24 ก.ค. 2021 เวลา 08:41 • กีฬา
ไม่มีเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ
โดย วิธพล เจาะจิตต์
ทีมบาสเกตบอลชายของสหรัฐอเมริกา หรือทีมยูเอสเอ เป็นเต็งหนึ่งเสมอสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกทุกครั้ง แต่ในโตเกียวเกมส์ พวกเขาพบเจออุปสรรคมากมาย ทีมที่ควรมี 12 คน กลับเดินทางไปโตเกียวไม่พร้อมกัน ด้วยสถานการณ์การบาดเจ็บ โควิด และการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นจนวินาทีสุดท้าย พวกเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน มาศึกษาประวัติศาสตร์ของทีมยูเอสเอ กันนะครับ
1
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2019
“ถ้ามีใครพูดว่า ทีมชาติอื่นใกล้จะตามทันฝีมือทีมชาติสหรัฐอเมริกาแล้ว และอีกไม่นานคงจะตามทัน นั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะฝีมือพวกเขาทัดเทียมทีมชาติสหรัฐอเมริกามานานแล้ว…”
นั่นคือคำกล่าวของ โคบี ไบรอันท์ เมื่อครั้งตำนานบาสเกตบอลนั่งชมทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลชิงแชมป์โลกปี 2019
ในทัวร์นาเมนต์นั้น ทีมชาติสหรัฐอเมริกาหรือที่แฟนบาสเกตบอลมักเรียกกันติดปากว่า ทีมยูเอสเอ ไม่ได้แม้แต่เหรียญเดียว ทั้งที่เป็นทีมรวมยอดฝีมือจากลีก NBA ก็เพราะตกรอบควอเตอร์ไฟนอลด้วยฝีมือทีมชาติฝรั่งเศส…คู่ปรับที่จะโคจรมาเจอพวกเขาอีกครั้งในแมตช์แรกของบาสเกตบอลโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ในวันที่ 25 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้
ลาสเวกัส วันที่ 19 กรกฎาคม 2021
ทีมยูเอสเอเอาชนะคู่ปรับสำคัญ สเปน ในนัดกระชับมิตร 83-76 ปิดท้ายทัวร์นาเมนต์แข่งซ้อมด้วยชัยชนะ 2 ครั้ง และความพ่ายแพ้ในจำนวนเท่ากัน พวกเขาเปิดทัวร์นาเมนต์ด้วยการแพ้ 2 นัดรวดให้กับไนจีเรีย ทีมซึ่งพวกเขาเคยไล่ต้อนเอาชนะขาดลอยเป็นสถิติโอลิมปิกในลอนดอนเกมส์ และแพ้ต่อออสเตรเลียอย่างไม่ได้ลุ้น ก่อนที่จะรวบรวมฟอร์มกลับมาเอาชนะทั้งสเปนและอาร์เจนตินา ถือเป็นสถิติการแข่งซ้อมที่ย่ำแย่ที่สุดครั้งหนึ่ง
แต่นั่นไม่ใช่ข่าวร้ายข่าวเดียว เพราะล่าสุด แซค ลาวีน การ์ดของทีมต้องเข้ากักตัวตามมาตรฐานสาธารณสุขเพราะมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด ก่อนหน้านั้น เจเรมี แกรนท์ ก็ต้องกักตัวเช่นกัน ในขณะที่ แบรดลีย์ บีล ชู้ตติ้งการ์ด ก็ติดโควิดไม่สามารถร่วมทีมไปโตเกียวได้
ซ้ำร้าย เควิน เลิฟ ฟอร์เวิร์ดตัวเก๋าต้องถอนตัวออกจากทีมเพราะอาการบาดเจ็บ
ส่วนผู้เล่นอีก 3 คนที่มีชื่ออยู่ในทีมคือ จรู ฮอลิเดย์, คริส มิดเดิลตัน และ เดวิน บุ๊กเกอร์ ต่างก็กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ในนัดชิง NBA
ทีมยูเอสเอเหินฟ้ามุ่งสู่มหานครโตเกียวเพื่อป้องกันแชมป์เหรียญทองสามสมัย ด้วยผู้เล่นเพียง 8 คน…
🏀🏀🏀
สำหรับการแข่งขันบาสเกตบอลชายในโอลิมปิกเกมส์นั้น ทีมยูเอสเอถือว่าเป็นเจ้าประจำเหรียญทองตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการแข่งขันกีฬาประเภทนี้ในเบอร์ลินเกมส์ ปี 1936 ทีมยูเอสเอก็คว้าเหรียญทองรวด 7 ครั้ง ในช่วงนั้นเจ้าประจำเหรียญเงินก็คือสหภาพโซเวียต
