28 ก.ค. 2021 เวลา 02:00 • กีฬา
#โอลิมปิก​สัมพันธ์​
โดย มิสมาต้า
1
ขีดเส้นใต้เอาไว้ที่ปาฏิหาริย์​
ดร.แอนนา คีเซนฮอฟเฟอร์ คือ Ph.D คณิตศาสตร์​ และเป็นอาจารย์​สอนนักศึกษา​ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์​
เธอเป็นเพียงคนที่รักในการขี่จักรยาน​ในระดับคลั่งไคล้​เหมือนนักปั่นสมัครเล่น​อีกหลายล้านคนเท่านั้นเอง
แต่เธอกลับช็อคคอชาวจักรยาน​ทั้งโลกด้วยการปั่นเข้าเส้นชัยในการแข่งประเภท​ถนน (Road race)​ เป็นคนแรกชนิดไม่มีใครคาดคิด
ดร.แอนนา คีเซนฮอฟเฟอร์ ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ​ และมาแข่งโอลิมปิก​ที่โตเกียวชนิดข้ามาคนเดียว คือไม่มีโค้ช และไม่มีเพื่อนร่วมทีมเลยแม้แต่คนเดียว
เธอจึงเป็นเช่นม้านอกสายตาของทั้งคนดู และคู่แข่งระดับนานาชาติ​ที่เป็นนักปั่นมืออาชีพ
ระยะทาง 137 กิโลเมตร​สำหรับคนที่ไม่ได้แข่งจนเป็นอาชีพจึงถือว่าหินมากๆ เพราะเอาแค่ปั่นเพื่อชนะใจตัวเองเฉกเช่น​การวิ่งมาราธอน​ให้ถึงจุดหมายก็ต้องถือว่าสุดยอดแล้ว
เพราะการจะปั่นระยะทางระดับนี้ได้ผู้เข้าร่วม​แข่งขัน​จะต้องมีสมรรถภาพ​ทางร่างกายที่แข็งแกร่ง​มากกว่าการปั่นแบบกินลมชมวิวหลายพันเปอร์เซนต์​ รวมทั้งจะต้องมีจิตใจที่แกร่งยิ่งกว่าร่างกาย
สำหรับนักปั่นอย่างอาจารย์​แอนนา การเอาชนะใจตัวเองว่ายอดเยี่ยม​แล้ว การเอาชนะนักกีฬาอาชีพที่มีความพร้อมทั้งกาย และใจ ได้ภายใต้เงื่อนไข​แห่งเวลา จึงต้องเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบ​ที่สุด
นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมอาจารย์​แอนนาถึงเป็นม้านอกสายตาที่แทบไม่มีใครนำเอาการมีอยู่ของเธอมาใส่ใจ
ผู้ชมทั้งโลกจึงได้เห็น แอนน์มีค ฟาน ฟลูเทน นักปั่นเจ้าของแชมป์​โลกปีล่าสุดชูมือแสดงความดีใจเมื่อเข้าเส้นชัยก่อน อลิสา ลองโก โบชินี นักปั่นอิตาเลีย​นที่ตามมาอยู่ 14 วินาที ซึ่งถือว่าเยอะแล้วสำหรับกีฬาประเภทนี้
สีหน้าของนักปั่นทีมชาติเนเธอร์แลนด์จึง​แสดงความดีใจอย่างสุดๆ เมื่อคิดว่าตนเองเข้าเส้นชัย​เป็นคนแรก
ตลอดเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง แอนน์มีค ฟาน ฟลูเทน ไม่เคยเห็นอาจารย์​แอนนาอยู่ในสายตา จึงไม่แปลกที่เธอจะเลือกตามเก็บนักปั่นดังๆ ตามแผนที่เธอวางเอาไว้ นี่คือแผนการใช้แรง ออมแรง และ ค่อยๆ เกาะกลุ่มไปเรื่อยๆ ก่อน
เธอจึงไม่ทันได้เห็นว่าในช่วงออกสตาร์ท ดร.แอนนา คีเซนฮอฟเฟอร์ กับนักปั่นจากบางชาติได้ปั่นชนิดซอยแบบลืมตายเพื่อนำพาตัวเองให้ออกนำไปก่อน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดา​ของนักปั่นทั่วๆ ไป
แต่สำหรับพวกนักปั่นระดับโปร แผนการซ้อมที่วางเอาไว้ กับคู่แข่งมีชื่อเท่านั้นที่ควรจะใส่ใจ
พวกบ้าพลังที่ปั่นออกนำไปก่อนในช่วงแรกค่อยๆ หมดแรงไปทีละคนสองคน จะมีอยู่สามคนที่ไม่ได้หมดพลังยังคงก้มหน้าปั่นต่อไป
แต่ก็ค่อยๆ ออกอาการล้าจนถูกกลุ่มตัวเต็งแชมป์​ไล่แซงในช่วงไม่ถึง 40 กิโลเมตร​สุดท้าย ซึ่งทุกคนก็คิดว่าตามเก็บได้หมดแล้ว
ตัวเต็งทุกคนจึงยังใช้แผนเดิมๆ ในการปั่น ซึ่งก็คงเป็นแพลนเอ แพลนบี และ แพลนซี แต่ไม่มีใครฉุกใจคิดว่าควรจะต้องมีแพลนเจเอาไว้ในช่วงท้ายๆ ก่อนจะถึงเส้นชัย
ด้วยเพราะในการแข่งขันจะไม่อนุญาต​ให้ใช้อุปกรณ์​สื่อสารใดๆ นักปั่นทุกคนจึงเห็นแค่ระยะโฟกัสด้วยสายตาของตนเองเท่านั้น
จึงไม่มีใครในตัวเทพกลุ่มนี้สังเกตว่าพวกเธอยังตามเก็บไม่หมด
หรือถ้าจะมีคนมาแอบกระซิบ​ว่ามียายบ้าที่ไหนก็ไม่รู้ขี่ผ่านมาทางนี้มาก่อนเกือบ 2 นาที (หรือ นำอยู่เกิน 1 กิโลเมตร)​ พวกตัวเต็งที่ว่าก็คงจะได้แค่สงสัยว่าพวกปั่นขั้นเทพก็ยังเกาะในกลุ่มมากันครบนี่นา คนที่บอกมันต้องอำแน่ๆ
สุดท้าย อาจารย์​แอนนาที่เคยลงแข่งครั้งแรกในระยะทาง 10 ไมล์ และเข้าเส้นชัยในฐานะบ๊วยเมื่อปี 2012 รวมทั้งยังเคยพักการปั่นในช่วงปี 2017-2019 เพราะต้องหางานประจำทำเพื่อเลี้ยง​ชีพของตนเองให้ได้เสียก่อน
เธอจึงกลายเป็นนักปั่นโนเนมที่คนดู ณ จุดเส้นชัยพากันงงว่า นักปั่นออสเตรีย​คนนี้เป็นใคร และมาถึงจุดนี้เป็นคนแรกแบบนำโด่งมาได้อย่างไร
อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัย​โลซานได้เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยการใช้เวลา 3 ชั่วโมง 52 นาที 45 วินาที หรือ ถึงก่อนอันดับสองอยู่ถึง 1 นาที 15 วินาที เธอจึงมีเวลาลงไปนอนดีใจอย่างบ้าคลั่งอยู่บนพื้นถนนนั้นอยู่นาน
ซึ่งมันยังนานพอจนทำให้ แอนน์มีค ฟาน ฟลูเทน ไม่ทันสังเกตเห็นว่าเธอไม่ใช่คนแรกที่มาถึงที่นี่
และแม้จะมีคนดูพยายามเตือนตอนที่เธอชูมืออย่างลิงโลดใจเพราะเข้าใจว่าตัวเองคือผู้ชนะ แต่เธอก็ไม่ทันได้สังเกต​ ซึ่งรวมทั้งนักปั่นคนอื่นๆ ที่ทยอยกันเข้าเส้นชัยก็เข้าใจว่าแชมป์โลกคนล่าสุดคือผู้ชนะ​เช่น​กัน
จนมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะอย่างเป็นทางการ นักปั่นทุกคนจึงได้รู้ว่ามีใครคนนึงซึ่งพวกเราไม่รู้จักมาถึงที่นี่แบบที่พวกเธอไม่รู้อยู่ก่อนแล้ว
ซึ่ง ดร.แอนนา คีเซนฮอฟเฟอร์ คือคนๆ นั้น และ ไม่มีใครกล้าที่จะไม่รู้จักเธออีกแล้ว​
::
"บนหน้ากระดาษฉันคือมือสมัครเล่น แต่จักรยานกับฉันใช้เวลาร่วมกันมากมาย ฉันแทบไม่ได้เงินจากการปั่นจักรยานอย่างเป็นกอบ​เป็น​กำ รายได้หลักของฉันมาจากอาชีพสอนมหาวิทยาลัย​มากกว่า
แต่สมองของฉันไม่เคยหยุดคิดถึงเรื่องการขี่จักรยาน ยิ่งได้รู้ว่าตัวเองได้โควต้าโอลิมปิก ช่วงหนึ่งปีครึ่งของฉันก่อนโอลิมปิก​จะเริ่ม ฉันจึงเฝ้ารอวันแข่งจริงอยู่ตลอดเวลา"
เธอคืออาจารย์​สอนคณิตศาสตร์​ ผู้เขียนจึงคิดว่าเธออาจที่จะสามารถคำนวณได้ว่าควรใช้พลังเท่าไหร่ในแต่ละกิโลเมตร เธอจึงจะได้เป็นผู้ชนะ
รวมทั้งการออกตัวแบบบ้าคลั่ง​ก็คืออีกหนึ่งกลเม็ดเด็ดของเธอที่ลวงตาพวกตัวเต็งทั้งหลายให้ไม่ทันระวัง
แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ระยะทาง 137 กิโลเมตร​ กับการทดแรงให้ได้อยู่ตลอดเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง
คำว่าปาฏิหาริย์​ด้านบนสุดอาจจะกลายเป็นด้อยค่าเธอมากเกินไป เพราะในเมื่อเธอแสดงให้ได้เห็นแล้วว่าคณิตศาสตร์​ช่วยด้านคำนวณ วิทยาศาสตร์​ช่วยทางร่างกาย และใช้ฟิสิกส์​ เคมี ชีววิทยา​ เข้ามาช่วยในเรื่องของการวางแผนงาน
ปาฏิหาริย์​ดังกล่าวจึงเป็นเพียงสายลมเล็กๆ ที่พัดโชยความเย็นให้เธอได้ชื่นใจในบางเวลาเท่านั้น
ไม่ว่าในอนาคต​เธอจะยังปั่นต่อ หรือพอแค่นี้ แต่ที่แน่ๆ แผนนี้จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะในวันนี้เธอคือม้าตัวเต็งที่อยู่ในสายตาคนทั้งโลกไปแล้ว
#PlayNowThailand #khelnow #OlympicGames2020​

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา