23 ก.ค. 2021 เวลา 04:12 • ไลฟ์สไตล์
กิน “น้ำพริก” แล้วไม่ติดโควิด
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ คุณหมอทางเลือกชื่อดังได้เขียนบทความไว้ในเพจ drsant.com เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 มีใจความว่า
ขอบคุณภาพประกอบจาก pinterest
มีการทำวิจัยการวิจัยที่ทำใน 6 ประเทศ คือฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เสปญ อังกฤษ สหรัฐฯ มีหมอพยาบาลที่ป่วยเป็นโควิดในงานวิจัยนี้รวม 568 คน หมอและพยาบาลคนอื่น ๆ ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดแต่ไม่ได้ป่วยเป็นโควิดที่มีอายุพอ ๆ กัน เพศเดียวกัน สุขภาพดีพอๆกัน เป็นต้น อีก 2,316 คน ผลวิจัยสรุปว่าในบรรดาคนที่ป่วยเป็นโควิด 568 คนเป็นผู้ป่วยระดับหนักปานกลางถึงหนักมาก 138 คน เมื่อวิเคราะห์จากมุมของอาหารพบว่า
(1) กลุ่มที่กินอาหารทุกชนิดแบบคนธรรมดาทั่วไปป่วยเป็นโควิดมากที่สุด
(2) กลุ่มที่กินอาหารแบบมังสวิรัติ ป่วยเป็นโรคโควิดน้อยกว่ากลุ่มที่กินอาหารทุกชนิด 73%
(3) กลุ่มกินอาหารแบบมังสวิรัติแต่กินปลา(pescatarian) ป่วยเป็นโรคโควิดน้อยกว่ากลุ่มที่กินอาหารทุกชนิด 59%
จึงสรุปจากงานวิจัยนี้ว่าการกินอาหารแบบพืชเป็นหลักสัมพันธ์กับการที่ผู้ที่เสี่ยงสัมผัสกับเชื้อโควิดป่วยเป็นโควิดลดลง คุณหมอสันต์ได้ลงท้ายบทความนี้ว่า
“ผมจึงขอถือโอกาสใช้หลักฐานนี้เรียกร้องตรงนี้เสียเลยว่าขอให้เจ้านาย (อันได้แก่ผอ.รพ.) ของแพทย์พยาบาลเหล่านั้นตั้งงบพิเศษส่งอาหารเสริมพิเศษที่ประกอบด้วยสลัดหนึ่งจานและผลไม้สองลูกให้แพทย์พยาบาลและพนักงานหน้างานโควิดทุกคนทุกเวรนอกเหนือไปจากข้าวห่อหรือข้าวเหนียวหมูปิ้งซึ่งเป็นอาหารหลัก”
(ไปดูข้อเขียนของคุณหมอสันต์ฉบับเต็มได้ที่ t.ly/YfIY)
เมื่ออาหารพืชเป็นหลักสัมพันธ์กับการติดโควิดน้อยลง เราก็ควรกินพืชผักให้เยอะขึ้นโคยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิดกำลังระบาดอย่างรุนแรงอย่างทุกวันนี้ใช่ไหมครับ?
การกินผักสลัดนั้นดีแน่ แต่ Gourmet Story คิดว่า รสชาติของผัก+น้ำสลัดอาจจะยังไม่ค่อยถูกปากคนไทยส่วนใหญ่เท่าไหร่ เลยอยากจะเสนอให้คนไทยกินอาหารผักแบบไทย ๆ นั่นก็คือ “น้ำพริก”
“น้ำพริก” เป็นอาหารประเภทเครื่องจิ้มคู่ครัวคนไทยมานานนับศตวรรษ เป็นอาหารของคนไทยชาวบ้านไปจนถึงท้าวพระยามหากษัตริย์ ในเว็บนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2563 ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “เสวยต้น” พระราชกิจประจำวันที่รัชกาลที่ 6 โปรดดำเนินตามพระราชบิดา” ว่า “น้ำพริกเป็นเครื่องเสวยประเภทเครื่องจิ้มที่โปรดมาก เป็นเครื่องประกอบกับผักสดที่จะต้องจัดถวายเป็นประจำ”
“น้ำพริกกะปิ” จัดเป็นน้ำพริกขั้นเบสิก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “น้ำพริก” ของท่านว่า
“น้ำพริกเป็นกับข้าวขั้นเบสิกของสำรับกับข้าวไทย ต่อไปนี้ก็จะได้พูดถึงน้ำพริกซึ่งเป็นขั้นเบสิกของน้ำพริกทั้งปวงให้ได้รู้กันไว้ จะตำน้ำพริกให้เป็น ต้องตำน้ำพริกครกนี้เป็นเสียก่อน ต่อไปจะเป็นตำน้ำพริกมะม่วงมะดัน หรืออะไรก็สุดแล้วแต่จะทำได้ แต่ถ้าขึ้นต้นตำน้ำพริกครกเบสิกนี้ไม่เป็นเสียแล้ว น้ำพริกอื่นไปลองตำก็คงเละ”
สำหรับวิธีตำน้ำพริกกะปินี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้บอกสูตรของท่านไว้ว่า
ขอบคุณภาพประกอบจากสมาชิกหมายเลข 3152787 ใน pantip.com
“เอาเกลือประมาณ 1 ช้อนชาถ้าจะให้ดีควรจะเป็นเกลือเม็ดที่มาจากนาเกลือคือเป็นเกลือทะเลนั่นแหละ เกลืออื่นอาจเผ็ดไปหรือจืดไป ลงโขลกกับกุ้งแห้งอีกประมาณ 3 ช้อนโต๊ะจนเข้ากันดี แล้วจึงเติมกระเทียมอีกประมาณซัก 10 กลีบก็พอ….
หลังจากนั้นจึงเอากะปิลงโขลกไปด้วย กะปิที่จะลงโขลกนี้ กะประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ ถ้าจะให้อร่อยก็จะต้องหากะปิดี ๆ เช่น กะปิระยองหรืออะไรเทือกนั้น ได้มาแล้ว ถ้าสวิงสวายกลัวโรคภัยไข้เจ็บ กลัวพยาธิ ก็เอาห่อใบตองปิ้งไฟเสียก่อน พอใบตองที่ห่อชักจะไหม้ ๆ ก็เอาขึ้นใส่ครกตำได้ ตอนนี้เอาพริกชี้ฟ้าเขียว แดง และสีเหลืองใส่ลงไปตามชอบ แล้วโขลกพอพริกแหลก หลังจากนั้นจึงใส่พริกขี้หนู ลงไปบุบพอแตก อย่าไปโขลกให้แหลกเดี๋ยวจะเผ็ดเกินไป….
แล้วจึงใส่ของอื่น ๆ ที่ปรุงรสลงไปผสม โดยใช้ช้อนคนเอาก็พอ ไม่ต้องโขลก สิ่งที่ใส่ก็คือน้ำปลา น้ำปลาจะใส่มากหรือน้อยดูเอาที่ความต้องการว่าจะให้น้ำพริกของเราข้นหรือเหลว น้ำพริกข้นนั้นใช้จิ้มผักอร่อย แต่น้ำพริกค่อนข้างเหลวนั้นใช้คลุกข้าวอร่อยขึ้น สุดแล้วแต่จะเลือกเอาอย่างไหนก็ตามใจ ทีนี้การใส่น้ำปลานั้น ถ้าน้ำพริกเหลว ใส่น้ำปลามากไว้ได้ แต่ถ้าน้ำพริกข้น ก็ควรจะใส่น้ำปลาแต่น้อย เห็นว่ายังไม่เค็ม เติมเกลือลงไปอีกแล้วจึงเติมน้ำตาลปึก ถ้าชอบหวานหนักหน่อยก็เติมน้ำตาลมาก ๆ แล้วบีบมะนาวให้ได้สามรสตามใจชอบ คือเค็ม หวาน เปรี้ยว ถึงจะชอบกินหวานสักเพียงไร ก็อย่าไปตำน้ำพริกให้มีรสหวานนำหน้าเป็นอันขาด”
น้ำพริกก็ต้องกินกับผัก ในเมืองไทยเรามีผักมากมายหลายสิบชนิดให้เรากินกับน้ำพริก ที่เห็นกันบ่อยหน่อยก็กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ ขมิ้นชัน ถั่วพู หน่อไม้ แต่ความจริงแล้วจะเป็นผักอะไรก็ได้ตามแต่ท่านจะชอบ
บางท่านปลูกผักริมรั้วเอาไว้ พอตำน้ำพริกเสร็จก็ไปเด็ดพืชผักพรรณต่าง ๆ ที่ท่านปลูกเอาไว้มารับประทานอย่างสบายใจไม่ต้องกลัวสารเคมี
หรือท่านจะทานกับผักนึ่ง ก็เอาผักที่ท่านชอบไปนึ่งก็จะได้ผักนิ่ม ๆ มากินแกล้มกับน้ำพริก หรือจะเอาไปต้มกับกะทิ ก็จะได้รสชาติหวานมันเพิ่มขึ้นมาอีก
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เคยบอกเคล็ดไว้ในนิยายเรื่อง “ฆาตกรรมจากก้นครัว” ของท่านว่า
“เครื่องจิ้มก็ต้องดูให้ถูกต้อง ถ้าเป็นผักต้มกะทิก็ตำน้ำพริกให้เหลวสักน้อย ถ้าเป็นผักดิบก็ตำให้ข้น”
เคล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้แหละครับที่จะทำให้น้ำพริกของเราอร่อยยิ่งขึ้น
บางคนก็เอิกเกริกหน่อย เอาไปผักที่จะกินกับน้ำพริกไปชุปไข่ทอดอย่างเช่น มะเขือยาว ชะอม หรือแม้แต่ไข่เจียวก็เอามาแกล้มน้ำพริกได้ ไข่เจียวนี่เราก็รู้อยู่แล้วว่าเวลาทอดเสร็จใหม่ ๆ มันหอมแค่ไหน ได้กินแกล้มน้ำพริกรับรองว่าข้าวหมดเป็นจาน ๆ โดยไม่รู้ตัว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังได้บอกเคล็ดลับของการทอดไข่เจียวไว้ว่า
ขอบคุณภาพประกอบจาก Mee Natakarn ใน pinterest
“ผมก็อยากจะลงทุนโฆษณาสักก้อนหนึ่งเหมือนกันให้คนทั้งปวงรู้ว่า ถ้าจะกินไข่เจียวแล้วต้องใช้น้ำมันหมู มิฉะนั้นก็อย่ากินไข่เจียวเสียจะดีกว่า”
อาหารที่จะมารับประทานแนมกับน้ำพริก ที่เป็นหลักอยู่ก็เห็นจะได้แก่ปลาทู จะนึ่งหรือทอดก็ตามอัธยาศัย หรือจะขยับขยายมาเป็นปลาดุกย่างหรือใครชอบของทอดก็เป็นปลาดุกฟู ท่านที่ไม่อยากกินปลา จะเปลี่ยนมาเป็นหมูหวานก็ได้ ได้อะไรหวาน ๆ ก็จะช่วยลดความร้อนแรงของน้ำพริกลง
พูดถึงหมูหวาน ทำให้นึกถึงน้ำพริกชนิดหนึ่งที่ต้องทานคู่กับหมูหวานนั่นก็คือ “น้ำพริกลงเรือ”
“น้ำพริกลงเรือ” นั้น ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ หลานสาวของ ม.จ.สะบายซึ่งเข้ามาในห้องเครื่องวังสวนสุนันทาแต่ยังเยาว์ เล่าถึงที่มาของชื่อ “น้ำพริกลงเรือ” ไว้ในคอลัมน์ “รู้ไปโม้ด” ของคุณน้าชาติ ประชาชื่น ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ ฉบับประจำวันที่ 13 มี.ค. 2561 ว่า
“…เจ้านายเล็ก ๆ เสด็จเล่นเรือกัน เดือน 11-12 น้ำมันเจิ่ง ทีนี้มืดค่ำแล้วถึงเวลาเสวย ไม่เสด็จขึ้นจากเรือ คุณจอมสดับก็ไปชวนเชียว “มาเพคะ เสด็จเลิกเล่นเพคะ ขึ้นเสวยถึงเวลาเสวยแล้ว ประเดี๋ยวท่านป้า (พระวิมาดาเธอฯ) กริ้วเอาเพคะ” คุณจอมสดับเรียกท่านก็ไม่ขึ้น ไม่ยอมขึ้นมาเสวย คุณจอมสดับก็ตัวสั่นเลย กลัวจะถูกกริ้ว วิ่งขึ้นมาห้องเสวยที่เค้ามีโต๊ะใหญ่พักเครื่องเวลาเครื่องเชิญมาจากห้องเครื่องพักวางจนกว่าจะเลื่อนออกไปที่โต๊ะเสวย
คุณจอมสดับเข้าไปก็ไปเปิดฝาชามดูเครื่องมีอะไร วันนั้นมีเครื่องน้ำพริกกะปิ หมูหวาน ไข่เค็ม ปลาช่อนทอดฟู ปลาทู ปลาดุกย่างทอด กระเทียมดอง หมูพะโล้ คุณจอมก็เทข้าวลง หยิบเครื่องทุกอย่างใส่จาน มะเขือ แตงกวา วางลง ใส่ช้อนส้อม เอาไปถวายเจ้านายเล็ก ๆ ท่านเสวยหมดทุกองค์ แล้วบอกว่าอร่อยมาก ข้าวอันนี้อร่อยมาก ก็ข้าวคลุกน้ำพริกนี่แหละ แต่เครื่องน้ำพริกมันเยอะ เจ้านายอยากเสวยอีก ก็บอกว่าเอาอย่างวันกินน้ำพริกลงเรือ ก็เลยเรียก น้ำพริกลงเรือ…”
(หมายเหตุ: เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ เป็นผู้ปฏิบัติงานในห้องพระเครื่องต้นในราชสำนัก มี ม.จ.สะบาย นิลรัตน์ เป็นหัวหน้า และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ทรงเป็นผู้ควบคุมห้องต้นเครื่อง)
น้ำพริกลงเรือก็คือน้ำพริกมาตรฐานนั่นเอง เพียงแต่เอามาผัดรวมเครื่องที่จะรับประทานไว้ในจานเดียวกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บอกว่า
“เมื่อตำน้ำพริกเสร็จแล้ว ก็หาผักและปลาที่จะรับประทานกับน้ำพริก หมูหวานนั้นขาดไม่ได้ ต้องมีไว้ถ้วยเล็ก ๆ ขึ้นต้นก็ทำผักให้สะอาดสวยงามเหมือนกับผักจิ้มน้ำพริกขั้นพื้นฐาน มีมะเขือ แตงกวา ถั่วฝักยาวหั่นท่อนสั้น ๆ ขมิ้นขาวหั่นเป็นคำให้สวยงาม ส่วนปลานั้นใช้ปลาทูทอด ปลาช่อน ปลาดุกย่างฟู ตัดเป็นคำ ๆ เอาผักและปลาเหล่านี้จัดวางลงในกระทะ ซึ่งจะต้องเป็นกระทะที่ค่อนข้างจะกว้างและไม่ลึกนัก แล้วจึงเอาน้ำพริกที่ตำแล้วราดลงไป น้ำพริกนั้นถ้ามิได้เอาหมูหวานผัดลงไปด้วย ก็ราดลงไปอย่างนั้น แล้วเอาหมูหวานที่แบ่งเอาไว้ใส่ลงไป ความจริงถึงแม้ว่าจะได้เอาหมูหวานผัดไปกับน้ำพริกแล้ว ในตอนจัดจะตักหมูหวานที่ติดน้ำตาลและน้ำมันใส่ช้อน มาทำหกราดบนชามน้ำพริกนี้ก็ได้ เสร็จแล้วน้ําพริกลงเรือนี้ต้องมีเครื่องประดับ
……………………………………………
ขอบคุณภาพประกอบจาก en.foodtravel.tv ใน Youtube
เมื่อเป็นเครื่องประดับแล้วก็ลองนึกให้เห็นไปว่า มะเขือพวงนั้นเป็นของเขียว เปรียบประดุจมรกต และไข่เค็มนั้นเมื่อมีสีแดงก็เปรียบประดุจทับทิม มะเขือพวงนั้นมีขนาดของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรอีก เด็ดก้านเป็นลูก ๆ แล้วล้างให้สะอาดก็พอ ส่วนไข่เค็มซึ่งสมมุติว่าเป็นทับทิมนั้น จะต้องเอาเฉพาะแต่ไข่แดงมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ขนาดเท่ามะเขือพวงแล้วนึ่งจนสุก เสร็จแล้วก็ใช้มะเขือพวงและไข่เค็มนึ่งนี้โปรยปรายไปบนน้ำพริกให้แลเห็นงาม และถ้าติดปากเข้าไปตอนรับประทานก็จะอร่อยด้วย”
ฟังแล้วนึกอยากกินขึ้นมาติดหมัด เตรียมครกไว้ทำน้ำพริกกินมื้อต่อไปดีกว่า ใครที่ไม่มีความสามารถหรือไม่สะดวกในการทำ เดี๋ยวนี้ก็มีร้านให้สั่งน้ำพริกผักเดลิเวอรี่ได้อยู่ทั่วไป ข้อสำคัญต้องหาพืชผักและผลไม้มารับประทานมาก ๆ ทำร่างกายให้แข็งแรง เชื้อโรคโควิดทำอะไรไม่ได้
ขอให้ท่านผู้อ่าน Gourmet Story ปลอดภัยจากโรคโควิดกันทุกคนครับ
เรื่องตอนที่แล้ว “ชานมไข่มุก” - ทานอย่างไรให้น้ำชากับไข่มุกหมดพร้อมกัน? อ่านได้ที่
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา