25 ก.ค. 2021 เวลา 04:47 • สุขภาพ
ตอบคำถามด้วยข้อมูล วัคซีนคือทางออกของวิกฤติจริงหรือ
1
หลังจากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยทะลุเกิน 10,000 รายต่อวัน เสียชีวิตเกิน 100 ราย ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมาก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงอีกเลย เราจึงยังคงเห็นข่าวผู้ป่วยรอเตียงและการเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอยู่เรื่อยๆ
แม้ช่วงหลังมานี้เริ่มมีการขยับตัวมากขึ้นจากฝั่งภาครัฐในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นขยายความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม หรือการทำ Home Isolation และ Community Isolation
ที่กล่าวมานั้นเป็นมาตรการเชิงรับเท่านั้น หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ผู้ป่วยสะสมจะเพิ่มขึ้นอีกจนเกินขีดความสามารถที่ระบบจะรับได้
ดังนั้นแผนระยะกลางอย่างการเร่งฉีดวัคซีนจึงเป็นทางออกที่ต้องดำเนินการ เพราะการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวส์เป็นเพียงการชลอการแพร่ระบาดเท่านั้น
คำถามคือ วัคซีนคือทางออกจริงหรือ ช่วยหยุดวิกฤตินี้ได้จริงหรือ คำตอบมีทั้งได้และไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเทียบกับใคร
Photo : https://pixabay.com/
บางคนบอกมาเลเซียฉีดไปประมาณ 15% แล้วยังระบาดหนักอยู่เลย หรืออังกฤษก็ฉีดไปแล้วเกือบ 50% ก็ยังระบาดวันละ 40,000 ราย
แต่หลายประเทศในยุโรปและอเมริกาส่วนใหญ่ก็ฉีดวัคซีนกันไปแล้วเกินกว่า 30% ของประชากรและเห็นผลชัดเจนว่าการระบาดและผู้เสียชีวิตน้อยลง
4
เอาเป็นว่าเราลองมาดูภาพรวม วิเคราะห์กันด้วยข้อมูลเลยดีกว่าครับว่าวัคซีนคือทางออกของวิกฤติจริงหรือ
เริ่มกันที่จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับ % การฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยผมจะใช้จำนวนผู้ป่วยต่อแสนคน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะแต่ละประเทศมีจำนวนประชากรไม่เท่ากัน
จำนวนผู้ป่วยต่อแสนคนเทียบกับ % การฉีดวัคซีนครบโดส
จำนวนผู้ป่วยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีการฉีดวัคซีนเกิน 25% แต่มีจุดที่น่าสังเกตคือ อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส ที่ยังคงมีผู้ป่วยจำนวนมากอยู่แม้ฉีดวัคซีนไปมากกว่า 25% แล้วก็ตาม
จำนวนผู้เสียชีวิตต่อแสนคนเทียบกับ % การฉีดวัคซีนครบโดส
จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นชัดเจนมากว่าถ้าฉีดเกิน 25% อัตราการเสียชีวิตลดลงมากๆ แต่น่าสังเกตว่า ชิลี อุรุกวัย และโคลอมเบียยอดผู้เสียชีวิตยังคงสูงมากอยู่
อย่างที่รู้กันว่าอังกฤษเปิดประเทศไปแล้วถึงแม้อัตราการระบาดยังสูงอยู่ แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำมากๆ รัฐบาลจึงผ่อนคลายมาตรการทั้งหมดและประชาชนก็ไม่มีความกลัวอีกต่อไปแล้ว
แต่สำหรับในสเปนและฝรั่งเศสที่มีอัตราการติดเชื้อสูง ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำแต่ยังคงมาตรการที่เข้มงวดในแคว้นที่มีการระบาดหนักอยู่ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากขึ้นอีก
ส่วนชิลี อุรุกวัยและโคลอมเบียที่ยอดผู้เสียชีวิตยังสูงมากอยู่นั้นมีปัจจัยร่วมกันอย่างหนึ่งคือการใช้ซิโนแวคเป็นวัคซีนหลัก ซึ่งมีรายงานและการวิจัยที่ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า
ลองกลับมาดูในเอเชียครับว่าจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง
จำนวนผู้ป่วยต่อแสนคนเทียบกับ % การฉีดวัคซีนครบโดสในเอเชีย
จำนวนผู้เสียชีวิตต่อแสนคนเทียบกับ % การฉีดวัคซีนครบโดสในเอเชีย
อัตราการฉีดวัคซีนในเอเชียเมื่อเทียบกับแถบยุโรปและอเมริกายังถือว่าต่ำอยู่ มีเพียง สิงคโปร์ ฮ่องกง กัมพูชา และญี่ปุ่นเท่านั้นที่เกิน 25% และจากข้อมูลค่อนข้างมีนัยสำคัญสำหรับการลดอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตด้วยการฉีดวัคซีน
แต่ก็มีจุดที่ต้องพิจารณาคือ มาเลเซียและกัมพูชาที่อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตยังสูงอยู่ ซึ่งก็มีเหตุผลคล้ายกับหลายประเทศคือใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นหลัก
แม้ภายหลังทางการมาเลเซียออกมาบอกว่าจะหยุดฉีดซิโนแวคเนื่องจากไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ แต่ก็ได้ออกมาบอกอีกครั้งว่าประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน
สำหรับประเทศไทยที่ใช้ซิโนแวคเป็นวัคซีนหลัก ก็มีการปรับแผนการฉีดด้วยการให้เข็มสองเป็นแอสต้าเซเนก้า แต่ก็ยังใช้ซิโนแวคในเข็มแรกอยู่
ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปเพราะวิธีการแบบนี้ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อมูลทางสถิติมากพอที่จะยืนยันว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอ และส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
สำหรับคำถามที่ว่า "วัคซีนคือทางออกของวิกฤติจริงหรือ" คำตอบคือ "จริงครับ และควรเลือกให้เหมาะสม ซึ่งวัคซีนที่เหมาะสมในตอนนี้คือ mRNA"
แต่มันคือคำตอบของมาตรการระยะกลาง ส่วนระยะสั้นเรื่องการรักษาผู้ป่วยและระยะยาวเรื่องการฟื้นคืนเศรษฐกิจก็ต้องทำครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา