30 ก.ค. 2021 เวลา 14:29 • ข่าว
นอกจาก คู่มือการทำข่าวในพื้นที่สงคราม ที่มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สำหรับน้องๆนักข่าวตามลิงก์ด้านล่างแล้ว จากประสบการณ์ตรงที่เคยลงพื้นที่ อยากบอกว่าที่เราเห็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศลงพื้นที่ไปรายงานเบื้องหลังไม่ใช่เรื่องง่าย
ตามกฎของสำนักข่าวใหญ่ๆระดับโลกแล้วอันดับแรกนักข่าวที่จะต้องไปทำหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงต้องผ่านการฝึกอบรมคอร์สการเอาตัวรอดนสถานการณ์ที่อันตราย Hostile Environment Training ซึ่งเป็นคอร์สที่ฝึกเกือบจะเหมือนเข้าค่ายทหาร มีทั้งการปฐมพยาบาล การเจรจาในกรณีที่ถูกลักพาตัวเป็นต้น สถานการณ์ที่เป็นอันตรายนี้ไม่ใช่แค่ภาวะสงครามแต่ยังรวมถึงการประท้วงที่มีการใช้ความรุนแรง หากผู้สื่อข่าวคนไหนไม่ผ่านการฝึกอบรมจะไม่สามารถลงสนามได้เนื่องจากบริษัทเห็นคุณค่าในทรัพยากรบุคคลมาก แต่สำหรับในไทยที่เพิ่งจะมีการส่งนักข่าวลงพื้นที่ในต่างประเทศมาในช่วงประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมายังไม่มีกฎตรงนี้ปล่อยให้ไปเผชิญโชคกันเอง
ส่วนตัวเคยมีผู้บริหารบอกว่าเมื่อสื่อต่างชาติทำได้ทำไมเราทำไม่ได้อย่างที่บอกเราเห็นแค่หน้าจอดูเหมือนง่าย แต่จากที่มีเพื่อนเป็นนักข่าวต่างประเทศและเคยทำงานกับสื่อต่างชาติมาทำให้รู้ว่าเบื้องหลังไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ทีมในการสนับสนุนในการลงพื้นที่ใหญ่มาก ไม่ใช่แค่นักข่าวช่างภาพเหมือนนักข่าวไทย ในกรณีพื้นที่สงครามมีทั้งการลงพื้นที่พร้อมกองทัพหรือลงพื้นที่เอง ในกรณีที่ลงพื้นที่เองแน่นอนว่าจะมีบอร์ดี้การ์ดติดตามไปด้วย บอร์ดี้การ์ดเหล่านี้คือบรรดาอดีตทหารที่เคยผ่านสงครามที่จะคอยดูลาดเลาให้แน่ใจ่ว่าปลอดภัยเช่นการลงจากรถในจุดที่ต้องการถ่ายภาพ
หรืออย่างการลงพื้นที่ประสบภัยจะมีทั้งทีมล่วงหน้า ทีมโลจิสติก ในการจัดหาที่พัก อาหาร เพราะกรณีภัยธรรมชาติมีผู้ประสบภัยมากนักข่าวจะต้องไม่ไปเบียดเบียนทรัพยากรของคนในพื้นที่ ซึ่งตัวเองได้คำแนะนำตรงนี้ในการเดินทางไปทำข่าวแผ่นดินไหวที่เฮติที่ได้เตรียมทั้งเสบียงอาหาร ยากรักษาโรค อุปกรณ์ในการพักแรมติดไปด้วย จะเห็นได้ว่าการลงพื้นที่เสี่ยงภัยที่เราเห็นการรายงานนั้นไม่ใช่อยากจะไปก็ไปเดินดุ่ยๆเข้าไปเลยแต่ต้องมีการเตรียมตัวแต่ที่สำคัญต้องไม่ทำให้คนในพื้นที่เดือดร้อน
ที่ผ่านมาในพื้นที่สงครามโดยเฉพาะในอิรักตอนที่ต่อสู้กับไอสิสจะเห็นข่าวที่นักข่าวถูกจับและตัดคอ ซึ่งนักข่าวเหล่านั้นเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ที่ไม่มีสังกัดถึงยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปเพื่อให้ได้งานออกมาขายให้กับสำนักข่าวต่างๆแต่มีหลายครั้งที่คนเหล่านี้เมื่อถูกจับไปไม่ว่าจะเรียกค่าไถ่หรือเรียกร้องแลกเปลี่ยนก็เป็นภาระให้กับรัฐบาลในการที่จะต้องเจรจาหรือแม้แต่จ่ายเงินค่าไถ่ตัวที่มักไม่มีการเปิดเผย อย่างกรณีของ Jumpei Yasuda ชาวญี่ปุ่นที่พยายามเข้าไปในซีเรียและถูกจับทันทีที่ข้ามแดนจากตุรกี หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวเขาได้ถูกวิจารณ์อย่างมากจากสังคมว่าควรรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำและเป็นการเข้าไปที่ไม่มีการเตรียมตัว
หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆนักข่าวรุ่นใหม่ที่จะต้องลงพื้นที่ในอนาคต
ชัยรัตน์ ถมยา
โฆษณา