31 ก.ค. 2021 เวลา 13:38 • สิ่งแวดล้อม
เรื่องเล่า " ต้นยางนา " ไม้ใหญ่กลางแปลงสาธิต " สวนจิตรลดา "
พระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2504....ความว่า
“ไม้ยางนาในประเทศไทย ได้ถูกตัดฟันใช้สอยและทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่า หากมิได้บำรุงส่งเสริมและดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้ว ปริมาณไม้ยางนาอาจจะลดน้อยลงไปทุกที จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกยางนา เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ”
เมื่อแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ กลับมาประทับที่ประเทศไทยเป็นการถาวร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา ในช่วงฤดูร้อนเกือบทุกปี พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ จะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งในระยะแรกจะเสด็จฯ ไปทางรถไฟ ครั้นถนนสายใต้ดีขึ้นและปลอดภัย พระองค์จึงเลือกเสด็จฯ ทางรถยนต์ โดยเส้นทางถนนสายใต้นี้จะผ่านนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี
เมื่อผ่านอำเภอท่ายางของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสองข้างทางจะมีต้นยางนาอยู่เป็นจำนวนมาก และยาวกว่า 2 - 3 กิโลเมตรเลยทีเดียว
*****ต้นยางนา เป็นไม้ยางที่มีประโยชน์หลากหลาย เช่น เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นวัสดุที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและให้แสงสว่าง (ไต้) เป็นวัสดุที่ใช้ในการต่อเรือ และกันน้ำ ฯลฯ และที่สำคัญคือต้นยางนาเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่น รักษาความชุ่มชื้น ร่มเงา และความสวยงามให้แก่พื้นที่นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี*****
พระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงมีพระราชดำริว่า ควรที่จะสงวนบริเวณป่ายางนานี้ไว้เป็นสวนสาธารณะ และอนุรักษ์ป่ายางนาธรรมชาติ แต่ถึงกระนั้นทางหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถดำเนินการจัดถวายตามพระราชประสงค์ได้ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่จับจองพื้นที่ทำสวน ทำไร่ ในบริเวณนั้นแล้ว การจะใช้พื้นที่จึงจำเป็นต้องจ่ายค่าทดแทนในการโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดหางบประมาณขณะนั้นได้
เมื่อเป็นดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้ #ทรงทดลองปลูกยางนาด้วยพระองค์เอง ในแปลงสาธิต “สวนจิตรลดา” โดยมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเก็บเมล็ดยางนาบริเวณที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นต้นยางนาจำนวนมาก แล้วทรงเพาะยางนาส่วนหนึ่งในกระถาง ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้นำเมล็ดยางนาจำนวนหนึ่งมาเพาะที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน บริเวณใต้ต้นแคบ้านบ้าง ในแปลงเพาะชำบ้าง เมื่อเมล็ดงอกแล้วจึงได้ย้ายลงปลูกในกระถาง
จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ #พระราชทานสถานที่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้ #คณะวนศาสตร์ #มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยและทดลองปลูกยางนา โดยมี ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส คณบดีคณะวนศาสตร์ ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะผู้สนองโครงการพระราชดำริ
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ (พระอิสริยยศขณะนั้น) พร้อมพระสหายร่วมชั้นเรียนโรงเรียนจิตรลดา ได้ทรงช่วยเตรียมแปลงทอดลองการปลูกต้นยางนาอีกด้วย
และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 #วันนี้เมื่อ60ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ครบ 9 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ จึงได้ร่วมกัน #ทรงปลูกกล้ายางนา ที่เพาะไว้เป็นปฐมฤกษ์ในแปลงทดลอง
ขณะนั้น กล้ายางนามีอายุประมาณ 4 เดือน และมีจำนวน 1,096 ต้น ซึ่งจะใช้ระยะปลูกระหว่างต้น และระหว่างแถวห่างกัน 2.50×2.50 เมตร เป็นพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 1 งาน แต่ใช้เพื่อการศึกษาและเก็บข้อมูลเพียง 432 ต้น เท่านั้น
ต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณาจารย์และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อทดลองและทำการวิจัยในวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ของทุกๆ ปี และบางปีพระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง พร้อมกับให้พระราชทานคำแนะนำแก่เหล่าคณาจารย์ด้วย
ครั้นการทดลองและวิจัยต้นยางนาเป็นผลสำเร็จและเป็นที่พอพระราชหฤทัย ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้นำพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาและในแปลงทดลองปลูกยางนา ในลักษณะป่าไม้สาธิตอีกด้วย
สำหรับต้นยางนาในแปลงสาธิต เมื่อมีอายุระหว่าง 5-10 ปี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดย้ายออกไปปลูกบริเวณอื่น ๆ เพื่อขยายระยะระหว่างแถวและระหว่างต้นกับได้พระราชทานแก่ผู้ที่ขอมา เพื่อนำไปปลูกในสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัด และโรงเรียน
ปัจจุบัน แปลงสาธิตปลูกต้นยางนานี้มีอายุกว่า 60 ปีแล้ว เป็นป่ายางนาขนาดใหญ่ที่อยู่ในสวนจิตรลดา และมีเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ผู้ใดที่สัญจรไปมาแถวถนนพระรามที่ 5 หรือถนนศรีอยุธยา จะสังเกตเห็นป่ายางนาแปลงนี้ทางด้านมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (ระหว่างสนามม้าราชตฤณมัย วัดเบญจมบพิตร และกองบัญชาการทหารสูงสุด)
ขอบคุณ : เว็บไซต์ เกษตรก้าวไกล , FB น้ำเงินเข้ม & Anothai Rojanabhaibulya
โฆษณา