28 ก.ค. 2021 เวลา 12:19 • สุขภาพ
เหตุใด จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดอาจมากกว่าที่รายงานกันทุกวัน?
การระบาดระลอก 3-4 ของโควิด-19 ในไทยได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลาหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ที่แต่เดิมเคยอยู่เพียงแค่หลักร้อยได้เพิ่มมาเป็นหลักพันต่อวัน จนล่าสุดกลายมาเป็นหลักหมื่นรายต่อวัน ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เคยอยู่เพียงแค่หลักหน่วยต่อวัน ก็ได้เพิ่มจนกลายเป็นหลักสิบ และล่าสุดเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักร้อยต่อวันในที่สุด
3
จำนวนผู้เสียชีวิตโควิด อาจมากกว่าที่รายงานกันทุกวัน?
เราได้เห็นภาพของคนที่เสียชีวิตตามชุมชน ตามร้านสะดวกซื้อ ตามข้างถนน บนสะพานลอย ในบ้าน ในรถแท๊กซี่ ยิ่งในช่วงหลังๆ ภาพเหล่านี้ยิ่งเริ่มปรากฏมาให้เห็นมากขึ้น และบ่อยขึ้นทุกวัน
7
แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับหลักร้อยต้นๆ จะดูน่าสะพรึงกลัวมากขนาดไหน แต่ยังมีความจริงที่น่าตกใจมากกว่าเสียอีก เพราะตัวเลขดังกล่าวนั้นเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง หรือ Tip of the Iceberg ของวิกฤติครั้งนี้เท่านั้น
ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากวิกฤติครั้งนี้ มีจำนวนมากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีการรายงานกันมากนัก
5
แนวคิดในประเด็นดังกล่าวนี้คือ เรื่องอัตราการตายส่วนเกิน หรือ Excess Mortality ซึ่งเป็นประเด็นที่ Bnomics เคยหยิบยกมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันแล้วตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาดระลอกสามใหม่ ๆ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
6
จากวันนั้น ถึงวันนี้ สถานการณ์ต่างๆ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงสมควรนำกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งอย่างยิ่ง
3
พาย้อนกลับไปมอง แล้วอัตราการตายส่วนเกิน (Excess Mortality) คืออะไร?
หากกล่าวโดยทั่วไป อัตราการตายส่วนเกิน หรือ Excess Mortality หมายถึงอัตราการตายที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อเทียบกับอัตราการตายคาดการณ์ ณ ช่วงเวลาเดียวกัน
1
อัตราการตายส่วนเกินรายประเทศ (Excess Death)
หากจะกล่าวให้สอดคล้องกับบริบทของวิกฤติโรคระบาดในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในช่วงที่เกิดวิกฤติการระบาดโควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติที่ไม่มีวิกฤติเกิดขึ้น
1
วิธีการคำนวณที่ใช้กันก็คือ การนำเอาตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ไปลบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวของจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาปกติ ก่อนที่จะเกิดการระบาด
1
วิธีการคำนวณการตายส่วนเกิน (Excess Death Measure)
สาเหตุที่ต้องมีการวัดอัตราการตายส่วนเกิน ก็เพราะว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่มีการรายงานกันอยู่ทุกวัน เป็นเพียงแค่ภาพส่วนเดียวเท่านั้น แต่อัตราการตายส่วนเกินนั้นสามารถสะท้อนถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ได้อย่างแท้จริง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มีผู้เสียชีวิตจากวิกฤติครั้งนี้ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รายงานกันทุกวันไม่สามารถครอบคลุมได้
1
บางประเทศมีหลักปฏิบัติที่ว่าจะรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ที่เสียชีวิตอยู่ที่บ้านจำนวนมากไม่ได้อยู่ในสถิติของทางการ
1
สถิติจำนวนการตายของพื้นที่ทั่วประเทศ
บางประเทศมีศักยภาพการตรวจที่ต่ำ ประชาชนไม่สามารถเข้ารับการตรวจได้ง่าย แต่ก็มีหลักปฏิบัติที่ว่าจะรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดเฉพาะที่มีการตรวจพบเชื้อแล้วเท่านั้น ทำให้ไม่ได้ครอบคลุมผู้เสียชีวิตที่เข้าไม่ถึงการตรวจ จนปรากฎออกมาเป็นการเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ แทน เช่น ด้วยโรคประจำตัว หรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
2
นอกจากนี้ วิกฤติครั้งนี้ได้ไปเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ เนื่องจากทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งหมด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ สถานที่ต่างๆ ถูกโยกย้ายไปเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ไม่ได้รับบริการทางการแพทย์อย่างที่ควรจะเป็น และทันท่วงที จนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
4
ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลต่างๆ ก็เริ่มประกาศไม่รับผู้ป่วย เพราะเต็มสรรพกำลังแล้ว ดังนั้น จึงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่า ผู้ป่วยโรคไตก็ไม่สามารถเข้าไปโรงพยาบาลเพื่อไปฟอกไตได้ และผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ ก็ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดที่ทันท่วงที จนสุดท้ายอาการหนัก ทวีความรุนแรงขึ้นมา และนำไปสู่การสูญเสีย
2
ประชาชนในเขตบางเขนจำนวนมากต่อคิวข้ามคืนหวังใช้บริการตรวจโควิดฟรี
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากทนพิษเศรษฐกิจจากวิกฤติครั้งนี้ไม่ไหวอีกด้วย
ภาพเหตุการณ์สลด ผู้เสียชีวิตบนข้างถนนพื้นที่ กรุงเทพฯ จากพิษโควิด
หากเราไปสังเกตตัวเลขอัตราการตายส่วนเกินของประเทศต่างๆ ในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันมากพอสมควร โดยมีหนึ่งในปัจจัยสำคัญขึ้นกับว่า ประเทศดังกล่าวฉีดวัคซีนให้กับประชากรตัวเองไปมากน้อยแค่ไหน เพราะจะมีนัยยะส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมการระบาด และอัตราการเสียชีวิตต่อไป
1
ตัวอย่างเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปเป็นจำนวนมากแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีอัตราการตายส่วนเกินที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยมีจุดพีคสูงสุดอยู่ที่ 47% ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดก็ลดลงมามากจนไม่มีอัตราการตายส่วนเกินเลย
1
กรณีของประเทศอังกฤษก็เช่นเดียวกัน มีอัตราการตายส่วนเกินที่ลดลงมาโดยตลอด จากการกระจายวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ยอดผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามเหมือนแต่ก่อนแล้ว เนื่องจากวัคซีนนั้นสามารถกันอาการป่วยหนัก กันตายได้
ในทางกลับกัน ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้น้อย และคุมโควิดไม่ได้ ก็มีอัตราการตายส่วนเกินที่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา อย่างเช่น บราซิล ที่มีอัตราการตายส่วนเกินสูงถึง 45% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่าน และใน เปรู ซึ่งเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัส “สายพันธุ์เอปซิลอน” ก็มีอัตราการตายส่วนเกินที่สูงเป็นอย่างมาก
2
หากเราหันกลับมามองประเทศไทย ภาพนี้ก็ได้เห็นชัดขึ้นอย่างมากในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา โดยในเดือนมิถุนายน ประเทศไทย มีจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 43,522 ราย เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตในช่วงเวลาปกติ ที่คำนวนจากเส้นแนวโน้มของ Expected Death ที่ 39,592 รายเท่านั้น ทำให้อัตราการตายส่วนเกินนั้นอยู่ที่ราว 9.9% หรือ 3,930 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็สูงกว่าถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขที่มีการรายงาน
8
เพราะการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ทางรายงานนั้นอยู่เพียงแค่ 992 รายเท่านั้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งหมายความว่ายังผู้เสียชีวิตอีก 2,938 ราย ที่ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเสียชีวิตไปเพราะอะไร เพราะอธิบายไม่ได้ทั้งจากโควิด หรือการตายส่วนเกินตามปกติ
3
เป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งของผู้เสียชีวิต 2,938 ราย คือผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ แต่ไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ เนื่องจากทรัพยากรต่างๆ ถูกโยกย้ายช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดหมด จนทำให้เขาอาการรุนแรง และเสียชีวิตไปในที่สุด บางส่วนก็อาจจะเป็นผู้ที่ตกหล่นไปจากการตรวจเชื้อโควิด ทำให้ไม่ได้รับการรักษา จนต้องเสียชีวิตไปในที่สุด
5
บางส่วนของผู้เสียชีวิต 2,938 ราย ยังรวมไปถึงผู้ที่ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงไป เพราะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว ไม่สามารถแบกรับภาระอันหนักอึ้ง การมีลมหายใจที่หมายถึง ยังคงมีค่าใช้จ่ายทุกวันในขณะที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย ทั้งยังต้องเผชิญกับการล็อคดาวน์ การปิดเมืองที่ไม่มีความหวังว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ได้อีกต่อไป
6
ตัวเลขทั้งหมดนี้ คือ ความสูญเสียที่แท้จริงที่วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างขึ้นมา มันไม่ใช่ความโชคร้าย หรือโชคชะตาที่ทำให้ใครหลายคนที่อาจมีชีวิตยืนยาวต้องมาจบชีวิตก่อนวัยอันควร แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ ควรจะต้องจับตามองอย่างยิ่ง
4
ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะ ยิ่งการระบาดยืดเยื้อ ทวีความรุนแรงขึ้นไปมากเท่าไหร่ ตัวเลขนี้ก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และท้ายที่สุดแล้ว ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่อะไรอื่นไกลเลย แต่คือ ชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน
3
#ผู้เสียชีวิต #จำนวนคนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข #อัตราการตายส่วนเกิน #Excess_Mortality
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics
3
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
1
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
2
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา