18 ส.ค. 2021 เวลา 09:35 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ep.4 (ใส่หัวใจให้เรื่องราว) Art of Storytelling
สำหรับการเขียนบทภาพยนตร์ เมื่อเราได้ "ไอเดีย" มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะพัฒนาเป็น "เรื่องย่อ"
ซึ่ง เรื่องย่อ (Treatment) ของบทภาพยนตร์นั้น เหมือนกับเรียงความที่เขียนส่งคุณครูตอนเราเป็นนักเรียนนั่นเอง
ควรมีความยาวไม่เกิน 1 หน้า A4
สำหรับผู้เริ่มต้นอาจเริ่มจากสรุปย่อหนังที่เราดูลงในกระดาษ 1 แผ่น ต่อไปก็ให้เหลือครึ่งแผ่น และสุดท้ายเหลือแค่ประโยคเดียว
ส่วนในการเขียนบทภาพยนตร์จะเป็นการนำไอเดีย "หนึ่งคำ" หรือ "หนึ่งประโยค" มาพัฒนาให้เป็นเรื่องราวที่ยาวขึ้น
แล้วไอเดียจะกลายเป็นเรื่องราวได้อย่างไร?
บางคนอาจเขียนออกมาได้เลย และเป็นเรื่องที่สนุกด้วย แต่บางคนอาจไม่รู้จะเริ่มเขียนยังไง ไม่รู้จะไปต่อทางไหน
ลองมาดูหัวข้อหลักๆ 3 หัวข้อที่สามารถนำมาใช้เป็นจุดเริ่่มต้นในการพัฒนาบทภาพยนตร์ได้
1. แก่นเรื่อง หรือ ธีม (Theme)
คือ แนวคิดรวบยอดของเรื่องนั้น เช่น นิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะสอนว่า "การโกหกจะทำให้ไม่มีใครเชื่อเราในที่สุด"
โดยทั่วๆ ไปภาพยนตร์ในกระแสหลักจะสามารถสรุปธีมที่ชัดเจนออกมาได้ 1-2 ประเด็น ขึ้นกับมุมมองส่วนตัวของผู้ชมด้วย
แต่ในส่วนของคนเขียนบทควรจะมีธีมที่ชัดเจน 1 ธีม เพื่อเป็นหลักยึดให้เรื่องราวดำเนินไปสู่ธีมนั้น
ข้อดี คือทำให้ทิศทางชัดเจน
ข้อเสีย คือทิศทางชัดเจนเกินไป คาดเดาได้ง่ายจนอาจไม่สนุก
2. ตัวละคร (Character)
คือ ตัวละครนั่นแหละ
ภาพยนตร์ที่มีตัวละครเป็นจุดเด่น เช่น หนัง Super Hero, หนังประวัติบุคคล เป็นต้น
ผมคิดว่า "ตัวละคร" คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนเขียนบท เพราะทุกเรื่องขับเคลื่อนด้วยตัวละคร
ไม่ว่าตัวละครจะเป็น ปลา รถ ของเล่น สัตว์ แสงแดด ดวงดาว วิญญาณ ฯลฯ
มันจะถูกสวมทับด้วยความนึกคิดแบบมนุษย์ คือมี "ความต้องการ" ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ขับเคลื่อนเรื่องราว ยิ่งละเอียดลึก ยิ่งมีมิติ ยิ่งน่าติดตาม
3. เหตุการณ์ (Incidence)
คือ สถานการณ์ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2, เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด เป็นต้น
หรือสถานการณ์สมมติ เช่น รถบัสที่เต็มไปด้วยผู้โดยสารที่ถ้าความเร็วต่ำกว่า 50 mph แล้วรถจะระเบิด (Speed, 1994)
สถานการณ์มักจะมีอำนาจเหนือตัวละคร เพื่อให้ตัวละครต่อสู้ฟันฝ่าไปจนสำเร็จ
หรือบางครั้งเหตุการณ์อาจทำให้ตัวละครเรียนรู้และเติบโตขึ้น
ในการพัฒนาไอเดียไปสู่เรื่องย่อจนถึงบทภาพยนตร์ ทั้ง 3 หัวข้อนี้สามารถใช้เป็น "หัวใจ" หรือจุดเริ่มต้นได้
และเมื่อบทภาพยนตร์ (กระแสหลัก) เสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีทั้ง 3 หัวข้อนี้เป็นส่วนประกอบ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเริ่มเขียนอย่างอิสระโดยไม่อิงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ก็สามารถสร้างงานที่ดีได้
เพราะบางครั้งเรื่องราวอาจบอกเล่าตัวมันเอง ให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเรื่องราวที่เราเขียน แล้วค่อยนำมาขัดเกลาให้เฉียบคมขึ้น
*บทความนี้มีทั้งหมด 7 ep ติดตามต่อได้ใน ep ถัดไปนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา