28 ก.ค. 2021 เวลา 08:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ราชนาวีอังกฤษเยือนน่านน้ำไทยครั้งที่สองในรอบเกือบทศวรรษ: เรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์ ฝึกซ้อมทางทะเลร่วมกับเรือหลวงกระบุรีในทะเลอันดามัน
27 กรกฎาคม 2564
• ราชนาวีอังกฤษเดินเรือทั่วโลก มุ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา กองเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษ British Carrier Strike Group (CSG) นำโดยเรือหลวงควีนเอลิซาเบธ (HMS Queen Elizabeth) ประดับธงราชนาวีอังกฤษ เดินทางออกจากฐานทัพเรือพอร์ตสมัธในการออกปฏิบัติการครั้งแรก อนึ่ง เรือหลวงควีนเอลิซาเบธเป็นเรือรบขนาดใหญ่และทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมาของกองทัพเรืออังกฤษ โดยกองเรือบรรทุกเครื่องบิน CSG จะแล่นเรือกว่าสองหมื่นหกร้อยไมล์ทะเลจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ผ่านทะเลฟิลิปปินส์ และเข้าสู่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เป็นการเดินทางเยือนกว่า 40 ประเทศ
หลังจากนั้นวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้ให้การต้อนรับเรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์ (HMS Richmond) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษ CSG ที่มาเยือนเพื่อฝึกซ้อมทางการทหารในทะเลอันดามันร่วมกับเรือหลวงกระบุรีแห่งกองทัพเรือไทย การมาเยือนประเทศไทยของราชนาวีอังกฤษได้แสดงถึงการให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่ซึ่งสหราชอาณาจักรกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการลงนามการเจรจาการค้าร่วมกันในคณะกรรมการร่วมเศรษฐกิจและการค้า - The Joint Economic and Trade Committee (JETCO) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การมาเยือนของเรือหลวง HMS Richmond จึงแสดงให้เห็นถึงพันธกิจของทั้งสหราชอาณาจักรและประเทศไทยที่จะรับประกันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี ซึ่งเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ทางการค้าระดับทวิภาคีอันใกล้ชิดมากขึ้นของทั้งสองประเทศ
• ศูนย์รวมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางทะเล
เรือหลวง HMS Richmond รวมไว้ทั้งระบบล้ำสมัยและความสามารถในการปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอังกฤษ อวดโฉมขุมพลัง ความสามารถอันหลากหลาย และขีดความสามารถในการปฏิบัติการที่ใดก็ได้บนโลกของเรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์
รอยจารึกแห่งประวัติศาสตร์การเดินเรืออันยาวนานและสัมฤทธิ์ผลยิ่งของสหราชอาณาจักรสามารถสังเกตได้จากทุกองค์ประกอบบนเรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์ ตัวอย่างเช่นอุปกรณ์ต่อต้านเรือดำน้ำ VDS Sonar 2087 - Captas-4 และชุดระบบสื่อสารทางเรืออันสมบูรณ์แบบโดยบริษัทธาเลส (Thales) ซึ่งโซนาร์ 2087 ของธาเลสเป็นการผสมผสานระหว่างกันการทำงานที่มีเอกลักษณ์ของระบบโซนาร์แบบแอคทีฟ (Active) และแบบพาสซีฟ (Passive) โดยใช้คลื่นความถี่ต่ำ ที่ทำให้กองทัพเรือมีข้อได้เปรียบที่ไม่เหมือนใครในการตรวจจับภัยคุกคามใต้น้ำจากระยะไกล ในขณะที่ยังคงความสามารถในการพรางเสียงของเรือฟริเกตได้ดังเดิม จึงทำให้เมื่อปฏิบัติการร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ AW159 ติดโซนาร์ชักหย่อนแบบ FLASH dipping sonar และอาวุธปล่อยนำวิถี Lightweight Multirole Missiles (LMM) เรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์จะสามารถจำแนกประเภทการตรวจจับ ค้นหาตำแหน่ง การติดตาม และการโจมตีจากเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีขีดความสามารถขั้นสูงในการป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธทางอากาศและทางทะเล
เรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์มีระบบอำนวยการรบแบบ INTeACT จากบริษัท BAE Systems เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการของลูกเรือ ด้วยข้อมูลทั้งหมดตามที่พวกเขาต้องการในการติดตาม วิเคราะห์ และตอบสนองต่อภัยคุกคามในการต่อสู้ ตลอดจนความสามารถในการประสานงานทางด้านทรัพยากรในการปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การรวบรวมข่าวกรองและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งโดยอิสระหรือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือนานาชาติ นอกจากนี้ เรดาร์ตรวจการณ์ Artisan 3D ของบริษัท BAE Systems ยังสามารถตรวจจับวัตถุที่มีขนาดเล็กเท่าลูกเทนนิสที่กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่าความเร็วเสียงถึงสามเท่า ซึ่งอยู่ห่างออกไปมากกว่า 25 กิโลเมตรได้อีกด้วย และเรดาร์ตรวจการณ์ Artisan 3D ยังตรวจสอบและกำหนดเป้าหมายได้มากกว่า 900 รายการพร้อมกัน ตั้งแต่ระยะ 200 เมตร ถึง 200 กิโลเมตร และตัดผ่านสัญญาณรบกวนวิทยุได้ถึง 10,000 สัญญาณโทรศัพท์มือถือ
ในส่วนของขุมกำลังที่ใช้ขับเคลื่อนเรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์นั้น เรือใช้ระบบขับเคลื่อนไฮบริดด้วยเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Spey SM1C จากบริษัท Rolls-Royce จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องยนต์ดีเซล MTU 12V 4000 รุ่น M53 จำนวนสี่เครื่องในระบบเครื่องยนต์แบบ CODAG (Combined Diesel Electric & Gas) ส่วนเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือเป็นเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปทางทะเลรุ่นล่าสุดที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์เทอร์โบชาฟท์ LHTEC CTS800 จากบริษัท Rolls-Royce จำนวนสองเครื่องอีกด้วย
อากาศยานประจำเรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์เป็นเฮลิคอปเตอร์รุ่น AW-159 Wildcat ระดับไฮเอนด์รุ่นล่าสุดที่มีความสามารถทางยุทธวิธีอันเหนือชั้นซึ่งมาพร้อมกับความทนทานและขนาดของอากาศยานที่กะทัดรัด ผลิตโดยบริษัทเลโอนาร์โด ยูเค (Leonardo UK) โดยตัวอากาศยานดังกล่าวได้รับการออกแบบจากกรอบความคิดของความเป็นเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ทางทะเล มาพร้อมกับสมรรถนะและขีดความสามารถที่ดีเยี่ยมในการออกปฏิบัติการจากเรือสู่อากาศ รวมไปถึงขนาดกะทัดรัดซึ่งมีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติการจากดาดฟ้าเรือขนาดเล็ก
• ประวัติศาสตร์อันยาวนานของประสบการณ์ด้านวิศวกรรมกองทัพเรือในประเทศไทย
"เป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งศตวรรษทีเดียว ที่เทคโนโลยีของกองทัพเรืออังกฤษได้ให้การสนับสนุนกองเรือของกองทัพเรือไทย"
มาสซิโม มารินซี กรรมการผู้จัดการบริษัทธาเลส ประเทศไทย กล่าวว่า “ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างบริษัทธาเลส (Thales) กับกองทัพไทยมีมายาวนานกว่า 50 ปี และในวันนี้เราภูมิใจที่จะกล่าวว่าผลิตภัณฑ์และระบบของเรามีโอกาสได้รับใช้กองทัพเรือไทยกว่า 80% เมื่อสองปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จในการปรับปรุงเรือหลวงบางระจันที่ใช้ล่าทุ่นระเบิดให้มีความทันสมัย ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานและปรับปรุงขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยระบบปฏิบัติการจากธาเลส ความกว้างขวางของเทคโนโลยีของเราที่แสดงบนเรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนถึงความเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมทางเรือของบริษัทธาเลส ผมคาดหวังว่าระบบปฏิบัติการเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ในกองทัพเรือไทยได้อย่างสัมฤทธิ์ผลยิ่งเช่นเดียวกัน”
บริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) กำลังมีบทบาทมากขึ้นในไทยและทั่วทั้งอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และเมื่อมองถึงอนาคต บริษัท โรลส์-รอยซ์จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทัพไทย ผู้ค้าซัพพลายเชน รวมไปถึงประชาคมและอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะในการป้องกันประเทศ และด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ผนวกกับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องสำหรับกองเรือของลูกค้านั้น โรลส์-รอยซ์จะยังคงส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ประณีตที่สุด ปลอดภัยที่สุด และเปี่ยมไปด้วยสมรรถภาพแข่งขันสูงสุดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของทั่วโลกในการป้องกันภัยคุกคาม
บริษัท บีเออี ซิสเต็มซ์ (BAE Systems) มีความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศที่เข้มแข็งระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดเจนจากการที่กองทัพเรือไทยใช้งานแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPVs) ขนาด 90 เมตร จากบริษัท บีเออี ซิสเต็มซ์ จำนวนสองลำ โดยแบบเรือดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River ที่กองทัพเรือสหราชอาณาจักรใช้งานอยู่ในปัจจุบัน การที่บริษัทอู่กรุงเทพ ประเทศไทย ต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPVs) ของกองทัพเรือไทยมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของทักษะและขีดสมรรถภาพด้านวิศวกรรมทางเรือไทย และในทางกลับกันก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและเศรษฐกิจของไทยในวงกว้างอีกด้วย
อีกทั้งบริษัทเลโอนาร์โด ยูเค (Leonardo UK) มีความยินดีที่จะสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 ของกองทัพเรือไทยต่อไป โดยเฮลิคอปเตอร์ AW 159 ซึ่งเป็นอากาศยานปีกหมุนรุ่นใหม่ล่าสุดของ Super Lynx 300 ซึ่งมีทั้งสมรรถนะทั้งด้านต่อต้านเรือดำน้ำ รวมทั้งการต่อต้านเรือผิวน้ำและยานยนต์ภาคพื้นดิน และบริษัทเลโอนาร์โดแห่งสหราชอาณาจักรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเรือไทย และกองทัพไทยอีกต่อไป
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของวิศวกรรมกองทัพเรืออังกฤษมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังเป็นที่ประจักษ์จากการต้อนรับกองเรือบรรทุกเครื่องบิน Carrier Strike Group เข้าสู่น่านน้ำไทย ในฐานะสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่ทั้งสองมีร่วมกันเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง อันเอื้อผลอันดีต่อกันทั้งด้านความมั่นคงและมั่งคั่งในระดับภูมิภาค และระดับโลก
พันเอกโทนี่ สเติร์น ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในประเทศไทย กล่าวว่า
“การฝึกร่วมล่าสุดของเรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์และเรือหลวงกระบุรีที่ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญ รวมถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและยาวนานระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยในด้านการป้องกันและความมั่นคง กองเรือบรรทุกเครื่องบิน UK Carrier Strike Group แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงสมรรถภาพในระดับโลกของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศแห่งสหราชอาณาจักร และสหราชอาณาจักรจะยังคงสนับสนุนการให้ความร่วมมือในด้านป้องกันและความมั่นคงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งกับประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่น ๆ”
• เกี่ยวกับหน่วยงานราชการด้านการส่งออกอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและความมั่นคงของสหราชอาณาจักร:
หน่วยงานราชการด้านการส่งออกอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและความมั่นคงของสหราชอาณาจักรเป็นส่วนหนึ่งของกรมการค้าระหว่างประเทศ โดยเรามีหน้าที่รับผิดชอบ:
- ช่วยอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและความมั่นคงของสหราชอาณาจักรในการส่งออกความสามารถของตนด้วยความสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมทางการตลาด
- รักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลต่างประเทศเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันและความมั่นคงของอังกฤษ
- ทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมและภาคอุตสาหกรรมเพื่อประกันศักยภาพในการส่งออกให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันและความมั่นคง และมีส่วนสนับสนุนวาระความมั่งคั่งของสหราชอาณาจักร
เรือหลวงเอชเอ็มเอสริชมอนด์ (HMS Richmond)
ในนามของ DEFNET Group เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ เราจึงใช้โอกาสนี้ขอแสดงความขอบคุณสำหรับโอกาสในการร่วมงานกับสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และเรามีความยินดียิ่งที่จะสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวสารจากสถานทูตอังกฤษในโอกาสอื่นต่อไป
โฆษณา