29 ก.ค. 2021 เวลา 05:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"รัฐบาลฟินแลนด์มองว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะว่าทุกโรงเรียนดีเท่ากัน แล้วเค้าทำได้จริง ไม่ใช่แค่คำพูด" - ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย
ประโยคดังกล่าวเป็นประโยคที่ทำให้เรารู้สึกมีพลังขึ้นมาที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อผลักดันมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กในสังคมให้ดียิ่งขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ซึ่งประสบกับปัญหาโควิด 19 มาแล้วเกือบ 2 ปี ปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กที่ต้องเติบโตมาในสภาวะสังคมที่มีโรคระบาด และเศรษฐกิจตกต่ำ
ช่วงเวลา 2 ปีนี้เด็กหลายคนได้สูญเสียช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสร้างพัฒนาการ รวมถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ในอนาคต
เรื่องที่แย่กว่าคือ แม้แต่ทักษะที่ไม่ต้องเสียเงินก็ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมี หลายครอบครัวด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทางวัฒนธรรมที่จำเป็น เด็กบางคนต้องประสบกับความบกพร่องทางวัฒนธรรมเพราะขาดการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีทักษะพื้นฐานเหล่านั้นได้ มีเพียงเด็กจากครอบครัวเพียบพร้อมเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนทักษะเหล่านี้ที่บ้าน
ซึ่งผลกระทบมันจะไม่ได้ส่งผลแค่เฉพาะตัวเด็กเอง แต่มันส่งผลกระทบถึงสังคม เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงศักยภาพในการพัฒนาประเทศ
จินตนาการดูว่าตอนนี้เราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ที่มีประชากรเด็กจำนวนน้อยกว่า ในขณะเดียวกันเด็กเหล่านั้นก็ได้รับการผลักดันน้อยในเรื่องของการเรียนรู้ แล้วเค้าจะเติบโตขึ้นมาจะมีคุณภาพกันแค่ไหน สังคมในตอนนั้นมันจะเป็นยังไง อัตราการมีลูกของคนที่มีงานหรือคนชนชั้นกลางที่ตระหนักถึงการมีลูกเมื่อพร้อมเท่านั้นก็น้อยลง หรือเลือกที่จะไม่มีเลย หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่แต่งงานมีคู่ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีมากขึ้นไปอีก คนที่พร้อมก็ผลักดันเต็มที่ คนที่ไม่มีก็คือไม่มีเลย
ดังนั้นถ้ายังไม่มีใครสนใจเรื่องผลักดันการเรียนรู้และให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางการศึกษาของนักเรียน ประเทศเราก็ไม่อาจพัฒนาได้อย่างแน่นอน เพราะคนไม่มีคุณภาพ
โฆษณา