24 ก.ค. 2021 เวลา 04:35 • ความคิดเห็น
ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ชวนขบคิด กรณีสวรรคต:
(ตอนที่ ๑)
ปรากฏการณ์บิดเบือนประวัติศาสตร์
โดย FB Chaiyan Chaiyaporn
ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้พบการนำกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมาปั่นกระแสเพื่อสร้างความเกลียดชังอีกครั้ง
โดยมีการอ้างถึงเนื้อความในหนังสืออย่าง Revolutionary King รวมทั้งคำบอกเล่าอื่น ๆ ที่ไม่อาจสืบได้ถึงที่มาหรือได้รับการตรวจสอบทางวิชาการอย่างเพียงพอ จนอาจทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความเข้าใจผิดต่อพระราชวงศ์
สำหรับในข้อเขียนนี้ ปรากฏประเด็นกล่าวหา 2 เรื่อง ได้แก่
1. วาทกรรมที่ว่า “น้องสังหารพี่เอาราชบัลลังก์”
2. ข้อความจากหนังสือ Revolutionary King ที่ระบุว่าทางอังกฤษ “ไม่ต้อนรับฆาตกร”
ซึ่งพวกเราจะอธิบายและตั้งคำถามให้ทุกคนได้ร่วมพิจารณากันต่อไป
1. วาทกรรม “น้องสังหารพี่เอาราชบัลลังก์”
ต้นตอของเรื่องเล่านี้มีมาตั้งแต่หลังกรณีสวรรคตใหม่ ๆ จาก พ.อ. ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งวิจารณ์ว่า “ในประวัติศาสตร์มีกรณีที่น้องฆ่าพี่หรือพี่ฆ่าน้อง” เรื่องเล่าทำนองนี้แม้จะมีส่วนที่เกิดขึ้นจริง แต่ในประเทศไทยเองกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดย้อนกลับไปจนถึงยุคอยุธยา
ในยุคที่เข้าสู่สภาวะสมัยใหม่แล้ว โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นต่ำมากเพราะบ้านเมืองมีกฎหมายบังคับใช้ ดังนั้นเรื่องเล่านี้เป็นเรื่องเล่าที่ไร้เหตุผลไม่ว่าจะพิจารณาจาก ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว หรือ กระทั่งบริบททางการเมืองในตอนนั้นก็ตาม
กล่าวคือ ภายในครอบครัวสกุลมหิดลนั้น มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันอย่างมาก การทะเลาะกันระหว่างพี่น้องทั้ง 3 พระองค์แทบไม่เคยปรากฏเลยเสียด้วยซ้ำ
เว้นแต่ว่าผู้ที่เชื่อนั้นเป็นแฟนหนังมาร์เวลเรื่อง Thor ที่ Loki ผู้เป็นน้องต้องการสังหาร Thor ผู้เป็นพี่เพื่อครองบัลลังก์เสียเอง (แน่นอน ละครคือละคร ผู้ที่มีปัญญาดีคงไม่ถือเอาละครเป็นเรื่องจริงได้แน่)
ในบริบททางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2489 นั้นก็ใช่ว่าสถาบันกษัตริย์จะมีสถานะที่สูงเด่น หรือมีพระราชอำนาจมากมาย ยิ่งความเป็นเจ้าสกุลมหิดลก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเจ้าสายนี้มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทยน้อยมาก เนื่องจากสมเด็จย่าได้ทรงเลี้ยงลูกทั้ง 3 พระองค์นอกประเทศทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าสายอื่น ๆ น้อย
จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นตระกูลที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวท่ามกลางหมู่เจ้าอีกด้วย และเราต้องไม่ลืมว่าสมเด็จย่าทรงเป็นสามัญชน
ดังนั้น บารมีของสกุลมหิดลโดยลำพังจึงเทียบไม่ได้กับองคาพยพอื่น ๆ ในสังคมเลย เช่น คณะราษฎร สิ่งที่จะสามารถเป็นแรงผลักดันหรือล่อตาล่อใจให้สังหารสายเดือดเดียวกันเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์นั้นจึงแทบจะไม่มีเลยเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็น “สมัยแห่งคณะราษฎร” เพราะรัฐบาลในเวลาหลังสงครามนั้น ก็เป็น “รัฐบาลของคณะราษฎร” โดยมีผู้สำเร็จราชการคือ ปรีดี พนมยงค์ และต่อมาเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงบรรลุนิติภาวะและไม่จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป
ปรีดีก็ยังได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อโดยได้รับมติเสียงส่วนใหญ่จากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็มีพรรคพวกของเขาจำนวนมาก
ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ว่าปรีดีจะมีแรงจูงใจในการปลงพระชนม์ในหลวง จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะปรีดีก็มีอำนาจกว้างขวางกว่าพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว
อีกทั้งสถานภาพของเขาตอนนั้นก็มั่นคงมาก เว้นแต่ว่าเรื่องเล่าของ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ที่ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 8 จะสละราชสมบัติลงมาเล่นการเมืองอาจสร้างความกังวลหรือทำให้ปรีดีกลัวว่าพระมหากษัตริย์จะมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองของตน ซึ่งประเด็นนี้จะกล่าวถึงต่อไป
บรรยากาศของความกลมเกลียวของ 3 พี่น้องสกุลมหิดลนี้ เราอาจสืบร่องรอยได้จากข้อเขียนของพระพี่นางฯ ซึ่งเป็นคนในสกุลมหิดลเองในหนังสือ “เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์” รวมทั้งจากคำสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดในพระที่นั่งพระบรมพิมานต่างให้การยืนยันว่าทั้งสามพระองค์ไม่มีเรื่องขุ่นข้องใจกันแต่ประการใด (ดูรายละเอียดใน หนังสือพิมพ์นครสาร วันที่ 2 กรกฎาคม 2489)
และหากเราเชื่อว่า “ผู้น้อง” ต้องการราชบัลลังก์จริง เพราะมีคำกล่าวที่ว่ารัชกาลที่ 8 ต้องการสละราชสมบัติเพื่อลงเล่นการเมืองทำให้สมเด็จย่าและในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่พอใจจนลงมือสังหารเสีย
ในประเด็นที่ว่า “พระองค์จะสละราชสมบัติลงเล่นการเมือง” มาจากคำให้การของ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ เคยให้คำให้การในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไว้ว่า
“ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก่อนพระราชทานตอนปลายเดือนเมษายน ล้นเกล้าล้นกระหม่อมรับสั่งที่ห้องชั้นบนซีกตะวันออกว่า รัฐบาลจะยกเลิกพระราชบัญญัติ ที่ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ มีฐานะเหนือการเมือง ซึ่งพระองค์ท่านไม่ทราบ โดยเกรงพระบรมวงศานุวงศ์ จะมายุ่งกับการเมือง แต่รัฐบาลเห็นควรให้เลิก ถ้ายกเลิกแล้ว เจ้าเล่นการเมือง ได้ พระองค์ท่านก็เล่นได้เหมือนกัน ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล กราบบังคม ทูลว่า จะเล่นอย่างไร รับสั่งตอบว่า ถ้าจะสละราชสมบัติเสีย สมัครผู้แทนจะมีคนเลือกพระองค์ท่านบ้างไหม ถ้าได้นั่งในสภาแล้ว จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะได้ช่วยกัน พี่ๆ น้องๆ บ้านเมืองจะได้เจริญ ที่สุดรับสั่งว่า “นี่แหละเบอร์นาดชอว์นะ””
ซึ่งข้อความในส่วนหลังนี้ อาจหมายความว่าพระองค์จะลาออกจากความเป็นกษัตริย์เพื่อไปเป็น “นายกรัฐมนตรี” แล้วให้น้องขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนก็ได้
ดังนั้นจึงไม่จำเป็นสังหารเพื่อเอาราชบัลลังก์เลย เพราะพี่สละราชบัลลังก์แล้วน้องก็ขึ้นมารับแทนได้
และจากคำกล่าวของพระองค์ที่ว่า “เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะได้ช่วยกัน พี่ๆ น้องๆ บ้านเมืองจะได้เจริญ” ก็ช่วยยืนยันว่าพระองค์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีไป ส่วนน้องก็ครองราชบัลลังก์
แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่อคติหากฟังแล้วก็น่าจะทราบได้ว่าเป็นการพูดเล่นมากกว่า ดังที่ ม.ร.ว. สุมนชาติจะขยายความต่อว่าพระองค์พูดเล่น โดยเบอร์นาด ชอว์ – Bernard Shaw คือผู้แต่งนิยายเรื่อง Apple Cart ซึ่งมีเนื้อเรื่องในทำนองกษัตริย์สละราชบัลลังก์ในลักษณะเดียวกัน
ดังนั้น ปรีดีเองก็ไม่น่าจะต้องกังวลอะไรกับยุวกษัตริย์ที่ไม่ได้มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกลุ่มเจ้าด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องสองพระองค์ในสกลุมหิดลกับปรีดีจึงอยู่ในสถานะที่ปรีดีสามารถควบคุมได้
เว้นเสียแต่จะมีความเป็นไปได้อื่น เช่น อาจมีผู้ต้องการทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้แย่ลง และอาศัยจุดอ่อนตรงนี้เพื่อขึ้นมามีอำนาจแทนปรีดีก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ควรพิจารณาอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ
1. ความตึงเครียดระหว่างรัชกาลที่ 8 กับ “รัฐบาล” และ
2. ความตึงเครียดระหว่างรัชกาลที่ 8 กับ “ผู้ใกล้ชิดที่พระที่นั่งบรมพิมาน” (ซึ่งไม่ใช่ข้าหลวงเดิมที่ทรงสนิท) นั้น ได้เริ่มส่อเค้าขึ้น
โดยเริ่มจากการที่รัฐบาลถ่วงเวลาไม่ให้พระองค์กลับสวิสเซอร์แลนด์ในทันทีด้วยข้ออ้างว่า “ต้องให้การแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จเสียก่อน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงมีบันทึกไว้ในสมุดไดอารี่ส่วนพระองค์ว่า
“วันที่ 24 มกราคม จะมีการประชุมสภา เราคิดว่าจะอยู่ถึงแก้รัฐธรรมนูญเสร็จซึ่งคงจะใช้เวลานานพอสมควร แม่ (สมเด็จย่า) ช่วยมาก เล็ก (ในหลวง ร.9) ไม่มีอะไรมากที่จะมีจะทำ” (1)
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทรงเขียนไว้ว่า
“เราต้องการอยู่จนรัฐธรรมนูญแก้เสร็จ 2, 3, 4 เดือน ? ได้ไปเปิดสภาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2489 แต่สภาเพิ่งจะเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ (การแก้รัฐธรรมนูญ) วันนี้เท่านั้น…
ทุกอย่างยุ่งไปหมด ที่บรมพิมานไม่มีระเบียบเลย จำนวนผู้ที่ไร้ความสามารถและไร้ความรู้มีมาก” (2)
จะเห็นว่าทรงเริ่มมีข้อขัดแย้งกับ “ที่บรมพิมาน” หรือ “ผู้ใกล้ชิดที่พระที่นั่งบรมพิมาน” (ซึ่งไม่ใช่ข้าหลวงเดิมที่ทรงสนิท) เริ่มก่อตัวขึ้นทุกที
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ทรงบันทึกไว้ว่า
“มีการเปลี่ยนรัฐบาลและบรรยากาศเครียดหน่อย ที่บรมพิมานก็มีการเปลี่ยนแปลง และเราจะจัดให้มีระเบียบหน่อย ยังไม่ได้กะวันกลับ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญและอาจขึ้นกับสถานการณ์ด้วย” (3)
พระพี่นางฯ ทรงเล่าต่อไปว่า ในบันทึกวันที่ 29 พฤษภาคม 2489 รัชกาลที่ 8 ทรงเล่าถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นไปตามความต้องการของพรรคพวกนายกรัฐมนตรี (ปรีดี พนมยงค์) และเมื่อมีการตั้งคณะรัฐมนตรี รวมถึงการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว รัชกาลที่ 8 จึงจะทรงกลับสวิสเซอร์แลนด์ได้ รัชกาลที่ 8 ทรงบันทึกเรื่องนี้ส่งท้ายไว้ว่า
“ไม่ทราบว่าทุกอย่างจะพร้อมหรือไม่ หรือว่าจะมีอุปสรรคอีกในนาทีสุดท้าย”
และอุปสรรคก็เกิดขึ้นจริง ๆ ในอีก 11 วันต่อมา ซึ่งก็คือกรณีสวรรคตวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489
เสียงเล่าลือประเด็นราชวงศ์อังกฤษไม่ต้อนรับในหลวงรัชกาลที่ 9 “เพราะเป็นฆาตกร”
2. ไม่ต้อนรับฆาตกร?
ต้นตอเรื่องนี้มาจากหนังสือ The Revolutionary King ของ William Stevenson (ต่อจากนี้จะเรียกว่า W. Stevenson) โดยได้ระบุไว้ในหน้าที่ 95 ว่า “พระราชวังบักกิ้งแฮมไม่ต้อนรับฆาตกร” (Buckingham Palace does not host murderers)
โดยมีความว่า “Police-General Phao Sriyanon had hurried there with gossip that he hoped would destroy Queen Sirikit's trust in her husband. He had heard the queen wanted to go with him to London and wrongly assumed the king had not told her that George VI had declined to receive the king, saying, "Buckingham Palace does not host murderers.' But Sirikit already knew.”
ซึ่งแปลได้ว่า
“เผ่า ศรียานนท์ รีบรุดไปที่นั่นพร้อมด้วยข่าวลือ (gossip) ที่เขาหวังใจว่าจะใช้มันทำลายความเชื่อพระทัยของพระราชินีที่มีต่อพระสวามีของพระองค์ (ในหลวง ร.9 )
ทั้งนี้ เผ่าเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเองว่ารัชกาลที่ 9 ยังมิได้ตรัสบอกแก่พระราชินี ว่า พระเจ้าจอร์จ ที่ 6 แห่งอังกฤษ ทรงปฏิเสธการเข้าเฝ้า โดยกล่าวว่า
‘วังบักกิ้งแฮมไม่ต้อนรับฆาตกร’
แต่เรื่องนี้พระราชินีได้ทรงทราบมาก่อนแล้ว”
น่าสังเกตว่าข้อความในส่วนนี้มิได้มีอ้างอิงว่ามาจากแห่งใด (หรือความจริงก็ไม่มีอ้างอิงที่น่าเชื่อถือตลอดทั้งเล่ม) เพียงกล่าวว่า เผ่าทำลายความเชื่อมั่นพระทัยของพระราชินีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยข่าวลือนี้เท่านั้น
ซึ่งพวกเราได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ W. Stevenson และ หนังสือเล่มนี้ ดังนี้
1. W. Stevenson อ้างว่าได้มีโอกาสสนทนากับในหลวงและข้าราชบริพารมากมาย เป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวต่างประเทศที่ไม่ทราบแน่ว่าสามารถไว้วางใจได้เพียงใด หรือแม้กระทั่งเข้าใจภาษาไทยในระดับใดจะสามารถเข้าถึง “วงใน” เพื่อสัมภาษณ์หรือสอบถามเรื่องราว และนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือได้ละเอียดถี่ยิบขนาดนี้
2. ถึงแม้ W. Stevenson จะเสนอว่ามีข่าวลือที่ไม่ต้อนรับฆาตกร ต่อมาเขาก็เสนอเรื่องกรณีสวรรคตด้วยทฤษฎีว่าผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น Tsuji Masanobu เป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ ซึ่งต่อมาทฤษฎีนี้ได้ถูกโต้แย้งมากว่าในเวลานั้น Tsuji ไม่ได้อยู่เมืองไทยเสียด้วยซ้ำ
3. หนังสือเล่มนี้จึงจัดว่ามีความคลาดเคลื่อน เช่นเดียวกับหนังสือเล่มดังอย่าง The Man Called Intrepid ของเขาเอง ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของ William Stephenson (ชื่อคล้ายกับผู้แต่ง W. Stevenson แต่เป็นคนละคนกัน) ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกวิจารณ์มากมาย เช่น Hugh Trever-Roper อาจารย์ประวัติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้กล่าวอย่างรุนแรงว่าหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ “ไร้ค่า”
หรือหนังสือชื่อ Windston Churchill and His Inner Circle โดย Wydham และ John Colville อดีตทูตที่ทำงานกับเชอร์ชิลก็ได้ออกมาโต้ถึงความผิดพลาดในหนังสือของ W. Stevenson
และ David A.T. Stafford อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ที่ Edinburgh University และอดีตเลขานุการโท (second secretary) ประจำสถานทูตอังกฤษกล่าวว่าหนังสือที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าคือ The Quiet Canadian
4. The Man Called Intrepid ได้รับการแปลเป็น นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ใช้เวลาแปลตั้งแต่ พ.ศ.2520-2523 โดยในหนังสือ Revolutionary King กล่าวว่าตัวเขาเองได้พบกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนพระองค์อายุได้ 62 ปีแล้ว หรือในปี พ.ศ. 2532 และหนังสือ Revolutinary King ได้ตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ.2542
จะเห็นว่าช่วงระยะเวลาห่างกันเป็นสิบปี โดยเขาอ้างว่าได้เข้าถึงในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์โดยไม่ได้คาดคิด (Unprecedented access to the King and family) และยังอ้างว่าได้รับการรับเชิญจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ไปเขียนหนังสือ ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เขาเพียงต้องการกล่าวอ้างอย่างนั้น เพราะหนังสือ The Man Called Intrepid ของเขาได้รับการแปลโดยพระมหากษัตริย์จึงทำให้เขาดูราวกับว่ามีเส้นสายในการเข้าถึงพระองค์และผู้ใกล้ชิดได้ ?
เรื่องนี้ต้องชั่งน้ำหนักให้มากทีเดียว
5. เอกสารอ้างอิงต่าง ๆ ในเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ แทบไม่มีปรากฏให้ตามสืบเสาะหามาเทียบเคียงได้เลย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้เขียนพูดจริง ?
นอกจากนี้ การกล่าวหาว่าใครเป็นฆาตกรจึงไม่น่าจะสิ่งที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประมุขของประเทศ เพราะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ทางการทูต
หรือถ้าเราคิดในแง่ลบว่ามีคำพูดเช่นนี้จริง ก็น่ากลัวจะมาจากคนไทยบางคนในขณะนั้นที่ต้องการทำลายพระเกียรติยศของในหลวง ร.9 มากกว่า ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้อาจมีความสนิทสนมกับอภิชนอังกฤษ และอาจเข้าไปพูดจาเพื่อล็อบบี้ทางอังกฤษในเรื่องนี้เพื่อหวังผลทางการเมือง
แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่า การต้อนรับในหลวง ร.9 ในประเทศอังกฤษในอีก 14 ปีให้หลัง ซึ่งทางการอังกฤษได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วย
เรื่องนี้เราไม่ได้มโนนึกเพ้อไปเอง และสามารถยืนยันจากภาพถ่าย (ดูลิ้งค์ในคอมเมนต์) ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายในปี ค.ศ.1960 หรือ พ.ศ.2503
ดังนั้น เมื่อประมวลข้อมูลทั้งหมดนี้แล้ว หนังสือเล่มนี้จึงพึงอ่านด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อถือไปเสียทั้งหมด
อีกทั้งการคัดเฉพาะข้อความบางข้อความโดยการขาดซึ่งการเทียบเคียงหลักฐาน นำมาขยายความสร้างความเกลียดชัง ย่อมไม่ใช่วิสัยของปัญญาชนผู้เจริญในสังคมอารยะ
สวัสดี
เอกสารอ้างอิง
(1) เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์ น. 424
(2) อ้างแล้ว น. 426
(3) อ้างแล้ว น. 429
ป.ล. ทุ่นดำ-ทุ่นแดงเสริมว่าให้สังเกตว่าใน Revolutionary King นั้นมีการใช้คำว่า "murderers" ที่เติม S เข้าไปด้วย
และหากคำนึงถึงบริบทที่ไปเข้าเฝ้ากับพระมหากษัตริย์อังกฤษแล้ว ก็เท่ากับว่ากล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีเป็น "พวกฆาตกร"
และหมายถึงว่าพระราชินีมีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย! ซึ่งคำว่า "ฆาตกร" นั้นมีนัยผูกโยงกับการสังหารเพื่อราชบัลลังก์มากกว่าแค่เรื่องเล่า "สังหารพี่แย่งราชบัลลังก์"
จึงดูสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบและอาจทำให้คนเชื่อได้ว่าเรื่องเล่าดังกล่าวเป็นจริง
โฆษณา