Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Roundfinger
•
ติดตาม
25 ก.ค. 2021 เวลา 10:01 • หนังสือ
การจัดบ้านไม่มีที่สิ้นสุด
1
ผมมักเซ็งเล็กๆ เมื่อจัดบ้านสะอาดสะอ้านเรียบร้อยแล้วผ่านไปสองสัปดาห์ทุกสิ่งดูเหมือนมีขาเดินป้วนเปี้ยนไปอยู่ในจุดระเกะระกะอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนตอนวัยรุ่นผมมักเปิดนิตยสารแต่งบ้านแล้วนึกอิจฉาเจ้าของบ้านเหล่านั้น มิใช่เพราะความสวย แต่อิจฉาความเรียบร้อยในภาพถ่ายเหล่านั้นต่างหาก
จะว่าไปก็ไม่ใช่แค่บ้าน แต่จอคอมพิวเตอร์ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ปล่อยไว้ไม่นานก็ระเกะระกะรุงรังไปหมด
อดคิดไม่ได้ว่าช่างเหมือนกันกับใจเรา
สะอาดเพียงชั่วคราว เดี๋ยวก็ขุ่นมัว
2
ในภาษาญี่ปุ่นมีวลีน่ารักว่า ‘อิโงะโกชิ งะ โยอิ’ แปลตรงตัวว่า ‘อยู่-ดี-ที่-ใจ’ ใช้อธิบายความรู้สึกสบายๆ เหมือนได้อยู่บ้าน
ผมเคยชวนสถาปนิกรุ่นพี่ท่านหนึ่งคุยถึงนิยามคำว่าบ้าน เขาตอบว่าสำหรับเขา บ้านคือสถานที่ที่เราทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจคนอื่น เป็นตัวเองได้เต็มร้อย
แน่นอน ยิ่งใครอยู่บ้านคนเดียวยิ่งรู้สึกแบบนั้น หากมีคนอยู่ด้วยก็อาจลดทอนความเป็นตัวเองลงเล็กน้อยเมื่ออยู่ใกล้กัน แต่อย่างน้อยที่สุด ห้องส่วนตัวก็คงเป็นสถานที่สบายๆ สำหรับทุกคน
บ้านคือที่ที่เราหลบไปชาร์จพลัง ลี้ภัยจากโลกที่บางวันไม่น่าอยู่นัก
คำญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า ‘อยู่-ดี-ที่-ใจ’ นั้นลึกซึ้ง
1
สถานที่ ‘อยู่ดี’ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่แล้วสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ในทางกลับกัน, ถ้าจิตใจไม่เป็นสุขอยู่ที่ไหนก็ไม่สงบ
ตอนได้อ่านคำว่า ‘อิโงะโกชิ งะ โยอิ’ ผมคิดถึงคำไทยที่มีความหมายตรงข้ามกันคือ ‘อยู่ไม่สุข’ ซึ่งเห็นภาพคนที่ยุกยิก ลุกขึ้นทำนู่นนี่ นั่งเฉยๆ ไม่ได้ ผมสนใจอาการ ‘อยู่ไม่สุข’ และพบว่ามันช่างมีความหมายตรงตัวกับสามพยางค์ที่นำมาเรียงกันเสียเหลือเกิน
ที่ต้องทำนู่นทำนี่เพราะเราไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่มีอยู่ ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์ อะไรไม่ถูกใจก็ต้องลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงแก้ไข ยิ่งถ้าเป็นเรื่องสังคมยิ่งไม่ควรนิ่งเฉย แต่เมื่อย่อสเกลลงมาเป็นบ้านหรือห้องเล็กๆ ของเรา สิ่งน่าทบทวนคืออะไรทำให้เราอยู่นิ่งๆ ไม่ได้
3
ความไม่พอใจ—คือคำตอบ
แล้วอะไรนำมาซึ่งความไม่พอใจ?
เพราะมี ‘บ้านในฝัน’ ที่เราอยากให้เป็นอยู่ในใจเราเสมอ
ไม่จำเป็นต้องหมายถึงบ้านสวยมีสไตล์ แต่บางทีก็หมายถึงห้องเรียบร้อยอย่างใจคิดนี่แหละ ผมพบว่า ‘ภาพฝัน’ ที่จำมาจากสื่อต่างๆ นี่เองทำให้รู้สึกไม่ชอบบ้านตัวเอง จึงพานคิดไปถึงอย่างอื่นว่าคงมีอีกมากมายที่ทำให้อยู่ไม่สุข รูปร่าง หน้าตา เสื้อผ้า ความรู้ การงาน ความสำเร็จ ความรัก ฯลฯ
เมื่อไม่พอใจก็ต้องทำอะไรสักอย่าง
‘สิ่งที่มีอยู่’ ไม่เคยเป็นสิ่งที่พอใจ
สิ่งที่พอใจมักอยู่ ‘ที่นู่น’ ซึ่งต้องเดินไปหาเพื่อให้ได้มาครอบครอง
3
มีความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่น่าสนใจ ช่วงหลังมานี้ผมให้ความสำคัญกับการ ‘จัดห้อง’ มากกว่า ‘แต่งห้อง’ คือจัดข้าวของให้เป็นที่เป็นทาง หยิบภาพในกรอบที่เคยซุกไว้ตามซอกมุมออกมาแขวนหรือตั้งในที่มองเห็น หยิบแจกันมาเสียบใบไม้เขียวๆ เรียงถ้วยชามตามตำแหน่งที่ได้เชยชม ทั้งหมดนี้ไม่พึ่งพาความพยายามการหาของใหม่เท่ากับเวลาในการจัดตำแหน่งของเดิมๆ ที่มีอยู่
‘ใส่ใจในสิ่งที่มี’ แล้วนำมาจัดเรียงให้สวยงาม
1
เมื่อใส่ใจจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่
จึงเหมือนเล่นเกมจัดองค์ประกอบตามจิ๊กซอว์ที่มีอยู่ให้เกิดเป็นภาพใหม่โดยไม่ต้องใช้ข้าวของเพิ่มเติม จัดได้สักพักก็ได้อยู่ในบรรยากาศที่น่าอยู่ เป็นความน่าอยู่ที่ต่างไปจากเดิม เพราะมันน่าอยู่ในแบบที่ประกอบขึ้นจากข้าวของของเรา ความจริงของเรา ไม่ใช่ความฝันของคนอื่น
ยิ่งจัดบ้านบ่อยขึ้นผมก็ยิ่งพบว่ามันคล้ายกันกับชีวิต เงื่อนไขและองค์ประกอบในชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน เราอาจประทับใจเมื่อได้เห็นชีวิตคนอื่น อยากเป็นแบบเขาเหมือนที่อยากมีบ้านอย่างในนิตยสาร แต่เราอาจไม่มีทางจัดสรรชีวิตตัวเองให้เป็นแบบนั้นได้เลย ในขณะเดียวกัน ชีวิตที่จัดขึ้นจากองค์ประกอบที่เรามีก็อาจสวยไม่ซ้ำใครและไม่ต้องเลียนแบบใครเลยก็เป็นได้
มันคือการ ‘จัดองค์ประกอบ’ ของตัวเองให้ลงตัวกว่าเดิมจากสิ่งที่มี
1
ให้เกิดเป็นบ้านที่น่าอยู่ เป็นชีวิตที่อยู่สุข
3
4
แต่อย่างที่บอกแหละครับ จัดไปได้สักพักบ้านก็จะกลับมารกอีกครั้ง แต่ก่อนผมเคยคิดว่าเราจัดบ้านแต่งบ้านเพื่อให้ได้ ‘บ้านในฝัน’ ค่อยๆ ใส่ ค่อยเติมสิ่งต่างๆ ลงไปจนกว่า ‘บ้านสมบูรณ์แบบ’ จะปรากฏตรงหน้า แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น
‘บ้านสมบูรณ์แบบ’ ไม่มีจริง
3
ไม่มากไปก็น้อยไปเสมอ
บ้านเป็นระเบียบมากไปก็ไม่น่าอยู่ มันเย็นชืด น่าเบื่อ รกนิดๆ เป็นมิตรกว่า แต่รกไปก็ชวนให้หงุดหงิด
1
แล้วผมก็พบสัจธรรมส่วนตัวว่า--ไม่ว่าบ้านหรือชีวิต เราไม่มีวันจัดมันเสร็จสิ้นหรอก มันคือการจัดและปรับไปเรื่อยๆ เปลี่ยนองค์ประกอบ โยกข้าวของและองค์ประกอบต่างๆ ไปตามอารมณ์และความชอบในช่วงเวลานั้น เวลาเปลี่ยนความชอบก็เปลี่ยน เราต่างต้องจัดบ้านจัดชีวิตกันไปเรื่อยๆ
การจัดบ้านคือส่วนหนึ่งของการมีบ้าน
การจัดการชีวิตก็คือส่วนหนึ่งของการมีลมหายใจ
ในวัยสี่สิบ ตัวผมเองแตกต่างไปจากตอนวัยรุ่นตรงที่ผมพยายามหยิบสิ่งที่มีมาจัดเรียงใหม่ ‘อยู่ไม่สุข’ น้อยลงเมื่อยอมรับบ้านที่รกบ้างก็ได้ ไม่เนี้ยบบ้างก็ได้ ไม่มีสิ่งที่อยากได้บ้างก็ได้ เพราะที่มีอยู่ก็ถือว่าโอเคแล้ว
บ้านที่อยู่สุขคือบ้านที่เรายอมรับได้กับความไม่สมบูรณ์แบบของมันและเต็มใจจัดมันไปเรื่อยๆ รักมันมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่บ้านในฝันหรอก แต่เป็นบ้านจริงๆ ที่เราได้อยู่ในนั้น
‘อิโงะโกชิ งะ โยอิ’
‘อยู่-ดี-ที่-ใจ’ หมายความอย่างนี้นี่เอง
11 บันทึก
34
4
17
11
34
4
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย