13 ต.ค. 2021 เวลา 10:21 • การศึกษา
โทษของการเป็นผู้ว่ายาก
สังคมที่อบอุ่นที่เต็มไปด้วยความสุข และความเข้าใจ เป็นสังคมในอุดมคติของชาวโลกทั้งหลาย ยิ่งสภาวะแห่งโลกในปัจจุบันนี้ ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรน แก่งแย่งชิงดีกัน ทำให้ในสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่นี้ เต็มไปด้วยคู่แข่งและคู่แค้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ชีวิตของนักสร้างบารมี เมื่อเกิดมาแล้วก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะสร้างสิ่งที่ดีงามให้บังเกิดขึ้นกับโลก
นี่คือชีวิตจริงและหน้าที่ที่ทุกท่านพึงปฏิบัติ สิ่งที่ดี ๆ จะได้เกิดขึ้น ขอเพียงเรามีใจที่ใสบริสุทธิ์ มีความปรารถนาดีต่อโลก มีใจที่หยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องทุกอนุวินาที กระแสแห่งความบริสุทธิ์จากตัวเราก็จะแผ่ขยายออกไป เป็นกระแสที่รุกเงียบไปในบรรยากาศ สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขโลกนี้ให้สะอาดบริสุทธิ์เป็นโลกแก้วได้
มีคำสุภาษิตที่ผู้รู้ได้กล่าวไว้ที่ใน มิคาโลปชาดก ว่า...
 
เอวมฺปิ อิธ วุฑฺฒานํ โย วากฺยํ นาวพุชฺฌติ
อติสีมํ จโร ทิตฺโต คิชฺโฌ วาตีตสาสโน
สพฺเพ พฺยสนํ ปปฺโปนฺติ อกตฺวา พุทฺธสาสนํ
 
ผู้ไม่สำนึกถึงคำสอนของผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ประพฤติเลยขอบเขตก็เดือดร้อน ผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
จะถึงความพินาศ เหมือนแร้งที่ฝ่าฝืนคำสอนของพ่อฉะนั้น
1
เหมือนอริยสาวกท่านหนึ่ง ที่ในชีวิตของท่านประสบความสำเร็จขั้นสูงสุด ยากที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้จะประสบความสำเร็จอย่างท่านได้ ที่ท่านได้บรรลุความสำเร็จในชีวิตได้ ก็เพราะความเป็นผู้ว่าง่าย หลวงพ่อเอ่ยมาถึงตรงนี้ ทุกท่านก็คงพอจะนึกออกว่า นักสร้างบารมีที่เอ่ยถึงนั้น คือ พระราธเถระ ก่อนหน้านั้นท่านเป็นคนธรรมดานี่แหละ ชีวิตของท่านดำรงอยู่อย่างไม่สุขสบายเท่าไรนัก จนกระทั่งชีวิตก้าวเข้ามาถึงวัยชรา จึงปรารถนาจะออกบวชเพื่อกระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์
แต่ไปที่ใดก็ตาม ก็ไม่มีใครปรารถนาจะให้บวชในสำนักของตน เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ชราภาพมาก เพราะยังฝังใจอยู่ว่า คนที่สูงอายุโดยส่วนมากมักเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก จนกระทั่งเรื่องนี้ไปถึงพระสารีบุตรอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา ท่านรับทราบอย่างนั้น ก็รับราธพราหมณ์ผู้เฒ่าให้มาบวชในสำนักของท่าน
เมื่อบวชแล้ว พระสารีบุตรเถระก็อบรมพร่ำสอนข้อวัตรปฏิบัติ และการเจริญสมาธิภาวนา แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความอดทนมากเพียงไร ด้วยความที่ราธพราหมณ์ ท่านเป็นผู้ที่ว่าง่ายไม่เคยปริปากบ่น และเคารพเชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระสารีบุตร ไม่นานนักท่านก็ได้บรรลุอรหัตตผล บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์
1
ที่หลวงพ่อนำเรื่องพระราธเถระ มาเล่าให้ทุกท่านฟังในวันนี้ เพราะว่าอยากจะยกตัวอย่างของบุคคลผู้ว่าง่ายสอนง่าย เราจะได้เห็นถึงความสำคัญของคุณธรรมข้อนี้ และจะได้รักที่จะฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้ที่ว่าง่ายสอนง่าย อยู่ในโอวาทของครูบาอาจารย์
ส่วนความเป็นผู้ว่ายากนั้น เป็นสิ่งที่ใครๆก็ไม่สรรเสริญ จะไปอยู่ ณ ที่แห่งใด ก็ไม่มีใครรักไม่มีใครชอบ และประการสำคัญ คือ จะนำแต่ความทุกข์ความวิบัติมาสู่ตนถ่ายเดียว ถึงแม้จะเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ไม่มีข้อยกเว้น หากเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก ไม่รู้คุณค่าของคำตักเตือนของผู้ปรารถนาดีแล้ว ก็ย่อมประสบกับความหายนะได้เช่นกัน
เรื่องนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ที่พระเชตะวัน ทรงปรารภถึงภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งนั้นข่าวการเป็นผู้ว่ายากของพระภิกษุรูปนี้ ทราบมาถึงพระพุทธองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระมหากรุณา ไม่ปรารถนาจะให้สาวกของพระองค์ประสบความหายนะ จึงทรงเรียกมาตรัสถามว่า “ภิกษุ...ได้ข่าวว่า เธอเป็นผู้ว่ายากสอนยากหรือ”
พระภิกษุรูปนั้นก็กราบทูลตามความเป็นจริงว่า “จริงพระเจ้าข้า” ทูลแล้วก็ก้มหน้านิ่งอยู่อย่างนั้น พระบรมศาสดาเมื่อทรงทราบอย่างนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระปรีชาญาณว่า “สาวกของเรารูปนี้ หากจะเทศน์สอนว่ากล่าวอย่างคนธรรมดาทั่วไปแล้ว แม้จะรับฟังเพราะเคารพเรา แต่ก็คงไม่เข้าไปในใจอย่างแน่นอน เราควรที่จะอนุเคราะห์ด้วยธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งตรงใจ”
ครั้นดำริอย่างนี้แล้ว ก็ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก แม้ในอดีตชาติเธอก็เป็นผู้ที่ว่ายาก ไม่เชื่อฟังคำของบัณฑิตทั้งหลาย จึงถึงความย่อยยับมาแล้ว” เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ทรงนำเรื่องราวในอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาตรัสเล่าว่า…
ในอดีตกาล มีอยู่พระชาติหนึ่งที่พระบรมโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นพญาแร้ง มีนามว่า อปรัณ เป็นพญาแร้งที่มีปัญญา ปกครองเหล่าบริวารทั้งหลายด้วยเมตตาธรรม ทำให้พญาแร้งโพธิสัตว์เป็นที่รักเป็นที่เคารพของเหล่าบริวารทั้งหลาย ได้มีหมู่แร้งห้อมล้อมและอาศัยอยู่บริเวณเขาคิชฌกูฏ ซึ่งภูเขาลูกนี้ในสมัยนั้นเป็นมหาบรรพต เป็นภูเขาที่ใหญ่มาก ที่เขาเรียกกันว่า เขาคิชฌกูฏ เพราะยอดเขามีหมู่แร้งอาศัยอยู่ เพราะ คิชฌะ แปลว่า แร้ง ส่วน กูฏ แปลว่า ยอด
พญาแร้งนี้มีลูกอยู่ตัวหนึ่งชื่อ มิคาโลปะ กำลังอยู่ในวัยที่คะนอง อยากรู้อยากลอง และเป็นสัตว์ที่ว่ายาก บอกไม่ค่อยจะเชื่อฟัง และชอบที่จะบินสูงกว่าแร้งตัวอื่นๆอย่างมาก ด้วยความเคารพรักในพระโพธิสัตว์ เหล่าบริวารทั้งหลายจึงรักและเอ็นดูลูกของพระโพธิสัตว์ไปด้วย เมื่อเห็นแร้งมิคาโลปะคะนองเช่นนั้น จะตักเตือนก็รู้ว่า ลูกของหัวหน้าไม่ค่อยจะฟังผู้ใด จะปล่อยปละละเลยทำเป็นไม่สนใจ ก็เป็นห่วงเป็นใย เกรงว่าจะได้รับอันตราย
จึงพากันไปเล่าให้พระโพธิสัตว์ฟังว่า “ลูกของท่านบินไกลและสูงเหลือเกิน พวกเราเกรงว่าจะได้รับอันตราย ท่านช่วยห้ามปรามเขาหน่อยเถิด” พญาแร้งได้ฟังอย่างนั้น จึงเรียกลูกมาตักเตือนว่า “ลูกเอ๋ย พ่อไม่อยากที่จะให้เจ้าบินอย่างนั้นเลย เจ้าบินสูงเกินไปไม่ดีเลย ให้ลูกสังเกตว่า ถ้าบินขึ้นไปแล้วมองเห็นแผ่นดินเหมือนนาแปลงสี่เหลี่ยมเล็กๆ ให้รีบลงมานะลูก อย่าบินเลยจากนี้ หมู่นกที่บินสูงเกินกว่านี้ จะถูกลมที่มีกำลังแรง พัดบดขยี้ให้ถึงกับความตายมานักต่อนัก”
คำพูดที่หวังดีนั้น เมื่อผู้ว่ายากได้ยินแล้ว นี่เป็นเหมือนเข็มที่ทิ่มตำหู จะไม่เข้าไปในใจ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น จะมีความรู้สึกอย่างเดียวว่า... “ฉันจะทำในสิ่งที่ฉันอยากจะทำ” ใครที่คิดอย่างนี้ ก็เท่ากับยืนอยู่บนปากเหวแห่งความหายนะ จะทำให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
แร้งมิคาโลปะก็เช่นกัน ไม่เชื่อฟังคำเตือนของบิดา ไม่ใส่ใจในความหวังดี เพราะเป็นสัตว์ที่มีอุปนิสัยว่ายาก จึงบินทะยานขึ้นไปในอากาศ แม้เห็นแผ่นดินเล็กนิดเดียวก็ไม่ยอมหยุด กลับยิ่งทะยานบินสูงขึ้นไปอีก ทำให้บินข้ามเขตลมกาลวาต ซึ่งเป็นลมที่ไม่รุนแรงนัก แล้วผ่านเข้าไปยังเขตของลมเวรัมภวาต ที่มีกำลังแรงกล้ายิ่งกว่าคมมีดคมดาบ มันจึงถูกลมนั้นตีจนร่างแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ต้องพบกับความหายนะและเสียชีวิต เพราะความเป็นผู้ว่ายากนั่นเอง
เมื่อตรัสเล่าเรื่องนี้แล้ว พระบรมศาสดาก็ตรัสสรุปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แร้งนั้นถึงความพินาศฉันใด แม้ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าไม่เชื่อคำสอนของผู้รู้ทั้งหลาย ผู้หวังอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล แม้ผู้นั้นก็จะถึงความพินาศอย่างนั้นเหมือนกัน”
จะเห็นได้ว่า คำว่ากล่าวตักเตือนของบัณฑิตมีค่ายิ่งกว่าขุมทรัพย์เสียอีก จะนำชีวิตของเราให้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง พวกเราเป็นนักสร้างบารมีก็ให้หมั่นจดจำพระดำรัสของพระพุทธองค์ไว้ให้ดี นำไปประพฤติปฏิบัติให้เป็นชีวิตจิตใจของเรา แล้วชีวิตของเราจะได้มีแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๓๔๐ -๓๔๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
มิคาโลปชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๖๕
โฆษณา