22 ก.ค. 2021 เวลา 11:49 • ข่าว
#ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา
สืบเนื่องจากมีการเปิดเผยหมายเรียก MILLI (มิลลิ) แรพเปอร์สาวชื่อดัง ในข้อหา “ดูหมิ่นโดยการโฆษณา’ ซึ่งผู้กล่าวหาคือนายอภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ในโพสต์นี้ LAW IS IN THEAIR จะพาไปทำความรู้จักกับข้อกฎหมาย “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา’ กันค่ะ
👉ความหมาย
การดูหมิ่น(หมิ่นประมาท)ด้วยการโฆษณา คือการใส่ความบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้บุคคลอื่น (บุคคลที่สาม) ฟัง โดยที่ทำให้บุคคลที่ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทที่ทำในลักษณะวงกว้าง กล่าวคือการกระทำดังกล่าวถูกกระทำโดยการทำให้เอกสาร ภาพ หรือตัวอักษรปรากฏออกมา หรือดูหมิ่นโดยการกระจายเสียง กระจายภาพ หรือป่าวประกาศด้วยวิธีการอื่น
ดังนั้น การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นใน social network ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram หรือการร้องปากเปล่าหรือตะโกนให้หลายๆ คนรับทราบก็ถือเป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณาแล้ว
👉ข้อยกเว้น
1. เหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญา
หากเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตและเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นความผิด (ฐานหมิ่นประมาท)
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
2. เหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 330
หากผู้ถูกกล่าวหาสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้น”เป็นความจริง” ผู้ถูกกล่าวหาถือว่ามีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ (ได้รับการยกเว้นโทษตามกฎหมาย)
อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามไม่ให้พิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่อง”ส่วนตัว” และการพิสูจน์จะ”ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
👉อายุความในการฟ้องร้อง/ร้องทุกข์
ผู้เสียหายจะต้องฟ้องร้องหรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้นจะถือว่าขาดอายุความ ผลของการขาดอายุความคือไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีได้ (ศาลไม่รับฟ้อง/ยกฟ้อง/พนักงานสอบสวนไม่รับดำเนินคดีให้)
👉กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อม กระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือใน การประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่ หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่อง ส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
#ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา #ดูหมิ่นโดยการโฆษณา #ดูหมิ่น #หมิ่นประมาท #หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา #มิลลิ #MILLI #กฎหมาย #ดาราcallout #หมายเรียก
โฆษณา