25 ก.ค. 2021 เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
บริษัทแอปเปิ้ลกำลังจะรุกตลาดด้านการดูแลสุขภาพจริงหรือไม่?
“ผมคิดว่าวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า ผู้คนจะมองย้อนกลับมาและพูดว่า หนึ่งในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่บริษัทแอปเปิ้ลได้สร้างไว้ให้กับโลกนี้คือ การดูแลสุขภาพ” ทิม คุก CEO ของบริษัทแอปเปิ้ล ได้กล่าวไว้เมื่อปี 2019
ถึงแม้ว่า บริษัทแอปเปิ้ลจะเข้ารุกตลาดทางด้านการดูแลสุขภาพช้ากว่าคู่แข่งรายอื่นๆ แต่ว่าทางบริษัทก็ยังคงพยายามพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเพื่อที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ บทความนี้จะมาอัพเดตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่างๆที่บริษัทแอปเปิ้ลได้พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน
ขอเริ่มจาก เทคโนโลยีที่ทุกท่านต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ Apple Watch นั่นเองครับ
Ref. https://www.apple.com/
จากข้อมูลของ Statista พบว่า ปัจจุบันบริษัทแอปเปิ้ลมีส่วนแบ่งในตลาดของ Smartwatch มากที่สุดในโลก โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 มีส่วนแบ่งมากถึง 49.7% ของตลาดดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทก็ได้ผลักดัน Apple watch ให้มีความนิยมเพิ่มขึ้นตามแผนการตลาดในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ
Apple watch ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้สามารถนำมาใช้วัดคลื่นหัวใจได้ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีนักวิจัยชื่อว่าคุณ Mount Sinai ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า มีการใช้ Apple watch ในการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อช่วยคัดแยกผู้ป่วย COVID-19 ก่อนที่ผลตรวจจากทางห้องแลบจะออกมาเสียอีก อีกทั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford พบว่า การใช้ Apple watch ในการวัดคลื่นหัวใจมีประสิทธิภาพพอๆกับการวัดคลื่นหัวใจโดยใช้เครื่องมือแพทย์ และยังแนะนำให้มีการใช้ Apple watch ในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เพื่อช่วยติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากระยะไกล
มาต่อกันที่เทคโนโลยีต่อไปกันเลยครับ ซึ่งก็คือ แอพพลิเคชั่นทางด้านสุขภาพ นั่นเอง
Ref. https://www.apple.com/
แอพพลิเคชั่นทางด้านสุขภาพของแอปเปิ้ล ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนไข้และหมอสามารถเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางบริษัทแอปเปิ้ลได้ออกฟีตเจอร์ใหม่สำหรับแอพพลิเคชั่นทางด้านสุขภาพ ให้สามารถรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งาน iPhone, Apple watch, และแอพพลิเคชั่นทางด้านสุขภาพอื่นๆได้ในที่เดียว ปัจจุบันผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาสามารถเลือกได้ว่าจะแชร์ข้อมูลทางสุขภาพชนิดต่างๆ เช่น ข้อมูลการนอนหลับ, อัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ให้กับหมอได้โดยตรง
บางทีการอัพเดตฟีตเจอร์ในรอบนี้ อาจจะเป็นการนำข้อมูลทางสุขภาพจากแอพพลิเคชั่นมารวมอยู่ในระบบการรวบรวมประวัติทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic medical record, EMR) ของผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา โดยที่สามารถแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้กับทางผู้ดูแลระบบ EMR ได้โดยตรง ทำให้หมอสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล
ก้าวต่อไปของบริษัทแอปเปิ้ลในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ
ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นิตยสาร Wall Street Journal ได้รับรายงานว่า บริษัทแอปเปิ้ลจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่การพัฒนา Apple Watch และแอพพลิเคชั่นทางด้านสุขภาพเท่านั้น แต่มีแผนจะเปิดให้บริการทางการแพทย์ของทางบริษัทเองอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะดำเนินการโดยหมอที่บริษัทแอปเปิ้ลจ้างมา และคลินิกที่ทางบริษัทแอปเปิ้ลเป็นเจ้าของ
นอกจากนี้ทางนิตยสาร Wall Street Journal ยังกล่าวว่า บริษัทแอปเปิ้ลได้ทำการเทคโอเวอร์คลินิกในบริเวณใกล้เคียงกับสำนักงานใหญ่ของทางบริษัท เพื่อที่จะสร้างทีมของแพทย์, วิศวกร, และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ สำหรับการทดลองบริการทางการแพทย์ใหม่ๆ ในคลินิกเหล่านั้น
การเรียนรู้ธุรกิจทางด้านการดูแลสุขภาพ
บริษัทแอปเปิ้ลถือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพและกำลังเรียนรู้ในธุรกิจนี้ โดยในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ก็ยังพบเจอกับปัญหาอยู่บ้าง เช่น
จากที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทแอปเปิ้ลมีแผนที่จะสร้างคลินิกของตัวเองขึ้นมา แต่ก็ได้มีพนักงานของบริษัทบางคนได้กล่าวถึงปัญหาในการรวบรวมข้อมูลทางด้านสุขภาพจากคลินิกดังกล่าวเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อีกทั้งพนักงานกลุ่มนั้นยังได้เสนอให้ทางบริษัทแอปเปิ้ลจำเป็นต้องมีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลทางด้านสุขภาพเหล่านี้ก่อนที่จะนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวต่อไป
ต่อมาในส่วนของ Apple watch Serie 6 ซึ่งได้เปิดตัวในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้มีการใส่เซนเซอร์วัดออกซิเจนในเลือดเข้าไปด้วย ซึ่งการลดลงของระดับออกซิเจนในเลือด จะสามารถบ่งบอกถึงอาการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆแสดงออกมา แต่ถึงอย่างนั้น ณ ปัจจุบัน ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้ยอมรับฟีตเจอร์ดังกล่าว ต่างจากฟีตเจอร์การวัดคลื่นหัวใจ ถ้าหากมองในมุมนี้ ฟีตเจอร์การวัดคลื่นหัวใจก็เปรียบเสมือนอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ฟีตเจอร์การวัดระดับออกซิเจน กลับเป็นเพียงการทดลองของทางบริษัทอย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นหากบริษัทแอปเปิ้ลต้องการให้ Apple Watch เป็นอุปกรณ์ที่ติดตามข้อมูลทางสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นก็จำเป็นต้องทำให้เซนเซอร์ที่วัดค่าต่างๆทางด้านสุขภาพสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานเกิดความวิตกกังวล เมื่อค่าที่วัดได้จากเซนเซอร์ผิดปกติ
อนาคตของอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ
ในปัจจุบัน แม้ว่าโปรเจคต์ในด้านบริการทางการแพทย์ของบริษัทแอปเปิ้ลอาจจะติดขัดอยู่บ้าง แต่แผนการตลาดในธุรกิจดูแลสุขภาพด้านอื่นก็ยังคงดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ ในระยะสั้นเราจะยังคงได้เห็นการเติบโตอย่างมั่นคงของอุปกรณ์สวมใส่จากบริษัทแอปเปิ้ล
Deidre Caldbeck ผู้อำนวยการทางด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ ได้พูดเป็นนัยๆว่า “ไม่เพียงแค่ Apple watch เท่านั้นที่มีฟีตเจอร์ในการติดตามข้อมูลทางสุขภาพ แต่ AirPod ก็อาจมีฟีตเจอร์ดังกล่าวในอนาคตเช่นกัน” ซึ่งการมีอุปกรณ์อื่นๆที่สามารถติดตามข้อมูลทางสุขภาพได้นอกจาก Apple Watch และ iPhone ย่อมถือเป็นการยกระดับอุปกรณ์อื่นๆของทางบริษัทให้สามารถค้นพบวิธีใหม่ๆ ในการติดตามข้อมูลทางสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้คนสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดีขึ้น
Reference
โฆษณา