28 ก.ค. 2021 เวลา 20:09 • คริปโทเคอร์เรนซี
สรุปจาก 📝WhyItMatters EP.25 ทำไม “NFT” ถึงสำคัญ 🖼
======================
1. NFT คืออะไร
======================
[คุณเอ็ดดี้]
- NFT ย่อมาจาก Non-fungible token
- Token คือเหรียญหรือเงินตรา, Fungible คือการทดแทนการได้, Non คือไม่สามารถ
- Non-fungible token ก็คือเหรียญที่ใช้ทดแทนกันไม่ได้ ในแต่ละเหรียญก็มีรหัสหรือความสามารถที่เฉพาะตัว ไม่สามารถแบ่งแยกหรือซอยย่อยแบบเหรียญ Fungible token ทั่วไป
- NFT เป็น token ประเภทหนึ่งที่รันอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain
[คุณแมว]
- ถ้าวงการเกม จะมีเหรียญที่เป็น fungible token ที่อยู่ในเกม แล้วก็ยังมี semi-fungible token ย่อยลงไปอีก เช่น แร่หรือผลึกในเกม
- จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีเกิดขึ้นมานานแล้ว ครั้งแรกที่เห็นคือปี 2012-2013 ทำเป็น token เฉพาะทาง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เรียกว่า NFT มาเรียกจริงๆ น่าจะประมาณปี 2017 ตอนที่ CryptoKitties บูมขึ้นมา
- สมัยก่อนมีการสร้างอยู่บน Bitcoin blockchain ด้วยซ้ำ ก่อนที่จะย้ายมาที่ Ethereum blockchain
======================
2. สาเหตุที่ทำให้ NFT ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
======================
[คุณแมว]
- แพลตฟอร์มมันพัฒนาจนสามารถใช้งานได้จริง อย่างช่วงแรกที่เกิดมามันก็เป็นแค่คอนเซ็ปต์ การส่งเหรียญหากันยังช้าหรือส่งไม่ได้ ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ คล้ายๆ กับวงการ Decentralized finance พอแพลตฟอร์มมันเสร็จ แล้วคนเริ่มเห็นว่ามันใช้งานจริงได้ คนก็จะเริ่มเข้ามา จุดเปลี่ยนเลยที่ทำให้คนรู้จักมากขึ้นอยู่ที่ตอน CryptoKitties ซึ่งตอนนั้นมันคล้ายๆ กับว่าพอมีคนสร้างขึ้นมา พอคนเริ่มใช้แล้วเกิดปัญหา ก็มีการแก้ปัญหามาเรื่อยๆ เช่น พวกมาตรฐานของ token อย่างพวก coin จะรันอยู่บนมาตรฐาน ERC-20 บน Ethereum blockchain แต่ถ้ามาจับเอารูปภาพหรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็น NFT ใส่เข้าไปก็จะไปอยู่บนมาตรฐาน ERC-721 ก่อนหน้านั้นเคยอยู่บนมาตรฐานเดียวกันมาก่อน แต่มันมีปัญหาเรื่องของข้อมูล มันบีบเป็นคอขวด เลยมีการพัฒนามาตรฐานขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับข้อมูลตรงนี้ขึ้นมา
- พอปี 2019 ก็มีโปรเจคของ Enjin พัฒนา ERC-1155 ออกมาอีก แล้วก็จะมีเรื่องของ Fungible ที่ซ้อนอยู่ใน Non-fungible อีกที เรื่องของแร่หรือผลึกในเกม ก็จะใช้มาตรฐานตัวนี้ เพราะว่ามันสามารถ mint Non-fungible ได้หลายๆ ชิ้น ที่ซ้ำๆ กัน เช่น พวกการ์ดเกมที่เราอยากให้มันมีหลายใบ แต่มันเป็น non-fungible เขาก็จะย้ายมาใช้ ERC-1155
[คุณเอ็ดดี้]
- ที่มันได้รับความนิยมขึ้นมา ส่วนนึงมาจากคนที่มีเหรียญพวกนี้ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีคนทำกำไรจากเหรียญพวกนี้ได้ คนเริ่มใช้ Ethereum ซื้อ NFT พวกนี้ไว้ ซึ่งตอนนั้นเหรียญ Ethereum ก็ไม่ได้มีราคาแพงเท่าตอนนี้ พอคนเราเหล่านี้ที่ซื้อ NFT ตอนที่ Ethereum ยังไม่แพงมาก บวกกับที่มีโปรเจคอื่นๆ ขึ้นมา เช่น CryptoPunk และอื่นๆ ออกมาอีกมากมาย รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มมาถึงจุดที่คนรู้วิธีการซื้อ การเก็บ การใช้ Crytpo Wallet และรวมไปถึงการเติบโตของตลาดของ DeFi ก็ทำให้เกิดการเติบโตของ NFT แบบคู่ขนานกันมา
1
[คุณแมว]
- การเก็งกำไรก็มีส่วน อะไรที่มันเกิดใหม่คนก็จะชอบเข้าไปเก็งกำไร เป็นแรงจูงใจส่วนนึง
======================
3. กลไกการทำงานของ NFT
======================
[คุณเอ็ดดี้]
- พอพูดถึง NFT หลายๆ คนก็จะชอบนึกถึง Art เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่ส่วนนึงเท่านั้น ยังมีเกมที่ก็มีเม็ดเงินมหาศาล นี้คือยุคสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีสามารถทำให้ไฟล์ดิจิทัลสามารถเข้ารหัสและเอามาระบุต้นกำเนิด จำนวน time snap ในการสร้าง ซึ่งมันไม่เคยมีแบบนี้มาก่อนที่เราสามารถส่งต่อไฟล์จากคนสู่คน และไฟล์ไม่ได้อยู่ที่ต้นทางแล้วมาอยู่ที่ปลายทาง เป็นอะไรที่ใหม่มาก
- พอมาอยู่ในพาร์ทศิลปะ คนที่เป็นเจ้าของงาน เขาถือความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เต็มขั้น คนที่ซื้อไป ด้วยการซื้อผ่าน smart contract เมื่อเงินเข้าไปสู่ creator ที่สร้างงานแล้ว ไฟล์ NFT ก็จะวิ่งเข้าสู่กระเป๋าของผู้ซื้อ พอมันทำได้ง่าย ก็เกิดการซื้อขายกันอย่างมากมาย เพราะว่าไฟล์มันสามารถโยกย้ายถ่ายเท และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ด้วยว่าเป็นยังไง
[คุณแมว]
- คุณสมบัติหลักของ NFT คือการระบุตัวตนและแสดงความเป็นเจ้าของของดิจิทัลไฟล์ เป็นช่องว่างที่อินเทอร์เน็ตขาดหายไป การที่เราอยากเป็นเจ้าของไฟล์แล้วโดนก็อปไปตลอด และไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของไฟล์ที่แท้จริง พอ blockchain ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น NFT ทำให้สิ่งนี้สามารถทำได้และช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ ต่อให้คนก็อปไปเรื่อยๆ แต่เราก็ยังสามารถยืนยันแสดงความเป็นเจ้าของอยู่ได้
- เปรียบเสมือน Bitcoin ก็มาช่วยปิดช่องว่างของการเป็นเงิน หรือการส่งมูลค่าที่แท้จริงได้บนอินเทอร์เน็ต เพราะเมื่อก่อนเราส่งเงินก็เป็นข้อมูลดิจิทัลที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์ธนาคาร แต่พอ Bitcoin พัฒนาออกมา เราก็สามารถส่งมูลค่าที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้จริงๆ โดยที่มูลค่านั้นไม่ได้ถูกก็อปปี้หรือว่าเปลี่ยนแปลงได้ เป็นการปิดช่องว่างที่เราขาดอยู่
- ยุคของ Blockchain เลยมีคำที่เรียกว่า Internet of Money หรือ Internet of Value จากเมื่อก่อนที่เป็น Internet of Information คือเราสามารถส่ง value หากันได้ ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถทำได้
======================
4. ประเด็นเรื่องของลิขสิทธิ์
======================
[คุณเอ็ดดี้]
- ลิขสิทธิ์ของศิลปินที่สร้างงาน คนจะรู้ก็ต่อเมื่อเขาเปิดเผยตัว ถ้าเขาไม่เปิดเผยตัวก็ไม่มีทางรู้เหมือนกันว่าเขาเป็นเจ้าของกระเป๋า เพราะตอนที่สร้างเหรียญ (mint) ก็ต้องสร้างด้วยการที่ไปเชื่อมกับกระเป๋า (wallet) เพราะคนที่ทำธุรกรรมต่างๆ ก็ต้องจ่ายค่า gas fee ค่าธรรมเนียมในการสร้างเหรียญเหล่านี้ขึ้นมาผ่านกระเป๋าพวกนี้ ถ้าเขาเปิดเผยตัวว่าเขาเป็นศิลปินผู้สร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา และหมายเลขกระเป๋านี้ก็เป็นกระเป๋าของเขา คนที่ซื้องานก็สามารถเช็คตรวจสอบหลังรหัสงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ได้ ว่าเป็นโค้ดเดียวกับที่เจ้าของโพสต์บอกหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ใช่แสดงว่าคุณอาจจะไม่ได้ซื้อจากเขาโดยตรง อาจจะเป็นภาพไฟล์ทั่วไปที่ใครก็ไม่รู้มาทำเป็น NFT เป็นความเสี่ยงอย่างนึงที่ต้องระวัง
1
- เมื่อศิลปิน mint หรือสร้างงานเหล่านั้นมาและประกาศว่าเขาเป็นคนสร้าง ก็เป็นการบ่งชี้ว่างานนี้เป็นของเขา ส่วนความสามารถของคนที่ซื้อไป เขาไม่สามารถเอางานนั้นไปปริ้นใส่เสื้อ หรือไปทำอะไรได้อีก มันไม่ใช่ลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จแบบนั้น ความเป็นลิขสิทธิ์ยังอยู่ที่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอยู่ แต่ผู้ที่ซื้อไปก็มีความเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์ของ token นั้นๆ ซึ่งถูกโอนเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของผู้ซื้อ สามารถเอาไปขาย ส่งต่อ หรือจะเผาทิ้งทำลายก็ได้ สามารถทำได้หมดเลย
[คุณแมว]
- ถ้าจะทำซ้ำ ดัดแปลง ก็สามารถไปคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ แต่ไม่สามารถไปทำเองโดยพลการได้ เป็นกฏหมายสากล อาจจะมีการไปคุยกับศิลปินได้ว่าอยากจะขอ collab เอางานชิ้นนี้ไปใส่ sound สร้าง mint ออกมาเป็นงานใหม่ แล้วมาแบ่งผลประโยชน์กัน ถ้าดีลกันลงตัวก็สามารถทำได้
[คุณเอ็ดดี้]
- มีกรณีที่ขายงาน NFT ไปพร้อมกับลิขสิทธิ์เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน สามารถระบุไว้ในเงื่อนไข smart contract ของ token ตัวนั้นๆ เลย สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ อันนี้คือข้อดีที่จะพลิกโลกวงการอะไรก็ตามที่ครั้งนึงเคยติดเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์
[คุณแมว]
- ประเทศไทยเรามีการอนุญาตเรื่องของลายเซ็นดิจิทัลแล้วว่า มีผลทางกฏหมายกับเอกสารดิจิทัล แปลว่า smart contract อันนี้ก็จะมีผลทางกฏหมายเหมือนกัน ถ้าจะพิสูจน์ว่าอันนี้เป็นของเราจริงๆ ก็สามารถให้เขาดูใน smart contract ได้ ไม่ต่างกันกับการเขียนสัญญาบนไฟล์ PDF
======================
5. คนที่เหมาะกับการเอา NFT ไปใช้งาน
======================
[คุณแมว]
- แบ่งออกมาเป็นสองยุค ยุคแรกคือเป็น Geek Tech หน่อยๆ คนที่จะเข้ามาต้องศึกษาด้าน blockchain ก่อน และมีความเชื่อใน Bitcoin และ Blockchain ว่ามันจะมา disrupt วงการ เพราะตอนนี้เรายังอยู่ในยุคเริ่มต้น ยังไม่ได้เป็น mainstream เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับความเสี่ยง แต่ถ้าคุณศึกษาแล้วมี vision ว่ามันจะมา disrupt วงการ พวกนี้ก็คือคนกลุ่มแรกที่เหมาะสมที่จะเข้ามา มันเป็นความรู้ใหม่ คุณก็ต้องศึกษาตั้งแต่ Bitcoin, Blockchain ศึกษาการใช้งาน Ethereum, กระเป๋าเงิน (wallet) ว่ามันทำงานยังไง พอยุคถัดไปถ้ามันเข้า mainstream แล้วก็จะเป็นเรื่องของทุกคน เหมือนการที่ปัจจุบันเราใช้ Facebook, Twitter กัน
[คุณเอ็ดดี้]
- คนที่อยากได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีคือคนที่เหมาะ ถ้าไม่สนใจหรือไม่ได้อินกับมันมาก็เสียเวลาเปล่า
======================
6. NFT กับวงการต่างๆ
======================
*1. งานศิลปะ
[คุณแมว]
- วงการแรกเลยคือวงการศิลปะ เพราะเป็นวงการที่ยังไม่เคยถูก disrupt สมัยก่อนวงการศิลปะจะไปตกอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว ที่มีความมั่นคงทางการเงินเขาก็จะเสพงานศิลปะ อย่างในอิตาลีก็จะมีความคุ้นเคยกับงานศิลปะ แต่ในบ้านเราถือว่าเป็นเรื่องใหม่ อย่างผมสมัยก่อนก็จะไม่ได้ซื้องานศิลปะ หรือแม้แต่ของสะสม เราก็ไม่เข้าใจ แต่พอ NFT เข้ามามันช่วยทลายกำแพงให้คนทั่วไปก็สามารถเข้ามาในวงการศิลปะได้มากขึ้น คนที่ไม่เคยซื้องานศิลปะมาก่อน ก็จะต้องลองซื้อ ลองศึกษาดูว่าทำไมคนถึงเสพงานศิลปะ เป็นเรื่องของรสนิยม ความชอบส่วนตัว มีหลายอย่าง งานศิลปะเลยมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้
*2. โลกเสมือน/เกม
[คุณแมว]
- ถัดไปก็คือเรื่องของ Metaverse หรือโลกเสมือน ซึ่งมีมานานแล้วอย่างเกม ซึ่งเมื่อก่อนก็จะเป็นข้อมูลดิจิทัล อย่าง Ragnarok เราก็พยายามซื้อของที่อยู่ในดิจิทัลอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่ blockchain จะมา เช่น การปั๊ม ID หรือการเอาเงินจริงๆ ในเกมมาซื้อขายกัน พอตัว NFT เข้ามาก็มาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้
*3. ของสะสม
[คุณเอ็ดดี้]
- ของสะสมในยุคเก่า เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามันผ่านมือใครมาบ้าง สมมุติสะสมขวดโค้กใบหนึ่ง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผ่านมือใครมาบ้าง ถูกสร้างปีไหน อย่างมากก็อาจจะแค่อ่านที่มันปั๊มไว้ในขวด แต่ด้วยเทคโนโลยี blockchain มันบอกได้หมดเลยว่าผลิตเมื่อไหร่ วินาทีไหน กี่ขวด ผ่านมือใครมาบ้าง เคยขายมากี่ครั้ง ราคาเท่าไหร่ บอกข้อมูลทุกอย่างละเอียด
[คุณแมว]
- สามารถระบุแหล่งกำเนิด อย่างขวดโค้ก มันอาจจะมีของปลอมได้ การที่จะระบุก็คือต้องเอา serial ไปเทียบกับโรงงานผลิต แต่พอเป็น NFT เราสามารถ search ในอินเทอร์เน็ตและดูไปที่ตัวตนทาง ซึ่งสามารถเชื่อถือได้เลย นี่เป็นประโยชน์ของมัน
*4. การ์ดเกม
[คุณแมว]
- การ์ดเกมก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ บ้านเราก็จะมีพวกร้านบอร์ดเกมที่สะสมการ์ด Magic: The Gathering หรือ Dungeons & Dragons เขาก็เริ่มที่จะทำเป็น NFT แล้ว ก็จะง่ายต่อการระบุและสะสม มีสิ่งที่เล่นกับมันได้อีกเยอะ การ์ดเกมเหมือนเป็นอุตสาหกรรมที่แยกกับเกมธรรมดาเลย
*5. วงการกีฬา
[คุณแมว]
- ของสะสมในวงการกีฬาอย่าง NBA Top Shot หรืออย่างวงการฟุตบอลก็เริ่มมีแล้ว
[คุณเอ็ดดี้]
- งานศิลปะส่วนใหญ่จะสร้างอยู่บน Ethereum blockchain แต่ NBA Top Shot จะสร้างอยู่บนเน็ตเวิร์กที่แยกออกมาของ Dapper Lab เป็นบริษัทที่ทำที่เหรียญแยกออกมา ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ทำ Cryptokitties มีความน่าเชื่อถือมาก เพราะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทำ NFT ขึ้นมาบนโลกใบนี้
- วงการที่บริษัทนี้เลือกจับ จะเป็นวงการที่มีมูลค่าสูง อย่างวงการบาสเก็ตบอลก็เป็นกีฬาที่มีเม็ดเงินมหาศาล รวมถึงการ์ดบาสเก็ตบอลซึ่งมีแต่เดิมอยู่แล้ว ซึ่งบางใบมีราคาสูงถึงขนาดซื้อบ้านซื้อรถได้
- แต่พอมาอยู่ใน NBA Top Shot แล้ว สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ มันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว เป็นช็อตที่ดังค์หรือชู้ตสวยๆ ดูแล้วเพลิน การซื้อก็เป็นแบบกาชาปองหรือเปิดซองสุ่ม โดยที่เราไม่รู้ว่าจะได้การ์ดอะไร ความตื่นเต้นก็มีตั้งแต่ที่เราจ่ายเงินไป 9 ดอลลาร์ แล้วก็มีลุ้นทีละใบ จะมีดนตรี มีจังหวะตอนเปิด ถ้าโชคดีได้นักกีฬาที่ดังหน่อย ก็สามารถเอาไปขายต่อใน marketplace ที่อยู่ในเว็บในราคาที่แพงขึ้นถึง 40-50 ดอลลาร์ หรือบางใบอาจจะถึงหมื่นหรือแสนก็ได้
- เป็นตลาดที่ยิ่งใหญ่มาก ช็อตพวกนี้ก็คือช็อตจริงๆ ที่นักกีฬาเล่นในสนาม ได้ลิขสิทธิ์แท้จาก NBA ยิ่งรุ่นไหนที่เป็น limited edition อาจจะออกมามีแค่ไม่กี่ใบ ในขณะที่แฟนบาสฯ มีหลายล้านคนทั่วโลก ก็ทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปได้เรื่อยๆ แต่บางครั้งก็จะเปิดแล้วได้สิ่งที่เรียกว่าเกลือ หรือใบที่ไม่มีมูลค่าเท่าไหร่
*6. Domain Name / Wallet Address
[คุณแมว]
- มีเอาไปใช้ในเรื่องของ Ethereum name service หรือที่อยู่ของกระเป๋าตัง ซึ่งปกติจะเป็นที่อยู่ ที่เข้ารหัสไว้ที่อ่านไม่ออก คราวนี้ก็จะบริการทำให้ตัวหนังสือนั้นเป็นชื่อที่เราอยากได้และบันทึกลงไปเป็น NFT หรือมีอย่างโดเมนที่สามารถเชื่อมเป็นเว็บไซต์ เป็นชื่อ .crypto แล้วก็ลิงก์กับเว็บไซต์จริงๆ เป็นโดเมนเนมในรูปแบบของ NFT พวก Metamask ก็เริ่มมีซัพพอร์ตเรื่องของ address แบบเป็นชื่อขึ้นมาแล้ว
[คุณเอ็ดดี้]
- เป็นอีกตลาดที่ใหญ่มากชื่อดังๆ อย่าง Elon, Jordan, Michael, Eddie ตอนนี้ราคาวิ่งไปสูงมากแล้ว ก็มีกลุ่มที่พุ่งเป้าไปจองชื่อพวกนี้เหมือนกัน หรือแม้แต่ชื่อในเกมมีการเอาไปขายเหมือนกัน
*7. การลงทุน
[คุณแมว]
- เรื่องของการลงทุนก็เริ่มมา มีแพลตฟอร์ม DeFi ที่เริ่มประกันความเสี่ยงของเงินลงทุนด้วยการที่เราไปซื้อประกันในรูปแบบของ NFT เวลาเราเอาเงินไปฝาก ในอนาคตก็จะมีอะไรที่มันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
- ในวงการ DeFi มี decentralized exchange ที่ชื่อว่า Uniswap พัฒนาเป็นเวอร์ชั่น 3 เอา NFT เข้าไปประยุกต์ใช้กับ DeFi อย่างปกติเวลาเราฝากคู่เหรียญเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อรับผลตอบแทนปกติก็จะมีแค่สองเหรียญ แต่พอเป็น NFT สามารถจะออกแบบได้เลยว่าต้องการคู่ไหน และผลตอบแทนเท่าไหร่ สัดส่วนเท่าไหร่ สามารถ customize และกดบันทึกในรูปแบบ NFT ได้ เป็นเหมือนสไตล์การลงทุนของเราเองได้เลย Index Fund ก็เริ่มเข้ามาใช้ NFT เหมือนกัน
[คุณเอ็ดดี้]
- มี NFT ที่เราสามารถเอาไป stake เพื่อรับผลตอบแทนได้แล้วด้วย สมมุติ NFT มีมูลค่า 100 ดอลลาร์ สามารถเอาไปค้ำประกันในระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และเราก็จะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมเวลามีคนมาแลกเปลี่ยนหรือโอนเหรียญ
[คุณแมว]
- NFT ที่เป็นของสะสม บางทีแต่ละชิ้นก็เป็นหลายล้านบาท แต่ถ้าเราอยากเป็นเจ้าของด้วย ก็จะมีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Fractional แบ่งเป็นส่วนย่อยและเปิดขายให้คนทั่วไปเข้ามาซื้อ ทำให้คนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของภาพร่วมกัน ส่วนย่อยๆ ของพวกนี้ก็ไปอยู่ในตลาด DeFi กับเก็งกำไรแล้วเหมือนกัน สามารถซื้อขายได้เหมือนเหรียญเลย มีแพลตฟอร์มนึงที่เพิ่งออกมาชื่อ Unicly ที่เริ่มเป็นกระแส ให้คนเอา NFT เข้าไปแตก ให้คนเข้ามาซื้อ แล้วเอาไปฝากเพิ่มสภาพคล่อง เป็น token ที่มีตัว U นำหน้า เป็นเหมือน fungible token เลย ในอนาคตก็น่าจะมีแนวนี้เยอะขึ้นอีก ก็จะมีความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มขึ้นทุกวัน
*8. เชื่อมกับสินค้าในโลกความเป็นจริง
[คุณแมว]
- เริ่มมาที่เห็นชัดเจนคือคุณ MetaKovan ที่เป็น collector อันดับต้นๆ ของโลกที่ซื้องานของ Beeple ไป ก็มีการลงทุนในเรื่องของ physical good เป็นเสื้อที่ฝั่งชิป อ่านแถบแม่เหล็กที่มีข้อมูล NFT สามารถแสกนขึ้นเป็นไฟล์ดิจิทัล NFT เข้าในกระเป๋าเงินเราได้เลย แต่ก็มีเสื้อจริงๆ ไปใส่ด้วย คือการเชื่อมกันระหว่างของสินค้าในโลกแห่งความเป็นจริงกับดิจิทัล NFT เริ่มมีเจ้าใหญ่ๆ เข้ามาเล่นอย่าง Gucci, McDonald, Nike ก็เริ่มเข้ามา จริงๆ เรื่องพวกเข้าไปในโลกดิจิทัลมีมานานแล้ว อย่างในเกมก็มีโฆษณา Nike แต่เดี๋ยวนี้สมมุติเขาจะขาย Nike ในเกม แล้วรองเท้านั้นก็มีของจริงคู่กัน มีหมายเลขเชื่อมกันด้วย
[คุณเอ็ดดี้]
- ของผมก็เคยตอนเริ่มช่วงแรกๆ คนยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง NFT ผมเลยมีการขาย NFT พร้อมให้งานที่ปริ้นจากต้นฉบับใส่กรอบส่งไปให้ด้วย เป็นที่ระลึก วงการ Art Toy ก็เริ่มมีซื้อ NFT และส่งงานตัว Art Toy ไปให้ด้วย NFT สามารถไปเล่นได้อีกหลายวงการเลย
*9. อื่นๆ
[คุณแมว]
- NFT จะ disrupt ไปทุกวงการ ทั้งเรื่องของโปรโมชั่น บัตรสะสมคะแนน การโฆษณาสินค้าต่างๆ หรือตั๋วคอนเสิร์ตก็มีทำแล้วใน Decentraland เป็นตั๋วให้ซื้อแล้วไปดูใน virtual land
- Core หลักของ NFT ก็คือ marketplace ซึ่งปัจจุบันมันยังคล่องไม่พอ ตลาด NFT ก็เริ่มเยอะขึ้นแล้ว แต่ก็ยังพัฒนาได้อีกเยอะ แพลตฟอร์มที่สามารถ mint หรือสร้าง NFT ขึ้นมา ก็เริ่มมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
======================
7. คำแนะนำสำหรับคนอยากเริ่มต้น
======================
[คุณเอ็ดดี้]
- ถ้าอยากได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้ เข้าไปอ่านหาความรู้ตามเว็บไซต์หรือเพจ อย่าง Cryptotica ก็เป็นเพจที่ดี ลองศึกษาไปเรื่อยๆ แล้วจะเกิดความอิน แล้วลองมาจอยกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand ก็จะมีเพื่อนๆ มาช่วยแชร์ประสบการณ์ มีสอน How to ตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มแรกเลยคือต้องมีกระเป๋า Crypto Wallet ที่ชื่อว่า Metamask อันนี้คือสิ่งแรกที่ต้องมีและทำเข้าใจ
[คุณแมว]
- เราต้องเข้าใจหลักการทำงานของมันก่อน จะได้มั่นใจ เพราะตอนที่เราซื้อแรกๆ ก็จะเสียวๆ ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนว่ามันทำงานยังไง มีข้อควรระวังอะไรบ้าง
======================
8. ข้อควรระวังเกี่ยวกับ NFT
======================
[คุณเอ็ดดี้]
- วงการไหนก็ตามที่มีเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะมีพวกมิจฉาชีพเข้ามาเยอะ อยากให้ระวัง ตั้งแต่เรื่องการทำความเข้าใจเรื่องกระเป๋าเงิน การโอนผิด chain ก็เกิดขึ้นแทบทุกวัน อยากจะย้ำเตือนอีกทีว่าใครอยากเข้ามาในวงการนี้แล้วสร้างงานศิลปะต้องโอนอยู่ใน chain “ERC-20” ตรงนี้ขอย้ำเลย เพราะมีคนโอนผิดทุกวัน
- แพลตฟอร์ม Foundation ที่เปรียบเสมือนสยามพารากอนหรือหอศิลป์ ซึ่งสามารถขายงานในราคาที่สูงได้ เวลาไปโพสต์อะไรในบางที่ อาจจะมีคน direct message ไปหาเพื่อหลอกขาย invite สิทธิ์ในการเข้าถึงแพลตฟอร์ม Foundation เริ่มเห็นมีคนโดนหลอกให้โอนเงินเพื่อแลกกับ invite แล้ว ต้องระวังเพราะอาจจะโดนหลอกได้
- ถ้ามีคนส่งอะไรมาที่เป็นลิงก์แปลกๆ ให้ตรวจสอบดีๆ อย่าไปไว้ใจง่ายๆ เพราะบางครั้งถ้าเราเผลอไปเปิดไฟล์พวกนี้ จะโดนมัลแวร์หรือโค้ดอะไรบางอย่างที่อาจจะมาซ่อนอยู่ในคอมพิวเตอร์หรือมือถือ แล้วแอบดึงเอารหัสของ Crypto Wallet ไป แล้วเงินก็จะหายไปทั้งหมด อยากให้ระวังด้วย
======================
9. ฝากส่งท้าย
======================
[คุณแมว]
- Marketplace ที่ผมติดตามอยู่และค่อนข้างเชียร์คือตัว Enjin แพลตฟอร์มนี้เริ่มบุกเบิกตัว NFT มาตั้งแต่ปี 2018 เป็นคนสร้างมาตรฐาน ERC-1155 ที่ Ethereum ก็ยอมรับมาตรฐานนี้เข้าไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้กำลังระดมทุนบน Coinlist อยู่ เรื่องของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Efinity ซึ่งสร้างอยู่บน Polkadot Chain แต่จะทำเป็นแบบเบ็ดเสร็จบนกระเป๋าเงิน หมายความว่าถ้าเรา mint ผลงานแล้วไปอยู่บนแพลตฟอร์มของ Enjin จะสามารถ cross มาที่ Ethereum ได้ด้วย แต่ถ้าเราเล่นบน Enjin หรือ Efinity เอง เขาโฆษณาว่าค่า mint และค่าส่งหากันบน marketplace จะฟรี การซื้อขายกันบนนั้นเหมือนเป็น layer 2 ของ Ethereum อีกที เชื่อว่าคนจะติดใจแพลตฟอร์มนี้กันมาก เพราะว่าจากที่ผมลองใช้มันเร็วมาก และมีสิ่งที่เรียกว่า beam คือเป็น QR Code เวลาจะส่ง NFT หากัน สามารถแสกน QR Code เหมือนส่งเงินได้เลย เร็วมาก อยากให้ลองติดตามตัวนี้ด้วย
- NFT บางครั้งเป็นเรื่องของปรัญชา เป็นเรื่องของแพสชั่นด้วย ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาด้วยความโลภ อยากได้เงิน จะต้องมาดูก่อนด้วยว่ามันเหมาะสำหรับเราหรือเปล่า เพราะมันค่อนข้างยากสำหรับคนใหม่ในการทำความเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปถ้าคุณมีความพยายาม มันเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างโอกาสให้คุณได้อย่างมหาศาล ตอนนี้ยังเป็นยุคแรกๆ เหมือนการเข้าไปสร้างเพจ Facebook ในยุคบุกเบิก เป็นการเปิดโลกใหม่ ซึ่งตอนนี้มันยังไม่สาย แต่คุณก็ต้องศึกษาให้หนักหน่อยในการที่จะคว้าโอกาสตรงนี้ไว้
[คุณเอ็ดดี้]
- มันจะไม่มีความหมายเลย ถ้าคุณฟังจบแล้วไม่ take action ผมว่าการเข้าถึง NFT มันไม่ได้ยากแล้ว ยกตัวอย่าง NBA Top Shot แค่เข้าเว็บและเรียนรู้ ราคาการ์ดขั้นต่ำก็แค่ 2-3 ดอลลาร์ ถูกกว่ากาแฟบางแก้วอีก ภายหนึ่งสัปดาห์นี้ถ้าคุณยังไม่ได้เริ่มมี NFT สักหนึ่งชิ้น วันนี้ที่เราคุยกันมาจะไม่มีความหมายเลย เพราะฉะนั้น อยากให้ทำทันที ทำความรู้จักมัน หาข้อมูล เรียนรู้วิธีโอนเงินให้ปลอดภัย พอมีความรู้ความเข้าใจในระดับนึง ไม่ต้องรอให้พร้อม เพราะคำว่าพร้อมไม่มีอยู่จริง อย่างผมก็ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่อยู่ตลอดทุกวัน เมื่อคุณรู้ระดับนึงแล้ว ให้ลงมือเลย
- ก่อนจะสร้างงานอาจจะลองเริ่มจากการซื้องานสักหนึ่งชิ้นก่อน เข้าไปในเว็บ Opensea หรือในกรุ๊ป NFT and Crypto Art Thailand ไปดูว่าเพื่อนเขาขายงานอะไรกันบ้าง อาจจะลองซื้อดู แต่อย่าลืมทำ money management ด้วย เพราะบางทีพอเริ่มซื้อแล้วจะเพลิน เหมือนเด็กหลุดเข้าไปในร้านขายของเล่น ให้คุณเริ่มเลย เรียนรู้กับมัน แล้วก็ลุยเลย ไม่อยากให้ตกรถกัน
======================
Speaker:
[@eddie_paradorn] คุณเอ็ดดี้ Eddie Paradorn
- Crypto Artist & NFT Investor
- ผู้ก่อตั้งกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand
[@cryptotica] คุณแมว
- เจ้าของเพจ Cryptotica
======================
Moderator:
[@panit] พี P Panit
- เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา
======================
Date: 14 June 2021 (21:00-22:10)
Club: วันนี้..สรุปมา
#ClubhouseTH #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #NFT #CryptoArt #NFTThailand #CryptoArtThailand #NFTandCryptoArtThailand #Cryptotica #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา
โฆษณา