30 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Weightlifting Fairy Kim Bok-joo : ความเสมอภาคทางเพศในการแข่งขันโอลิมปิก
แม้ว่าข่าวสถานการณ์โควิดจะทำให้ทุกคนรู้สึกหดหู่และกังวลใจ แต่อย่างน้อยก็ยังมีข่าวดีจากน้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดสาววัย 23 ปี ที่ได้คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 เหรียญแรกให้คนไทยได้ชื่นชม
Weightlifting Fairy KIM BOK-JOO ความเสมอภาคทางเพศในการแข่งขันโอลิมปิก
หากใครที่ยังอินกับการแข่งขันโอลิมปิกอยู่ Bnomics อยากแนะนำซีรีส์เรื่อง Weightlifting Fairy Kim Bok Joo ซึ่งดัดแปลงเรื่องราวมาจากชีวิตจริงของนักกีฬายกน้ำหนักเหรียญทองทีมชาติเกาหลีจางมิรัน (Jang Mi Ran) เดินเรื่องโดย คิมบ๊กจู นักกีฬายกน้ำหนักสาวตัวเก็งลงคัดโอลิมปิกที่มีร่างกายบึกบึนกว่าผู้หญิงทั่วไป เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ดำเนินอยู่ภายในมหาวิทยาลัยกีฬา ทำให้เราได้เห็นภาพหลังฉากของนักกีฬาแต่ละประเภทได้เป็นอย่างดี
ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์หลายๆ อย่างที่ญี่ปุ่นอยากจะสื่อให้ทั้งโลกรับรู้ อย่างที่เราทราบกันดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ยึดถือระบบอาวุโสและยังคงมีกรอบแนวคิดแบบปิตาธิปไตยอยู่ แต่ในครั้งนี้ญี่ปุ่นพยายามเชิดชูประเด็นความเสมอภาคทางเพศมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการปลดอดีตประธานคณะกรรมการจัดงานหลังจากพูดเหยียดเพศหญิง การเลือกคุณนาโอมิ โอซากะ หญิงสาวลูกครึ่งเฮติ-ญี่ปุ่น เป็นผู้ถือคบเพลิงไม้สุดท้าย
นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสหญิงระดับโลก ผู้ถือคบเพลิงไม้สุดท้ายในพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิก 2021
ครั้งนี้ มีนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 175 คน และนี่ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งโอลิมปิกที่มีนักกีฬาหญิงข้ามเพศลงแข่งอีกด้วย
ลอเรล ฮับบาร์ด นักยกน้ำหนักทีมชาตินิวซีแลนด์ นักกีฬาหญิงข้ามเพศที่ลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก
Bnomics จึงอยากจะชวนผู้อ่านทุกท่านไปดูประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในการแข่งโอลิมปิกที่ผ่านมา
📌 การแข่งขันโอลิมปิกในอดีตเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น
การแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในยุคสมัยใหม่ ถูกจัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ในปี 1896 โดย Baron Pierre de Coubertin ซึ่งในขณะนั้นผู้หญิงยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม จนกระทั่ง 4 ปีต่อมา การแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปารีส ปี 1900 นักกีฬาหญิงได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก แต่ในขณะนั้นมีนักกีฬาหญิงเพียงแค่ 22 คน ในขณะที่มีนักกีฬาชายเกือบพันคน และนอกจากนี้ยังมีกีฬาให้นักกีฬาหญิงแข่งเพียง 2 ประเภท คือ กอล์ฟ และเทนนิส
จำนวนนักกีฬาโอลิมปิกในแต่ละปี
จำนวนกิจกรรมในการแข่งขันโอลิมปิก
📌 ศักราชใหม่แห่งความเสมอภาคทางเพศ
ในตอนต้นศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงมีโอกาสน้อยมากที่จะออกไปข้างนอกเอง แล้วผู้หญิงที่อุทิศตัวไปกับการเล่นกีฬายิ่งมีน้อยมาก ๆ เนื่องจากสังคมในสมัยนั้นมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ เรียบร้อย ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการออกกำลังกาย ผู้หญิงสมัยนั้นจึงมักจะเล่นกีฬาที่ดูสง่างาม หรือ “กีฬาแบบผู้หญิง” เช่น เทนนิส โครเกต์ ปั่นจักรยาน ไอซ์สเกต หรือกอล์ฟ ผู้หญิงเล่นกีฬาที่ใช้พละกำลังมากไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมสมัยนั้น
แต่ด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้กรอบแนวคิดของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป และผู้หญิงเริ่มออกนอกบ้านมากขึ้น ผู้หญิงบางส่วนไปทำงานในโรงงาน หรือสำนักงาน
หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง หลายๆ ประเทศต่างเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบทางสังคมตามลำดับ ก่อนที่จะจัดแข่งขันโอลิมปิกขึ้นอีกครั้งในปี 1920 ในปีนั้นมีนักกีฬาหญิงเข้าร่วม 63 คน จากนักกีฬาทั้งหมด 2,626 คน และอีก 4 ปีต่อมาจำนวนนักกีฬาหญิงได้เพิ่มอีกเป็นเท่าตัว แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับนักกีฬาชาย
และเป็นอีกครั้ง ที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกถูกยกเลิกไป ในตอนนั้นผู้ชายส่วนมากถูกเกณฑ์ไปรับใช้ทางการทหาร ผู้หญิงจึงเริ่มถูกเรียกว่าทำงานแทนผู้ชายแบบวันต่อวัน หลังจากนั้นเองเราจึงได้เห็นว่าสังคมเริ่มมีพื้นที่ให้ผู้หญิงเล่นกีฬามากขึ้น และเริ่มเป็นที่ยอมรับในสังคม จนกระทั่งในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1968 คุณ Enriqueta Basílio นักกีฬาชาวเม็กซิกันก็ได้รับเกียรติให้เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้จุดกระถางคบเพลิงโอลิมปิก
'นอร์มาลิ เอ็นริเกต้า บาซิลิโอ' นักกีฬาชาวเม็กซิกัน ผู้หญิงคนแรกที่ได้จุดกระถางคบเพลิงโอลิมปิก ปี 1968
หลังจากนั้น การพยายามในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในการแข่งขันโอลิมปิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเพิ่มจำนวนกีฬาให้ผู้หญิงเข้าร่วมได้มากขึ้น จนในปี 2012 ถือเป็นปีแรกที่ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันในทุกโปรแกรม
สำหรับการแข่งขันครั้งล่าสุดที่ญี่ปุ่นนี้ มีผู้หญิงเข้าร่วมถึง 49% เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ 45% ซึ่งนี้ก็เป็นไปตามเป้าหมายส่วนหนึ่งของ International Olympic Committee (IOC) ที่จะส่งเสริมให้มีการเข้าร่วมแข่งกันอย่างเท่าเทียมของทุกเพศ
ทั้งหมดนี้ เป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญ และเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับวันข้างหน้า ที่เราจะได้เห็นความเสมอภาคทางเพศกันเพิ่มขึ้นทั่วโลก การแข่งขันโอลิมปิกไม่ใช่เป็นงานแข่งกีฬาเพื่อชิงรางวัลเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการแสดงถึงวิสัยทัศน์ของแต่ละประเทศในการก้าวสู่อนาคตข้างหน้าอีกด้วย
ซีรีส์เรื่องนี้จบลงอย่างลงตัว คิมบ๊กจูสามารถทำความฝันในการเป็นแชมป์กีฬายกน้ำหนักได้สำเร็จ และพบคนรักที่คอยสนับสนุนอยู่เคียงข้างเธอ
Bnomics อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง อย่าให้ใครมาบอกว่าเราเป็นอะไรได้หรือเป็นอะไรไม่ได้ บนโลกนี้มีพื้นที่สำหรับทุกเพศ และทุกคนเสมอ
#นักกีฬาโอลิมปิก #โอลิมปิก #ความเสมอภาคทางเพศ #LGBTQ
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Enomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา