Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เจาะลึกแท็กติกฟุตบอล
•
ติดตาม
23 ก.ค. 2021 เวลา 05:10 • กีฬา
👔 เจาะลึกบทบาทผู้อำนวยการกีฬา: พวกเขามีหน้าที่ทำอะไรกันบ้าง (ตอนที่ 1)
ดาเมียน โคมอลลี่ ยังคงจำได้ดีถึงปฏิกิริยาในตอนที่เขาเปิดตัวรับตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา (sporting director) ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ย้อนหลังไปเมื่อปี 2005 "มันแย่มากเลยทีเดียว" เขากล่าว "คำถามแรกที่ผมได้รับในการแถลงข่าวครั้งแรกของผมก็คือ 'คุณมองเห็นอนาคตของบทบาทนี้ในวงการฟุตบอลอังกฤษด้วยเหรอ?'"
ตอนนั้น โคมอลลี่ ตอบไปว่าทุก ๆ สโมสรใน พรีเมียร์ลีก จะมีตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาหรือผู้อำนวยการเทคนิคภายในเวลา 10 ปี ซึ่งท้ายที่สุดคำกล่าวของเขาก็ไม่เกินเลย "ทุกวันนี้แม้แต่สโมสรใน ลีกทู ก็ยังมีผู้อำนวยการกีฬาเลยด้วยซ้ำไป" กล่าวเสริมโดย โคมอลลี่ ผู้ซึ่งภายหลังได้ไปทำงานให้กับ ลิเวอร์พูล และ เฟเนร์บาห์เช่ ในตำแหน่งเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ถึงบทบาทนี้ในวงการฟุตบอลอังกฤษว่ามันมีความจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือเปล่า หรือบางทีพวกเขาก็อาจจะแค่แต่งตั้งใครสักคนให้เข้ามารับตำแหน่ง พร้อมกับภาระหน้าที่อันน้อยนิด
บางทีทุกวันนี้เราอาจก้าวข้ามคำถามที่ว่า "ผู้อำนวยการกีฬามีความสำคัญหรือเปล่า?" กันไปแล้วก็ได้ โดยแหล่งข่าวที่มาจากสโมสรใน พรีเมียร์ลีก ได้กล่าวว่า "เมื่อ 10 ปีก่อน คุณอาจจะเห็น แฮร์รี่ เร้ดแน็ปป์ ขับรถของเขาพร้อมกับบ่นว่า 'เซ็งชะมัดเวลามีบางคนมาบอกว่าผมต้องทำอะไร' ตอนนี้ในเกมลูกหนังอังกฤษก็เริ่มยอมรับกันแล้วว่าบทบาทนี้มีความสำคัญ นั่นคือเรื่องที่ดี"
"ประเด็นต่อไปก็คือเราจะต้องทำความเข้าใจกับหน้าที่ความรับผิดชอบของบทบาทตรงนี้ ทุก ๆ คนเข้าใจดีถึงการเป็นหัวหน้าทีมแมวมองและเฟ้นหาบุคคล ทุก ๆ คนเข้าใจดีว่าต้องทำอะไรในอคาเดมี่ จากนั้นก็เป็นแผนกวิทยาศาสตร์การกีฬา ตามด้วยการแพทย์ ที่เรายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็คือว่าคนที่เข้ามารับตำแหน่งนี้คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านฟุตบอล"
"เจ้าของสโมสรควรจ้างผู้อำนวยการกีฬาให้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านฟุตบอล และคอยให้คำแนะนำต่าง ๆ เหล่านี้ ควรซื้อใครเข้ามา ควรขายใครออกไป ควรซื้อเข้ามาเท่าไหร่ กลยุทธ์ของอคาเดมี่ เราควรไล่เฮดโค้ชออกไหม เราควรให้สัญญาฉบับใหม่กับเฮดโค้ชไหม ใครคือเฮดโค้ชคนใหม่ของเรา อะไรทำนองนี้"
"ซึ่งมันก็ดูเหมือนว่าคุณยังต้องการประธานสโมสรในการตัดสินใจเรื่องพวกนี้ แล้วพวกเขาเชี่ยวชาญในการตัดสินใจเหล่านั้นหรือเปล่าล่ะ คำตอบก็คือไม่"
เมื่อ โคมอลลี่ ได้ฟังดังนั้นแล้วก็รู้สึกประหลาดใจเล็กน้อย "ผมไม่คิดว่าผู้อำนวยการกีฬาคือผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าของสโมสรก็เพียงแค่คอยเซ็นเช็กหรอกนะ ผมไม่คิดว่ามันง่ายขนาดนั้น"
