27 ก.ค. 2021 เวลา 16:28 • ประวัติศาสตร์
ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ชวนขบคิด กรณีสวรรคต:
(ตอนที่ ๔ สุดท้าย)
ปลงพระชนม์เอง ?!
โดย FB Chaiyan Chaiyaporn
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตประเด็นสุดท้ายที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง จะพูดถึงในตอนนี้ คือ
ประเด็น. หนังสือกงจักรปีศาจ
และ
ข้อพิจารณาเรื่อง “ในหลวง ร.8 ปลง
พระชนม์เอง”
ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจนำไปสู่การขุดคุ้ยประเด็นโจมตีอื่น ๆ
พวกเราเขียนเรื่องราวนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกท่านพิจารณาร่วมกันเช่นเคย
ซึ่งพวกเราไม่ต้องการตั้งเป้าพุ่งไปที่ใครทั้งสิ้น
หนังสือ “กงจักรปีศาจ” นั้นหลายท่านน่าจะทราบดีว่าเป็นหนังสือที่ต้องห้ามในไทย โดยมีประกาศในราชกิจจินุเบกษา เล่ม 123 ตอนพิเศษ 73 ง วันที่ 27 มิถุนายน 2549 ว่า
“ด้วยปรากฏว่า สิ่งพิมพ์ ชื่อ “กงจักรปีศาจ” เขียนโดย Mr.Rayne Kruger แปลโดย เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ได้ลงโฆษณาข้อความอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
ดังนั้น
“เจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ห้ามการขาย หรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
จากประกาศฉบับนี้เองจึงน่าจะทำให้หนังสือกลับมาเป็นที่สนใจยิ่งกว่าเดิมและอาจทำให้เกิดความคิดว่า หนังสือเล่มนี้ต้องมีอะไรที่แสดงให้เห็นว่า “ขัดต่อต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี” เป็นแน่แท้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวกับกรณีสวรรคตด้วยแล้ว คนจะยิ่งอยากรู้อยากตาสว่างไม่น้อย!
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้โดยสรุปคือ Rayne Kruger เสนอว่าในหลวง ร.8 ทรงปลงพระชนม์เอง
แต่เป็นการสรุปขึ้นมาลอย ๆ โดยมิได้อ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรือนิติวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด
แต่เป็นการสรุปโดยนำข้อมูลมาเสนอว่า ที่พระองค์ปลงพระชนม์เองนั้น
เพราะ. พระสหายหญิงชาวสวิส. ซึ่งเป็นนักเรียนกฎหมายที่ชื่อว่า Marylene Ferrari ที่พระองค์มีความสัมพันธ์ด้วย
แต่พระบรมวงศานุวงศ์ไม่อาจยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และสหายหญิงคนนี้ได้
ดังนั้นเรื่องราวจึงเป็นไปในทำนองที่พระองค์ “น้อยใจ” และปลงพระชนม์เอง
ดังนั้นหากเราเชื่อเนื้อหาของกงจักรปีศาจแล้วก็กลายเป็นว่า “ไม่มีใครเป็นผู้ร้าย” ในคดีนี้เลย
กล่าวคือพ้นผิดทุกฝ่าย
ต่อจากนี้ไปจะเป็นข้อสังเกตของเราต่อหนังสือเล่มนี้
1. Rayne Kruger เป็นนักเขียนที่เคยมีผลงานออกมาแล้วก่อนหน้าที่หนังสือกงจักรปีศาจตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ.2507
นั่นหมายความหนังสือเล่มนี้จะต้องมีการรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงก่อนหน้า พ.ศ.2507
ประเด็นนี้จะไม่น่าสังเกตอะไรถ้า Prudence Margaret Leith ผู้เป็นภรรยาของ Kruger กล่าวว่า
เขามาที่ไทยครั้งแรกในปี พ.ศ.2505 (ค.ศ.1962) ซึ่งสัมภาษณ์โดย Freedom Against Censorship Thailand (FACT)
ภรรยาของเขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Kruger สนใจเรื่องการสวรรคตหลังมีข่าวในหนังสือพิมพ์หลังจากที่ในหลวง ร.9 เสด็จเยือนลอนดอน
และเมื่อ FACT ถามต่อว่า ในหนังสือเหมือนว่า Kruger จะสามารถเข้าถึง “วงใน” ได้เยอะมาก
ใครเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับเขา
Leith ตอบว่า ได้รับการอำนวยความสะดวกจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เธอก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ผู้หญิงคนนี้กลับยินดีช่วย Kruger ที่บินมาสืบเสาะเรื่องราวในไทยทั้งหมด!
2. Kruger ได้ระบุว่าเขาได้ไปถามพนักงานต้อนรับ (receptionist) ที่โรงแรมว่า เขาต้องการคนที่มีคุณสมบัติเก่งภาษาอังกฤษ มีเลือดเจ้า มีเสน่ห์ ไม่เชื่อในแนวคิดเทวราชา รวมไปถึงต้องใกล้ชิดกับชนชั้นปกครอง ไม่เกี่ยวข้องการเมือง สามารถเดินทางได้ และยินดีทำงานทั้งวันทั้งคืนและว่างตลอดทั้งเดือน
น่าอัศจรรย์ที่ 2 วันถัดมา พนักงานต้อนรับคนนั้นสามารถหาคนที่คุณสมบัติครบมาให้ Kruger ได้
พนักงานคนนี้ พวกเราไม่แน่ใจว่าเป็น แม่หมอที่ไหนอย่างไรก็มิทราบ!
3. Kruger ไม่รู้ภาษาไทย แต่กลับสามารถเขียนหนังสือโดยไล่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสุโขทัย ตลอดไปจนถึงราชประเพณีต่าง ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งคงได้รับความช่วยเหลือจากคนที่พนักงานต้อนรับไปหามาให้เขาได้ใน 2 วัน
และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวไว้ใน “Postscript (ปัจฉิมลิขิต) "กงจักรปีศาจ" ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน: ครูเกอร์เขียนถึงปรีดี ซึ่งเขาเพิ่งพบเป็นครั้งแรกในปี 2514” ว่า
“ในระหว่างการค้นคว้าและเขียน "กงจักรปีศาจ" ครูเกอร์ไม่เคยติดต่อหรือพบกับปรีดีเลย เพราะขณะนั้น ปรีดีลี้ภัยอยู่ในจีน และไม่เกี่ยวข้องด้วย”
และ “จาก Postscript นี้ ครูเกอร์ได้ยืนยันว่า เพิ่งพบปรีดีเป็นครั้งแรก ในปี 2514 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากปรีดี ย้ายจากจีนมาฝรั่งเศส”
แต่ Kruger กลับพูดถึง ปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือถึงขนาดที่รู้ว่าปรีดีชอบไปที่ Montmartre ซึ่งเป็นสถานที่พูดคุยในปารีส และบรรยายว่า
“แม้เขา [ปรีดี] ชอบสวมหมวก ดูดบุหรี่โกลัวส์ ซึ่งดูผิวเผินแล้วดูเหมือนว่าเขาจะถอดชีวิตจิตใจที่เป็นคนไทยไปแล้ว [...] หัวใจและสมองของเขานั้น ไม่เคยไปจากประเทศไทยเลย เขามีเจตจำนงอันแน่วแน่ ที่จะรับใช้และปกป้องประชาชนร่วมชาติของเขา”
ราวกับว่าเขาเคยพบเจอกับปรีดีมาก่อน!
4. รายชื่อหนังสือที่ Kruger เคยเขียนออกมานั้นมีดังนี้
1. Tanker (นิยาย) ตีพิมพ์ในปี 1952 จากประสบการณ์การเป็นทหารเรือของเขา
2. The Spectacle (นิยายอาชญากรรม) แต่งตีพิมพ์ในปี 1953
3. Young Villians with Wings (นิยายอาชญากรรม) ตีพิมพ์ในปี 1953
4. My Name is Celia (นิยาย) ตีพิมพ์ในปี 1954
5. The Even Kneel (นิยายอาชญากรรม) ตีพิมพ์ในปี 1955
6. Ferguson (นิยาย) ตีพิมพ์ในปี 1956
7. Goodbye Dolly Gray (สารคดี/วิชาการ) ตีพิมพ์ในปี 1959
8. The Devil's Discus (?) หรือ กงจักรปีศาจ ตีพิมพ์ในปี 1964
9. All Under Heaven (สารคดี/วิชาการ) ตีพิมพ์ในปี 2003
จะเห็นได้ว่าเขาเขียนนิยายมาตลอด โดยเพิ่งจะมาเขียนงานที่เป็นสารคดครั้งแรกเมื่อปี 1959
ซึ่งหนังสือหลายเล่มของเขานั้นใช้เวลาแต่งไม่เกิน 3 ปีทั้งสิ้น
ยกเว้น All under Heaven ซึ่งเป็นสารดคีเกี่ยวกับประเทศจีนที่ทิ้งช่วงไปนานราว 40 ปี
แต่สำหรับหนังสือ กงจักรปีศาจ ใช้เวลาหาข้อมูลทั้งหมดและเรียบเรียง โดยยึดจากคำสัมภาษณ์ของภรรยาว่าเขามาไทยในปี พ.ศ. 2505 ตีพิมพ์ พ.ศ. 2507 กลับใช้เวลาแค่ 2 ปี และมีความหนาราว 600 กว่าหน้าทั้งที่เขาไม่รู้ภาษาไทยและได้รับความช่วยเหลือจากหญิงปริศนาราวกับเทวดามาโปรด?
ส่วนเล่มสุดท้าย All Under Heaven นั้น ช่วงเวลาที่หายไปราว 40 นี้ Kruger ก็คงหาเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ว่าสารคดีเล่มนี้หน้า 432 หน้า แต่กลับใช้เวลาที่ยาวนานและทิ้งช่วงไปมากจนมีการตีพิมพ์ นี่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยก็มีการค้นคว้าอย่างจริงจัง
5. ผู้แปลหนังสือเล่มนี้คือ ร.อ. ชลิต ชัยสิทธิเวช พี่ชายของ ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปรีดี และปรีดีเคยใช้หนังสือเล่มนี้ต่อสู้คดีทางแพ่งกับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในคดีละเมิดอีกด้วย
6. กรณีที่ในหลวง ร.8 ดูจะเสียใจที่พระบรมวงศานุวงศ์จะรับไม่ได้กับความสัมพันธ์จนถึงปลงพระชนม์เองนั้นก็ไม่น่าเป็นไปได้
เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีกรณีของพระองค์จ้าจุลจักรพงษ์ก็เคยมีชายาเป็นชาวต่างประเทศ ที่ถึงแม้จะทำให้เกิดความงุนงงให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ก็ไม่ได้ไปกดดันจนทำให้เกิดปัญหาขุ่นเคืองระหว่างกันเลย
และ Kruger ได้กล่าวอีกว่า ในหลวง ร.8 ทรงกังวล (dread) เกี่ยวกับสถานะการเป็นกษัตริย์ของพระองค์ในอนาคต เมื่อรวมกับที่พระองค์ไม่สามารถแต่งงานกับพระสหายหญิงได้และไม่มีใครให้พระองค์หันหน้าเข้าหา พระองค์จึงจบชีวิตเสีย
โดยที่ Kruger ไม่คำนึงเลยว่าสายสัมพันธ์ที่ราชสกุลมหิดลนั้นแน่นแฟ้นกันเพียงใด และหากพระองค์กังวลจริงพระองค์ก็คงไม่เตรียมพระองค์ในการเป็นกษัตริย์และเสด็จพระราชดำเนินตามที่ต่าง ๆ เช่น เยาวราช ที่พระองค์และในหลวง ร.9 ช่วยประสานคนไทยและคนจีนเข้าไว้ด้วยกันเลย
ดังนั้นนี่เองน่าจะเป็นเหตุผลที่หนังสือเล่มนี้ถูกขึ้นบัญชีห้ามจำหน่ายจ่ายแจก เพราะเรื่องพระสหายนี้ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏแต่เรื่องราวกระทบกับในหลวง ร.8 โดยตรง
ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า
ถ้าสรุปแล้วเรื่องราวกรณีสวรรคตกลายเป็นว่า ในหลวง ร.8 ปลงพระชนม์เองแล้ว อาจจะนำไปสู่ประเด็นการขุดคุ้นเรื่องอื่น ๆ ถึงสาเหตุที่พระองค์ปลงพระชนม์เองนั้น
พวกเราเห็นว่าการจะพิสูจน์เรื่องราวใด ๆ ก็ตามต้องพิสูจน์ด้วยความจริง
ไม่ว่าพระองค์จะปลงพระชนม์เองหรือมีใครมาปลง หรือกระทั่งอุบัติเหตุแบบที่หลายคนเชื่อ
ถ้าหากข้อเท็จจริงเป็นตามนั้นก็ต้องยอมรับ
คำถามคือ เราพร้อมจะเผชิญกับความจริงหรือไม่ หรือต้องการให้มันคลุมเครือต่อไปเพื่อหยิบนำมาพูดกันทุกปี?
ถ้าหากมีใครมาพูดเรื่องเท็จ เราก็มีหน้าที่พิสูจน์หักล้างต่อไป
เพราะเราอย่าลืมว่า ประเด็นการถูกโจมตีนั้น ต่างฝ่ายต่างโดน ไม่มีฝ่ายใดโดนขุดโจมตีฝ่ายเดียว
สวัสดี
#ทุ่นดำทุ่นแดง
1
โฆษณา