22 ก.ค. 2021 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จัก TKN เจ้าของธุรกิจขนมสาหร่ายพันล้าน
1
หุ้น TKN หรือชื่อเต็มๆคือ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จํากัด(มหาชน) ประกอบธุรกิจในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดย คุณต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์
ซึ่งในช่วงแรกเริ่มนั้น บริษัทฯไม่ได้ขายขนมประเภทสาหร่ายตั้งแต่ต้น แต่เป็นเกาลัด โดยทาง TKN ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาสินค้าใหม่ๆตลอดเวลา จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายขึ้น
2
และได้รับผลการตอบรับที่ดีมากๆจากผู้บริโภค จากนั้นบริษัทฯก็ได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์สาหร่ายภายใต้แบรนด์ "เถ้าแก่น้อย" เรื่อยมา จนเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีการจัดจำหน่ายในประเทศอื่นๆ มากกว่า 40 ประเทศในปัจจุบัน
1
TKN มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัท พีระเดชาพันธ์ โฮลดิ้ง จำนวน 360,000,000 คิดเป็นสัดส่วน 26% รองลงมาคือ คุณ อิทธิพันธ์ พีระเดชาพันธ์ จำนวน 317,196,200 หุ้น ในสัดส่วน 23%
โดยปัจจุบัน สัดส่วนหุ้นเจ้าของก็คือ ครอบครัว พีระเดชาพันธ์ คิดเป็นราว 58 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
(อ้างอิง ข้อมูล ณ วันที่ 21/07/64)
1
บริษัทฯสามารถแบ่งประเภทธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่าย ภายใต้แบรนด์ “เถ้าแก่น้อย”
2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สาหร่าย ได้แก่ เวย์โปรตีน My Whey, ขนมข้าวโพดอบกรอบโคบุก และ ชานม Just Drink)
3.กลุ่มธุรกิจร้านค้าและร้านอาหาร ได้แก่ ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์, ร้าน Hinoya Curry, ร้าน Bomber Dog
อ้างอิงจาก รายงานประจำปี 2563 บริษัทฯมีรายได้หลักมาจากผลิตภัณฑ์สาหร่าย ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 97% ได้แก่ สาหร่ายย่าง คิดเป็น 56%, สาหร่ายทอด 37%, สาหร่ายอบ 2% และสาหร่ายเทมปุระ 2%
ปัจจุบันในตลาดขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายในประเทศไทย บริษัทฯสามารถครองส่วนแบ่งตลาด ได้ราว 64% ของทั้งหมดเลยทีเดียว
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี ของเถ้าแก่น้อย
ปี 2561 รายได้รวม 5,697 ล้านบาท กำไรสุทธิ 459 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 5,296 ล้านบาท กำไรสุทธิ 366 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 3,999 ล้านบาท กำไรสุทธิ 243 ล้านบาท
โดยในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบกับรายได้ของ TKN อย่างชัดเจน โดยมีรายได้ลดลง เมื่อเทียบกับปี 62 อยู่กว่า 40%
1
สาเหตุมาจากมาตรการคุมเข้มของทางภาครัฐที่ให้งดการเดินทางเข้า-ออกภายในประเทศ โดยรายได้หลักของบริษัทฯส่วนใหญ่ นั้นมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
ส่งผลให้บริษัทฯสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไปอย่างมหาศาลและจำเป็นต้องปิดร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ จากเดิม 10 สาขา ให้เหลือ 5 สาขา เนื่องจากไม่มีกำไร
1
อีกทั้ง ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ภาคการส่งออกสินค้าของบริษัทฯต้องหยุดชะงักลงเป็นช่วงๆ ซึ่งถือเป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับธุรกิจของ TKN เลยทีเดียว
1
อย่างไรก็ตาม จากการที่ TKN ต้องเจอกับมรสุมครั้งใหญ่ในปี 63 บริษัทฯเองก็ได้มีการปรับกลยุทธ์ในการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งพยายามจะหาประเทศคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในต่างประเทศ และคอยมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาเพื่อกระจายความเสี่ยงของตัวธุรกิจอีกด้วย
และในอีก 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทฯมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนในต่างประเทศเป็น 85% เพื่อกระจายสัดส่วนของรายได้ให้มากขึ้นนั้นเอง
1
โดยในช่วงของไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการเปิดตัวแบรนด์ชานมที่ชื่อว่า “ฉุน ชุ่ย เฮ้อ” (Just Drink) เป็นชานมจากประเทศไต้หวัน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของชานมไข่มุก โดยจัดจำหน่ายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ที่มีกว่า 12,000 สาขาในปัจจุบัน
1
ซึ่งถือว่าน่าสนใจและน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีผลสำรวจออกมาว่า คนไทยนั้นมีอัตราการดื่มชานมไข่มุกมากที่สุดในฝั่งภูมิภาคเอเชียในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยคิดเป็นคนละ 6 แก้ว ต่อเดือนเลยทีเดียว
1
และจากผลประกอบการในไตรมาส 1/64 บริษัทฯมีรายได้รวม 931 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 4% จากในไตรมาส 4/63 เป็นผลจากสัดส่วนของชานมที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้
1
โดยมีรายได้รวมมาจากภายในประเทศไทย คิดเป็น 42% จีน 26% และประเทศอื่นๆ 32%
(อ้างอิงตัวเลข จากผลประกอบการ ไตรมาส 1/64)
โดยสรุป TKN ถือว่าเป็นบริษัทฯที่ต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน
ในทางกลับกัน บริษัทฯก็พยายามปรับตัวและหาช่องทางนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตทาง TKN ก็อาจจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่น่าสนใจ ที่ออกมาสู่ตลาดให้กับผู้บริโภคอย่างเราและเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์สาหร่ายอย่างในอดีตก็เป็นได้
1
ซึ่งพวกเราก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป ...
**หมายเหตุ** ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง อย่าลืมศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจ ก่อนลุงทุนทุกครั้งเสมอ
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก investor-th.taokaenoi.co.th, set.or.th
-กดติดตาม รู้ก่อนลงทุน-
อัพเดทบทความน่ารู้เกี่ยวกับการลงทุนในทุกวัน
โฆษณา