28 ก.ค. 2021 เวลา 08:49 • สิ่งแวดล้อม
ปูทหารกับประติมากรรมบนพื้นทราย. ทำไมปูถึงปั้นทรายกันนะ
ภาพจาก https://picpost.mthai.com/view/45952
หากใครได้ไปเดินชิวๆ บริเวณหาดทราย ที่ผู้คนค่อนข้างบางตา หรือไม่มีคนเลย เคยลองสังเกตมั้ยว่ามีอะไรบางอย่างอยู่บนพื้นทราย ขยะหรือเปลือกหอย ก็ไม่ใช่ทั้ง 2 อย่าง แล้วมันคืออะไรหว่า ทุกคนคงเคยเห็นว่ามีก้อนทรายก้อนเล็กๆ ที่มีขนาดเท่าๆ กัน วางเรียงเป็นวงกลมหลายวงซ้อนกัน หรืออาจเป็นรูปแบบอื่นแล้วแต่ว่าจะจินตนาการเป็นรูปอะไร น่านแหละคือประติมากรรมบนผืนทรายหรืออีกอย่างหนึ่งที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า“ขี้ปูลม” นั่นเอง แต่ที่แท้จริงแล้ว มันไม่ได้เกิดจากปูลม แต่มันเกิดจากปูทหาร ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ปูทหาร (Soldier crab,Sand-Bubbler crab, Dotilla myctiroides) เป็นปูขนาดเล็ก กระดองกลม ค่อนข้างเรียบ สีชมพู ตาไม่อยู่ในเบ้าตา ก้านตายาว ไม่อยู่ในเบ้าตาขณะออกหากิน ก้ามยาว มีขนาดเท่ากันทั้ง 2 ข้าง ปลายก้ามหักงอลงสู่พื้นล่าง เป็นลักษณะสำคัญของปูกลุ่มนี้ พบได้ทั่วไปในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ชายฝั่งที่มีความเปียกชื้นตลอดเวลา ลักษณะที่ทำให้มีชื่อว่าปูทหารคือคาดว่าน่าจะมีผู้นำกลุ่ม เนื่องจากว่ามักจะพบเห็นปูชนิดนี้อยู่รวมกันเป็นฝูง และการขุดรูของปูทหาร จะมีลักษณะพิเศษ คือ จะเอาดินมาก่อเป็นชั้นบริเวณปากรู ลักษณะคล้ายกับบังเกอร์ของทหาร
ภาพจาก http://www.bwn.psu.ac.th
สำหรับประติมากรรมบนพื้นทราย หรือขี้ปู เกิดจากการกินอินทรีย์สารในตะกอนบนพื้นท้องทะเล โดยจะใช้ก้ามที่หักงอ หนีบตักเอาตะกอนดินส่งเข้าปาก แล้วใช้รยางค์ภายในปาก คัดแยกเอาซากอินทรีย์สาร และปั้นเอาดินทรายที่กินไม่ได้ออกมาทิ้ง สำหรับส่วนที่ทิ้งออกมานั้น หลายคนคงคิดว่ามันคือขี้ปู แต่ที่จริงแล้ว ก้อนทรายเหล่านี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ ว่า Pseudofecal Pellet หรือแปลแบบง่ายๆว่า “ขี้ปลอม” อ้าว!!แล้วไม่ใช่ขี้มันหรอกหรือ แล้วมันต่างจากขี้จริงอย่างไรล่ะ
ภาพจาก http://go-2-krabi.blogspot.com
สำหรับขี้หรือของเสียที่ขับถ่ายออกมาทุกชนิดต้องผ่านระบบทางเดินอาหาร แต่เนื่องจากว่าขี้ปลอมนี้ไม่ได้ผ่านระบบทางเดินอาหาร จึงยังไม่ใช่ขี้ที่แท้จริง ไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือบังเอิญของปูที่วางก้อนทรายเหล่านั้นให้ออกมาในรูปแบบต่างๆได้อย่างเป็นระเบียบ แต่มันก็เป็นความสวยงามอีกอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์มาให้มนุษย์อย่างเราๆที่เมื่อได้เห็นแล้ว เกิดคำถามในใจว่า มันเกิดจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่ออะไร เป็นต้น
ขอแถมอีกนิด สำหรับปูทหารในประเทศไทยที่พบมากมีอยู่ 2 ชนิดหลักๆ คือ Dolilla myctiroides (soldier.crab) ปูชนิดนี้พบในฝั่งอันดามัน และอีกชนิดคือ Dotilla wichmani (Sand Soldier.crab) พบในฝั่งอ่าวไทยและเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 ได้มีการค้นพบปูทหารชนิดใหม่ ที่หาดปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งเรียกกันว่า "ปูทหารยักษ์ปากบารา" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Mictyris thailandensis" โดยมักถูกจำสับสนกับปูทหารก้ามโค้ง หรือปูมดแดง ซึ่งออกหากินโดยการเดินขบวนบนหาดเช่นเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน (https://th.wikipedia.org/wiki)
แต่เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่หาดทรายมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการพัฒนาในด้านต่างๆ ทำให้ปูชนิดนี้หากลองเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนแล้วมันลดน้อยลงไปมาก หลายๆ คนคิดว่าก็ยังคงเห็นอยู่โดยทั่วๆ ไป ไม่น่าจะอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราละเลย ไม่สนใจดูแลรักษา รู้ตัวอีกทีมันก็ไม่เหลือให้เราได้ดูหรือศึกษาอีกต่อไป ฉะนั้นอย่าประมาทกับสิ่งที่เรายังเห็นว่ามันยังมีอยู่มากมาย เพราะในอนาคตสิ่งเหล่านี้ก็อาจหายไปจากเราก็เป็นได้
ขอขอบคุณคลิปดีๆจาก
ท่องเที่ยวสะดุดตา sadoodta
โฆษณา