24 ก.ค. 2021 เวลา 04:38 • ประวัติศาสตร์
ยุคกลางในฝรั่งเศส
ยุคกลางในฝรั่งเศส : อ่านฝรั่งเศส x Phitacques Lecdi
ถ้าพูดถึงยุคกลาง ก็จะนึกถึงโบสถ์สวยๆ ยอดแหลมๆ ปราสาทใหญ่ๆ โตๆ เจ้าชาย อัศวิน แม่มด อะไรก็ว่ากันไป สิ่งเหล่านี้ที่นึกถึงก็น่าสนใจ ดูสวยงาม แต่มาสะดุดคำสุดท้ายว่ายุคกลางมี “แม่มด” จริงๆ เหรอ ก็ตอบได้เพียงว่า เชื่อว่ามีจริง และใครที่ทำอะไรแปลกๆ หรือแม้แต่มีหน้าตาแปลกๆ ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น “แม่มด” ได้ทันที สิ่งที่ตามมาก็คือ “การทรมาน” หรือไม่ก็ “การเผาทั้งเป็น” แต่รอบนี้ไม่ได้พูดถึงแม่มด หรือ การทรมานแต่อย่างใด แต่จะมาพูดถึงสิ่งที่อยู่ฉากหลังของนิทานแนวเจ้าหญิง เจ้าชาย อัศวินอะไรทำนองนี้กัน
ยุคกลางในฝรั่งเศส : อ่านฝรั่งเศส x Phitacques Lecdi
ชื่อทางการของยุคนี้ เราเรียกกันว่า “ยุคกลาง (Le Moyen Âge)” เพราะอยู่ระหว่างโลกยุคเก่า (กรีก-โรมัน) กับ โลกใหม่ (ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ-ปัจจุบัน) แต่ชื่อเล่นของยุคกลางก็คือ “ยุคมืด (Âge sombre)” นั่นเองครับ เป็นยุคที่มีความศรัทธาอย่างแรงกล้า ความศรัทธาแบบนี้มีอิทธิพลให้เกิดสถาปัตยกรรมโบสถ์หรือวิหารใหญ่ๆ ที่สวยงามขึ้นมา และยังมีอิทธิพลให้เกิดสงครามที่ต่อสู้กับพวกนอกรีตที่เรียกกันว่า “สงครามครัวซาดส์ (Croisades) หรือ สงครามครูเสด” อีกทั้งยุคนี้ยังสร้างศาสตร์สะท้านโลกขึ้นมาคือ เทววิทยา บทสวดภาษาละตินก็เต็มไปด้วยความมีระบบระเบียบและดูมีเกียรติ พร้อมทั้งยังนำไปเป็นพื้นฐานของสังคมตามกฎของคริสตจักร แต่ในเรื่องของภาษาก็ยังคงไม่ดีเท่าที่ควร ยังเขินอาย และไม่กล้าที่จะบรรยายความรู้สึกออกมาได้
ยุคกลางในฝรั่งเศส : อ่านฝรั่งเศส x Phitacques Lecdi
ยุคกลางแบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้อย่างชัดเจน ช่วงที่หนึ่งตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสเป็นฐานความศรัทธาอันแรงกล้าที่สำคัญ วิถีชีวิตที่บรรยายด้วยศิลปะโรมันและโกธิก พร้อมทั้งวรรณกรรมที่ทรงพลังและประณีต และช่วงที่สองตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 14 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ประเทศฝรั่งเศสเสียหายจากภัยสงครามต่างๆ นานา มีแต่ความโศกสลด และสูญเสียความศรัทธาอันแรงกล้าอย่างที่เคย และสังคมในยุคกลางนั้น ประกอบด้วยบุคคล 3 กลุ่มหลักๆ คือ พระ ขุนนาง และประชาชน
กลุ่มพระ (l’Église)
กลุ่มพระ (l’Église) เป็นกลุ่มที่มีอำนาจ เพราะได้รักษาวัฒนธรรมไว้ในช่วงพวกคนเถื่อนเข้ามารุกราน ด้วยการปกป้องคนขลาดจากสิ่งที่ทำให้หลงใหลมัวเมา กลุ่มนี้ยังมีกลุ่มย่อยๆ ที่มีผลต่อสังคมอย่างมาก เช่น โบสถ์ ซึ่งเป็นที่ที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาทำพิธีกรรม ธุดงค์ กุฏิ หรือแม้แต่เป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือศูนย์วัฒนธรรมอีกด้วย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพระมีอำนาจทางการเมืองในระบบศักดินาได้ อย่างให้สิทธิกับขุนนางสร้างความยุติธรรมให้ตัวเองได้ สกัดกั้นพวกเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์ และเปิดฉากรบระหว่างพระกับพวกนอกรีตได้ ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าถ้าการมีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบนี้จะไม่กระตุ้นให้เกิดการแซะเลย อีกทั้งถ้าประชาชนใจกล้าพอที่เรียกร้องกับกลุ่มพระและวิจารณ์ได้เต็มที่ด้วย
กลุ่มขุนนาง (la Noblesse)
กลุ่มขุนนาง (la Noblesse) เป็นเจ้าของที่ดิน ปราสาท และการสงคราม ด้วยอำนาจของคนกลุ่มนี้ ขุนนางทั้งหลายย่อมมีความเกรงขามและดุร้ายเป็นทุนเดิม ก็จะค่อยๆ ถูกขัดเกลาให้ดีขึ้นจนเป็น “อัศวิน (Chevaliers)” และจะมีปราสาทที่คอยเปิดรับงานรื่นเริงสังสรรค์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มขุนนางจึงมีโอกาสบุกเบิกผลงานทางวรรณกรรมมากมาย เช่น มหากาพย์ (épopée) นิยาย (roman) เพลง (lyrisme) พงศาวดาร (chronique) เป็นต้น
กลุ่มประชาชน (le Peuple)
กลุ่มประชาชน (le Peuple) ในยุคกลางจะรวมไปถึงทาสที่ทำนาด้วย แต่ยังดีที่บรรดาช่างฝีมือและพ่อค้าได้รับการยกเว้นเพราะด้วยลักษณะงาน และถ้ามีฐานะร่ำรวยด้วยก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องมากกว่าขุนนางเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นมีกฎหมายการปล่อยตัวทาสให้เป็นประชาชน นั่นก็เพื่อปกป้องพระราชอำนาจไม่ให้ขุนนางมาคานอำนาจได้ ดังนั้นประชาชนจึงมีแนวคิด จิตวิญญาณ และงานเขียนเป็นของตัวเอง จึงทำให้เกิดงานเขียนที่ตลก เสียดสี และมักจะหยาบคาย
ทั้งหมดนี้เป็นสภาพและลักษณะสังคมในยุคกลาง ซึ่งเป็นหลังฉากของนิทานแนวเจ้าชาย เจ้าหญิงอยู่หลายต่อหลายเรื่อง ผู้เขียนเคยอ่านเจอข้อความหนึ่งว่าอยากจะไปอยู่ในสมัยยุคกลาง นั่นก็เป็นความคิดส่วนบุคคลครับ เขาอาจจะสามารถอยู่ในค่านิยมลักษณะนั้นได้ แต่สำหรับผมจากการที่เคยอ่านประวัติศาสตร์ยุคกลางพอผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้ว ก็ขอเลือกที่จะไม่ไปดีกว่าครับ
ยุคกลางในฝรั่งเศส : อ่านฝรั่งเศส x Phitacques Lecdi
โฆษณา