"ถ้าหากทุกวันนี้ผมยังเป็นผู้อำนวยการกีฬา หรือหากผมได้กลับมาทำหน้าที่นี้อีกครั้ง ผมคงไม่รู้สึกสบายใจนักหรอกในการเดินไปพูดกับเจ้าของสโมสรว่า 'ผมจะทำการตัดสินใจทั้งหมด ผมจะเลือกโค้ช ผมจะขาย ผมจะซื้อ ผมจะบอกคุณให้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง คุณจำเป็นต้องฟังผม'"
"ขอยกตัวอย่างนะ รายชื่อสำหรับเลือกเฮดโค้ชควรเป็นการคัดเลือกโดยคณะกรรมการในสโมสร ไม่ใช่แค่คนคนเดียว ซึ่งผมคิดว่าผู้อำนวยการกีฬาหลายคนในอังกฤษคิดกันไปเองว่ามันต้องเป็นเช่นนั้น ผู้อำนวยการกีฬาจะต้องมีอำนาจเด็ดขาดในการเลือกคนที่เขาต้องการ เมื่อใดก็ตามที่ต้องการ ซื้อหรือขายได้ตามใจชอบ แต่มันก็ไม่ได้เป็นอะไรแบบนั้นหรอก"
แดน แอชเวิร์ธ แหล่งข่าวอาวุโสผู้รับตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคที่ ไบรท์ตัน มาตั้งแต่ปี 2018 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโมเดลของบทบาทนี้ที่อังกฤษเอาไว้เช่นกัน หลังจากที่เขาเคยทำหน้านี้เดียวกันนี้ให้กับ เอฟเอ "ถ้าคุณถามผมนะ นี่คือใครสักคนที่จะคอยตอบสนองต่อบอร์ดบริหารเกี่ยวกับแผนการในเชิงฟุตบอล คนที่สามารถหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำตำแหน่งที่เหมาะสมกับพวกเขา และปล่อยให้พวกเขาทำหน้าที่กันไป"
"ผมเองก็สอบผ่านโปรไลเซนซ์สำหรับการเป็นโค้ชมาเหมือนกัน ผมรู้เรื่องการโค้ชและการพัฒนาทีมเป็นอย่างดี แต่ผมก็ไม่เคยใจเลยจริง ๆ ว่า เกรแฮม พอตเตอร์ (เฮดโค้ชของ ไบรท์ตัน) นั้นคิดอะไรอยู่ในทุก ๆ วันเสาร์ ดังนั้นผมจึงไม่พยายามที่จะไปก้าวก่าย เกรแฮ ด้วยการบอกว่าเขาควรเลือกใคร เขาควรเล่นแบบไหน หรือควรโค้ชอย่างไร"
"อาจจะมีบางครั้งที่ผมสามารถช่วยเขาได้บ้าง แต่ผมก็ไม่เคยตั้งตนว่าเป็นใครที่รู้ดีมากไปกว่า เกรแฮม เกี่ยวกับการคว้าผลการแข่งขันในวันเสาร์ ผมไม่ใช่คนที่รู้มากไปกว่า จอห์น มอร์ลิง ในฐานะผู้จัดการอคาเดมี่ ผมไม่ใช่คนที่รู้มากไปกว่า อดัม เบร็ตต์ ในเรื่องการแพทย์ วิทยาศาสตร์การกีฬา และการป้องกันอาการบาดเจ็บ"
"ดังนั้นหน้าที่ทั้งหมดสำหรับผมก็คือการหาผู้คนที่เก่งกว่าคุณในเรื่องนั้น ๆ เข้ามา กำหนดทิศทางให้ชัดเจน แล้วก็ปล่อยให้พวกเขาทำงานกันไป"
แอชเวิร์ธ สมัยอยู่ เอฟเอ ก็เคยได้ทำงานร่วมกับ แกเร็ธ เซาธ์เกต
สำหรับผู้อำนวยการกีฬาเองก็ต้องได้รับการปล่อยให้ทำหน้าที่ของตัวเองเช่นกัน แต่มากน้อยแค่ไหนมันก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของสโมสรด้วย สจ๊วร์ต เว็บเบอร์ ที่ นอริช ซิตี้ ได้รับอิสระในการตัดสินใจ โดยมีการแทรกแซงเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นจากเบื้องบน ซึ่งบางครั้งก็อาจผสมไปด้วยเรื่องการเมืองภายในหรือเสียงจากภายนอก
ขณะที่ มาร์เซล แบรนด์ ผู้อำนวยการฟุตบอลของ เอฟเวอร์ตัน ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจแต่งตั้ง ราฟา เบนิเตซ เป็นเจ้าของสโมสร ฟาร์ฮัด โมชิริ ที่เลือกกุนซือชาวสเปนรายนี้ เขาเป็นคนออกเสียงเมื่อมีการพูดถึงการมองหาผู้จัดการทีมคนใหม่ และ เคีย ชูรับเชียน ก็เข้ามาเปิดโต๊ะเจรจา
ส่วนทางด้าน วูล์ฟแฮมป์ตัน เอเยนต์อย่าง ฮอร์เก้ เมนเดส มีบทบาทอย่างมากในการเฟ้นหานักเตะในทีมชุดใหญ่ บางทีนี่อาจเป็นตัวอย่างของการที่ใครบางคนพยายามแทรกแซงบทบาทหน้าที่ด้านเทคนิค หรือตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา เกี่ยวกับเรื่องนี้ สก็อตต์ เซลลาร์ส ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งแทนที่ เควิน เธลเวลล์ ในปีนี้ น่าจะรู้ดีว่าพวกเขากำลังพยายามกำจัดปัญหาตรงนี้กันอยู่
"คุณต้องจำให้ขึ้นใจเลยว่ามีผู้คนมากมายที่พร้อมกรอกข้อมูลใส่หูเจ้าของสโมสร เพื่อให้พวกเขาเชื่อตามนั้น" ผู้อำนวยการกีฬาที่ผ่านงานมาแล้วทั่วยุโรปกล่าว "เรื่องของเอเยนต์ที่พยายามควบคุมสโมสรนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกที่ นี่แหละคือเกมที่พวกเราต่างก็รักมัน แต่มันก็เป็นเกมของความคิดเห็นและอำนาจ"
"เมื่อเร็ว ๆ นี้เราได้ทำการมองหาเฮดโค้ชคนใหม่ มันใช้เวลาถึง 22 วัน และพวกสื่อกับแฟน ๆ ต่างก็ตั้งคำถามว่า 'พวกนายมัวแต่ทำอะไรกันอยู่?'" โคมอลลี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานสโมสร ตูลูส ใน ลีกเดอซ์ ฝรั่งเศส กล่าว "ตอนที่เราเปิดตัวโค้ชในงานแถลงข่าว คำแรกที่ผมพูดก็คือ 'มันแค่ 22 วันเองนะ ไม่ใช่ 22 เดือนสักหน่อย!' โอเคแหละว่าตอนนั้นที่ สเปอร์ส มันใช้เวลานานกว่านั้น แต่นี่คือเรื่องสำคัญ และในเชิงปฏิบัตินั้นมันก็ยากมาก มันไม่ใช่เรื่องที่เรียบง่ายขนาดนั้น"
ท็อตแน่ม ใช้เวลาถึง 72 วัน ในการหาตัวแทน โชเซ่ มูรินโญ่ ซึ่งในระหว่างมหากาพย์อันยาวนานนั้น พวกเขาก็ได้แต่งตั้ง ฟาบิโอ ปาราติชี่ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการฟุตบอลของสโมสร ซึ่งตอนนั้นเอง สเปอร์ส ก็ถูกตอบปฏิเสธอยู่หลายครั้งจากผู้จัดการทีมโปรไฟล์สูง ซึ่งท้ายที่สุดหลังจากยืดเยื้อมานาน นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ ก็ได้รับการยืนยันว่าเขาคือเฮดโค้ชคนใหม่ของทีมไก่เดือยทอง
"ในฐานะประธานสโมสรในตอนนี้ และในฐานะผู้อำนวยการกีฬา ผมมักจะมีลิสต์ผู้คนอย่างน้อย 5 คนในหัวผมเสมอ ในการคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้จัดการทีม หรือว่าเป็นเฮดโค้ช ผมไม่เคยเขียนเอาไว้ที่ไหนหรอก แต่มันอยู่ในหัวผมเสมอ" โคมอลลี่ กล่าว
"แต่หลังจากนั้นคุณจะทำอะไรได้บ้างล่ะ? พวกเขาว่างกันอยู่หรือเปล่า? พวกเขาอยากจะมาไหม? คุณจ่ายให้กับพวกเขาไหวไหม? ทั้งหมดนี้คุณจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อได้เจอตัวกันแล้วนั่นแหละ ถึงตรงนั้นคุณจะรู้ได้เลยว่าพวกเขาเป็นคนยังไง ต้องการมีอำนาจในสโมสรมากแค่ไหน"
"ผมขอสมมติว่า สเปอร์ส เป็น ไมโครซอฟต์ ก็แล้วกัน หากว่า ไมโครซอฟต์ กำลังมองหาซีอีโอคนใหม่อยู่ในตอนนี้ คุณคิดว่าพวกเขาจะสามารถทำได้ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 72 วันหรือเปล่าล่ะ?"
แอชเวิร์ธ เองก็กล่าวในทำนองเดียวกัน "เพียงแค่คุณมีลิสต์รายชื่อ นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถคว้าเป้าหมายของคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเตะหรือผู้จัดการทีมก็ตาม"
"บางทีอยู่ดี ๆ พวกเขา (ผู้จัดการทีม) อาจได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าของคุณ หรืออาจเริ่มรู้สึกว่าเข้ากันไม่ได้ หรือพอเขามาสำรวจสโมสรแล้วคุณก็เริ่มไม่ชอบขี้หน้าเขาขึ้นมา หรือบางทีคุณอาจรู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้เป็นไปในแบบที่คุณคิด หรือเขาอาจร้องขอว่า 'ผมจะนำทีมงาน 10 คนมาทำงานร่วมกับผมด้วย' ซึ่งนั่นจะทำให้ค่าใช้จ่ายคุณเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว"
"พูดตามตรงเลยว่าทุกสโมสรที่มองหาผู้จัดการทีมคนใหม่ในช่วงซัมเมอร์นี้ ต่างก็อยากให้ผู้จัดการทีมเข้ามาทำงานให้ทันพรีซีซั่น หากว่าคุณเปลี่ยนผู้จัดการทีมของคุณตอนปิดฤดูกาล คุณจะมีเวลา 8 สัปดาห์ในการมองหาคนใหม่ นั่นถือว่าเหลือเฟือเลย คุณอาจถูกกดดันจากภายนอกจนดูเหมือนต้องรีบเร่ง แต่มันจะดีกว่าถ้าคุณจะค่อย ๆ ใช้เวลามองหาตัวเลือก แล้วค่อยมาคัดคนที่ใช่จริง ๆ เพราะตอนนั้นคุณจะไม่ถูกกดดันด้วยเกมการแข่งขัน แถมพวกนักเตะก็ยังไม่ได้มาฝึกซ้อม"
นูโน่ ไม่ใช่ผู้จัดการทีมคนแรกที่มีข่าวกับทีมไก่เดือยทอง
ว่าแต่ สเปอร์ส ได้คนที่ใช่แล้วหรือเปล่า? หรือสุดท้ายแล้วพวกเขาเพียงแค่ได้คนที่เหลืออยู่บนเชลฟ์เท่านั้น? โคมอลลี่ ให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า "ประเด็นในตอนนี้ก็คือสโมสรระดับชั้นนำของโลกต่างก็คิดว่าพวกเขาจะดึงซูเปอร์แมนเข้าสู่ทีมได้ ซึ่งชายคนนั้นไม่มีอยู่จริงหรอก"
"หากคุณลองมองไปยังการแต่งตั้งผู้จัดการทีมที่เราเพิ่งได้เห็นกัน สเปอร์ส ได้ตัว นูโน่ เข้ามา และทุกคนก็คงรู้ดีว่าเขาคือตัวเลือกอันดับที่ห้า, หก, เจ็ด หรืออาจจะสิบเลยด้วยซ้ำไป เรอัล มาดริด กลับมาใช้โค้ชคนเดิม (คาร์โล อันเชล็อตติ) ที่พวกเขาเคยไล่ออกเมื่อ 5 ปีก่อนอีกครั้ง บาเยิร์น มิวนิก ก็เพิ่งจ่าย 25 ล้านยูโร สำหรับ ยูเลียน นาเกลส์มันน์ เขาคือคนที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ยังไม่เคยคว้าแชมป์รายการใด ๆ มาก่อน ยูเวนตุส กลับมาใช้บริการ มัสซิมิเลียโน่ อัลเลกรี อีกครั้ง และมันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ"
"มันแสดงให้เห็นว่าตลาดตรงนี้ค่อนข้างเล็ก กลุ่มคนที่สามารถจัดการสโมสรใหญ่ได้ และสามารถตอบโจทย์เฉพาะด้านได้ครบถ้วน มีเพียงจำนวนหยิบมือเท่านั้นในโลก และพวกเขาก็จะพยายามเลือกคนที่ดีที่สุดจากในจำนวนนั้นแหละ"
(เรียบเรียงจากบทความ Sporting directors: What do they do? Are they effective? Why can it take so long to hire a manager?
เขียนโดย สจ๊วร์ต เจมส์, ลอรี่ วิตเวลล์ และคนอื่น ๆ ลงในเว็บไซต์
theathletic.com
เมื่อ 18 กรกฎาคม 2021
เรียบเรียงโดย ณัฐดนัย เลิศชัยฤทธิ์)
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย