Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6
•
ติดตาม
29 ก.ค. 2021 เวลา 09:55 • ประวัติศาสตร์
การขนส่งทางอากาศและการบินในรัชกาลที่ ๖
ทราบหรือไม่? สนามบินแห่งแรกของไทยอยู่ที่สยามสแควร์
1
แรกมีการขนส่งทางอากาศ พ.ศ. ๒๔๖๕
การเดินอากาศไทยเริ่มมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อบริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางอากาศ ทั้งภายในและต่างประเทศ หลายคนอาจคิดว่าสนามบินดอนเมืองคือสนามบินแห่งแรกของไทย แต่ความจริงแล้ว เรามีสนามบินแห่งแรกมาตั้งแต่ ๑๑๐ ปีก่อน แถมยังอยู่ใจกลางเมืองในเวลานี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ไทยเรายังสามารถผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องบินใช้เองมาแล้วเป็นชาติแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังการบินครั้งแรกของโลกโดยสองพี่น้องตระกูลไรท์ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ เพียง ๗ ปี ชาร์ลส์ ฟาน เดน บอร์น นักบินชาวเบลเยียมก็ได้มาเปิดการแสดงการบินเป็นครั้งแรกในสยามประเทศโดยใช้สนามม้าวังสระปทุมเป็นที่จัดการแสดงในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เขาได้เดินทางแสดงการบินในเอเชียเพียงสามประเทศเท่านั้นคือที่กวางเจา ฮ่องกง และสยาม
เที่ยวบินสาธิตเที่ยวบินแรกในสยาม ณ สนามม้าวังสระปทุม
ครั้งนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการบินครั้งแรกในสยามที่ราชกรีฑาสโมสร ด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่งในกิจการด้านการบินมานับแต่นั้น
เพียงทศวรรษเดียวนับจากวันที่พี่น้องตระกูลไรท์นำเครื่องบินลำแรกขึ้นสู่ท้องฟ้า สยามก็สามารถมีกิจการการบินได้เป็นผลสำเร็จ ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบินอันจะนำมาพัฒนาและป้องกันประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารสามนายเดินทางไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๔๕๔ และก่อตั้งกิจการการบินในกองทัพขึ้น โดยได้สั่งซื้อเครื่องบินเบรเกต์แบบปีกสองชั้น ๓ ลำ และ เครื่องบินนิเออร์ปอร์ท แบบปีกชั้นเดียว ๔ ลำ และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้บริจาคเงินซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์อีก ๑ ลำ มีทหารทั้งสามนายที่สำเร็จวิชาการบินเป็นผู้ทดลองบินและส่งเครื่องบินมายังประเทศไทย และเริ่มแผนกการบินใน พ.ศ. ๒๔๕๖ โรงเก็บเครื่องบินตั้งอยู่หลังโรงเรียนพลตำรวจและใช้สนามม้าสระปทุมหรือราชกรีฑาสโมสรเป็นสนามบิน
1
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโรงเก็บเครื่องบิน พ.ศ.๒๔๕๗
สนามบินสระปทุมหรือสนามม้า ตรงบริเวณสยามสแควร์ในปัจจุบันนี้ จึงเป็นสนามบินแห่งแรกของไทย
สยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการใช้เครื่องบิน และการบินก็เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไทยในหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ ยุทธศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือแม้แต่เวชศาสตร์
1
อากาศยานลำแรกของสยาม คือ เครื่องบินเบรเกต์ (Breguet XIV)
ตั้งแต่การคมนาคมที่มีการสร้างสนามบินใหม่ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๗ เพื่อขยายอาคารกองบิน โรงเก็บเครื่องบิน และโรงเรียนการบิน ซึ่งเป็นที่มาของท่าอากาศยานดอนเมืองในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางวิศวกรรมของไทยเวลานั้น คือการสร้างโรงงานต่อเครื่องบินโดยฝีมือคนไทยที่สามารถประกอบเครื่องบินเบรเกต์ปีกสองชั้นได้
ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ การบินของไทยยังช่วยสร้างความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ดังเห็นได้จากที่ประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ ได้ระดมทุนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ในการจัดซื้อเครื่องบินเพื่อใช้ประโยชน์ในบ้านเมืองโดยพร้อมเพรียงกัน อาทิ เมืองภูเก็ต เมืองฉะเชิงเทรา เมืองมหาสารคาม เมืองนครราชสีมา เมืองจันทบูร แม้แต่พ่อค้าชาวจีนก็ยังร่วมบริจาคเงินซื้อเครื่องบินให้กองทัพด้วย
1
หนังสือที่ระลึกในการเยี่ยมกรมอากาศยาน พ.ศ.๒๔๖๕
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบกขณะนั้น ทรงพระวินิจฉัยถึงการที่มณฑลมหาสารคามร่วมกันบริจาคเงินบำรุงกองทัพอากาศว่า “...ประชาชนในมณฑลนี้เห็นประโยชน์ของการบินอันเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองอย่างแน่แท้ ประจักษ์ว่าประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ดเต็มไปด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยบำรุงกำลังของชาติให้เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่สักแต่กล่าวด้วยวาจาว่ารักชาติ...”
พระนาม และ รายนามผู้สมบททุนจัดซื้อเครื่องบิน
ข้าราชการมณฑลร้อยเอ็ดและประชาชนตลอดจนผู้ต้องขัง ร่วมมือกันถางวัชพืชเพื่อเป็นพื้นที่สร้างสนามบินมหาสารคาม และได้ยื่นขอให้ราชการจัดแสดงการบินต่อกระทรวงกลาโหมใน พ.ศ.๒๔๖๕ การจัดแสดงการบินครั้งนั้น มีการรับคนขึ้นบินเป็นรอบด้วย นับว่าชาวมหาสารคามเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ได้นั่งเครื่องบินตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อน ชาวมหาสารคามได้ร่วมกันบริจาคเงินบำรุงการบินของไทยอีกจำนวนหนึ่งจนกรมอากาศยานได้จารึกชื่อบนเครื่องเบรเกต์ที่เอาไว้ใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นว่า มณฑลร้อยเอ็ด ถึง ๙ ลำ
ไปรษณีย์อากาศของไทยเริ่มขึ้นในเวลานี้เอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ มีนครราชสีมาเป็นศูนย์กลาง การเดินอากาศไปรษณีย์สายแรกของไทยเริ่มที่เส้นทางนครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ตามพระดำริของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อครั้งเสด็จไปทรงตรวจราชการที่มณฑลภาคอีสานและมณฑลนครราชสีมา พระองค์ได้เสด็จโดยเครื่องบินจากจังหวัดนครราชสีมามาลงที่สนามบินจังหวัดมหาสารคาม มีบันทึกรายงานว่า “...แทนที่จะไปมัวเดินทางเกวียนอยู่ตั้ง ๑๐ วัน ทั้งมีนิยมว่าในการที่จะถือเงินทองจำนวนมากไปมา ไปทางเครื่องบินเป็นที่ปลอดภัยดีกว่าไปทางเกวียน มีข้อแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในภาคอีสานนี้ราษฎรรู้จักเครื่องบินก่อนรถยนต์ เพราะเครื่องบินได้ขึ้นมาแสดงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ แล้ว ไม่ช้านักก็เดินอากาศไปรษณีย์ แต่รถยนต์เพิ่งได้มีขึ้นมาเป็นครั้งแรกต่อใน พ.ศ. ๒๔๖๖...”
ดวงตราอากาศไปรษณียากร เริ่มใช้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕
การลำเลียงขนส่งไปรษณีย์ สินค้า กับกิจการไปรษณีย์อากาศ
นับได้ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นความเจริญทางการคมนาคมและการขนส่งรุดหน้าไปมาก ขนาดที่ว่าเครื่องบินยังไปถึงภาคอีสานก่อนรถยนต์เสียอีก ใน พ.ศ. ๒๕๖๘ มหาสารคามมีสนามบินแห่งที่สอง เป็นสนามบินสายอากาศไปรษณีย์เพื่อเป็นสนามบินสำรอง หลังจากมีสนามบินแห่งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ครั้นมีรถไฟสายนครราชสีมาและอุบลราชธานี การคมนาคมระหว่างสองจังหวัดดีขึ้น กิจการไปรษณีย์อากาศจึงได้ยกเลิกไปใน พ.ศ. ๒๔๗๒
การบินไม่เพียงแต่ช่วยขนส่งไปรษณีย์ สินค้า และ ผู้โดยสารเท่านั้น แต่ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ การบินของไทย ยังได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์อีกด้วย เมื่อครั้งเกิดไข้ทรพิษและอหิวาตกโรคที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องบินกรมอากาศยานทหารบกออกเดินทางจากสนามบินหนองบัว นครราชสีมา พร้อมแพทย์ กับยาและเวชภัณฑ์ ๑๒๐ กิโลกรัม ลำเลียงไปบรรเทาทุกข์ได้ทันท่วงที และยังทำหน้าที่ลำเลียงขนส่งผู้ป่วยอีกด้วย
เครื่องบินพยาบาล แบบเบรเกต์ ๑๔ ขัตติยนารี ๑
พระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบิน ก่อให้เกิดคุณูปการมหาศาล นับว่าทรงเป็นบุพการีแห่งบุพการีกองทัพอากาศอีกชั้นหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ส่งนายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (ต่อมาคือพระยาเฉลิมอากาศ) ร้อยเอก หลวงอาวุธลิขิกร (ต่อมาคือพระยาเวหาสยานศิลปะสิทธิ์) และร้อยโททิพย์ เกตุทัต (ต่อมาคือ พระยาทะยานพิฆาต) ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการบินและกลับมาเป็นครูฝึกการบินให้กับนักบินชาวสยาม นายทหารทั้งสามท่านนี้ ตามประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่าเป็นบุพการีแห่งการบิน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงภาคภูมิพระราชหฤทัยในกิจการการบินของไทยยิ่งนัก ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสเป็นพยานแห่งน้ำพระราชหฤทัยว่า “...โรงงานของกรมนักบินทหารบก ได้สามารถสร้างเครื่องบินเองได้ด้วยฝีมือคนไทยแท้ ๆ ฉะนี้ ก็ควรนับว่าเป็นข้อยินดีในความเจริญของทหารบกของเราแล้วส่วนหนึ่ง...”
7 บันทึก
16
12
7
16
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย