25 ก.ค. 2021 เวลา 04:55 • สุขภาพ
ล้วงลึกปัญหา นอนไม่หลับืน่ากลัวแค่ไหน
ล้วงลึกปัญหา นอนไม่หลับ น่ากลัวแค่ไหน?
คนไทยกว่า 19 ล้านคนมีอาการ "นอนไม่หลับ" อะไร? เป็นสาเหตุให้คนเรานอนไม่หลับ แม้จะรู้สึกง่วงสุดๆ ก็ตาม และอาการเหล่านี้ส่งผลเสียต่อร่างกายยังไง? เนื่องใน "วันนอนหลับโลก" ชวนมารู้ลึกเรื่องนี้กันหน่อย
วันที่ 19 มีนาคม 2564 ถูกกำหนดให้เป็น "วันนอนหลับโลก" เพราะการนอนถือเป็นกิจกรรมสำคัญของชีวิตมนุษย์ ดังนั้นแล้ว “การนอนอย่างมีคุณภาพ” จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่เชื่อว่า 90% ของคนที่กำลังอ่านบทความนี้ ก็กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับอาการ “นอนไม่หลับ” ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปล้วงลึกปัญหาการนอนหลับ พร้อมปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับว่ามีอะไรบ้าง? มาดูกัน..
ปัญหาวายป่วง ทำไมเรา "นอนไม่หลับ"
1 ใน 3 กิจกรรมของชีวิตคือการนอน ถ้าการนอนไม่สำคัญพระเจ้าจะกำหนดให้เรานอนกันทำไม? รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า
“ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่เราไม่นอน แต่คือการนอนไม่หลับ”
จากข้อมูลในปี 2563 พบว่า ประชากรไทยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับประมาณ 19 ล้านคน ปัญหาการนอนไม่หลับนั้นเกิดขึ้นได้ในประชากรทุกช่วงอายุ คนส่วนมากจะมีอาการนอนไม่หลับ 1 หรือ 2 คืน แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือ ปี โรคนอนไม่หลับมักเป็นในผู้หญิงและผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้บัญญัติถึง “อาการนอนไม่หลับ” ว่าเกิดได้ใน 2 กรณีได้แก่
- Adjustment Insomnia โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว
เป็นปัญหาหลับได้ยาก หรือหลับไม่สนิท เป็นเวลาไม่กี่คืน และน้อยกว่า 3 เดือน โรคนอนไม่หลับชนิดนี้มักเกิดจากความตื่นเต้นหรือความเครียด
ยกตัวอย่างในเด็กอาจจะพลิกตัวในคืนก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเทอม โรคนอนไม่หลับอาจเกิดในคืนก่อนการสอบสำคัญ หรือ ก่อนการแข่งขันกีฬา ส่วนผู้ใหญ่ ก็อาจหลับได้ไม่ดีก่อนการพบปะทางธุรกิจที่สำคัญ หรือการทะเลาะกันของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท
คนส่วนมากมักมีปัญหานอนไม่หลับเมื่อต้องห่างจากบ้าน การเดินทางไปในที่เวลาต่างจากเดิม การออกกำลังกายก่อนเวลาเข้านอน (ภายใน 4 ชั่วโมง) หรือเวลาเจ็บป่วยก็เป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับชนิดนี้ เมื่อสถานการณ์ความตึงเครียดผ่อนคลาย หรือปรับการนอนหลับได้ การนอนหลับก็จะกลับมาเป็นปกติ
- Chronic insomnia โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
คือ การนอนไม่หลับนานมากกว่า 1 เดือน คนที่นอนไม่หลับส่วนมากมักจะกังวลกับการนอนหลับของตน แต่นั่นเป็นสิ่งผิดที่จะโทษปัญหาการนอนหลับทั้งหมดว่าเกี่ยวกับความกังวล การศึกษาของ American Academy of Sleep Medicine กล่าวไว้ว่า ผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือ การทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติในระหว่างนอนหลับ ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับจะสามารถช่วยหาสาเหตุและแนะนำการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้
'วันนอนหลับโลก' ชวนรู้ นอนน้อยกว่า 6 ชม.ต่อวัน เสี่ยงตายเร็ว!
เคล็ดลับไหว้ ‘วันขอเงินพระจันทร์’ หรือ ‘วันอมาวสี’ 13 มีนาคม 2564 โดย อาจารย์ 'คฑา ชินบัญชร'
อะไรคือสาเหตุของโรคนอนไม่หลับ?
โรคนอนไม่หลับอาจเป็นอาการของปัญหาอื่น เช่น การมีไข้ หรือ ปวดท้อง หรืออาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันทั้งด้านจิตใจ พฤติกรรมประจำวัน หรือแม้แต่โรคอื่นๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่
: ปัจจัยทางด้านจิตใจ
ความเครียดเรื้อรัง อย่างเช่น เด็กที่มีความเจ็บป่วยรุนแรง หรืองานที่ได้ผลกำไรน้อย ล้วนก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดจะช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับได้
: ชีวิตประจำวัน
สารกระตุ้น อย่างคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ คือสารกระตุ้นที่ทำให้เรานอนไม่หลับ รวมถึงยาลดน้ำหนัก ยาแก้แพ้ และยาแก้หอบหืด ยาลดน้ำมูกบางชนิดก็มีสารกระตุ้นผสมอยู่ด้วย
ชั่วโมงทำงาน ต้องยอมรับว่าการทำงานเป็น “กะ” คือ อุปสรรคของอาการนอนไม่หลับ แต่ถ้าเราไม่ทำงานนั้นเราจะไปหารายได้จากไหน ทางออกที่กรมการแพทย์แนะนำคือ พยายามรักษาตารางเวลาให้เหมือนเดิมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จะช่วยให้ระบบร่างกายนอนเป็นเวลาแน่นอนและยังคงตื่นได้ การตื่นในเวลาเดิมทุกๆ เช้าเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้รูปแบบการนอนสม่ำเสมอ การทำให้เป็นกิจวัตรเป็นสิ่งสำคัญ
การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เวลาที่ดีที่สุดในการออกกำลังกายคือช่วงบ่ายประมาณ 4 ชั่วโมงก่อนการเข้านอน ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลาเข้านอน ควรเว้นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจช้าลงและอุณหภูมิร่างกายลดลง
ยานอนหลับ ควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ ยานอนหลับบางชนิดจะหมดฤทธิ์ยาหลังจากไม่กี่สัปดาห์ถ้ารับประทานยาทุกคืน
โฆษณา