27 ก.ค. 2021 เวลา 09:49 • การเมือง
พักชำระหนี้แบบมียุทธศาสตร์ด้วยภาษีดอกเบี้ยชดเชยสังคม หนทางรอดสุดท้ายเศรษฐกิจไทย...
The Serious - The Social Interest Tax
‘ได้เงินมาเท่าไร เอาไปจ่ายหนี้ 90%’ เป็นคำพูดที่ชินหูคนไทยหลายคน จนทำให้นายกฯ ต้องสั่งให้คลัง-แบงก์ชาติเร่งแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยสั่งให้มีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน
งานนี้คงเป็นเรื่องที่จะต้องรอความชัดเจนในอนาคต แต่เหมือนความวัวยังไม่ทันหายความกระบือก็เข้าแทรกเมื่อ COVID-19 กลับมาระบาดอย่างรุนแรง จนทำให้ต้องล็อคดาวน์อีกครั้งไปเรียบร้อย
ก่อนที่จะเคาท์ดาวน์เปิดประเทศ-แก้หนี้ 120-180 วัน ระหว่างนี้คนหาเช้ากินค่ำที่มีหนี้รดต้นคออยู่ทุกสิ้นเดือนก็คงได้แต่คิดว่า ‘รอบนี้คงไม่ไหว’ ทรัพย์สินที่พอมีก็แปลงสภาพไปจ่ายหนี้ครั้งก่อน ๆ หรือหนี้บางก้อนก็ต้องยอมผิดสัญญาไปกันบ้างตามสมควร
เมื่อแบงก์ชาติมีนโยบาย ‘พักชำระหนี้’ ส่วนมากก็ทำได้แค่ ‘พักชำระแต่ดอกเบี้ยเดินต่อ’ หรือ ‘จ่ายแต่ดอกเบี้ย’ ไปก่อน เพราะหากจะยกเว้นการคำนวนดอกเบี้ยไปด้วย ยอดดอกเบี้ยบางส่วนนั้นจะถูกบันทึกเป็นยอด ‘ขาดทุน’ ทันที ซึ่งประชาชนที่มีหนี้ก็ทำได้แต่ยอมรับพักหนี้ไปก่อน ตามสำนวน ‘ไปตายเอาดาบหน้า’
เราจึงตั้งคำถามว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะทำออกมาตรการยังไงให้ ‘การพักหนี้’ เป็นยาแรงและเป็นที่พึ่งพิงของคนที่ลำบากรุนแรงในตอนนี้ได้บ้าง คำตอบสั้น ๆ คงตอบได้แค่ว่า ‘ต้องพักจ่ายหนี้ พักจ่ายดอก และดอกต้องไม่เดิน’
แต่ต้องไม่หยุดแค่นั้น เพราะการออกนโยบายดังกล่าวจะให้แบงก์ขาดทุนอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระบบการเงินได้ ดังนั้น จึงต้องมีการชดเชยดอกเบี้ยบางส่วนคืนกลับไป ซึ่งคำถามที่ยากกว่านั้นคือ จะเอาเงินตรงไหนมาคืน ?
ยกตัวอย่างง่าย ๆ สินเชื่อที่แบงก์ปล่อยทั้งหมดปัจจุบันอยู่ที่ราว 14 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีก่อน ๆ สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย กับสินเชื่อธุรกิจจะเป็น 35% และ 65% ตามลำดับ นั่นหมายความว่า เป็นสินเชื่อรายย่อยราว 5 ล้านล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจ 9 ล้านล้านบาท
หากเราต้องการช่วยเหลือ ‘ประชาชนทั่วไป’ นั่นคือเราจะพักชำระและหยุดดอกเบี้ยบนยอดเงิน 5 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า เราต้องใช้เงินราว 5 หมื่นล้านบาท/ปี ต่อดอกเบี้ยทุก ๆ 1%
ที่สำคัญดอกเบี้ยเฉลี่ยของลูกค้ากลุ่มนี้มักจะอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจอยู่ตั้งแต่ประมาณ 3-4% สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ไปจนถึง 20-30% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลเลยทีเดียว นั่นหมายความว่า ถ้าเราจะชดเชยแบงก์บางส่วน เช่น ชดเชยต้นทุนทางการเงินของแบงก์เองซึ่งอาจอยู่ที่ราว 3-5% เราก็จะต้องใช้เงินมากถึง 2-3 แสนล้านบาท/ปี
แม้เราจะพอรับรู้ได้ว่า รัฐบาลคงสามารถกู้เงินจำนวนดังกล่าวมาชดเชยให้แบงก์ได้แบบไม่ลำบากมากนัก แต่หากจะให้รัฐบาลดำเนินการชดเชยให้เปล่า ๆ คงไม่เหมาะสม (ซึ่งคงมีคนวิเคราะห์กันไว้บ้างแล้วเราจึงจะข้ามประเด็นนี้ไป) ดังนั้น รัฐจึงต้องออกมาตรการ ‘ภาษีดอกเบี้ยชดเชยสังคม’ (Social interest tax) จากคนกลุ่มนี้คืนในอนาคต
โดยรูปแบบคร่าว ๆ คือการเก็บภาษีจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ในอนาคตหลังสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น) ซึ่งตรงไปตรงมาคือ เก็บภาษีจากยอดเงินให้สินเชื่อทั้งระบบ (Total loan outstanding) ซึ่งภาระภาษีจะเกิดขึ้นกับเฉพาะบุคคลที่มีหนี้เท่านั้น จะทำให้รัฐบาลมีเม็ดเงินภาษีกลับคืนมาได้ เช่น
หากจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.25% จะมีเม็ดเงินภาษีราว 3.5 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งก็อาจใช้เวลา 7-8 ปี จึงจะสามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ในปัจจุบันได้ การเก็บภาษีในลักษณะนี้ นอกจากทำให้รัฐบาลมีเม็ดเงินภาษีที่จับต้องได้แล้ว ยังมีข้อดีในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่างเช่น
1. ไม่เป็นการสร้างภาระให้รัฐบาลในการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สิน และลดภาระทางการคลังของรัฐ
2. แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างเงินกู้ของบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยที่รัฐสามารถนำเม็ดเงินจำนวนนี้ไปใช้เป็นเงินสนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจ SMEs (ซึ่งจะหมายความว่า ใช้เงินจากบริษัทใหญ่ ๆ ที่กู้เงินเยอะ มาสนับสนุนธุรกิจรายย่อยที่มักกู้เงินน้อยกว่า)
3. แก้ปัญหาตลาดสินเชื่อแบงก์ที่การแข่งขันต่ำโดยใช้แรงผลักดันด้านนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น หากแบงก์ไหนมีสัดส่วนการให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs มากขึ้น รัฐจะลดภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวลงเป็นขั้นบันได
4. กลไกการคัดเลือกธุรกิจ SMEs ใหม่ ๆ จะถูกจัดการโดยระบบตลาด ลดปัญหาการทำนโยบาย ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’
5. ใช้หลักการเดียวกับการเก็บเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) และกองทุนกู้ยืม IMF (FIDF) เพื่อชดเชยความเสียหายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งจะเป็นการเก็บจากฐานเงินฝาก
แม้นโยบายนี้อาจมีข้อเสียในมุมมองอื่น ๆ เช่น อาจเป็นภาระให้กับผู้กู้รายใหม่ในอนาคต หรืออาจลดความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินโดยตรง ก็คงต้องพิจารณาเอาเองแล้วว่า
หากไม่มีนโยบายที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ คือธุรกิจ SMEs ในอนาคต และไม่สามารถประคองลูกหนี้รายย่อยในปัจจุบันได้ เศรษฐกิจไทยคงไปไม่ถึงดวงดาว และคงกลับไปอยู่ในปราสาททรายในวัดแทน...
#TheSerious
#เจาะลึกเศรษฐกิจไทย
โฆษณา