4 ส.ค. 2021 เวลา 08:17 • กีฬา
ส่องมูลค่าเหรียญทองโอลิมปิก แต่ละชาติเปย์ฮีโร่นักกีฬาแค่ไหน
เหรียญรางวัลโตเกียว 2020 / Olympics
ทันทีที่ "เทนนิส" นักเตะสาวไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกแรกได้ในโตเกียว 2020 เงินอัดฉีด 10 ล้านบาทก็คงไม่หนีจากกระเป๋าไปไหนตามเกณฑ์ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และถ้าใจเย็นสักหน่อยรอแบ่งจ่ายได้ เธอจะได้รับเงินรางวัลมูลค่ารวม 12 ล้านบาทภายใน 4 ปี ส่วนนักฮีโร่เหรียญเงินจะได้รับ 7.2 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาทลดหลั่นกันไป
นี่คือเงินรางวัลที่รัฐบาลไทยเตรียมไว้ให้ฮีโร่โอลิมปิก
### รัสเซีย ###
ในรัสเซีย นักกีฬาแนวหน้าจะมีสถานะพิเศษในสังคม เป็นที่รู้จักยกย่อง เป็นดาวดวงเด่นในแวดวงสังคม จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะเห็นพวกเขาอยู่ในจอแก้วหรือตามป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ทั่วประเทศ แต่หากนับเป็นเม็ดเงินที่ตัวนักกีฬาได้อาจจะดูไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไหร่นัก
ครั้งนี้รัฐบาลรัสเซียตั้งเงินอัดฉีดฮีโร่เหรียญทองไว้อยู่ที่ 4 ล้านรูเบิลหรือราว 1.8 ล้านบาท เหรียญเงินอยู่ที่ราว 1.1 ล้านบาท และเหรียญทองแดงราว 760,000 บาท เท่ากับที่เคยตั้งไว้สำหรับลอนดอน 2012 และริโอ 2016 ซึ่งถือว่าลดลงมาอย่างมากเมื่อเทียบกับระดับความเปย์ในช่วงปี 2008 ที่ฮีโร่ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 1 แสนยูโรหรือเกือบ 4 ล้านบาท
พัฒนาการเงินอัดฉีดฮีโร่โอลิมปิกของสหภาพโซเวียตและรัสเซีย / Sport Express
### อดีตสมาชิกโซเวียต ###
เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจากกลุ่มประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตแล้วเงินอัดฉีดของรัสเซียในมหกรรมกีฬาครั้งนี้แทบจะรั้งท้ายกว่าเพื่อน
ในกลุ่มประเทศนี้ ดูเหมือนว่าจอร์เจียจะเป็นประเทศที่ใจป้ำที่สุด เสนอเงินรางวัลให้ถึง 322,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 12.5 ล้านบาท ตามมาด้วยคาซักสถาน 8.2 ล้านบาท และอาร์เซอร์ไบจาน 8.15 ล้านบาท
มูลค่าเหรียญทองโอลิมปิกในกลุ่มประเทศอดีตสมาชิกโซเวียต (ในภาพเรียงอันดับจากจอร์เจีย, คาซักสถาน, อาร์เซอร์ไบจาน, อุซเบกิซสถาน, มอลโดวา, ลิทัวเนีย, เบลารุส, ยูเครน, คีร์กิซสถาน, รัสเซีย และทาจิกิสถาน) / Настоящее Время
### อาเซียนเปย์หนัก ###
ในแถบบ้านเรา ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นนักกีฬาจากอาเซียนคว้าเหรียญทองโอลิมปิกกลับบ้าน ทุกเหรียญที่ได้มาจึงถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ
ครั้งที่แล้วที่ริโอ 2016 สิงคโปร์เพิ่งจะได้เหรียญทองแรกของประเทศจากกีฬาว่ายน้ำด้วยผลงานของโจเซฟ สคูลลิ่ง ผู้ช็อกโลกด้วยการเฉือนชนะตำนานโอลิมปิกไมเคิล เฟ็ลปส์และสร้างสถิติใหม่ในโอลิมปิก เขาได้รับเงินรางวัลจากรัฐบาลจากการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งนี้เป็นเงินกว่า 24 ล้านบาท
อินโดนีเซียก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าไทย เมื่อครั้งที่แล้วแจกเงินฮีโร่เหรียญทองแบดมินตันคู่ผสมไปราว 12.5 ล้านบาท
มาเลเซียยังไม่เคยได้เหรียญทอง แต่มีข้อมูลว่ารัฐบาลได้ตั้งเงินรางวัลไว้เกือบ 8 ล้านบาท
ส่วนฟิลิปปินส์เพิ่งได้เหรียญทองแรกในรอบ 97 ปีที่เข้าร่วมโอลิมปิกจากฮิดิลิน ดิอาซ นักยกน้ำหนักทีมชาติในปีนี้ก็ได้ข่าวว่าทางรัฐบาลและนักธุรกิจเสนอเงินอัดฉีดไว้แล้วกว่า 40 ล้านเปโซ (ประมาณ 26 ล้านบาท) พร้อมทั้งเลื่อนยศราชการ ที่พักคอนโดหรู รถใหม่ สิทธิ์เติมน้ำมันฟรี และอีกมากมายรอเธออยู่ที่บ้านเกิด
### เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง ###
ไม่ใช่ฮีโร่โอลิมปิกทุกประเทศจะได้รับเงินอัดฉีดตอบแทนความทุ่มเท บางประเทศเช่นสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สวีเดน หรือโครเอเชียไม่ได้เงินรางวัลจากรัฐบาลเลยสักแดงเดียว ทว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับตอบแทนในฐานะนักกีฬาฮีโร่ของประเทศคือความภูมิใจและเกียรติยศที่จะเป็นที่กล่าวขานต่อไปในประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดของพวกเขา
ที่มา:
โฆษณา