6 ส.ค. 2021 เวลา 14:28 • การเมือง
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น ตอนที่ 3 : ความขัดแย้งจากศาลเจ้ายาสุคุนิ
ศาลเจ้ายาสุคุนิ เป็นศาลเจ้าที่เราจะได้ยินชื่อและเห็นจากข่าวค่อนข้างบ่อย เมื่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึงจักรพรรดิของญี่ปุ่น เดินทางไปสักการะ ฝ่ายเกาหลีและจีน ประเทศที่เคยโดนญี่ปุ่นรุกราน มักจะออกมาประท้วงและประณามญี่ปุ่น
2
ดังนั้นที่มาของศาลเจ้ายาสุคุนิ และ ความขัดแย้งที่มาจากศาลเจ้านี้เกิดจากอะไร ส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง
วันนี้เรามีคำตอบ
- ศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukino Shrine / 靖国神社) -
1
เป็นศาลเจ้าชินโตที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1869 ในยุคเมจิ เดิมมีชื่อว่า โตเกียว โชคนฉะ (Tokyo Shokonsha) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นยาสุคุนิ หมายถึง สันติรัฐ ซึ่งไม่ได้หมายถึงประเทศที่สงบสันติปราศจากสงครามแต่อย่างใด แต่หมายถึง ความสงบสันติของดวงวิญญาณจากผู้ที่เสียชีวิตจากสงคราม
จุดเด่นของศาลเจ้ายาสุคุนิ คือ เสาโทริอิที่ทำจากเหล็กและทองแดงขนาดใหญ่ ซึ่งที่อื่นจะทำจากไม้และทาสีแดง เป็นนัยยะว่าญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคใหม่และอุตสาหกรรมได้พัฒนาแล้ว
Credit : https://www.japan-guide.com/e/e2321.html
ตามความเชื่อของชินโต เมื่อชีวิตมนุษย์ดับลง วิญญาณจะแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปวิญญาณคนตาย โดยวิญญาณนั้นจะยิ่งใหญ่มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของจิตก่อนเสียชีวิต ถ้าเป็นผู้ที่เคยทำวีรกรรมยิ่งใหญ่มาก่อน ก็จะเป็นวิญญาณเทพที่มีอำนาจได้
แต่หากวิญญาณนั้นขณะมีชีวิตอยู่เคยทำชั่วมาก่อน ดวงจิตหลังจากที่ตายแล้ว จะทำให้วิญญาณนั้นเป็นวิญญาณที่สร้างความเดือดร้อนได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องสร้างศาลเจ้าชินโตเพื่อทำพิธีบูชาสักการะ เพื่อรักษาควบคุมไม่ให้วิญญาณสร้างความเดือดร้อนให้กับคนเป็น และเชื่อว่าถ้าสถิตวิญญาณร้ายไว้ได้ วิญญาณจะสามารถกลับมาอำนวยพรให้กับผู้ที่มาบูชาได้
ศาลเจ้าชินโตจะมีการตั้งป้ายบูชาวิญญาณ หรือ ตั้งเป็นสุสานด้วย เพื่อเป็นการรักษาดวงจิตของวิญญาณไม่ให้เป็นวิญญาณเร่ร่อน
สำหรับศาลเจ้ายาสุคุนินี้ ได้ตั้งป้ายสถิตดวงวิญญาณทหารญี่ปุ่นไว้ราว 2.5 ล้านคน ซึ่งมาจากสงครามกลางเมืองโบชิน (Boshin War) ช่วงที่ญี่ปุ่นปฏิรูปเมจิ , สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (First Sino-Japanses War), สงครามรัสเซีย- ญี่ปุ่น (Russo - Japanese War) , สงครามโลกครั้งที่ 2 และ สงครามแปซิปิก
โดย โอมุระ มาซาจิโร่ รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นผู้เสนอให้สร้างศาลเจ้าเพื่อสถิตดวงวิญญาณของทหารสงคราม
3
ศาลเจ้าแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางของความเชื่อชินโตช่วงศตวรรษที่ 19 ที่กล่อมเกลาให้ทหารญี่ปุ่น (รวมถึงคนญี่ปุ่นบางส่วน) พร้อมอุทิศตนเพื่อชาติและสงคราม
ในอดีตที่ผ่านมาศาลเจ้ายาสุคุนิมักมีผู้นำประเทศต่างๆเยี่ยมเยียนและสักการะบูชามาโดยตลอด
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสศาลเจ้ายาสุคุนิในปี 1931 (Credit : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/e2/King_Rama_VII_and_his_suite_visit_to_the_Yasukuni_Shrine.jpg/440px-King_Rama_VII_and_his_suite_visit_to_the_Yasukuni_Shrine.jpg)
- ทำไมการไปศาลเจ้ายาสุคุนิ ถึงสร้างความไม่พอใจ -
ลำพังการไปสักการะบูชาศาลเจ้าชินโต การให้ความเคารพดวงวิญญาณตามความเชื่อของศาสนา ดูไม่น่าจะทำให้เกิดประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศได้ ซึ่งในหลายๆประเทศผู้นำก็มีการเคารพสักการะทหารที่เสียชีวิตในสงครามเป็นปกติ
แต่ที่ศาลเจ้ายาสุคุนินั้นอาจต่างไป
ข้อแรก ศาลเจ้ายาสุคุนิมีอาชญากรสงครามโลกระดับเอคลาส ถึง 14 คน ซึ่งพวกเขาได้รับการยกย่องให้เป็น วิญญาณแห่งวีรชน ในขณะที่ประเทศอย่างจีนและเกาหลีใต้ มองว่าพวกเขาเป็นอาชญากรที่ทำร้ายประชาชนของประเทศตน ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 หญิงบำเรอชาวเกาหลีและจีน ที่ถูกบังคับไปสนองเรื่องทางเพศให้กับทหารญี่ปุ่น การสังหารหมู่ที่นานกิง ซึ่งเหล่านี้ยังเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศยังคงเจ็บปวด
นอกจากนี้ ที่สำคัญคือท่าทีของนักการเมืองญี่ปุ่นที่เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิเป็นประจำ โดยเฉพาะนักการเมืองที่สังกัดพรรคแอลดีพี (LDP / Liberal Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลแทบจะโดยตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยสิ่งที่ทำให้จีนและเกาหลีใต้ไม่พอใจ คือ ญี่ปุ่นสักการะยกย่องอาชญากรเป็นวีรชน และท่าทีที่เหมือนปฏิเสธประวัติศาสตร์ความโหดร้าย ไม่ยอมรับความผิดที่กองทัพญี่ปุ่นได้เคยทำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
1
การมีอยู่ของศาลเจ้ายาสุคุนิ ไม่ได้เป็นประเด็นมากเท่าที่ว่ารัฐบาลและนักการเมืองญี่ปุ่นฝ่ายขวาจัด พยายามปฏิเสธประวัติศาสตร์สากล พยายามลดทอนหรือไม่พูดถึงความโหดร้ายที่ญี่ปุ่นเคยทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ดูได้จากการเล่าประวัติศาสตร์ของตนเองที่พิพิธภัณฑ์สงครามยูซุคัง ซึ่งอยู่ภายในศาลเจ้า
ตัวอย่างเช่น การบอกเหตุผลว่าที่ญี่ปุ่นต้องเข้าไปรุกรานจีนและเกาหลี เป็นการช่วยทั้งสองประเทศให้หลุดพ้นจากการล่าอาณานิคมจากตะวันตก โดยที่ไม่มีส่วนไหนเลยพูดถึงที่ญี่ปุ่นทำการสังหารคนจำนวนมากที่นานกิง และ ไม่มีเรื่องหญิงบำเรอชาวเกาหลีและจีน ที่ถูกบังคับไปบำเรอกามให้ทหารญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย
พิพิธภัณฑ์สงครามยูซุคัง (Credit : https://donnykimball.com/yasukuni-shrine-2910c2ef7ded)
ภายในพิพิธภัณฑ์มีการรวบรวมรูปทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากสงคราม (Credit : https://www.thomasschirrmacher.net/blog/the-japanese-yasukuni-cult-soldiers-as-martyrs/)
ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรี และ นักการเมืองญี่ปุ่น เดินทางไปเยือน สักการะบูชาวิญญาณแห่งวีรชน ซึ่งในสายตาของจีนและเกาหลี คนเหล่านี้คืออาชญากร เป็นการแสดงออกว่าพวกเขาเหล่านี้ปฏิเสธที่จะขอโทษอย่างใจจริงในสิ่งที่ตัวเองเคยก่อไว้ในอดีต
รวมถึงศาลเจ้ายาสุคุนิยังเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิทหารนิยม (Japanese Militarism) ซึ่งเป็นอุดมการณ์ในยุคจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ทหารครอบงำการเมืองและสังคมญี่ปุ่น ซึ่งอาจมองได้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายขวากำลังสนับสนุนให้รื้อฟื้นลัทธิทหารนิยมในญี่ปุ่นกลับขึ้นมา
ลัทธิทหารนิยมของจักรวรรดิญี่ปุ่น ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับลัทธินาซีของเยอรมนี ดังนั้นหลายประเทศจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกกระทำเช่นนี้
กองทัพเรือของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (Credit : https://www.militaryimages.net/media/hmc-lcl-299-juno-beach.85808/)
อดีตทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งนามว่า คุนิโยชิ ทากิโมโตะ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม ได้วิจารณ์และให้มุมมองต่อศาลเจ้ายาสุคุนิ ว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการแสดงความเป็นจักรวรรดิญี่ปุ่น และ บทบาทของชินโตในฐานะศาสนาแห่งรัฐ เหนือศาสนาอื่นๆ
โดยเขาบอกว่า "เราทั้งหมดต่างถูกล้างสมอง ในโรงเรียนประถม ถ้าคุณเป็นเด็กชาย คุณจะถูกปลูกฝังให้ไปเป็นทหาร โดยถ้าคุณตายไปวิญญาณของคุณจะได้รับการบูชาสักการะและสถิตอยู่ที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ ซื่งถือว่าเป็นเกียรติที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต"
- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเกาหลีใต้ หลังนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ -
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรก ที่เยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ คือ ทาเคโอะ มิกิ ในปี 1975 ครบรอบ30ปี หลังญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งให้เหตุผลว่าเป็นการเยือนส่วนตัว
(Credit : https://www.gettyimages.co.nz/detail/news-photo/japanese-prime-minister-takeo-miki-visits-yasukuni-shrine-news-photo/1097152690)
ครั้งที่จุดประเด็นระดับนานาชาติ เกิดขึ้นในปี 1985 เมื่อนายกฯญี่ปุ่น ยาสึฮิโระ นากาโซเนะ เยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ "อย่างเป็นทางการ" และ เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีหลังสงครามแปซิฟิกจบลง
นายกรัฐมนตรียาสึฮิโระ นากาโซเนะ เยือนศาลเจ้ายาสุคุนิอย่างเป็นทางการในปี 1985 (Credit : https://www.japantimes.co.jp/news/2019/11/29/national/japan-prime-minister-yasuhiro-nakasone-obit/)
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จีนวิพากษ์วิจารณ์ไม่พอใจญี่ปุ่นที่ไปสักการะ และฉลองครบรอบ 40 ปีสงครามแปซิฟิก ตามมาด้วยเกาหลีใต้ที่ผู้คนก็เริ่มวิจารณ์ญี่ปุ่น
หลังจากนั้นก็ไม่มีนายกฯญี่ปุ่นคนไหนเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ
ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น กลับมาตึงเครียดช่วงต้นปี 2003 เมื่อ ประธานาธิบดีคิมแดจุงแห่งเกาหลีใต้ยกเลิกการประชุมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นโคอิสึมิและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น โยริโกะ คาวากุชิ เพียงไม่กี่วันหลังจากนายกรัฐมนตรีโคอิสึมิของญี่ปุ่นตอนนั้น เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นโคอิสึมิ เยือนศาลเจ้ายาสุคุนิในปี 2004 (Credit : https://www.chinadaily.com.cn/en/doc/2004-01/01/content_295126.htm)
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นโคอิสึมิ เยือนศาลเจ้ายาสุคุนิในปี 2005 (Credit : http://en.people.cn/200510/18/eng20051018_214940.html)
การประท้วงต่อต้านการเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิของนายกฯโคอิสึมิ ที่เกาหลีใต้ ในปี 2005(Credit : http://en.people.cn/200510/18/eng20051018_214940.html)
การประท้วงต่อต้านการเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิของนายกฯโคอิสึมิที่ฮ่องกง ในปี 2005 พร้อมกับข้อความว่าญี่ปุ่นควรละอายแก่ใจในลัทธิทหารนิยมของตนเอง (Credit : https://www.chinadaily.com.cn/english/doc/2005-10/17/content_485604.htm)
ตามต่อด้วยปี 2005 ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โรมูฮยอน ได้ยกเลิกการประชุมเอเปค (APEC) และประกาศจะทำสงครามการทูตกับญี่ปุ่น หลังจากที่นายกฯโคอิสึมิแห่งญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิมาโดยตลอด
ในช่วงปี 2001-2006 นายกฯโคอิสึมิแห่งญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้านี้ทั้งหมด 6 ครั้ง เรียกว่าทุกปีก็ได้ และทุกครั้งส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้แย่ลง
ในปี 2013 นายกฯชินโซ อาเบะ ได้เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ทำให้เกิดการประท้วงญี่ปุ่นที่จีนและเกาหลี รวมถึงประเทศพันธมิตรญี่ปุ่นอย่างสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาแสดงความผิดหวังกับการที่นายกฯอาเบะเดินทางไปสักการะศาลเจ้าด้วย
นายกฯชินโซ อาเบะ ได้เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ปี 2013 (Credit : https://www.bbc.com/news/world-asia-25517205)
การประท้วงประณามนายกฯอาเบะของญี่ปุ่นที่เยือนศาลเจ้ายาสุคุนิในปี 2014 (Credit : https://nypost.com/2014/01/02/about-that-shrine-flap-threatens-us-asia-hopes/)
ซึ่งในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน เป็นการครบรอบ 75 ปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง คณะรัฐมนตรีของอาเบะก็ได้เดินทางไปที่ศาลเจ้ายาสุคุนิเพื่อสักการะดวงวิญญาณทหารญี่ปุ่น
อาจมองได้ว่าเป็นการเรียกเสียงสนับสนุนให้ฝ่ายขวาและพรรคแอลดีพีของญี่ปุ่นด้วย
อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ มีนโยบายที่ต้องการให้ญี่ปุ่นก้าวข้ามประวัติศาสตร์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 และ ความพยายามในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับจีนและเกาหลีใต้
แต่นโยบายนี้โดนตอกกลับว่า บางทีการที่ญี่ปุ่นจะก้าวข้ามไปได้ ญี่ปุ่นอาจจะต้องก้าวกลับไปเผชิญหน้าและยอมรับความจริงในประวัติศาสตร์ของตนเองก่อน รวมถึงออกมาขอโทษประเทศที่เป็นเหยื่อความโหดร้ายของตนอย่างจริงใจด้วย
หลังจากที่อาเบะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้ไปสักการะศาลเจ้านี้อย่างเป็นประจำ
สำหรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน นายโยชิฮิเดะ ซูงะ ยังไม่เคยไปเยือนศาลเจ้าระหว่างดำรงตำแหน่ง แต่เคยได้ไปในฐานะคณะรัฐมนตรีของนายอาเบะในปี 2011 และ 2012
สำหรับข้อพิพาทล่าสุดของนายกฯซูงะ คือ การให้ตัวแทนนำต้นไม้มาซาคากิ ไปไหว้สักการะดวงวิญญาณที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 2021 ทำให้ทั้งจีนและเกาหลีใต้ออกมาวิจารณ์และแสดงความไม่พอใจอีกครั้ง แม้ว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะแถลงว่าการถวายเครื่องสักการะของนายกฯซูงะเป็นกิจกรรมส่วนตัวก็ตาม
ตัวแทนนายกรัฐมนตรีซูงะ นำต้นไม้มาซาคากิ ไปไหว้สักการะดวงวิญญาณที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 2021 (Credit : https://www.khon2.com/international/pm-suga-makes-offerings-at-yasukuni-shrine-but-doesnt-visit/)
สำหรับคนญี่ปุ่นบางส่วนก็วิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยกับการที่นักการเมืองของประเทศตนเองไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ ที่ทำให้เกิดประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ
และได้พูดถึงประวัติศาสตร์แบบฉบับยาสุคุนิ ที่ไม่ยอมรับความผิดของตนเอง และ อาจก่อให้เกิดความบาดหมางกับประเทศอื่นๆมากขึ้น
นอกจากนี้สังคมญี่ปุ่นก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าการที่นักการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีต่างๆ ที่อ้างว่าการไปเยือนศาลเจ้านี้ไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง เป็นการไปโดยส่วนตัว ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 20 ของญี่ปุ่นหรือไม่ ที่กำหนดว่ารัฐกับศาสนาจะต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
* สำหรับมาตราที่ 20 และ มาตราที่ 89 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นระบุให้รัฐแยกการเมืองออกจากศาสนา โดยพลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และ ปฏิเสธสิทธิพิเศษและอำนาจเหนือองค์การทางศาสนาทั้งปวง รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งกับกิจการรมทางศาสนาใดๆ รวมถึงไม่ให้รัฐใช้เงินสาธารณะสนับสนุนองค์กร สมาคม หรือ กลุ่มทางศาสนาใดๆ
References:
ภาคภูมิ วาณิชกะ, ศาลเจ้ายาสุกุนิกับสันติภาพในเอเซียตะวันออก ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Kei Koga (2015), The Yasukuni question: histories, logics, and Japan–South Korea relations

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา