25 ก.ค. 2021 เวลา 09:12 • สุขภาพ
การตรวจหาโควิดด้วยตนเองที่บ้านด้วยชุดทดสอบ (ATK : Antigen Test Kit) จะพบคำว่า ความไว และ ความจำเพาะ สองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร อะไรดีกว่าอะไร
หลังจากที่สถานการณ์โควิดระบาดระลอกสาม ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ประชาชนที่มีความต้องการจะตรวจว่า ตนเองมีเชื้อไวรัสหรือไม่
1
เนื่องจากมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะสัมผัสเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงสูงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนเกินศักยภาพการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานแบบ RT-PCR
รัฐบาลจึงประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อหาชุดทดสอบโควิดด้วยตนเองที่บ้าน (ATK) จากสถานพยาบาล คลินิก หรือร้านขายยาแผนปัจจุบันมาตรวจด้วยตนเองได้
จึงเกิดความสนใจในรายละเอียดของชุดทดสอบหลายประการ อาทิเช่น
1) จะซื้อแบบเก็บตัวอย่างด้วยการแยงจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่ง หรือเก็บตัวอย่างด้วยการบ้วนน้ำลายมาตรวจหาไวรัสดี
2) เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ด้วยวิธีการแยงจมูก แบบแยงลึกกับแยงตื้น จะมีความแม่นยำแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
3) จะซื้อชุดทดสอบของบริษัทไหนดี
4) จะต้องตรวจดูอะไรบ้างที่ผลิตภัณฑ์ เช่น เลขทะเบียนอย. วันผลิต-วันหมดอายุ ประเทศที่ผลิต
5) ต้องดูคุณภาพของชุดทดสอบโดยดูความไว และความจำเพาะ ประกอบด้วย แล้วสองตัวนี้ต่างกันอย่างไร
1
วันนี้จะมาทำความเข้าใจกับสองคำสำคัญคือ ความไว (Sensitivity) กับความจำเพาะ (Specificity) ว่า คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร และอันไหนมีความสำคัญมากน้อยกว่ากัน ในประเด็นใดบ้าง
( หมายเหตุ : จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแปลงค่าสถิติต่างๆ รวมทั้งคำพูดที่ยุ่งยากสำหรับคนทั่วไป คนไม่เก่งเลข หรือคนเกลียดสถิติให้เข้าใจง่าย ผู้ชำนาญเรื่องสถิติทั้งหลาย จึงอย่าเพิ่งเบื่อ หรือรู้สึกว่าไม่ 100 % นะครับ )
ความไวภาษาอังกฤษเรียกว่า Sensitivity หรือ True positive rate คือ สัดส่วนเป็นร้อยละของผู้ติดเชื้อจริง เมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบแล้วให้ผลเป็นบวก ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เช่น
ความไว 90% แปลว่า ผู้ติดเชื้อจริง 100 คน ตรวจด้วยชุดทดสอบนี้ได้ผลบวกมากถึง 90 คน ได้ผลลบเพียง 10 คน
ความจำเพาะเรียกว่า Specificity หรือ True negative rate คือ สัดส่วนเป็นร้อยละของผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ เมื่อมาทดสอบด้วยชุดทดสอบแล้ว ให้ผลเป็นลบ เช่น
ความจำเพาะ 90% แปลว่า ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ 100 คน เมื่อตรวจด้วยชุดทดสอบแล้ว จะได้ผลเป็นลบมากถึง 90 คน และได้ผลเป็นบวกเพียง 10 คน
ความไวสูง คือ ตรวจพบเป็นบวกได้มาก แต่อาจมีความจำเพาะต่ำ คือได้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงเข้ามาร่วมด้วย
และกลับกัน ชุดทดสอบที่มีความจำเพาะสูง แต่อาจจะมีความไวต่ำ คือมีคนที่ติดเชื้อจริงบางคนตรวจหาไม่พบ
ในทางอุดมคติ เราย่อมอยากจะได้ชุดทดสอบที่มีทั้งความไวและความจำเพาะสูง ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงจะไม่เป็นอย่างนั้น
จึงต้องได้ความไวที่สูงพอสมควร และความจำเพาะพอสมควร
1
ในการจัดหาซื้อชุดทดสอบ ควรได้ค่าทั้งสองเกินกว่า 90%
ในชุดทดสอบที่มีความไวสูง จะไม่พลาดผู้ที่ติดเชื้อจริงแต่มีปริมาณไวรัสน้อย หรือมีอาการน้อย แต่จะมีข้อด้อยคือ มีโอกาสที่จะพบผลบวกลวง จึงเกิดความกังวลและไปเป็นภาระในการต้องตรวจยืนยันด้วย RT-PCR
ส่วนชุดทดสอบที่มีความจำเพาะสูง ก็จะมีภาระต่อการต้องไปตรวจ RT-PCR น้อยลง แต่อาจตรวจผู้ติดเชื้อที่มีปริมาณไวรัสน้อยหรือมีอาการน้อยไม่พบ ทำให้เกิดการแพร่ของโรคต่อไปได้
ผู้ที่จะเลือกซื้อหาชุดทดสอบดังกล่าว จึงควรมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องความไว และความจำเพาะดังกล่าวแล้ว
1
โฆษณา