29 ก.ค. 2021 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เทคนิคเลือกหุ้น สายปัจจัยพื้นฐาน
แบบ Top-Down Approach
#นักลงทุนมือใหม่ ที่เพิ่งเปิดพอร์ตหุ้นสำเร็จ มักจะมีคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอ “จะซื้อหุ้นตัวไหนดี” “หาหุ้นเลือกหุ้นตัวแรกยังไง” “หุ้นในตลาดมีเยอะจนไม่รู้จะเลือกซื้อตัวไหน”
วันนี้เราจะมาอธิบายถึงเทคนิคการเลือกหุ้น ไม่ว่าจะเป็น #มือใหม่ หรือ #มือเก๋า ก็สามารถเอาวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้หาหุ้นให้เหมาะกับตัวเองได้เหมือนกันนะ
เทคนิคการวิเคราะห์คัดเลือกหุ้นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สำหรับนักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน มี 2 วิธี คือ Top-Down Approach และ Bottom-Up Approach ทั้งสองวิธีนี้จะมองปัจจัยที่หลากหลาย แต่แตกต่างกันตรงที่วิธีหนึ่งมองจากภาพใหญ่ไปหาตัวหุ้น ส่วนอีกวิธีมองจากตัวหุ้นไปหาภาพใหญ่
ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับเทคนิคการเลือกหุ้น โดยใช้วิธี Top-Down Approach ก่อนนะ
การวิเคราะห์แบบ Top-Down Approach แปลว่า วิเคราะห์จากบนลงล่าง โดยมองจากภาพใหญ่ที่สุดลงมาที่ภาพเล็ก (ตัวหุ้น) เป็นการวิเคราะห์การลงทุนโดยพิจารณาจากเศรษฐกิจโดยรวมก่อน และใช้ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มากำหนดขอบเขตการลงทุนให้แคบ เพื่อหาหุ้นแนวโน้มดี น่าสนใจลงทุนในที่สุด
เทคนิคเลือกหุ้น สายปัจจัยพื้นฐาน แบบ Top-Down Approach
เริ่มแรก...ดูจากภาพใหญ่ที่สุด คือ การวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Economic Analysis)
เป็นการวิเคราะห์วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งแนวโน้มระยะยาวและระยะสั้น ทั้งเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิเคราะห์วัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ภาษีต่างๆ ว่าจะมีผลกระทบต่อแต่ละอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด
ภาพรองลงมา คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Analysis)
เป็นการวิเคราะห์วงจรอุตสาหกรรม (Industry Life Cycle) ประเมินการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม มองภาพรวมและอนาคตของแต่ละอุตสาหกรรมว่าจะมีแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตเป็นอย่างไร มีอุตสาหกรรมใดที่คาดว่าจะเติบโตเป็นขาขึ้น ซึ่งหลังจากที่วิเคราะห์เศรษฐกิจแล้วก็จะรู้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากภาพรวมของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ทำให้เราได้กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน
ภาพสุดท้าย คือ การวิเคราะห์บริษัท (Company Analysis)
เป็นการวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกบริษัทที่ควรลงทุน ซึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งก็จะมีหุ้นอยู่จำนวนมาก อาจจะเริ่มจากคัดเลือกหุ้นที่เราสนใจเพียงจำนวนหนึ่งก่อน เช่น เลือกจากหุ้นที่รู้จัก เลือกจากหุ้นที่เป็นอันดับต้นๆของกลุ่ม เป็นต้น หลังจากนั้นก็นำหุ้นที่อยู่ใน Watch List ของเรามาวิเคราะห์ทั้ง 2 ด้าน คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis)
การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) เช่น แนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการในอนาคต เรื่องราวการเติบโต ความสามารถ/ความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร การผลิต การบริการ การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) จะวิเคราะห์จากงบการเงินในอดีตและปัจจุบันของบริษัท ทั้งงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด รวมถึงดูอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น ROE ROA อัตรากำไรสุทธิ เป็นต้น
เมื่อได้หุ้นตัวที่เราสนใจมากที่สุดแล้ว ก็นำมาประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น (Fair price) และเมื่อได้ราคาที่เหมาะสมแล้วก็เริ่มต้นลงทุนซื้อหุ้นนั้นได้เลย
#สรุป การวิเคราะห์คัดเลือกหุ้น แบบ Top-Down Approach เป็นการมองจากภาพใหญ่ระดับเศรษฐกิจลงมาสู่ที่ภาพเล็กระดับบริษัท โดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาช่วยทำให้ขอบเขตการลงทุนแคบลง และได้หุ้นที่น่าสนใจลงทุนตามภาพรวมของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ จากนั้นจึงนำมาคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นแล้วนำมาเปรียบเทียบกับราคาตลาด เพื่อดูว่าราคาตลาดของหุ้นตัวนั้นสูงเกินกว่าราคาที่แท้จริง หรือถ้าราคาต่ำกว่าก็ควรจะซื้อหุ้นตัวนั้น
ข้อดีของการเลือกหุ้นโดยวิธี Top-Down Approach คือ มองเห็นภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจ ช่วยให้เราสามารถปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงได้ รวมถึงช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกกลุ่มอุตสาหกรรม เลือกหุ้น และแบ่งสัดส่วนการลงทุนได้ดีขึ้น
แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ เราอาจจะคาดการณ์เศรษฐกิจผิดทาง ทำให้เลือกลงทุนผิดและอาจจะขาดทุนได้ ดังนั้น เราจึงควรติดตามและอัพเดตภาวะเศรษฐกิจอยู่เรื่อยๆ หากไม่เป็นไปตามที่คาดไว้จะได้ปรับการลงทุนได้ทัน
ฝากติดตามเพจ Cashury - เพจความรู้พื้นฐานด้านการเงินการลงทุน
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
🔸YouTube Channel: https://www.youtube.com/cashury
โฆษณา