู้ดำเนินการเจรจาขอเมืองมะริดอีก
บันทึกคำสั่งจากรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีถึงสังฆราชเกเมแนร์ใน ค.ศ. 1698 (พ.ศ. 2241) ระบุว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราชประสงค์จะได้เมืองมะริดเป็นสถานที่สร้างป้อม ใช้เป็นท่าเรือสำหรับจอดเรือรบและเรือสินค้าของฝรั่งเศสและเป็นที่พักพิงเมื่อมีสงครามหรือโจรสลัด โดยสยามจะได้ประโยชน์คือสามารถใช้มะริดเป็นที่พักเรือเช่นเดียวกัน และทหารฝรั่งเศสสามารถความช่วยเหลือสยามป้องกันข้าศึกศัตรูและจับโจรสลัดด้วย ทั้งนี้ฝรั่งเศสไม่ได้ต้องการยึดครองเมืองมะริด และให้สยามเก็บภาษีอากรและทำการค้าตามเดิม เพียงแต่ต้องการให้ราชบริษัทฝรั่งเศสมีอำนาจทำการค้าอย่างอิสระด้วย เมื่อสามารถเจรจาให้สยามยกเมืองมะริดให้หรือสยามยินยอมให้สร้างป้อมให้พยายามเจรจาขอแบ่งภาษีมาใช้เป็นค่าบำรุงรักษาป้อม เมื่อฝรั่งเศสได้เมืองมะริดฝรั่งเศสจะกลับไปตั้งสถานีการค้าที่กรุงศรีอยุทธยาอีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ฝรั่งเศสต้องการให้สยามรับรองว่าตนจะได้รับอำนาจและสิทธิตามสนธิสัญญาที่ทำในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230)
สังฆราชเกเมแนร์เดินทางเข้ามาที่เมืองมะริดในปลายปี ค.ศ. 1699 (พ.ศ. 2242) แต่เนื่องจากเกิดเหตุจลาจลในสยามเวลานั้น (เข้าใจว่าคือกบฏเมืองนครราชสีมา) จึงต้องรออยู่ที่เมืองมะริดและตะนาวศรีถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1700 (พ.ศ. 2243) จึงได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุทธยา แต่สยามไม่พอใจต่อข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส ในขณะที่บาทหลวงโบรด์ รองประมุขมิสซังสยามเห็นว่าราชบริษัทฝรั่งเศสไม่มีทางครอบครองเมืองมะริดได้หากไม่ใช้กองทัพเรือยึดครองจึงควรยุติความต้องการเมืองมะริดในรัชกาลนี้เสีย
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1700 (พ.ศ. 2243) เสนาบดีกรมพระคลัง (เวลานั้นเจ้าพระยาศรีธรรมราชถึงแก่อสัญกรรมแล้ว) ได้มีหนังสือตอบปฏิเสธไม่ยกเมืองมะริดให้ราชบริษัทฝรั่งเศส
แผนที่กรุงศรีอยุทธยาฝั่งตะวันตกของ เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมคณะทูตดัตช์เมื่อ พ.ศ. 2233 (ค.ศ. 1690) ที่มาภาพ : Engelbert Kaempfer in Siam. (Engelbert Kaempfer Werke, Band 4)
หลังจากเกิดกบฏเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นกบฏครั้งใหญ่สุดในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาเมื่อ ค.ศ. 1700 (พ.ศ. 2243) ทำให้เศรษฐกิจของสยามอยู่ในภาวะตกต่ำ เรือสินค้าต่างประเทศเดินทางเข้ามาน้อยลงมาก ชาวสยามเองแสดงความคาดหวังจะให้ฝรั่งเศสเข้ามาทำการค้าอีกครั้ง แต่ราชสำนักไม่ได้สนใจมากนัก ดังปรากฏในจดหมายบาทหลวงโบรด์ที่เขียนในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันว่า
“ผ่านมาไม่ถึงหนึ่งเดือนตั้งแต่ออกญาพิพัฒน์ได้ถามว่า ชาวฝรั่งเศสจะเดินทางเข้ามาในปีนี้หรือไม่ ดูเหมือนว่าทุกคนจะสามารถถอนใจด้วยความโล่งใจได้หากได้รับคำมั่นว่าจะมีชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามา พวกเขานึกถึงเรื่องนี้อยู่ทุกคืน และคาดหวังอยู่เสมอว่าจะได้เห็นเรือจำนวนมากเดินทางมาจากฝรั่งเศส แต่สำหรับราชสำนักนั้นไม่ได้สนใจที่จะมีสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเลย เดิมก็เกรงกลัวฝรั่งเศสอยู่บ้าง แต่เมื่อเห็นว่าฝรั่งเศสแสดงความโอนอ่อนและร้องขอสิ่งต่าง ๆ ดังเช่นบาทหลวงตาชารด์ทำ ราชสำนักจึงมองว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความอ่อนน้อมและความอ่อนแอของชาติเรา จึงไม่ประสงค์จะให้ฝรั่งเศสเข้ามาในราชอาณาจักร นับเป็นการหลอกตนเองหากจะเชื่อว่าราชสำนักจะสัญญามอบเมืองมะริดให้โดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับ แม้จะราชสำนักจะยอมมอบให้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เราแน่ใจได้ว่าเมื่อมีโอกาสราชสำนักย่อมใช้อุบายช่วงชิงกลับไปตามเดิม”
.
ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มงเซนเญอร์หลุยส์ ช็องปียง เดอ ซีเซ่ สังฆราชแห่งซาบูล (Mgr. Louis Champion de Cicé, évêque de Sabule) เข้ามารับตำแหน่งประมุขมิสซังสยาม เขารายงานว่าทั้งสมเด็จพระเพทราชาและกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแสดงความยินดีที่เขาเข้ามาในสยาม ในเวลานั้นโรงเรียนสามเณรมีนักเรียนเกือบเท่า 20 ปีก่อน ชาวฝรั่งเศสซึ่งมีจำนวนเล็กน้อยแต่งงานกับหญิงพื้นเมืองมีความเป็นอยู่สุขสบายดี และเมื่อ 2 ปีก่อนหน้ามีเรือฝรั่งเศสที่จะเดินทางจากเมืองสุรัตไปเมืองจีนถูกพายุต้องมาซ่อมแซมในสยาม สมเด็จพระเพทราชาทรงให้ความช่วยเหลืออย่างมาก ทั้งพระราชทานบ้านพักให้ลูกเรือและสถานที่เก็บสินค้า รวมถึงยกเว้นภาษีอากรทั้งหมดเช่นเดียวกับที่ราชบริษัทฝรั่งเศสเคยได้รับเมื่อมาตั้งสถานีการค้าในสยาม สมเด็จพระเพทราชายังมีพระราชประสงค์จะให้พ่อค้าฝรั่งเศสเข้ามาค้าขายในสยามภายใต้การอุปถัมภ์ของพระองค์
จึงเห็นได้ว่าสยามหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้ตัดความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส โดยยังอนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสทำการค้าและเผยแผ่ศาสนาได้
แต่ทั้งนี้สยามไม่ยอมปล่อยให้ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองเหมือนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสจึงไม่เคยกลับไปถึงจุดเดียวกับในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้อีก
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. (2547). เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติของกระทรวงการทหารเรือ (ฝรั่งเศส) เกี่ยวกับประเทศสยาม เล่ม 1 ค.ศ. 1684-1699. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). (พิมพ์ครั้งที่สอง). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- กรมศิลปากร. (2547). เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติของกระทรวงการทหารเรือ (ฝรั่งเศส) เกี่ยวกับประเทศสยาม เล่ม 2 ค.ศ. 1684-1700. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). (พิมพ์ครั้งที่สอง). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- เดส์ฟาร์จ, นายพล. (2552). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. (ปรีดี พิศภูมิวิถี, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: มติชน.
- โบชอง, พันตรี. (2556). หอกข้างแคร่ บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคน. (ปรีดี พิศภูมิวิถี, ผู้แปล) กรุงเทพฯ: มติชน.
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 35 เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาค 2. (2469). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 36 เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเพทราชา ภาค 3 (2470). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ปรีดี พิศภูมิวิถี. (2555). ประชุมจดหมายเหตุออกพระวิสุทสุนทร (โกษาปาน). กรุงเทพฯ: สถาบันการเรียนรู้แห่งชาติ.
- ภูธร ภูมะธน. (2555). โกษาปาน ราชทูตกู้แผ่นดิน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
- สปอร์แตซ, มอร์กาน. (2554). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. (กรรณิกา จรรย์แสง, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มติชน.
- Bhawan Ruangsilp. (2007). Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perception of the Thai Kingdom, c 1604-1765, Leiden: Brill.
- Dhiravat na Pompejra. (2002). Dutch and French Evidence Concerning Court Conflicts at the End of King Petracha’s Reign, c 1699-1703. Silpakorn University International Journal, 2(1), 47-70.
- Launey, A. (1920). “Histoire de la Mission de Siam, 1662-1811 documents historiques. T. 1”. Paris: Anciennes Maisons Charles Douniol et Retaux.
- Launey, A. (1920). “Histoire de la Mission de Siam, 1662-1811 documents historiques. T. 2”. Paris: Anciennes Maisons Charles Douniol et Retaux.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา