25 ก.ค. 2021 เวลา 14:13 • นิยาย เรื่องสั้น
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
อุดมการณ์หรือลัทธิการเมืองบางลัทธิมีประเด็นในการต่อสู้เรียกร้องให้ผู้คนมีเสรีภาพและความเสมอภาค และเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นเรื่องดี แต่ถ้าสุดโต่งเกินไป นอกจากจะเป็นจริงไม่ได้แล้ว ยังจะนำไปสู่การเกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองจนอาจถึงขั้นไร้ระเบียบและจลาจลได้จากการเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
แต่กระนั้น คำถามที่ยากที่จะได้คำตอบที่แน่นอนและเป็นที่พอใจก็คือ อะไรคือความสุดโต่งและแค่ไหนคือความพอดี ? เพราะจะมีปัญหาว่า สุดโต่งของใคร และพอดีสำหรับใคร ?
อย่างไรก็ตาม งานเขียนแนว “สังคมอุดมคติ” หลายชิ้นพยายามนำเสนอภาพของเมืองที่ผู้คนมีเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคำว่าสมบูรณ์นี้ก็น่าจะหมายถึงภาวะที่สุดโต่ง และคำว่าสุดโต่งนี้ก็น่าจะหมายถึงภาวะที่ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริงด้วย
น่าคิดว่า ถ้ามนุษย์อยู่ลำพังตัวคนเดียวจะต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคแค่ไหน ?
คำว่าอยู่ลำพังนี้หมายถึงอยู่ลำพังในสภาวะที่มนุษย์ยังไม่ได้มาอยู่รวมกันเป็นสังคม นั่นคือ อยู่ตัวคนเดียว ไม่ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น หรือไม่รับรู้ว่ามีมนุษย์คนอื่นอยู่ร่วมโลกด้วย เมื่ออยู่ตัวคนเดียวเช่นนั้น ก็ไม่น่าจะคิดเรียกร้องความเท่าเทียมอะไร เพราะการเรียกร้องความเท่าเทียมเกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปรียบเทียบกับมนุษย์ด้วยกัน
เป็นไปได้ว่า คนอาจจะเปรียบเทียบตัวเองกับสัตว์ เช่น เปรียบเทียบตัวเองกับนกที่บินบนฟ้า และอยากบินได้เหมือนนก แต่น่าสังเกตว่า แม้นจะอยากบินได้เหมือนนก แม้นอาจจะอิจฉา แต่ก็ไม่ได้รังเกียจ คิดจะฆ่านก หรือคิดจะทำให้นกบินไม่ได้ เพื่อจะได้เท่าเทียมกับตัวมนุษย์ แต่มนุษย์จะขวนขวายหาทางคิดค้นประดิษฐ์อะไรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้ตัวเองบินได้เหมือนนก เหมือนอย่างที่คราวที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงจินตนาการและการออกแบบเครื่องบินของลีโอนาโด ดาวินชี
แต่เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม และเกิดการเปรียบเทียบกัน มนุษย์จำนวนหนึ่งก็ยอมรับความแตกต่างในความสามารถ บางพวกก็พยายามขวนขวายที่จะพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมคนที่อื่น แต่บางพวกก็กลับโกรธเกลียดและคิดกำจัดคนที่มีอะไรที่ตัวเองไม่มี
ในโลกของสัตว์ กฎในการอยู่ร่วมกันคือ สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก สัตว์ที่แข็งแรงกว่าอยู่เหนือสัตว์ที่อ่อนแอกว่า หรือสามารถเอาเปรียบสัตว์ที่อ่อนแอกว่าได้ บางครั้งมนุษย์ก็เรียกกฎที่ว่านี้ว่า กฎธรรมชาติ บางทีก็เรียกว่าความยุติธรรมตามธรรมชาติ และมนุษย์จำนวนหนึ่งก็เห็นว่า มนุษย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหรือความยุติธรรมตามธรรมชาตินี้ เพราะมนุษย์เองก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ไฉนจะไม่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ
แต่กระนั้น การจะยอมอยู่ภายใต้ผู้ที่แข็งแรงกว่านั้น มนุษย์จำนวนหนึ่งก็ต้องประลองกันเสียก่อน แต่ก็มีมนุษย์อีกพวกหนึ่งที่ไม่ประลอง แต่ยอมรับผู้ที่แข็งแรงกว่าไปเลย ไม่ต่างจากกวางที่ไม่คิดจะประลองกับเสือ มีแต่หนีอย่างเดียว ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็พิเศษกว่าสัตว์อื่นๆ ตรงที่มีสติปัญญาคิดได้มากกว่าสัตว์ ดังนั้น ความแข็งแรงหรือกำลังที่เหนือกว่าทางกายภาพจึงไม่ใช่ตัวตัดสิน แต่จะมีเรื่องความฉลาด ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกลเข้ามาด้วย คนที่ตัวเล็กอ่อนแอทางกายอาจใช้สติปัญญาเอาชนะคนตัวโตที่แข็งแรงกว่าแต่ร่างกายได้ แต่กระนั้น มันก็ไม่ได้ไปทำลายความจริงของกฎธรรมชาติหรือความยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่า คนที่แข็งแรงกว่าย่อมอยู่เหนือคนที่อ่อนแอกว่า เพียงแต่ความแข็งแรงกว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กำลังทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงสติปัญญาด้วย
ขณะเดียวกัน ถ้าความแข็งแรงกว่าทางปัญญานั้นแยกออกจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณธรรมความดีก็ดูจะเป็นเรื่องแปลก เพราะมันจะกลายเป็นว่า คนมีปัญญาไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี และคนดีไม่ใช่คนฉลาด ! ประเด็นนี้ ถ้าจะคุยกันจริงๆ ก็คงจะยาว
เอาเป็นว่า คนมีปัญญาเขาพยายามจะจินตนาการถึงสังคมที่ทุกคนมีเสรีภาพเต็มที่อย่างเสมอกัน เพื่อดูว่า มันเป็นไปได้แค่ไหนที่เราจะสามารถมีเสรีภาพและความเสมอภาคอันสมบูรณ์ที่ไม่ต้องเปรียบเทียบและอิจฉาริษยากัน
และหนึ่งในนั้นก็คือ “อุตตรกุรุทวีป”
เรื่อง “อุตตรกุรุทวีป” นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงมีพระราชดำริคิดขึ้นเอง แต่เป็นตำนานที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล และพระองค์ทรงนำมาไว้ในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ เพื่อให้คนได้อ่านได้คิด
คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึง “สตรี” ในอุตตรกุรุที่มีความเสมอภาคกันในความงามและ “เป็นที่พึงใจของชายทุกคน” นั่นคือ ผู้หญิงในอุตตรกุรุจะไม่อิจฉาประชันขันแข่งกัน และผู้ชายก็ไม่ต้องแย่งผู้หญิงกัน ฟังดูน่าจะดี แต่อย่างที่กล่าวไปคราวที่แล้วว่า พวกที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีจะไม่ยินดีด้วย เพราะการกล่าวว่าผู้หญิงทุกคนเป็นที่พึงพอใจของผู้ชายนั้น มันทำให้ผู้หญิงเป็นแค่ “วัตถุทางเพศ” หรือ “เป็นสิ่งของที่พึงปรารถนา”ของผู้ชาย และยิ่งคนเขียน “อุตตรกุรุ” เขียนเรื่องผู้หญิงต่อจากเรื่องข้าวของเครื่องใช้ในอุตตรกุรุด้วยแล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่า คนเขียนมีทัศนคติอย่างไรต่อผู้หญิง
แต่ทำอย่างไรได้ ! แนวคิดเรื่องสิทธิสตรีในสมัยนั้นยังไม่เกิด หรือเกิดแต่คนยังไม่สนใจให้ความสำคัญเหมือนสมัยนี้ แนวคิดบางอย่างมันก็ต้องรอเวลาสถานการณ์ด้วยครับ ถึงจะแจ้งเกิดได้
แต่ถ้าเราจะเสริมเติมเรื่อง “ชาย-หญิง” ในอุตตรกุรุให้ทันสมัย ก็อาจจะบอกว่า หญิงและชายทุกคนมีความงามทั้งกายและใจเหมือนกันหมด ทุกคนแต่ละคนมีความรักให้ทุกคนแต่ละคนเท่ากันหมด อย่างนี้ก็น่าจะฟังดูขึ้น แต่ก็ยิ่งอุดมคติเข้าไปใหญ่ !
มีผู้อ่านส่งความเห็นเข้ามาหลังจากได้รับรู้เรื่องราวบางอย่างในอุตตรกุรุ เช่น ชาวอุตตรกุรุทวีปมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้องหว่านไถ แต่มันจะงอกขึ้นมาเอง และก็ไม่ต้องหาฟืนมาจุดไฟ เพราะมีหินวิเศษที่เกิดเป็นไฟได้โดยอัตโนมัติ และไม่ต้องกลัวข้าวดิบหรือไหม้ เพราะเมื่อข้าวสุก ไฟจะมอดดับไปเอง (ก็น่าจะเป็นหม้อหุงข้าวอัตโนมัติในปัจจุบันนั่นเอง) แถมกับข้าวก็ไม่ต้องทำ อยากกินอะไร ก็ให้คิดเอา เดี๋ยวมันก็มาเอง
ผู้อ่านท่านหนึ่งก็สงสัยว่า เมื่อกับข้าว ให้นึกเอามันก็มา ไฉนจะต้องหุงข้าว นึกเอาไม่ได้หรือ ?
ผู้อ่านอีกท่านหนึ่งมีความเห็นว่า ถ้ามนุษย์ในอุตตรกุรุมีใบหน้าทรงสี่เหลี่ยมเหมือนกันหมด เพราะจะได้ไม่เหลื่อมล้ำแตกต่างกัน แต่ถ้าคนเราหน้า “สี่เหลี่ยมนี่จะบอกว่าสวย (รวมทั้งหล่อด้วย) ก็คงยาก เห็นสาวๆ สมัยนี้ที่หน้าสี่เหลี่ยมก็ไปเหลาคางกันทุกคน”
ถ้าจะตอบแทนคนแต่ง ก็น่าจะเป็นเพราะภายใต้หน้าสี่เหลี่ยมนี้ ทุกคนสวยและหล่อแบบเหลี่ยมๆ เหมือนกันหมด ซึ่งก็น่าสงสัยว่า สักวันหนึ่ง ผู้คนจะพากันเบื่อหน้าสี่เหลี่ยมของตัวเองและของคนอื่นหรือเปล่า ?
ผู้อ่านท่านเดียวกันนี้ ยังมีคอมเมนต์ในเรื่องที่มนุษย์ไม่ต้องทำมาหากินอะไร เพราะมีข้าวงอกเอง ไฟติดและดับเอง กับข้าวได้มาตามนึก “ถ้าอุตตรกุรุมีจริง สังคมนั้นจะเป็นสังคมขี้เกียจ (ตัวเป็นขน) เลยหละ”
ก็จริงครับ และน่าติดตามต่อไปว่า แล้วเขาเอาเวลาไปทำอะไร ถ้าไม่ต้องทำมาหากิน ?
สภาพที่มนุษย์ไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรในเมืองอุดมคตินี่มีให้เห็นในตำนานกรีกโบราณด้วย และมนุษย์ที่ไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่มีสติปัญญาอะไรไปด้วย เพราะไม่ต้องขบคิดขวนขวายแก้ปัญหาอะไร พูดง่ายๆ ก็คือ ไร้สมอง นั่นเองครับ เพราะตำนานกรีกนั้น เขาว่าในช่วงที่มนุษย์ไม่ต้องทำอะไรเอง จะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความรักหรือความปรารถนาในปัญญาความรู้” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า philosophy นั่นเอง
ผู้อ่านท่านเดิมยังเชื่อมโยงสภาวะของมนุษย์ในอุตตรทวีปที่ไม่ต้องขวนขวายทำอะไรกับคนกลุ่มต่างๆในสังคมปัจจุบันด้วย โดยกล่าวว่า “สังเกตดูจากเพื่อนๆ ที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย มีคนดูแลเรื่องอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ เสื้อผ้า เป็นอย่างดี หรือ ครอบครัวยากจน ที่ไม่มีใครใส่ใจ จะต้องไปหากินกันเอง ตัวใครตัวมัน จะสร้างคนขึ้นมาเป็นคนค่อนข้างขี้เกียจ ไม่ทำอะไร” เหมือนคนในอุตตรกุรุที่ “มีคนรองมือรองเท้าให้หมด”
และในบางครอบครัว “…..เลือกเกิดไม่ได้ แต่โชคไม่ดี ที่ไม่ได้มีตัวอย่างที่ดี ที่จะพร่ำสอน และฝึกหัด แต่กรณีนี้ ถ้าเจ้าตัวรักดี ถึงมาอาศัยวัด รับประทานข้าวก้นบาตรพระ ก็ได้ดีกันไปหลายคน อย่างที่เห็นกันอยู่” และ “พวกที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง ที่มีพ่อแม่คอยพร่ำสอน เป็นคนที่โชคดีที่สุด (ไม่ใช่เกิดใน อุตตรกุรุ) ถึงแม้ไม่มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ก็จะสามารถเลี้ยงตนเองได้เพราะไม่ขี้เกียจ มีความสุขได้ด้วยตัวเอง”
“อุตตรกุรุ” สามารถเป็น pharmakon เป็นยาดียารักษายาถอนพิษ ก็ตรงที่เวลาคนอ่านๆ แล้ว ได้ข้อคิดเชื่อมโยงกับเรื่องราวของผู้คนรอบๆ ตัวในสังคมปัจจุบันหรือสังคมที่เป็นจริง หากบางคนอยากได้สังคมแบบ “อุตตรกุรุ” ก็ควรต้องขบคิดบนเหตุบนผลและความเป็นไปได้ว่า ทำอย่างไรถึงจะไปถึงสังคมแบบนั้นได้
ขอบคุณ : mgronline
โฆษณา