27 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“การปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution)”
“การปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution)” เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ เริ่มเปลี่ยนจากการอยู่อย่างเร่ร่อน ล่าสัตว์ประทังชีวิตไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปสู่สังคมเกษตรกรรม มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน และเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมในยุคแรกๆ
การปฏิวัติยุคหินใหม่ เริ่มต้นเมื่อราวๆ 10,000 ปีก่อนคริสตกาล ในบริเวณที่เรียกว่า “พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent)”
2
พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ คือดินแดนรูปครึ่งวงกลมผืนใหญ่ ทอดโค้งขึ้นไปจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจรดอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นจุดแรกๆ ที่มนุษย์เริ่มทำการเกษตรกรรม
แผนที่แสดงพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์
หลังจากนั้นไม่นาน มนุษย์ยุคหินในดินแดนต่างๆ ก็เริ่มที่จะทำการเพาะปลูก และอารยธรรม เมืองต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติยุคหินใหม่
“วี กอร์ดอน ไชลด์ (V. Gordon Childe)” เป็นผู้ที่เรียกช่วงเวลานี้ว่า “การปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution)” โดยเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มจะปลูกพืช ทำการเลี้ยงสัตว์ และลงหลักปักฐานยังที่ใดที่หนึ่งอย่างถาวร ซึ่งต่างจากมนุษย์สมัยยุคหินเก่า
1
วี กอร์ดอน ไชลด์ (V. Gordon Childe)
อาจจะเรียกได้ว่า อารยธรรมในยุคสมัยใหม่หลายๆ อย่างก็มีรากฐานมาจากช่วงยุคสมัยนี้ ในยุคที่มนุษย์เริ่มจับกลุ่ม อาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชน
สำหรับสาเหตุที่มนุษย์เริ่มทำการเกษตรกรรมเมื่อกว่า 12,000 ปีที่แล้ว อันที่จริง ก็ไม่มีเหตุผลใดเพียงเหตุผลเดียว โดยสาเหตุที่เกิดการปฏิวัติยุคหินใหม่ อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
โลกนั้นเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นเมื่อราวๆ 14,000 ปีก่อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางรายคาดว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก อาจจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติยุคหินใหม่
1
ทางด้านบริเวณพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ พืชป่าและข้าวบาร์เลย์เริ่มงอกงาม อันเป็นผลมาจากอากาศที่อบอุ่น และมนุษย์ในยุคก่อนยุคหินใหม่ ก็ได้เริ่มสร้างบ้านที่มีความแข็งแรง มั่นคง
นักวิทยาศาสตร์บางคนก็คิดว่ามนุษย์อาจจะมีวิวัฒนาการ ทำให้สมองมีความก้าวหน้า รู้จักที่จะลงหลักปักฐาน นอกจากนั้น ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุทางศาสนาและงานศิลป์โบราณอีกจำนวนหนึ่งในบริเวณที่มนุษย์ในยุคหินใหม่ลงหลักปักฐาน
2
ยุคหินใหม่ เริ่มต้นเมื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งได้เริ่มที่จะทิ้งวิถีชีวิตเดิมๆ นั่นคือการเร่ร่อน ล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ และเริ่มทำเกษตรกรรม
1
การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเช่นนี้ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นร้อย หรืออาจจะเป็นพันปี ในการเปลี่ยนผ่านอย่างสมบูรณ์แบบ
1
สำหรับแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่ง คือบริเวณที่เรียกว่า “Çatalhöyük” ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของตุรกี และทำให้นักประวัติศาสตร์ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนผ่าน จากวิถีชีวิตเร่ร่อน ไปสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรม
ได้มีการสำรวจและขุดพบที่พักต่างๆ ซึ่งมีอายุมากกว่า 9,500 ปี และมีการประเมินว่าใน Çatalhöyük อาจจะเคยมีคนอาศัยอยู่กว่า 8,000 คน
จากการสำรวจ พบว่าประชากรที่เคยอาศัยในบริเวณนี้น่าจะมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ อีกทั้งยังชื่นชอบศิลปะ เนื่องจากมีการฝังศพคนตายไว้ใต้บ้านของตน และยังมีการตกแต่งผนังบ้านด้วยรูปวาดผู้ชายซึ่งกำลังล่าสัตว์ รวมทั้งภาพสัตว์ต่างๆ
Çatalhöyük
สำหรับแหล่งที่ปรากฎหลักฐานการทำเกษตรกรรมครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ คือที่ “Tell Abu Hureyra” ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในซีเรีย โดยหมู่บ้านนี้มีอายุระหว่าง 11,500-7,000 ปีก่อนคริสตกาล
1
ผู้คนใน Tell Abu Hureyra ได้ล่าเนื้อละมั่งและสัตว์อื่นๆ ก่อนที่ในเวลาต่อมา เมื่อ 9,700 ปีก่อนคริสตกาล พวกเขาจึงเริ่มทำการปลูกพืช โดยมีการขุดพบเครื่องมือที่ใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งทำมาจากหิน
Tell Abu Hureyra
สำหรับพืชที่ปลูก ส่วนมากก็จะเป็นพันธุ์ข้าวต่างๆ โดยพืชกลุ่มแรกๆ ที่ปลูกในบริเวณพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ ก็คือข้าวต่างๆ รวมทั้งถั่ว
2
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผู้คนในเอเชียก็เริ่มปลูกข้าวเช่นกัน โดยมีการค้นพบผืนนาซึ่งเก่าแก่ที่ประเทศจีน มีอายุกว่า 7,700 ปี
2
ทางด้านการปศุสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยงก็คือสัตว์ที่มนุษย์ใช้บริโภค เช่น หมูป่า แพะ ซึ่งก็มักจะเป็นพาหะของโรคต่างๆ แพร่กระจายสู่มนุษย์
อาจสรุปได้ว่า การปฏิวัติยุคหินใหม่ ทำให้มนุษย์จำนวนมากตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง และเป็นใบเบิกทางสู่ความเจริญก้าวหน้าในยุคต่อๆ ไป และเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
โฆษณา