27 ก.ค. 2021 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมจรวดของ Jeff Bazos ถึงมีรูปทรงเหมือน “ปิกาจู” ?
Image credit: Blue Origin
เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกา ณ เช้าวันที่ 20 ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา เมื่อ Jeff Bazos ผู้ก่อตั้ง Amazon ได้พาตัวเขาเอง, น้องชายเขา (Mark Bezos), Oliver Daeman วัย 18 ปี และ Wally Funk คุณยายวัย 82 ปี สู่ห้วงอวกาศ และมองกลับมาที่โลกของเรา
ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า...จรวดที่พาพวกเขาไปสู่ห้วงอวกาศนั้นทำไมมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับ “ปิกาจู” (อวัยวะเพศชาย) ซะยิ่งกะไร?
Image credit: Blue Origin
โปรเจคที่เฮีย Jeff เขาพัฒนาขึ้นมานี้มีชื่อว่า ““New Shepard” จรวดความสูง 18 เมตร ตั้งชื่อตามนักบินอวกาศ Mercury Alan Shepard ชาวมะกันคนแรกที่ออกสู่ห้วงอวกาศ
“New Shepard” เป็นจรวดระบบ "Suborbital" ที่จะบินขึ้นไปในทางตรง ไม่มีการโคจรรอบโลก ไม่มีนักบินอวกาศ และจากนั้นแคปซูลจะดีดตัวออกจากจรวด เมื่อขึ้นไปถึงระดับความสูง 100 กม. จากระดับน้ำทะเล ส่วนจรวดจะกลับมาลงจอดยังฐานปล่อยที่เทกซัสอีกครั้งเพื่อสามารถกลับมาใช้งานได้อีก
Image credit: Blue Origin
ทีนี้เราลองมาดูกันว่าจรวดจาก Blue Origin ของ Jeff Bezos มันใช้ประโยชน์อย่างไร และทำไมมันจึงดูเหมือนปิกาจูที่ใหญ่โตมโรฬาร! จนคนเอาไปจินตนาการกันต่างๆ นานา
ในส่วนที่ดูเหมือนหัวของปิกาจูนั้น คือ “Crew Capsule” เป็นห้องแคปซูลไร้คนขับสำหรับผู้โดยสารจำนวน 6 ที่นั่ง ตัวเบาะปรับได้ 5 ระดับ มาพร้อมกับที่จับสำหรับการเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกสบายในช่วงสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (Zero-Gravity) และหน้าจอแสดงผลข้อมูลจำเป็นต่างๆ ของเที่ยวบิน
Image credit: Blue Origin
ด้านพื้นที่ภายในก็ขว้างขวาง และมีการปรับแรงดันอากาศภายในอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้โดยสารรู้สึกสะดวกสบาย โดยทุกที่นั่งจะอยู่ริมหน้าต่างบานใหญ่ที่สามารถเห็นวิวอวกาศได้อย่างเต็ม 2 ตา
นอกจากนี้ ยังมีระบบ “Crew Escape System” หรือระบบหนีภัย ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือเป็นอันตราย ผู้โดยสารก็จะสามารถออกมาจากตัวห้องโดยสารได้อย่างปลอดภัย
Image credit: Blue Origin
โดย “Blue Origin” เคลมว่าความปลอดภัย คือภารกิจสูงสุดของพวกเขา ซึ่งที่ผ่านมา Blue Origin ได้นำ “New Shepard” ไปทำการทดสอบบิน และทดสอบระบบความปลอดภัยจำนวนหลายต่อหลายครั้งมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งภารกิจก็ประสบความสำเร็จถึง 15 ครั้งติดต่อกัน
รวมถึงได้มีการทดสอบระบบ “Crew Escape System” ที่ประสบความสำเร็จด้วยดี 3 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าระบบหนีภัยของผู้โดยสารสามารถเปิดใช้งานได้อย่างปลอดภัยในทุกๆ สถานการณ์ของการขึ้นบิน
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ของจรวด New Shepard ก็อย่างเช่น ครีบวงแหวนและลิ่มด้านบนที่ได้รับการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) เพื่อรักษาเสถียรภาพของบูสเตอร์ และลดการใช้เชื้อเพลิงเพื่อบินกลับสู่พื้นโลก
รวมถึงระบบเบรค “Drag Brake” ที่ปรับใช้และมีการทำงานจากครีบวงแหวน เพื่อลดความเร็วของบูสเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเมื่อตกลงมาจากอวกาศ
ด้านเครื่องยนต์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน พวกเขาเลือกใช้ BE-3 (Blue Engine 3) ในการขับเคลื่อนจรวดสู่อวกาศ และรวมถึงการลงจอดที่ฐาน ซึ่งเครื่องยนต์ที่มีลักษณะพิเศษนี้สามารถบังคับคันเร่งให้บูสเตอร์ทำความเร็วช้าลงเหลือเพียง 8 กม./ชม. สำหรับการลงจอดอย่างนิ่มนวล
ส่วนครีบหลังส่วนล่าง ก็จะช่วยรักษาเสถียรภาพของจรวดในระหว่างการขึ้น และบังคับกลับไปที่ฐานจอด รวมถึงนำทางจรวดผ่านความเร็วลมได้สูงสุดถึง 4 มัค (Mach)
รวมไปถึงการลงจอดโดยใช้ล้อลงจอด ที่สามารถปรับใช้ลงจอดในแนวดิ่งได้อย่างสมบูรณ์แบบ
Image credit: Blue Origin
ดูจากสรรพคุณทั้งหมดของจรวดเชิงพาณิชย์ “New Shepard” แล้ว หากคุณมีเงินเหลือๆ (เหลือใช้ไปถึงชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป) ก็น่าจะลองไปต่อคิวประมูลพาตัวเองไปชมวิวอวกาศสักครั้งในชีวิต เพราะแม้มันจะไม่ได้เข้าสู่วงโคจรหมือนกับจรวดของ NASA
แต่ ณ เวลาที่มันข้ามผ่านเส้นคาร์แมน (Karman Line) ซึ่งแบ่งขอบเขตระหว่างชั้นบรรยากาศโลกและอวกาศไปแล้วนั้น เชื่อว่า…มันน่าจะเป็นประสบการณ์เที่ยวบินสุดแสนประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตของมนุษย์อย่างเราๆ อย่างแน่นอน
และในอนาคต หากลองมองดูท้องฟ้ายามค่ำคืน เราก็อาจจะเห็นแสงดวงไฟมากมายที่ไม่ใช่ UFO แต่เป็นหมู่มวลจรวดเชิงพาณิชย์จำนวนนับไม่ถ้วน พุ่งทยานสู่ท้องฟ้า พานักท่องเที่ยว (อวกาศ) บินขึ้น-ลง ประหนึ่งเป็นเที่ยวบินภายในโลกที่เราคุ้นเคยก็เป็นได้
Image credit: Blue Origin
โฆษณา