จนกระทั่งในปี 1972 ในมิวนิกเกมส์ สหภาพโซเวียตกลายเป็นทีมแรกที่แย่งเหรียญทองจากทีมยูเอสเอมาได้ ด้วยชัยชนะหวุดหวิด 51-50
หลังจากนั้นในโอลิมปิกสี่ครั้งต่อมา ทีมยูเอสเอคว้าได้สองเหรียญทอง แม้ว่าในมอสโกเกมส์ 1980 ทีมยูเอสเอจะไม่ได้ลงแข่งเพราะประเทศค่ายประชาธิปไตยพากับบอยคอตสหภาพโซเวียตและไม่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน
หากนับถึงแอลเอเกมส์ 1984 ซึ่ง ไมเคิล จอร์แดน สมัยเรียนมหาวิทยาลัย นำทีมยูเอสเอถล่มสเปน 96-65 คว้าเหรียญทองต่อหน้าแฟนเจ้าถิ่น ตั้งแต่ปี 1936 ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ทั้งหมด 10 ครั้งที่ทีมยูเอสเอเข้าร่วม พวกเขาได้ 9 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน
ในช่วงนั้นกีฬาโอลิมปิกอนุญาตเฉพาะนักกีฬาสมัครเล่นลงแข่ง แม้ว่าในช่วงหลังจะมีการอนุญาตให้แต่ละประเทศสามารถส่งนักกีฬาอาชีพลงเล่นได้ภายในโควตาจำนวนและอายุที่กำหนดไว้ เหตุผลหลักก็เพราะนักกีฬาทุกคนอยากมีโอกาสได้คล้องเหรียญจากมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ และนักกีฬาบาสเกตบอลในยุโรปและลาตินอเมริกาเข้าสู่ระบบการเล่นอาชีพตั้งแต่อายุน้อย การถูกตัดสิทธิ์เพราะสถานะนักกีฬาอาชีพก็จะเป็นการตัดโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันของเขาเหล่านั้น
แต่ทีมยูเอสเอไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งผู้เล่นอาชีพจาก NBA ลงแข่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าแค่มาตรฐานบาสเกตบอลระดับสมัครเล่นหรือมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ก็สูงกว่ามาตรฐานประเทศอื่นมากแล้ว แถมลีก NBA ก็เป็นลีกที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลก ถ้าอนุญาตให้ลงแข่งก็คงรู้ผลการแข่งขันว่าใครจะได้เหรียญทองตั้งแต่ยังไม่สิ้นสัญญาณเริ่มเกมแรก
สถานะอันสูงส่งของลีก NBA ไม่เพียงแต่จำกัดโอกาสของทีมยูเอสเอในโอลิมปิกเกมส์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลชิงแชมป์โลก ในขณะที่ประเทศอื่นส่งผู้เล่นอาชีพลงแข่งได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าในช่วง 10 ครั้งแรกของทัวร์นาเมนต์นี้ นับตั้งแต่ปี 1950 ทีมยูเอสเอคว้าแชมป์ไปเพียง 2 ครั้ง ได้รองแชมป์ 3 ครั้ง และได้อันดับ 3 อีก 1 ครั้ง
โอลิมปิกโซลเกมส์ 1988 และทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกที่อาร์เจนตินา 1990 เป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดที่สมาคมบาสเกตบอลสหรัฐอเมริกาและลีก NBA ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้สามารถส่งผู้เล่นอาชีพลงแข่งได้โดยไม่จำกัดโควตาทั้งจำนวนและอายุ
แม้ว่าเหตุผลหลักที่พวกเขาแจ้งต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จะเป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้นักกีฬาระดับสุดยอดของโลก ลงแข่งในกีฬาที่มีศักดิ์และศรีสูงที่สุดของโลกก็ตาม
แต่เหตุผลที่แท้จริงก็คงจะเป็นเพราะว่า พวกเขาได้เพียงเหรียญทองแดงในโซลเกมส์ ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวครั้งร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ทีมยูเอสเอลงแข่งในโอลิมปิกเกมส์ ส่วนในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกที่อาร์เจนตินา พวกเขาต้องกระเสือกกระสนเป็นอย่างมากกว่าที่จะเอาชนะเปอร์โตริโกในเกมชิงอันดับ 3
1
ผลงานจากทั้งสองทัวร์นาเมนต์บ่งชี้ข้อเท็จจริงที่ว่า มาตรฐานระดับผู้เล่นมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ถูกตามทันและแซงหน้าไปแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือหากไม่ส่งยอดฝีมือจาก NBA ลงแข่ง โอกาสคว้าเหรียญทอง และคว้าแชมป์โลกของทีมยูเอสเอก็คงน้อยลงไปเรื่อยๆ
ฟากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลก็เห็นประโยชน์ของการมียอดฝีมือจาก NBA ลงแข่งในโอลิมปิกเกมส์ เพราะจะช่วยโปรโมตการแข่งขันให้น่าสนใจ ช่วยกลบกลิ่นอายของการเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ถูกการเมืองแทรกแซงมาหลายทศวรรษ
นั่นคือที่มาของการที่ทีมยูเอสเอ ซึ่งสามารถส่งผู้เล่นอาชีพจากลีก NBA ลงแข่งได้ทั้งในโอลิมปิกเกมส์และทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลก ถูกเรียกขานในชื่อใหม่ว่า ดรีมทีม
🏀🏀🏀
บาร์เซโลนาเกมส์ 1992 กลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ เวิลด์ เพราะเป็นโอกาสเดียวที่แฟนบาสเกตบอลทั่วโลกจะได้เห็น ไมเคิล จอร์แดน, แลร์รี เบิร์ด และ เมจิก จอห์นสัน ลงเล่นร่วมทีมเดียวกัน พร้อมพลพรรคจาก NBA อีก 8 คน มีเพียง คริสเตียน แลทเนอร์ เท่านั้นที่เป็นผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัย
ว่ากันว่านี่คือการรวมทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาของโลก ยอดฝีมือ 11 คนที่คุ้นชินกับการแข่งกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลังใน NBA ทลายกำแพงอัตตาและเล่นเข้าขากันเป็นอย่างดี สร้างตัวอย่างที่ดีว่าสุดยอดฝีมือก็รวมกันเป็นสุดยอดทีมได้
ดรีมทีมสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในบาร์เซโลนา ด้วยการเอาชนะคู่แข่งเฉลี่ย 46 คะแนน ทำแต้มอย่างน้อย 103 คะแนนในทุกเกม ในนัดชิงพวกเขาไล่ทุบโครเอเชียที่มีทั้ง โทนี คูโคช, ดราเซน เปโตรวิช และ ไดโน ราจา ไป 32 คะแนน นั่นคือการเข้าใกล้ดรีมทีมมากที่สุดของคู่แข่ง
ชัค เดลีย์ โค้ชของดรีมทีม ไม่เคยต้องขอเวลานอกเลยสักครั้งในทัวร์นาเมนต์ เขาเปลี่ยนผู้เล่นห้าคนแรกทุกเกม ไม่มีใครเป็นตัวจริงตัวสำรองในทางปฏิบัติ
ดรีมทีมเรียกผู้ชมล้นสนาม เสียงเชียร์สนั่น และเสียงชัตเตอร์ทุกนาทีในทุกเกมที่พวกเขาลงเล่น นักกีฬาบาสเกตบอลหลายประเทศที่ต้องแข่งกับดรีมทีม เตรียมกล้องถ่ายรูปไว้ให้เพื่อนร่วมทีมถ่ายภาพตนเองลงแข่งกับดรีมทีม เพื่อเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้แข่งกับไอดอลของพวกเขา
หลังจากนั้นในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลก โตรอนโต 1994 ดรีมทีม 2 นำโดย ชาคิล โอนีล, โจ ดูมาร์ส, ชอว์น เคมป์ ก็คว้าแชมป์ได้อย่างสะดวกโยธิน
แอตแลนตาเกมส์ 1996 ดรีมทีมที่นำทัพโดย สกอตตี พิพเพน และ ฮาคีม โอลาจูวอน ก็คว้าเหรียญทองได้โดยง่าย
ในซิดนีย์เกมส์ 2000 พวกเขาถูกทดสอบจากลิทัวเนีย และเกือบเอาตัวไม่รอดในรอบรองชนะเลิศ ก่อนที่จะก้าวไปคว้าเหรียญทองในท้ายที่สุด
สิ่งที่เกิดขึ้นในซิดนีย์เกมส์ เป็นผลมาจากการที่ทีมยูเอสเอไม่ได้เลือกผู้เล่นที่ดีที่สุดในลีกไปลงแข่ง ด้วยเหตุผลที่ว่านักกีฬาที่เคยสัมผัสเหรียญทองแล้ว อยากจะเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมลีกได้ลงแข่งในโอลิมปิก ประกอบกับการหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บจากการลงแข่งต่อเนื่องหลังลีก NBA ปิดฤดูกาล
แต่อีกเหตุผลสำคัญก็คือ การที่ผู้เล่นจำนวนไม่น้อยจากสหภาพยุโรปและลาตินอเมริกา เริ่มเข้าไปเล่นใน NBA มากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาส่งผู้เล่นที่ดีที่สุดของประเทศลงชิงชัยเสมอ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกปี 1998 และ 2002 ทีมบาสเกตบอลจากสหรัฐอเมริกาไม่เคยถึงแชมป์เลย โดยเฉพาะในปี 2002 ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ในบ้านที่อินเดียนา ความฝันที่จะเห็น “บาสเกตบอลกลับบ้านเกิด (Basketball comes home)” ก็สลายไปต่อหน้าต่อตาแฟนบาสอเมริกัน พวกเขาได้เพียงอันดับ 6 เพราะพ่ายต่อยูโกสลาเวียในรอบควอเตอร์ไฟนอล แถมยังมาแพ้สเปนในเกมแข่งชิงอันดับ 5 ปิดท้ายอีกต่างหาก
และในเอเธนส์เกมส์ 2004 พวกเขาทำได้เพียงคว้าเหรียญทองแดง ต่อมาในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกปี 2006 ที่ญี่ปุ่น พวกเขาก็ได้เพียงที่ 3 แม้ว่าทีมในชุดปี 2004 และ 2006 จะมีทั้ง เลอบรอน เจมส์, ดเวย์น เวด และ คาร์เมโล แอนโทนี อยู่ในทีม แต่ทุกคนก็เป็นแค่ดาวรุ่งในลีก ยังไม่ถึงขั้นผู้เล่นดาวโรจน์ที่ดีที่สุดในลีก
ในช่วงระหว่างปี 2001-2007 ไม่มีใครเรียกทีมชาติสหรัฐอเมริกาว่าดรีมทีมได้อย่างสนิทใจ แฟนบาสเกตบอลส่วนใหญ่กลับไปเรียกพวกเขาว่า ทีมยูเอสเอ ดังเดิม ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1998-2006 ทีมจากยุโรปและลาตินอเมริกาได้ประกาศให้โลกรู้ว่า สหรัฐอเมริกาต้องส่งผู้เล่นที่ดีที่สุดมาแข่งเท่านั้น ไม่งั้นอาจจะคอตกผิดหวังกลับบ้านได้
นี่คือสาเหตุการหายไปของดรีมทีม และนี่คือเหตุผลเบื้องหลังคำพูดของ โคบี ไบรอันท์…
🏀🏀🏀
หลังความผิดหวังในปี 2006 ทีมยูเอสเอกลับมารวบรวมยอดฝีมือลงแข่งในปักกิ่งเกมส์ 2008 ด้วยทีมชุดที่ถูกเรียกขานว่า ทีมทวงคืนเหรียญทอง หรือ Redeem Team ทีมชุดที่มีทั้ง โคบี ไบรอันท์ ที่ลงแข่งโอลิมปิกเป็นครั้งแรก เลอบรอน เจมส์ และ คาร์เมโล แอนโทนี ซึ่งอยู่ในช่วงพีกของอาชีพ แถมยังพกพาไฟสุมทรวงและความต้องการพิสูจน์ตัวเองจากความล้มเหลวในปี 2004 และ 2006 ไปเมืองจีน
สุดท้ายพวกเขาทวงก็คืนเหรียญทองสำเร็จ ด้วยสถิติถล่มทีมชาติอื่นอย่างหมดรูป สถิติพวกเขาเป็นรองแค่เพียงดรีมทีมชุดแรกเท่านั้น
และเมื่อเสริมทีมด้วยพลพรรคระดับ เควิน ดูแรนท์ ทีมยูเอสเอก็คว้าเหรียญทองติดต่อกันทั้งลอนดอนเกมส์ 2012 และริโอเกมส์ 2016 ซึ่งดูแรนท์ได้ตัวช่วยระดับ เจมส์ ฮาร์เด็น, ไครี เออร์วิง และ เคลย์ ทอมป์สัน ทำให้พวกเขาเป็นเจ้าเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัยซ้อน
ในส่วนของทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกนั้น พวกเขาก็ทวงคืนแชมป์ได้ทั้งที่ตุรกีในปี 2010 และสเปนในปี 2014
ทีมชุด 2010 นั้นไม่มีผู้เล่นแม้แต่คนเดียวจากชุดแชมป์ปักกิ่งเกมส์ แต่ก็ยังสามารถเอาชนะได้ในทุกนัด ด้วยผู้เล่นแบบ สเตฟ เคอร์รี, เดอร์ริค โรส, เควิน ดูแรนท์, และ เควิน เลิฟ ซึ่งสองรายหลังก้าวไปสู่ทีมชุดเหรียญทองลอนดอนเกมส์ในอีก 2 ปีให้หลัง
เคอร์รียังคงเล่นในชุดชิงแชมป์โลก 2014 ที่สเปน พร้อมกับคู่หูสแปลชบราเธอร์ส เคลย์ ทอมป์สัน และการ์ดจ่ายตัวเทพ ไครี เออร์วิง รวมถึงเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด/เซ็นเตอร์ อันโตนิโอ เดวิส
หากมองให้ลึกซึ้ง ความสำเร็จใน 5 ทัวร์นาเมนต์สูงสุดในโลกบาสเกตบอลตั้งแต่ปี 2008-2016 นั้น ก็มาจากความตระหนักว่าต้องใช้ผู้เล่นที่ดีที่สุดเท่านั้นจึงจะไปสู่แชมป์ได้ ทีมทุกชุดในช่วงเวลานั้นมีผู้เล่นตัวจริงอย่างน้อย 3 คน ที่เป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลก ในตำแหน่งนั้นและในเวลานั้น
ทีมยูเอสเอประกาศให้โลกรู้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาส่งผู้เล่นที่ดีที่สุดลงสนาม พวกเขาสามารถชนะได้ทุกประเทศ
แต่แล้วในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกปี 2019 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทีมยูเอสเอได้เพียงลำดับที่ 7 ซึ่งแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทีม
🏀🏀🏀
ถ้าจะใช้สูตรสำเร็จของทีมยูเอสเอในช่วงปี 2008-2016 มาใช้วิเคราะห์ความล้มเหลวของทีมในชุด 2019 ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีผู้เล่นคนไหนในทีมที่เป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในโลกเลยสักคน อีกทั้งชุดนี้ก็ไม่ใช่ชุดผู้เล่นที่ดีที่สุดในลีก NBA และมีเพียง คริส มิดเดิลตัน และ เจสัน ตาตัม เท่านั้นที่ต่อมาได้รับคัดเลือกให้อยู่ในชุดโตเกียวเกมส์
เส้นทางการเตรียมทีมยูเอสเอสำหรับโตเกียวเกมส์ของ เกร็ก โพโพวิช และ สตีฟ เคอร์ ประสบปัญหาไม่น้อย เพราะด้วยสถานการณ์โควิด และการแข่งขันฤดูกาล 2019/20 และ 2020/21 ที่กระชั้นและมีเวลาพักน้อย ทำให้ผู้เล่นชั้นยอดของโลกหลายคนตัดสินใจถอนตัวไม่เข้าร่วมการแข่งขัน
สเตฟ เคอร์รี ผู้มีสถิติทำแต้มเฉลี่ยต่อเกมสูงสุดในฤดูกาลนี้ เขาอยากได้เหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์มาก แต่ก็ตัดสินใจถอนตัวเพราะสถานการณ์โควิด ส่วน เลอบรอน เจมส์, ไครี เออร์วิง, เคลย์ ทอมป์สัน, อันโตนิโอ เดวิส ล้วนแล้วแต่เจออาการบาดเจ็บรุมเร้า
ผู้เล่นทั้งห้าคนที่กล่าวมาเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในลีกและดีที่สุดในโลกในตำแหน่งที่เล่นทั้งสิ้น
แม้ว่าทีมในชุดนี้ในตอนเริ่มแรกจะมี เควิน เลิฟ และ เดรย์มอน กรีน ผู้มีประสบการณ์คว้าเหรียญโอลิมปิกมาเสริมทีม แต่สุดท้ายเลิฟก็ต้องถอนตัวด้วยอาการบาดเจ็บ
การเสีย แบรดลีย์ บีล ที่เป็นผู้ทำคะแนนเฉลี่ยต่อเกมสูงสุดรองจากเคอร์รี เพราะติดโควิด ก็ทำให้ทีมขาดเครื่องจักรทำคะแนนไปอีกคน
ยังดีที่ เควิน ดูแรนท์ ผู้อกหักจากการพ่ายมิลวอกี บักส์ ตกรอบเพลย์ออฟปีนี้ ตัดสินใจเข้าร่วมทีมเพื่อตามหาเหรียญทองที่ 3 ของตนเอง ทำให้อย่างน้อยที่สุดทีมชุดโตเกียวเกมส์มีผู้เล่นอย่างน้อยหนึ่งคนที่ดีที่สุดในโลกอยู่ในทีม
ศึกซีรีส์รอบชิง NBA จบลงแล้วในเช้าวันพุธเวลาไทย ด้วยชัยชนะของมิลวอกี บักส์ เหนือฟีนิกซ์ ซันส์ ผู้เล่นอีก 3 คนคือ จรู ฮอลิเดย์ และ คริส มิดเดิลตัน ของบักส์ และ เดวิน บุ๊กเกอร์ ของซันส์ จะเดินทางไปสมทบกับเพื่อนร่วมทีมอีก 8 คนที่ล่วงหน้าไปก่อน โดยที่ไม่ได้มีโอกาสพัก และอาจจะไม่มีโอกาสลงซ้อมร่วมกับทีมที่เพียงพอ ก่อนการแข่งขันนัดแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม
แซค ลาวีน จะเป็นผู้เล่นคนสุดท้ายที่จะเดินทางไปสมทบกับทีมหากสามารถเคลียร์ตัวเองจากมาตรการสาธารณสุขได้ แต่หากโชคร้ายไม่ผ่านมาตรการสาธารณสุข ทีมยูเอสเอก็จะเหลือผู้เล่นเพียง 11 คน ซึ่งประกอบด้วย
แบม อเดบาโย (ไมอามี ฮีท)
เควิน ดูแรนท์ (บรุ๊กลิน เน็ตส์)
เจเรมี แกรนท์ (ดีทรอยต์ พิสตันส์)
เดรย์มอนด์ กรีน (โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส)
เดเมียน ลิลลาร์ด (พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส)
เจสัน ตาตัม (บอสตัน เซลติกส์)
เคลดอน จอห์นสัน (ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส)
จาวาล แม็คกี (เดนเวอร์ นักเก็ตส์)
จรู ฮอลิเดย์ (มิลวอกี บักส์)
คริส มิดเดิลตัน (มิลวอกี บักส์)
เดวิน บุ๊กเกอร์ (ฟีนิกซ์ ซันส์)
🏀🏀🏀
เมื่อคำนึงถึงรูปแบบการแข่งขันที่ถูกปรับให้สั้นลง และการแข่งขันรอบแรกมีเพียง 3 นัดเท่านั้น ทีมจะมีโอกาสปรับตัวปรับรูปแบบการเล่นได้น้อยมาก ยิ่งสมาชิกในทีมมีการเปลี่ยนตัวกันจนนาทีสุดท้าย การเล่นเป็นทีมก็จะยิ่งยากเข้าไปอีก
ความพ่ายแพ้ต่อทั้งไนจีเรียและออสเตรเลียนั้น ไม่ได้เพราะแพ้ฝีมือ แต่เป็นเพราะทีมเวิร์กที่ย่ำแย่
ยิ่งเมื่อคิดถึงคู่แข่งสำคัญแบบสเปน แชมป์โลกทีมปัจจุบัน ซึ่งเป็นทีมที่เล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ ริกกี รูบิโอ จ่ายบอลให้พี่น้อง เปา และ มาร์ค กาซอล มาเกือบ 20 ปี เล่นกับพี่น้องเฮอร์นันโกเมซ และ รูดี้ เฟอร์นานเดซ มาเป็นสิบปี หรือฝรั่งเศสชุดได้ที่ 3 ในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกที่ตัวหลักอยู่ครบ เส้นทางสู่เหรียญทองของทีมยูเอสเอคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเป็นแน่แท้
แต่คิดในอีกมุมหนึ่ง ในเมื่อทีมลงแข่งโดยไร้ความกดดันว่าจะต้องคว้าเหรียญทอง พวกเขาอาจจะเล่นโดยไม่เกร็งและโชว์ศักยภาพเต็มที่ก็เป็นได้ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่ไม่มีผู้ชมและไร้ความกดดันจากเสียงเชียร์
มาดูกันครับว่าทีมยูเอสเอที่ว่ากันว่าไม่พร้อมที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอินทรี จะไปได้ไกลแค่ไหนในโตเกียวเกมส์นะครับ
#โอลิมปิก #โตเกียว2020 #โตเกียว #บาส #ข่าวกีฬา #ผลการแข่งขัน #ผลกีฬา #PlayNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา