25 ก.ค. 2021 เวลา 03:00 • กีฬา
4 ยอดกุนซือ ผู้คว้าแชมป์ระดับทวีป-โลก ทั้งในทีมชาติ และสโมสร
(ในศตวรรษที่ 21)
ในโลกฟุตบอลอันยิ่งใหญ่ เราได้เห็นกุนซือสมองเพชรมากมายที่ประสบความสำเร็จ เต็มเปี่ยมไปด้วยถ้วยแชมป์รายการต่างๆเต็มตู้ มีผู้จัดการทีมจำนวนไม่น้อย ที่เคยคุมทั้งทีมชาติ และสโมสรชั้นนำ แต่โอกาสที่จะคว้าแชมป์รายการใหญ่ระดับทวีป ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ยิ่งการที่ผู้จัดการทีมหนึ่งคน จะเคยคว้าทั้งแชมป์ระดับทวีปของสโมสร (เช่น UEFA Champions League, AFC Champions League) และแชมป์เมเจอร์ระดับชาติ (เช่น FIFA World Cup, CONCACAF Gold Cup, UEFA EURO) ยิ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก
ย้อนกลับไปในยุคก่อน มีกุนซือยอดฝีมืออยู่ไม่ต่ำกว่า 10 คนที่เคยทำได้ เช่น ไรนุส มิเชลล์ ผู้สร้างประวัติศาสตร์กับทีมกังหันสีส้ม ยุค 3 ทหารเสือ หรือ ออสการ์ ตาบาเรซ “El Maestro” แห่งอุรุกวัย ผู้พา เพนารอล คว้าแชมป์ Copa Libertadores ในปี 1987 เป็นถ้วยแรก แล้วปิดท้ายอาชีพด้วยแชมป์ Copa America กับอุรุกวัยในปี 2011
แต่มีกุนซือเพียง 4 คนเท่านั้น ที่คว้าทั้งแชมป์รายการใหญ่ทั้งในระดับชาติ และสโมสร ในศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าบางชื่อเหล่านี้ จะต้องคุ้นหูคุ้นตาแฟนบอลจำนวนไม่น้อยอย่างแน่นอน
1. โฮลเกอร์ โอลซีก (Holger Osiesk)
Canada-CONCACAF Gold Cup 2000,
Urawa Red Diamonds-AFC Champions League 2007
อดีตกองหน้าชาวเยอรมัน ที่เส้นทางอาชีพในฐานะนักเตะไม่ได้โด่งดังมากซักเท่าไหร่ หลังรีไทร์ไปแล้ว เขาได้เป็นผู้ช่วยของ ฟรานซ์ เบคเคนเบาว์เออร์ ในการพาเยอรมันตะวันตก คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1990
ตลอดระยะเวลา 8 ปีในการคุมทีมสโมสร ทั้ง โบคุ่ม(เยอรมนี) เฟเนร์บาเช(ตุรกี) อุราวะ เรด ไดมอนส์(ญี่ปุ่น) และ โคลเชลิสปอร์(ตุรกี) โอลซีกคว้าแชมป์อย่างเป็นทางการได้เพียงรายการเดียว คือแชมป์บอลถ้วยของตุรกี เส้นทางอาชีพก็พาเขามาคุมทีมชาติอย่างแคนาดา ประเทศที่สวยงาม อุดมไปด้วยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ แต่ด้านฟุตบอลนั้น เรียกได้ว่าไม่ใช่จุดเด่นเลย
โอลซีกต้องพาแคนาดา ที่มีสถานะเป็นทีมอันดับฟีฟ่าต่ำที่สุดในโซนอเมริกาเหนือ(80) เตะรอบเพลย์ออฟ ก่อนจะได้ไปร่วมรายการชิงแชมป์ระดับทวีปอย่าง CONCACAF Gold Cup ซึ่งแคนาดาก็ผ่านรอบเพลย์ออฟเข้าไปได้แบบไร้พ่าย ผ่านรอบแบ่งกลุ่มได้จากการโยนเหรียญ (เพราะมีแต้ม ลูกได้ ลูกเสีย เท่ากับเกาหลีใต้ทั้งหมด) โกงความตายตีเสมอเม็กซิโกในช่วง 7 นาทีสุดท้าย ก่อนไปฝังทีมจังโก้ด้วยโกลเดนโกล เชือดตรินิแดดและโตเบโกที่มีสตาร์อย่าง ดไวท์ ยอร์ค ปิดท้ายด้วยการล้มทีมรับเชิญอย่าง โคลอมเบีย ในนัดชิงชนะเลิศ ถือเป็นเทพนิยายฉบับอเมริกาเหนือที่สุดจะยิ่งใหญ่ กลุ่มนักรบเมเปิ้ลเหมารางวัลทุกรายการ ทั้งดาวซัลโว (คาร์โล คอร์ราซซิง 4 ประตู) ผู้เล่นยอดเยี่ยม (เครก ฟอร์เรตส์) ดาวรุ่งยอดเยี่ยม (ริชาร์ด ฮาสติง) และ ผู้เล่นแฟร์เพลย์ (เจสัน เดอร์ วูส์)
โอลซีกได้กลับมาคุมทีมในระดับสโมสรอีกครั้ง คือ อุราวะ เรด ไดมอนส์ ในปี 2007 ซึ่งเขาได้พาแชมป์เจลีกลุยศึก AFC Champions League เป็นการประเดิมเลยทีเดียว อุราวะผ่านรอบแบ่งกลุ่มด้วยตำแหน่งจ่าฝูงแบบไร้พ่าย ชนะ 2 เสมอ 4 ในกลุ่มที่มีทั้ง ซิดนีย์ เอฟซี, เปอร์ซิก เคดิรี และเซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว ก่อนจะเข้าไปเจอกับแชมป์เก่าอย่าง ชุนบุก ฮุนได มอเตอร์ส ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งอุราวะก็อัดยอดทีมจากเกาหลีไปแบบไปและกลับรวม 4-1 เข้ารอบรองฯไปเจอกับทีมจากเกาหลีเช่นเดิม ชองนัม เอฟซี ในคราวนี้อุราวะของโอลซีกต้องเสมอกับตัวแทนจากแดนโสมขาว 2-2 ทั้งสองนัด ก่อนจะผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจากการดวลจุดโทษ
อุราวะเข้าไปชิงกับ เซปาฮาน ทีมจากอิหร่าน ซึ่งจะชิงกับแบบเตะสองเลก ในเลกแรกที่อิหร่าน อุราวะบุกไปเสมอออกมาได้ 1-1 ก่อนมาคว้าชัยในสนาม ไซตามะ สเตเดี้ยม 2-0 คว้าแชมป์ ACL สมัยแรกของทีมมาครองได้สำเร็จ โดยนักเตะตัวเด่นในทีมชุดนั้นก็จะมี ยูกิ อาเบะ กลางรับ/กัปตันทีม ที่เป็นตัวหลักของทีมชาติญี่ปุ่น, รอบสัน พอนเต กลางรุกชาวบราซิลที่เคยเล่นให้ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน และยังมี ฮาจิเมะ โฮโซไก ที่ยังเป็นดาวรุ่งในวัยเพียง 21 ปี
ผลงานของโอลซีกในปี 2007 ถือว่าไม่ได้แย่นัก เขาพาอุราวะคว้ารองแชมป์เจลีกได้ และคว้าอันดับ 3 ในศึกชิงแชมป์สโมสรโลก แต่จากการออกสตาร์ทที่ย่ำแย่ในปีถัดมา ทำให้เขาถูกปลดออกไปในที่สุด หลังจากนั้นโอลซีกก็ไม่ได้คุมทีมระดับสโมสรอีกเลย โดยคุมแค่ทีมชาติออสเตรเลียในช่วงปี 2010-2013
โอลซีกมีแผนการเล่นคู่ใจคือ 3-5-2 / 3-4-1-2 ที่เขาใช้กับทั้งแคนาดา และ อุราวะ เรด ไดมอนส์ โดยเป็นแผนการเล่นที่รับแน่น รัดกุม และเขาใช้มันได้ผลแม้ไม่มีสตาร์ดังระดับโลกอยู่ในทีม
2. บิเซนเต เดล บอสเก (Vincente del Bosque)
Real Madrid-UEFA Champions League 2000, 2002
Spain-FIFA World Cup 2010/ UEFA Euro 2012
ชายผู้ผูกพันกับ เรอัล มาดริด มาตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นนักเตะ และเมื่อเริ่มต้นคุมทีมในฐานะกุนซือ ที่แรกของเขาก็ไม่พ้นบ้านหลังเดิมแห่งนี้
เดล บอสเก พาทีมราชันชุดขาว ชุดที่สุดแข็งแกร่งในยุคก่อนจะเกิดกาลาติกอส คว้าแชมป์ UEFA Champions League มาครองได้ถึง 2 สมัย ใน 3 ปี (2000 และ 2002) ด้วยตัวผู้เล่นหลักๆอย่าง โรแบร์โต คาร์ลอส, แฟร์นานโด เอียร์โร, ราอูล กอนซาเลซ, แฟร์นานโด มอริเอนเตส และยังมียอดนักเตะอย่าง ซีเนอร์ดีน ซีดาน, หลุยส์ ฟิโก้ และ โคล้ด มาเกเลเล่ มาเสริมเพิ่มในการคว้าแชมป์ครั้งถัดมา
อาจจะเป็นความสำเร็จที่ดูไม่ยากนักเมื่อเห็นชื่อของเหล่านักเตะชั้นนำ แต่หลังจากเดล บอสเก แยกทางกับมาดริดไป ราชันชุดขาวก็ไม่ได้เข้าใกล้ถ้วยบิ๊กเอียร์อีกเลยเป็นเวลาถึง 12 ปี
หลังผลงานที่ไม่น่าประทับใจนักกับเบซิคตัส เดล บอสเก ไม่ได้คุมทีมกว่า 2 ปี ก่อนจะได้มารับช่วงต่อให้กับ หลุยส์ อาราโกเนส ในการคุมทีมชาติสเปน ที่เพิ่งคว้าแชมป์ยูโรปี 2008 มาสดๆร้อนๆ
เดล บอสเก สานต่อรูปแบบการเล่น “ติกิ ตากา” ของทัพกระทิงดุได้อย่างลงตัว เขาคือผู้ให้โอกาสประเดิมสนามในนามทีมชาติกับสตาร์ดังๆมากมาย เช่น เซอร์คิโอ บุสเกสต์, เฆซุส นาบาส, จอร์ดี้ อัลบา, เปโดร, ฆวน มาต้า, ติอาโก อัลคันทารา และเคราด ปิเก้
ภายใต้การคุมทีมของเดล บอสเก เขาพาสเปนชุดที่สุดแสนจะลงตัว เต็มเปี่ยมไปด้วยสุดยอดนักเตะในช่วงพีคของอาชีพ เช่นคู่หู อิเนียสตา กับ ชาบี ในแดนกลาง คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2010 บนแผ่นดินแอฟริกาใต้มาครองได้ เป็นแชมป์โลกสมัยแรกของสเปน ต่อด้วยการรักษาแชมป์ยูโรได้สำเร็จ ในปี 2012 ด้วยการจัดทีมสุดแปลกตา ที่ไม่ใช้กองหน้าตัวเป้าในการออกสตาร์ทแม้แต่คนเดียวในรอบชิงชนะเลิศ
ภาพจำของสเปนในยุคที่ดีที่สุด ที่อุดมไปด้วยยอดนักเตะแห่งยุค พร้อมมีกุนซือมือฉมังกับหนวดสีขาวและหัวที่เกือบจะโล้น คงจะอยู่ในความทรงจำของแฟนบอลหลายๆคนอย่างแน่นอน
เดล บอสเก มีแผนการเล่นที่หลากหลาย ในสมัยที่คุมเรอัล มาดริด เขาใช้ทั้งแผน 4-4-2, 3-4-1-2 และ 4-1-2-1-2 เพราะมีตัวเลือกที่หลากหลายทั้งในตำแหน่งปีก มิดฟิลด์ และกองหน้า ยากที่จะต้องดรอปสตาร์ดังๆไปเป็นตัวสำรอง ส่วนในยุคที่คุมทีมชาติสเปน ก็มักจะใช้แผน 4-3-3 ตามฉบับกระทิงดุ ที่บางครั้งก็สามารถปรับเป็นแบบ False-9 เพื่อใส่มิดฟิลด์ลงไปเพิ่มอีกด้วย
3. หลุยส์ ฟิลิเป สโคลารี (Luiz Felipe Scolari)
Brazil-FIFA World Cup 2002,
Guangzhou Evergrande-AFC Champions League 2015
ยอดโค้ชจอมพเนจร ที่คุมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ทีมตลอดอาชีพ อันที่จริงเขานั้นเคยคว้าแชมป์ระดับทวีปมาแล้วก่อนปี 2000 โดยเป็นการพา เกรมิโอ และ พัลไมราส คว้า Copa Libertadores ในปี 1995 กับ 1999 มาครอง
มาถึงศตวรรษที่ 21 สโคลารีก้าวขึ้นมาคุมทีมชาติบราซิล ที่อุดมไปด้วยสตาร์ระดับท็อปของโลก ไม่ว่าจะเป็น โรนัลโด, ริวัลโด, โรแบร์โต คาร์ลอส, คาฟู, ลูซิโอ, โรนัลดินโญ และดาวรุ่งอย่าง ริคาร์โด กาก้า ทีมที่อัดแน่นด้วยนักเตะระดับนี้ ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องลุ้นในรอบคัดเลือกกันถึงนัดสุดท้าย แต่สโคลารีก็ทำได้ พาบราซิลเข้ามาลุยฟุตบอลโลกจากอันดับที่ 3 ในรอบคัดเลือกโซนอเมริกาใต้
เมื่อเวลาของทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลโลกมาถึง ทัพแซมบ้าของสโคลารีกลายร่างเป็นทีมที่สมบูรณ์แบบ ไร้เทียมทาน เดินหน้าลุยไปคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 5 เหนือเยอรมนี 2-0 บนแผ่นดินญี่ปุ่น มาเชยชมได้สำเร็จ และทีมชุด “4R” ก็ถูกกล่าวขานอยู่เสมอ ในบทสนทนาที่เกี่ยวกับ “ทีมที่ดีที่สุด” ในประวัติศาสตร์ (เช่นเดียวกับ สเปน ยุค 2010 หรือ บาร์เซโลนา ยุค 2011)
สโคลารีเกือบจะคว้าแชมป์ยูโรกับโปรตุเกสในปี 2004 แต่ดันไปพลิกล็อกแพ้ให้กับกรีซแบบช็อกโลก หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้คว้าแชมป์รายการใหญ่เป็นเวลานาน จนได้กลับมาพาทีมชาติบราซิล คว้าแชมป์ FIFA Confederations Cup ในปี 2013 ก่อนจะได้เล่นฟุตบอลโลกในบ้านของตัวเอง และเกิดเหตุการณ์สุดเศร้าขึ้น จากการโดนเยอรมนีถล่มคาบ้านไป 7-1 ในรอบรองชนะเลิศ ต่อด้วยการถูกทีมอัศวินสีส้มอัดไปอีก 3-0 ในรอบชิงอันดับที่สาม ปิดฉากการคุมทีมชาติบราซิลของสโคลารีไว้ตรงนั้น
1
สโคลารีได้มาลองอะไรใหม่ๆ ในทวีปที่ห่างจากเดิมอย่างเอเชีย กับทีมใหญ่ของไชนีส ซุปเปอร์ลีก อย่าง กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ในเดือนมิถุนายนปี 2015 รับช่วงต่อจาก ฟาบิโอ คันนาวาโร ซึ่งเขาก็ยังพกพาเขี้ยวเล็บที่แหลมคมมาเติมเต็มให้ยอดทีมแดนมังกร ที่เพิ่งเป็นเจ้าแห่งเอเชียไปในปี 2013
เขาได้คุมกว่างโจว ลุยศึก ACL ตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นต้นไป ล้มคาชิวา เรย์โซล (4-2) และกัมบะ โอซาก้า (2-1) สองยอดทีมจากญี่ปุ่นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะเข้าไปชิงกับ อัล-อาห์ลี ทีมใหญ่จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งในเลกแรกก็เสมอกันไป 0-0 ที่ยูเออี ก่อนจะกลับมาเชือดที่แผ่นดินจีน 1-0 คว้าแชมป์ AFC Champions League สมัยที่สองของสโมสรมาครองได้สำเร็จ โดยผู้เล่นตัวสำคัญของทีม ก็ไม่พ้นนักเตะบราซิลร่วมชาติอย่าง เปาลินโญ่ และ เอลเคสัน ที่ปัจจุบันเล่นให้กับทีมชาติจีน
ในยุคที่พาบราซิลคว้าแชมป์โลก สโคลารีมักจะจัดทีมด้วยแผน 3-4-1-2 / 3-4-2-1 เนื่องจากมีสองแบคจอมบุกอย่าง คาฟูและคาร์ลอส ที่พร้อมเติมไปเผาแนวรับของคู่แข่ง ส่วนในยุคที่พากว่างโจวฯเถลิงแชมป์เอเชีย สโคลารีจัดทีมด้วยแผน 4-2-3-1 ซึ่งเป็นแผนการเล่นยอดนิยมในยุค 2010s
4. “ติเต้” อาเดนอร์ บาชชี (Tite)
Corinthians-Copa Libertadores 2012/ FIFA Club World Cup 2012,
Brazil-Copa America 2019
อีกหนึ่งกุนซือเลือดแซมบ้าเช่นเดียวกับสโคลารี ที่คุมทีมจำนวนมากในประเทศบ้านเกิด พร้อมกับถ้วยรางวัลประดับตู้มากมาย โดยเฉพาะในช่วงที่เขาคุม โครินเธียนส์
ติเต้ พา โครินเธียนส์ก้าวเข้าสู่ Copa Libertadores ปี 2012 ในฐานะแชมป์ลีกสูงสุดของบราซิล ผ่านรอบแบ่งกลุ่มแบบไร้พ่าย ชนะ 4 เสมอ 2 (อยู่ร่วมกับ ครูซ อาซูล, นาซิอองนาล และ เดปอร์ติโว ทาซิรา) ซัดไปถึง 13 ประตู (มากที่สุด) ต่อมาก็อัด เอเมเลค ทีมจากเอกวาดอร์ไปด้วยสกอร์รวม 3-0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เข้ารอบ 8 ทีมไปดวลกับคู่แข่งร่วมลีก วาสโก ดา กามา ซึ่งโครินเธียนส์ก็ยังไม่เสียประตู เฉือนไปด้วยสกอร์รวม 1-0 เข้ารอบรองฯไปเจอกับ ซานโตส อีกหนึ่งทีมดังจากบราซิล ที่มี เนย์มาร์ เป็นตัวชูโรง แต่นั่นก็ไม่เพียงพอให้ซานโตสหยุดความร้อนแรงของโครินเธียนส์ได้ ลูกทีมของติเต้เอาชนะไปด้วยสกอร์รวม 2-1 เข้าไปชิงชนะเลิศกับ โบคา จูเนียร์ส ทีมยักษ์ใหญ่จากอาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นการชิงกันแบบเหย้า-เยือน โครินเธียนส์บุกไปยันเสมอที่บัวโนสไอเรสได้ 1-1 ก่อนจะกลับมาคว้าชัยที่เซาเปาโล 2-0 คว้าแชมป์แห่งทวีปอเมริกาใต้มาครองได้เป็นครั้งแรก
โครินเธียนส์ชุดคว้าแชมป์ทวีปของติเต้ อุดมไปด้วยนักเตะสัญชาติบราซิลที่มากประสบการณ์ เช่น เอเมอร์สัน(กองหน้า) เปาลินโญ่(ก่อนจะไปสเปอร์ส) และชิเชา(กองหลัง) บนม้านั่งสำรองก็ยังมี มาร์ควินญอส ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นเซนเตอร์แบคระดับโลกในปัจจุบัน
3
ความยิ่งใหญ่ของโครินเธียนส์ในยุคติเต้ ไม่หยุดแค่นั้น เมื่อพวกเขาได้ไปลุยศึก FIFA Club World Cup หรือรู้จักกันในชื่อ “แชมป์สโมสรโลก” แล้วล้มทั้ง อัล อาห์ลี ในรอบรองฯ และเชลซี ในรอบชิงชนะเลิศ ด้วยสกอร์ 1-0 ทั้งสองนัด เป็นทีมแรกจากบราซิลที่คว้าถ้วยนี้ได้มากกว่าหนึ่งครั้ง (ครั้งแรกในปี 2000) และยังเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2006 ที่แชมป์สโมสรโลก ไม่ได้มาจากทวีปยุโรป
ติเต้ได้ก้าวขึ้นมาคุมทีมชาติบราซิลต่อจากเพื่อนร่วมชาติ ดุงก้า หลังจบศึก Copa America ในปี 2016 เขาได้เริ่มดึงฟอร์มของทัพแซมบ้ากลับมาอีกครั้ง หลังจากช่วงที่ผลงานตกต่ำมาเป็นเวลาสองปี (ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายในปี 2015, ตกรอบแบ่งกลุ่ม ปี 2016) ประจวบเหมาะกับการที่เหล่านักเตะรุ่นใหม่ของบราซิล เริ่มเข้าสู่จุดพีคของอาชีพ เช่น ฟิลิเป้ คูตินโญ่, กาเบรียล เฆซุส, โรแบร์โต เฟอร์มิโน, มาร์ควินญอส, อลิซง เบคเกอร์ และเอแดร์ซอน
แม้จะตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกที่รัสเซีย แต่บราซิลก็แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน จนมาถึงศึก Copa America ปี 2019 ที่บราซิลได้เป็นเจ้าภาพเอง แม้จะต้องขาดสตาร์ตัวดังอย่าง เนย์มาร์ แต่ทัพแซมบ้าของติเต้ก็ยังแข็งแกร่ง ผ่านรอบแบ่งกลุ่มแบบไร้พ่าย (ชนะ 2 เสมอ 1) แถมไม่เสียประตูแม้แต่ลูกเดียว ล้มปารากวัยในการดวลจุดโทษรอบ 8 ทีมสุดท้าย อัดคู่แค้นอย่างอาร์เจนติน่าไป 2-0 ในรอบรองชนะเลิศ ปิดท้ายด้วยการเอาชนะเปรูไป 3-1 ในรอบชิงชนะเลิศ คว้าแชมป์ประจำทวีปอเมริกาใต้ เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี
ทัพแซมบ้าของติเต้ในทัวร์นาเมนต์นั้น เสียประตูเพียงแค่ลูกเดียวเท่านั้น คือในนัดชิงชนะเลิศกับเปรู พร้อมซัดไปมากที่สุดถึง 13 ประตู มีส่วนผสมที่ลงตัวจากผู้เล่นอายุเยอะ อย่าง ดานี่ อัลเวส, ติอาโก้ ซิลวา, ฟิลิเป้ ลุยซ์ และแฟร์นานดินโญ่ ผสมกับนักเตะชุดเดิมที่อยู่ในจุดพีคของอาชีพ เช่น คาร์เซมิโร, อลิซง เบคเกอร์, มาร์ควินญอส และกาเบรียล เฆซุส พร้อมด้วยกลุ่มแข้งอายุน้อยที่อาจจะไม่ใช่ท็อปสตาร์ระดับโลก แต่ก็มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง อย่าง เอแวร์ตัน โซอาเรส, ดาวิด เนเรส, อาร์ตู เมโล่ และ ลูคัส ปาเกร์ตา
ปัจจุบันนี้ ติเต้ก็ยังคงเป็นกุนซือของทีมชาติบราซิล ที่เพิ่งจะพาทัพแซมบ้าคว้ารองแชมป์ Copa America 2021 ที่เพิ่งจบไปในเดือนกรกฎาคม
ติเต้ยึดแผนการเล่นแบบ 4-2-3-1 ในสัยที่คุมโครินเธียนส์ ต่อมาในการคุมทีมชาติบราซิล เขาก็ถูกชะตากับแผน 4-3-3 เป็นพิเศษ โดยในชุดที่คว้าแชมป์ เขาจับกาเบรียล เฆซุส ไปออกสตาร์ทที่ตำแหน่งปีก โดยมีเฟอร์มิโน่เป็นกองหน้า ซึ่งก็กลายเป็นระบบที่ลงตัวไปซะอย่างนั้น ส่วนในชุดปัจจุบัน บราซิลของติเต้กลับมาเล่นในระบบ 4-2-3-1 โดยมีเนย์มาร์รับบทจอมทัพตัวหลัก
มองกลับมาที่กุนซือทีมชาติไทย อากิระ นิชิโนะ นั้นก็เคยคว้าแชมป์ระดับทวีปมาแล้วครั้งหนึ่ง คือการพา กัมบะ โอซาก้า เถลิงแชมป์ AFC Champions League เมื่อปี 2008 ด้วยการล้มแชมป์เก่า อุราวะ เรด ไดมอนส์ ในรอบรองชนะเลิศ และอัด อเดเลด ยูไนเต็ด จากออสเตรเลีย ในรอบชิงชนะเลิศไปด้วยสกอร์รวม 5-0 โดยในตอนนั้น นิชิโนะใช้แผนการเล่นคู่ใจอย่าง 4-2-3-1 มีจอมทัพดิกรีตัวหลักทีมชาติ ยาซุฮิโตะ เอนโดะ และกองหน้าชาวบราซิล ลูคัส เซแวร์ลิโน เป็นตัวชูโรง
กับทีมชาติญี่ปุ่น นิชิโนะยังไม่เคยคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์มาครองได้ ส่วนกับทีมชาติไทย เขามีสัญญาถึงสิ้นปี 2022 ซึ่งหากนิชิโนะสามารถพาทีมชาติไทยผ่านรอบคัดเลือกของรายการ AFC Asian Cup 2023 ที่จะเตะในปี 2022 ได้สำเร็จ ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจจะได้ต่อสัญญา เพื่อพาทีมชาติไทยชุดใหญ่ไปลุยศึกชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งจะเป็นการคุมทีมเข้าแข่งขันในรายการนี้เป็นครั้งแรกของนิชิโนะอีกด้วย
โฆษณา