30 ก.ค. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
ชุดนักกีฬาโอลิมปิกควรเป็นแบบไหน? ถอดบทเรียนจาก Grand Sport เพราะการฟังเสียงลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ
.
.
สัญลักษณ์ปีกนกสองข้างที่ประทับอยู่บนอกเสื้อโปโล คงเป็นโลโก้ที่คุ้นตาสำหรับนักกีฬาชาวไทยหลายๆ คน
.
ปีกนกสีขาว ที่แสดงถึงความอ่อนนุ่มและประณีต ของแบรนด์ “Grand Sport” บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าและเครื่องกีฬาในประเทศไทย ผู้สนับสนุนชุดกีฬาให้ตัวแทนประเทศไทยลุยศึกโอลิมปิกถึง 4 สมัย แต่ล่าสุด กลับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ‘การออกแบบชุด’ จากชาวเน็ตอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา!?
.
.
ไม่ว่าคุณจะเล่นกีฬาหรือไม่ก็คงจะคุ้นหูคุ้นตากับแบรนด์ Grand Sport กันมาบ้าง เพราะ Grand Sport เป็นแบรนด์กีฬารายใหญ่ในไทย ที่ก่อตั้งมายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เริ่มจากการเป็นร้านค้าปลีกอุปกรณ์กีฬาและเครื่องใช้กีฬา ต่อมาได้ขยับขยายกลายมาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องกีฬา จนปี พ.ศ.2512 ก็ได้เป็นเครื่องกีฬาไทยแบรนด์แรกที่ได้ติดตรา ‘Made in Thailand’ ลงบนเสื้อ
.
ก่อน Grand Sport จะเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนชุดกีฬางานเอเชียนเกม ปี พ.ศ.2514 และได้เป็นผู้สนับสนุนชุดนักกีฬาโอลิมปิกประเทศไทยต่อจากแบรนด์ FBT ในปี 2548 - 2551, ปี 2552 - 2555, ปี 2556 - 2559 และล่าสุดปี 2560 - 2563 ติดต่อกันแล้ว รวม 4 สมัยซ้อน
.
.
เป็นสปอนเซอร์มา 4 สมัย แต่กลับไม่เห็นถึงการพัฒนา?
.
Grand Sport เป็นแบรนด์เจ้าภาพผู้สนับสนุนชุดนักกีฬาตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 ตั้งแต่ชุดยูนิฟอร์ม ชุดแข่งขัน และชุดฝึกซ้อม ซึ่งในปีนี้มาภายใต้คอนเซปต์ ‘The New Wave’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการหลอมรวมแรงกายแรงใจกลายเป็นเกลียวคลื่นอันทรงพลัง ผ่านลวดลายกราฟิกเกลียวคลื่นที่ทั้งดุดันและอ่อนช้อยในเวลาเดียวกัน ผสมผสานเป็น ‘พลังแห่งคลื่นลูกใหม่’ พร้อมนำทัพนักกีฬาไทย สู้เพื่อชิงชัยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว
.
ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หากเริ่มติดตามงานโอลิมปิกนี้มาตั้งแต่ต้น จะเห็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเครื่องแต่งกายนักกีฬากันมาตั้งแต่ขบวนเปิดตัวนักกีฬาไทยในพิธีเปิดโอลิมปิก เพราะในขณะที่ขบวนนักกีฬาประเทศอื่นๆ ใส่ชุดลวดลายสีสันสดใส สะท้อนเอกลักษณ์ประจำชาติ ตัดมาที่นักกีฬาไทย ได้สวมชุดสูทธรรมดาสีเทาครึ้ม ดีไซน์เรียบๆ จนชาวเน็ตพากันวิจารณ์ว่า “ล้าสมัย” เหมือนประเทศเรา ‘ไม่ได้อ่านไลน์กรุป’ อยู่ประเทศเดียว
.
1
แต่ประเด็นหลักที่ยิ่งโหมกระหน่ำดราม่าเรื่องชุดนักกีฬาให้รุนแรงยิ่งขึ้น มาจากการแข่งขันแบดมินตันหญิงเดี่ยวของ ‘เมย์-รัชนก อินทนนท์’ กับเสื้อกีฬาของ Grand Sport สีเหลืองโคร่งๆ และลวดลายคลื่นสีดำบนไหล่เรียบๆ ที่มีสกรีนธงชาติไทยอยู่บนอก และที่สำคัญคือด้าน ‘ฟังก์ชัน’ เพราะชุดถูกออกแบบเป็นเสื้อยืดแขนสั้น ประกอบกับขนาดที่ไม่พอดีตัว ผู้ชมจึงได้เห็นนักกีฬาคอยถลกแขนเสื้อขึ้นอยู่ตลอด ทำให้กองเชียร์ทางบ้านอดขัดใจกับความเทอะทะของชุดไม่ได้
.
หลังการแข่งขันในแมตช์นี้ จึงเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ Grand Sport อย่างหนัก ในขณะที่ประเทศอื่นสามารถใส่เสื้อแขนกุด หรือสปอร์ตบราได้ แต่ไทยกลับออกแบบชุดแบบมีแขนเหมือนกันหมด แม้แต่นักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวแขนเป็นหลักอย่างกีฬาแบดมินตันหรือปิงปอง ทำให้แขนเสื้อดูเกะกะและไม่คล่องตัวสำหรับนักกีฬา
.
จากประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการเป็นแบรนด์เจ้าภาพผู้สนับสนุนชุดนักกีฬาไทยในการแข่งขันโอลิมปิกของ Grand Sport ทำให้เป็นที่สงสัยของเหล่าแฟนกีฬาว่าทำไมแบรนด์ไม่ออกจาก Safe Zone เอาแต่ทำตามสไตล์เดิมๆ ไม่ว่ากี่ปีก็ไม่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของประเภทกีฬาและตามยุคสมัย หรือเพราะการใส่สปอร์ตบราและเสื้อแขนกุดสำหรับผู้หญิงไทยนั้นดูไม่เหมาะสม? แต่หากพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้งาน การปกปิดร่างกายให้มิดชิดไม่ใช่ความเหมาะสมเสมอไป และความกระชับของชุดเพื่อความคล่องตัวก็เป็นอีกเรื่องที่ควรพิจารณาที่สุดด้วยเช่นกัน
.
เพราะการยอมจ่ายเงินสนับสนุนของ Grand Sport ในครั้งนี้ไปกว่า 181 ล้านบาท ก็นับว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการได้โฆษณาแบรนด์ตัวเองออกสู่สายตาชาวโลกจำนวนมาก แต่ถามว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับตัวแทนนักกีฬาไทยหรือไม่ เมื่อเทียบกับการออกแบบชุดที่อาจลดประสิทธิภาพของตัวนักกีฬาลงแบบนี้?
.
.
สปิริตไม่ได้มีอยู่แค่ในสนาม
.
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว Grand Sport ก็ได้ทำตามสโลแกน ‘มีสปิริต มีแกรนด์สปอร์ต’ ของบริษัท เพราะหลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ต่อมาในการแข่งขันรอบ 16 คนสุดท้ายของ เมย์ รัชนก กองเชียร์ก็ต้องแปลกใจกับการเปลี่ยนแปลงชุดของเมย์ ที่ Grand Sport ในฐานะสปอนเซอร์หลัก ยอมให้เปลี่ยนเป็นเสื้อแขนกุดสีน้ำเงินจาก ‘Yonex’ แบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติญี่ปุ่น ที่แม้ไม่ได้ร่วมเป็นสปอนเซอร์แต่ก็ให้ความร่วมมือในการนำเสื้อมาให้นักกีฬาใส่ อีกทั้งยอมให้สกรีนลายธงชาติไทยแทนโลโก้แบรนด์ตัวเอง ทำให้ทั้ง Grand Sport และ Yonex ต่างได้ใจคนดูกันไปเต็มๆ ถึงสปิริตที่ทั้งคู่ยอมลดลงมากันคนละครึ่งทาง และคำนึงถึงประโยชน์ของนักกีฬาเป็นหลักก่อนเช่นนี้
.
.
ชุดนักกีฬาไทยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน
.
หลังเกิดกระแสในโซเชียล ทาง Grand Sport ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกมารับผิดชอบ โดยจัดทำแบบสอบถามผ่าน Google Form เพื่อให้แฟนกีฬาชาวไทยมีโอกาสเสนอความคิดเห็นในการออกแบบชุดสำหรับนักกีฬาทีมชาติไทยในโอลิมปิกเกมครั้งนี้ โดยแบ่งแบบสอบถามเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นช่วงให้คะแนนความพึงพอใจชุดกีฬาในแต่ละชุด ก่อนจะให้แสดงความคิดเห็น ติ ชม วิจารณ์ เพื่อนำไปปรับปรุงชุดกีฬาต่อไปในส่วนหลังของแบบสอบถาม
.
1
แม้ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดไปแล้ว แต่สิ่งที่ดีที่ควรชื่นชมคือสปิริต และการรับฟังเสียงสะท้อนจากความคิดเห็นของผู้ใช้ ซึ่งเป็นใจสำคัญของการประกอบธุรกิจใดก็ตาม
.
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นชุดนักกีฬาของไทยในโอลิมปิกครั้งนี้กันได้ที่:
.
.
นับว่ากระแสตอบรับอย่างรุนแรงในครั้งนี้ คงเป็นบทเรียนที่สำคัญของ Grand Sport อย่างมาก และเป็นข้อคิดตัวอย่างที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ต่อไปด้วยเช่นกัน ทั้งการยอมรับในข้อผิดพลาด สปิริตในการทำงาน รวมทั้งการประกอบธุรกิจโดยรับฟังเสียงและคำนึงถึงตัวผู้ใช้เป็นสำคัญ
.
หลังจาก Grand Sport หมดสัญญาไปในรอบนี้ ไม่ว่าปีถัดไปจะยังได้เป็นผู้สนับสนุนต่ออีกหรือไม่ แต่ในงานโอลิมปิกครั้งถัดไป ไม่ว่าแบรนด์ไหนจะได้มาเป็นสปอนเซอร์ต่อ เราก็หวังว่าคงจะได้เห็นชุดที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสมกับสรีระนักกีฬา เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด
.
.
ในครั้งนี้คงต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันร่วมมือและรับฟัง ทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมเป็นหลัก แล้วมาร่วมกันส่งแรงเชียร์ แรงใจ ให้กับนักกีฬาไทยในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้กันต่อไปดีกว่า!
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
โฆษณา