1 ส.ค. 2021 เวลา 07:29 • ธุรกิจ
Journey 7 : เจาะลึกแบบ Insight...Dara Sakor โครงการเมกะโปรเจคของจีนบนชายฝั่งกัมพูชา 🤔
😆 ตอนประจำการอยู่ที่กัมพูชาได้มีโอกาสไปเยี่ยมโครงการเมกะโปรเจคของจีนที่ชื่อ Dara Sakor อยู่หลายครั้ง หลายๆท่านอาจจะไม่เคยได้ยินว่า...มันคือ โครงการอะไร ❓
3
โครงการนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ติดๆกับจ. ตราด ประเทศไทยนี่เอง แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จักสักเท่าไรค่ะ วันนี้เลยอยากจะพา Insight เจาะลึกโครงการ Dara Sakor กันซะหน่อยค่ะ....💃
นำนักธุรกิจไทยในกัมพูชาเข้าไปดู project Dara Sakor...🥰
🎯 ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับโครงการนี้สักหน่อยดีกว่าว่า
📌 มีที่มาที่ไปอย่างไร ❓
📌 มีอะไรน่าสนใจ ❓
📌 มีความสำคัญกับประเทศกัมพูชาขนาดไหน❓
📌 ทำไมรัฐบาลกัมพูชาถึงให้ความสำคัญกับโครงการนี้มาก❓ 🤔
▶️ ดาราสาคร (Dara Sakor) เป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ของจีน โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการพัฒนากับ Union Development Group (UDG) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท Tianjin Wanlong Group ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน เมื่อปี 2551 เพื่อสร้างโครงการเขตทดลองการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างจีนกับกัมพูชา (Cambodia – China Comprehensive Investment and Development Pilot Zone) ขึ้น
Dara Sakor Project
โดย UDG ได้รับสัมปทานที่ดินเพื่อเศรษฐกิจจากรัฐบาลกัมพูชาเป็นเวลา 99 ปี โดยโครงการมีพื้นที่ครอบคลุม 44,100 เฮกเตอร์หรือประมาณ 270,000 ไร่ กินพื้นที่ใน 2 อำเภอหลักของเกาะกง คือ Kiri Sakor และ Botum Sakor มีแนวชายฝั่งทะเลคิดเป็นร้อยละ 20 ของแนวชายฝั่งทะเลทั้งหมดของกัมพูชา และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ Botum Sakor
UDG ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ภายใต้ชื่อโครงการ Dara Sakor มีแผนการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว 25-30 ปี หากแล้วเสร็จภายในโครงการจะประกอบด้วย สาธารณูปโภคครบครัน ทั้งโครงข่ายถนน สนามบินนาชาติขนาดใหญ่ที่รองรับเครื่องบินขนาด A380 ได้ ท่าเรือน้ำลึกสำหรับจอดเรือสำราญ คอนโดมิเนียม โรงแรม โรงพยาบาล หมู่บ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ 18 หลุม 2 สนาม และคาสิโน ถนนเข้าโครงการ 4 เลนยาว 64 กิโลเมตร จากถนนสายหลักไปยังริมชายฝั่งทะเล รวมถึงแหล่งน้ำขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างโซนต่างๆ อาทิเช่น Intelligent Industrial Park และ Commercial Area กว่า 100,000 เฮกตาร์ ด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่า...สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเลยก็ว่าได้ 🤔
แบบจำลอง Dara Sakor Project : เมืองในอนาคต
🏰 ภายใน Dara Sakor มีโครงการใหญ่ๆสำคัญๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่...
📍ท่าอากาศยานนานาชาติดาราสาคร (Dara Sakor International Airport) 🛫🛬
▶️ พัฒนาโดย Tianjin Union Development Group ของจีน ด้วยงบประมาณในการก่อสร้างและพัฒนาประมาณ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและหอบังคับการบิน เสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่วนลานบินแบ่งเป็น 3 เฟส โดย
✏เฟสที่ 1 สร้างเสร็จแล้ว ความยาว 3,400 เมตร สามารถรองรับอากาศยานได้จนถึง A340
ภาพถ่ายดาวเทียม สนามบิน Dara Sakor Cr: World Press.com
✏เฟสที่ 2 และ 3 จะสามารถรองรับอากาศยานได้จนถึง A380 Boeing 747 และ 777
▶️ หากเปรียบกับท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญที่มีเพียง 1 รันเวย์ ความยาว 3,000 เมตร และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิที่มี 2 รันเวย์ ความยาว 4,000 และ 3,700 เมตร และ 2 ลานแท็กซี่ แล้ว สนามบินฯ ดังกล่าวถือว่ามีขนาดใหญ่มาก 🙄🤔
ครั้งหนึ่งที่เราได้ขับรถบนรันเวย์ สนามบิน Dara Sakor
📍ท่าเรือน้ำลึก (Deep Seaport) 🛳⛴
✏ ท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 1 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะมีขีดความสามารถในการรับเรือได้สูงสุด 20,000 ตัน (DWT) จำนวน 4 ลำ ✏ ท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีขีดความสามารถในการรับเรือได้สูงสุด 100,000 ตัน
▶️ หากเปรียบเทียบแล้ว
✔ใหญ่กว่าท่าเรือสีหนุ (ท่าเรือพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชาขณะนี้ มีขีดความสามารถในการรับเรือได้สูงสุดได้เพียงแค่ 15,000 ตัน) ถึง 6 เท่า
✔ใหญ่กว่าท่าเรือกรุงพนมเปญ (5,000 ตัน) ถึง 20 เท่า
✔ใหญ่กว่าท่าเรือแหลมฉบังของไทย ซึ่งมีขีดความสามารถในการรับเรือได้สูงสุด 83,000 ตัน ถึง 1.2 เท่า ซึ่งถือได้ว่าท่าเรือแห่งนี้มีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ
▶️ จากการประเมินโดย Financial Times พบว่า ท่าเรือแห่งนี้ มีระดับความลึกพอที่จะสามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ เรือเดินสมุทร หรือแม้กระทั่งเรือในกิจการทางด้านการทหารก็ตาม...อืมม น่าคิดนะคะเนี๊ยะ 🤔
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก แห่งที่ 1 Cr: www.atimes.com
📍โซนที่พักอาศัย (Residential Zone) 🏘🏢🏨
UDG ได้เริ่มพัฒนาโซนที่พักอาศัยออกมาในหลายรูปแบบ เช่น อพาร์ทเมนต์ บ้านที่มี courtyard และวิลล่า รวม 296 ยูนิต ขณะนี้มีคนจองแล้วร้อยละ 20 - 25 โดยเป็นการทำสัญญาเช่ากับโครงการ (ไม่สามารถได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน เนื่องจากโครงการดาราสาครเช่าพื้นที่กับรัฐบาลกัมพูชาเช่นกัน) โดยภายในโซนนี้จะมีโรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
🎯 UDG ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีผู้อยู่อาศัย (ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน) ประมาณ 1,300,000 คน มีจำนวนบ้านพักและที่อยู่อาศัยรวมแล้วมากกว่า 400,000 ยูนิต โรงแรมห้องพักรวมแล้ว 94,000 ห้อง และมีการจ้างงานในพื้นที่รวมแล้วกว่า 1 ล้านอัตรา
การก่อสร้างโซนที่พักอาศัย
แล้วโครงการนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับประเทศไทยบ้างไหมนะ ❓
✏ ด้านการค้าการลงทุน 💰💵
🎯 UDG ได้วางยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์การลงทุนในโครงการ Dara Sakor ให้สอดรับกับนโยบายหลักของรัฐบาลจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการค้า การลงทุน ไปสู่ยุโรปตะวันตก และเอเชียทั้งภูมิภาค โดยจะพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อให้โครงการฯ เป็นศูนย์กลางสินค้าอุตสาหกรรม ศูนย์กระจายสินค้าสู่นานาประเทศผ่านท่าเรือน้ำลึกและสนามบินนานาชาติ และดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน
▶️ หากเปรียบเทียบแล้ว นโยบายในการพัฒนาพื้นที่ของโครงการ Dara Sakor มีความคล้ายคลึงกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อโครงการให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ One Belt One Road การพัฒนาท่าเรือให้เป็นเมืองท่าแห่งอาเซียนหรือศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งจากภาพโดยรวมโครงการทั้งสองมีนโยบายที่ไม่ต่างกันมาก
▶️ นอกจากนี้พื้นที่และทำเลที่ตั้งของโครงการยังอยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก ซึ่งโครงการ Dara Sakor นั้น ถือได้ว่า
✅ เป็นคู่แข่งที่สำคัญในการพัฒนาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย เพราะการพัฒนาโครงการต่างๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเงินลงทุนมหาศาลและเงินช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากจีน
✅ แต่หากมองในมุมของการพัฒนาร่วมกันและใช้ประโยชน์และจุดเด่นที่แต่ละโครงการมีอยู่ เพื่อดึงดูดให้มีการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคร่วมกันแล้วก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีและถือเป็น win-win situation ต่อทั้งสองฝ่ายได้
✏ ด้านการท่องเที่ยว 🚵
Dara Sakor ถือเป็นโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลขนาดใหญ่แห่งแรกของกัมพูชา โดยมีแผนจะทำให้ให้เป็นเหมือนฮ่องกงแห่งที่ 2 โดย UDG ได้วางยุทธศาสตร์ในด้านการท่องเที่ยวให้ Dara Sakor เป็น
✅ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า คาสิโน สวนน้ำ โรงแรมและรีสอร์ทขนาดใหญ่ และสนามกอล์ฟ เป็นต้น
✅ ศูนย์ Medical Centre รองรับกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเศรษฐีจีน
✅ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
✅ ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
สนามกอล์ฟและ club house ในโครงการ
🎯 ซึ่งผู้พัฒนาโครงการได้ประมาณการไว้ว่าหากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เหล่านี้แล้วเสร็จ ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายัง Dara Sakor ทั้งทางอากาศและทางเรือรวมแล้วมากกว่า 6.4 ล้านคน ประกอบกับโครงการ Dara Sakor นี้ ตั้งอยู่ในจังหวัดเกาะกงที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย สามารถเดินทางจากกรุงเทพถึงชายแดนเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น
✅ ซึ่งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาลงทุนขยายกิจการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ และการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น
✏ด้านความมั่นคง 👮‍♂️👮‍♀️
แม้ว่าผู้พัฒนาโครงการ Dara Sakor จะยืนยันว่า โครงการ Dara Sakor นี้ เน้นการพัฒนาให้เป็นโครงการท่องเที่ยวชายทะเลขนาดใหญ่แห่งแรกของกัมพูชา แต่หลายหน่วยงานในหลายๆ ประเทศ ก็ยังมีข้อวิตกอยู่ว่าการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะมีนัยแอบแฝงทางด้านการทหารของจีนด้วยหรือไม่ในหลายๆด้าน อาทิเช่น
📍การก่อสร้างสนามบินที่มีขนาดใหญ่ซึ่งหากสร้างเสร็จแล้วจะถือได้ว่าเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชา และสามารถรองรับเครื่องบินอย่างเครื่องโบอิ้ง 747 หรือเครื่องบินแอร์บัส A 380 ได้แล้วนั้น ก็เท่ากับสามารถรองรับซึ่งเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลและเครื่องบินลำเลียงทางทหารของจีนลงจอดได้ด้วยเช่นกัน ประกอบกับสนามบิน ดังกล่าว มีรันเวย์ยาวถึง 3.4 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างรันเวย์ในลักษณะนี้ ในทางการทหารถือว่า สามารถปรับใช้สำหรับการขึ้นลงรันเวย์โดยเร็วสำหรับเครื่องบินทหาร รวมถึงเครื่องบินขับไล่ได้ด้วยเช่นกัน
✅ ซึ่งหากมองในมุมด้านเศรษฐกิจจะเห็นว่า การก่อสร้างสนามบินที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษนั้น สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังมีอยู่ไม่มากซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเพื่อตีกอล์ฟและท่องเที่ยวทางทะเลเท่านั้น และ จำนวนประชากรทั้งในและรอบโครงการที่มีแค่เพียงประมาณ 200,000 คนเท่านั้น 🤔
📍การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จำนวน 2 แห่ง ที่มีความสามารถในการรับเรือได้สูงสุด 20,000 ตัน และ 100,000 ตัน ซึ่งเป็นระดับความลึกที่เกินกว่าท่าเรือสีหนุซึ่งเป็นท่าเรือพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในปัจจุบัน ซึ่งสามารถรับเรือได้สูงสุดได้เพียงแค่ 15,000 ตันเท่านั้น โดยท่าเรือทั้ง 2 แห่งในโครงการนี้ จะมีความสามารถในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ เรือเดินสมุทร รวมไปถึงเรือด้านการทหารได้เช่นกัน 🤔
📍ทำเลที่ตั้ง ซึ่งหากมองในมุมของความมั่นคงและทางการทหารแล้ว เป็นเรื่องที่ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะด้วยทำเลที่ตั้งของทั้งสนามบินและท่าเรือภายในโครงการที่ถือได้ว่าเป็นทำเลทางยุทธศาสตร์ทางการทหารที่ดีแห่งหนึ่งของจีน เพราะมีท่าเรือน้ำลึกถึง 2 แห่ง ที่สามารถเป็นทางออกทางทะเลที่สามารถเข้าถึงอ่าวไทยและหมู่เกาะทะเลจีนใต้ได้ไม่ยาก รวมทั้งที่ตั้งของสนามบินก็มีศักยภาพสูงในการส่งเครื่องบินรบเข้าน่านฟ้าไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ได้ไม่ยากเช่นกัน
1
✅ ดังนั้น หากจีนใช้โครงการฯ นี้ เป็นที่ตั้งฐานทัพทางทหารจริง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยได้ เนื่องจากโครงการนี้มีระยะใกล้กับชายแดนไทยและน่านน้ำของไทยมาก และอาจส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจทางการทหารของประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต
✏อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งท่าอากาศยานและท่าเรือน้ำลึกภายในโครงการที่มีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษจนหลายๆ หน่วยงานมีข้อกังขาและวิตกว่าโครงการดาราสาครอาจมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงไม่ใช่แค่เพียงเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อาจรวมถึงการเป็นที่ตั้งฐานทัพเฉพาะกิจสำหรับเรือรบและเครื่องบินของกองทัพจีนได้ แต่ทางผู้พัฒนาโครงการก็ยังยืนยันว่า ท่าเรือน้ำลึกและท่าอากาศยานดังกล่าว สร้างเพื่อรองรับโครงการที่กำลังจะพัฒนาขึ้นในอนาคตเท่านั้น 🤔
✏โดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเห็นว่า...หากมองทางด้านเศรษฐกิจในภาพรวมโครงการ Dara Sakor ถือเป็นอีกโครงการที่สำคัญมากโครงการหนึ่งของกัมพูชา หากการพัฒนาโครงการสามารถสำเร็จได้ตามเป้าหมายจริงตามที่วางไว้ พื้นที่บริเวณนี้จะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และศูนย์กลางการเชื่อมโยงและการขนส่งที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาและประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมาก...และที่สำคัญจะทำให้กัมพูชากลายมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยได้ในอนาคต...
หว้งว่า...Journey นี้ จะทำให้ทุกท่านรู้จักโครงการอภิมหาโปรเจคที่ชื่อ Dara Sakor มากขึ้นนะคะ 😁😁😁
ฝากกดไลท์ กด follow ด้วยนะคะ 🥰
เล่าเรื่อง & ถ่ายภาพ : วิลาสินี แจ่มอุลิตรัตน์
📌 บทความนี้มาจากประสบการณ์และความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด หากต้องการคัดลอกหรือทำซ้ำ รบกวนติดต่อผู้เขียนก่อนนะคะ 🥰
📢 บทความนี้ ผู้เขียนเคยได้เขียนไว้เมื่อครั้งยังประจำการอยู่ ณ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ทั้งนี้ได้มีการนำไปเผยแพร่ในสื่อต่างๆ มาแล้วบ้างนะคะ ติดตามอ่านได้ตามนี้ค่ะ 🥰
🖇 ข้อมูลอ้างอิง
🔺️ การลงทุนจีนบนชายฝั่งทะเลกัมพูชา, ASIA Trend สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://asiatrend.ias.chula.ac.th
🔺️กัมพูชาได้มีการพัฒนาท่าอากาศยานหลายแห่งในประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค, https://globthailand.com/cambodia-05022020/
🔺️ China-backed Dara Sakor project in Cambodia rings alarm bells in Washington, https://www.japantimes.co.jp/news/2019/07/20/asia-pacific/china-backed-dara-sakor-project-cambodia-rings-alarm-bells-washington/
🔺️Koh Kong International Airport granted larger grounds for new investments, https://www.phnompenhpost.com/business/koh-kong-international-airport-granted-larger-grounds-new-investments
🔺️ Dara Sakor Project www.mcc.sg
🔺️ บทบาทของจีนต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) กับแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลของไทย, พลเรือตรี เทิดเกียรติอ่อนเมือง, http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/doc_pr/ndc_2560-2561/PDF
🔺️ทุนฮ่องกงผุด รร.เชนดัง “เกาะช้าง” เชื่อมท่องเที่ยวกัมพูชา-เวียดนาม, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, https://www.prachachat.net/local-economy/news-331618
🔺️ เส้นทางสายไหมใหม่ เส้นทางการค้าแห่งอนาคต, http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/saimai/2/saimai.html
โฆษณา