5 ส.ค. 2021 เวลา 03:30 • บ้าน & สวน
Walk-in Closet Design Part 3 | Fitting ในงาน Built-in furniture
ในการออกแบบ Built-in furniture ของ designer ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ผู้ออกแบบจะต้องคำนึงถึงคือการเลือกสเปคอุปกรณ์ประกอบเฟอร์นิเจอร์ (Furniture Hardware) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Fitting นั่นเอง
Furniture Hardware รูปแบบต่างๆ
ปัจจุบันในท้องตลาด มีผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์อยู่มากมาย มีความหลากหลายทั้งทางด้านรูปแบบ ระดับราคา การติดตั้ง คุณภาพสินค้าและการให้บริการ รวมถึงกลไกการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบที่จะต้องทำการศึกษาเรียนรู้ และคัดสรรสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับโครงการที่ตนออกแบบอยู่ โดยควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเจ้าของโครงการเป็นหลัก ทั้งความสะดวกในการใช้งาน ราคา ความแข็งแรงปลอดภัย และความสวยงามเรียบร้อยของชิ้นงานอีกด้วย
ตัวอย่างชนิดของ Fitting ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของงานบิ้วอินที่พบบ่อย ได้แก่
• อุปกรณ์บานพับ ( Hinge )
สำหรับหน้าบานเปิดหรือบานสวิง เป็น Fitting จุดที่ไว้ยึดจับระหว่างตัวบานกับตัวตู้ เป็นจุดหมุนเปิดปิดหน้าบาน มีหน้าที่รับน้ำหนักหน้าบานตู้โดยตรง ซึ่งปกติจะใช้เป็นรูปแบบบานพับถ้วย (คนละรูปแบบกับบานพับผีเสื้อที่ใช้กับประตูห้อง) วัสดุเป็นสเตนเลสขึ้นรูป ใช้จำนวน 2-5 ชิ้นต่อ 1 หน้าบาน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและขนาดของบาน
หากออกแบบให้เป็นหน้าบานกระจกเปลือย จะมีบานพับสเตนเลสรูปแบบที่ใช้ยึดจับตัวกระจกโดยเฉพาะ หรือหากเป็นบานสำเร็จรูป เช่น หน้าบานอลูมิเนียมสำเร็จรูป จำนวนบานพับและวิธีติดตั้งก็จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละราย
ตัวอย่างอุปกรณ์บานพับรูปแบบต่างๆ
Tip : ควรเลือกรุ่นบานพับถ้วยที่มีระบบ Soft-close เพื่อป้องกันการปิดกระแทก ทำให้เกิดเสียงดัง และตัวหน้าบานเกิดความเสียหายได้ ในกรณีที่ออกแบบหน้าบานเป็นบานกระจกเปลือย ควรใช้การเสริมชุดกดกระเด้งเปิดปิด ( Push-open ) สำหรับการกันกระแทกแทน
• อุปกรณ์มือจับ ( Handle )
มือจับ เป็นชุด Fitting ที่มีหน้าที่ในการให้ผู้ใช้งานจับเพื่อเปิดปิดหน้าบานตู้ มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบซ่อนฝังในหน้าบาน ฝังแบบโชว์ และติดลอยโชว์ โดยผู้ผลิตมีการออกแบบให้เข้ากับการออกแบบตกแต่งในรูปแบบสไตล์ต่างๆ ทั้งโมเดิร์น วินเทจ หรือคลาสสิค
มีตั้งแต่ขนาดเล็กเป็นหัวให้จับพอดีมือ ไปจนถึงยาวเป็นหน่วยเมตรสำหรับบานตู้ขนาดใหญ่ ปกติจะจำหน่ายกันเป็นสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งมักจะเป็นงานอลูมิเนียม หรือสเตนเลส แต่หากผู้ออกแบบต้องการรูปแบบเฉพาะโครงการ ก็สามารถออกแบบสั่งผลิตเองได้ (ซึ่งรวมถึงงานไม้ด้วย) แต่ก็จะตามมาด้วยราคาที่สูงขึ้น
ตัวอย่างอุปกรณ์มือจับรูปแบบต่างๆ
Tip : มือจับของบานเลื่อน มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อ และสามารถใช้การสั่งผลิตได้ มีข้อควรระวังว่า หากกรณีใช้เป็นบานเลื่อนสลับ ก็ควรเลือกใช้มือจับที่เป็นแบบฝังกับตัวหน้าบาน เพื่อไม่ให้บานเลื่อนขัดกับตัวมือจับในเวลาเลื่อนเปิดปิด
• อุปกรณ์รางเลื่อน ( Slide Rail )
รางเลื่อน เป็น Fitting ที่สำคัญที่นิยมใช้กับหน้าบานตู้ประเภทบานเลื่อน และบานเฟี้ยม ซึ่งโดยทั่วไปในงานเฟอร์นิเจอร์จะใช้รางเลื่อนทั้งด้านบนและด้านล่างของหน้าบาน (ในงานประตูห้องอาจจะใช้เพียงแค่รางเลื่อนด้านบน)
ส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นงานอลูมิเนียม หรือสเตนเลส เพราะต้องการความคงทนจากแรงเสียดทานเวลาใช้งาน บางรูปแบบอาจมีความจำเป็นต้องใช้ล้อเลื่อนมาช่วยในการรับน้ำหนัก กรณีบานเลื่อนมีขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานทั่วไป (สามารถย้อนอ่านบทความ Walk-in Closet Design Part 2 | ว่าด้วยเรื่องประตูของตู้เสื้อผ้าได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/60f404e74aca390c8ab56954 )
ตัวอย่างอุปกรณ์รางเลื่อนรูปแบบต่างๆ
Tip : ควรเลือกรุ่นรางเลื่อนที่มีระบบ Soft-close เพื่อป้องกันการชนกันของบาน หรือระหว่างบานกับตัวตู้ ทำให้ตัวหน้าบานเกิดความเสียหายได้ โดยรูปแบบของตัว Soft-close มีให้เลือกหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามมาตรฐานผู้ผลิต
สำหรับประเภทของ Fitting กับงานเฟอร์นิเจอร์ ในแต่ละรูปแบบ Function การใช้งานสามารถจำแนกได้เป็น 7 รูปแบบ ดังนี้
1. หน้าบานเปิด หรือบานสวิง ( Swing Closet Door ) ลักษณะการใช้งานคือดึงเปิดปิด ใช้ Fitting ได้แก่ บานพับ และมือจับ
ตัวอย่างตู้บานเปิดแบบต่างๆ
2. หน้าบานเลื่อน หรือบานสไลด์ ( Sliding Closet Door ) ลักษณะการใช้งานคือเลื่อนเพื่อเปิดปิด ใช้ Fitting ได้แก่ รางเลื่อน และมือจับ
ตัวอย่างตู้บานเลื่อนแบบต่างๆ
3. หน้าบานเฟี้ยม หรือบานเซี้ยม ( Folding Closet Door ) ลักษณะการใช้งานคือเลื่อนพับซ้อนกัน ใช้ Fitting ประกอบด้วย รางเลื่อน บานพับ และมือจับ
ตัวอย่างตู้บานเฟี้ยม
4. ลิ้นชัก ( Drawer ) ลักษณะการใช้งานคือเลื่อนเข้าออก ใช้ Fitting ประกอบด้วย รางลิ้นชัก และมือจับ
ตัวอย่างตู้ลิ้นชักแบบต่างๆ
Tip : งาน Fitting รางลิ้นชัก ในปัจจุบันมีให้เลือกใช้อยู่ 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ รางลิ้นชักแบบตอนเดียว (Single extention) รางลิ้นชักแบบ 2 ตอน รับด้านข้าง (Full extention) รางลิ้นชักแบบซ่อน รับด้านใต้ (Concealed Runners) และรางลิ้นชักแบบสำเร็จรูป ซึ่งแต่ละรูปแบบมีความเหมาะกับวิธีติดตั้ง-ใช้งาน การรับน้ำหนัก และรูปแบบการผลิตที่แตกต่างกัน
5. ชั้นวางของ ( Shelf ) โดยทั่วไปจะอยู่ในรูปแบบงานยึดติดตาย อาจจะใช้ Fitting เป็นขารับชั้น แต่หากต้องการใช้ชั้นวางของในรูปแบบที่ปรับระดับได้ จะต้องใช้ Fitting เสริม ได้แก่ ปุ่มรับชั้น หรือรางกระดูกงู
ตัวอย่างชั้นวางในตู้เสื้อผ้าแบบต่างๆ
ตัวอย่างชั้นวางของแบบต่างๆ
ตัวอย่างแบบอุปกรณ์ชั้นวางของแบบต่างๆ
6. ราวแขวนเสื้อผ้า ใช้ Fitting ประกอบด้วย ตัวราว และชุดรับราว
ตัวอย่างราวแขวนเสื้อผ้าแบบต่างๆ
7. รูปแบบพิเศษอื่นๆ มักจะมีการใช้ Fitting มาผสมกันหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อไอเดียสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ หรือความชอบของเจ้าของบ้าน
ตัวอย่างการออกแบบ Walk-in Closet หรือตู้เสื้อผ้ารูปแบบต่างๆ
เรื่อง-เรียบเรียง | ธิติ เขมการโกศล : สถาปนิก
โฆษณา