Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องราวจากของเก็บ
•
ติดตาม
1 ส.ค. 2021 เวลา 03:45 • ประวัติศาสตร์
“ตราประทับ”
ร่องรอยการเดินทางของจดหมาย (ตอนแรก)
สวัสดีครับ วันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวของ ตราประทับ รอยหมึกที่เล่าเรื่องราวในอดีต มาฝากเพื่อนๆ ครับ
หลายๆ คนอาจคิดว่าแค่ดวงแสตมป์ จะมีเรื่องราวในอดีตได้อย่างไร วันนี้มีคำตอบให้ครับ
ตราประทับ (Postal Marking) ในทางไปรษณีย์ หมายถึงการทำเครื่องหมายต่างๆ ลงบนซองจดหมาย หรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์ มีหลายประเภท มีทั้งตราที่ใช้ในงานไปรษณีย์ และตราสำหรับประทับเป็นที่ระลึกในการสะสมแสตมป์
สำหรับตราประทับทางไปรษณีย์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ตราประจำวัน (Postmark หรือ Date Stamp) จะแสดงชื่อที่ทำการไปรษณีย์ และวันเดือนปีที่ประทับ
ไปรษณีย์ต้นทางจะประทับตราลงบนดวงแสตมป์เพื่อเป็นเครื่องหมายขีดฆ่า (Cancel หรือ Cancellation) ป้องกันการนำแสตมป์กลับมาใช้ใหม่ ส่วนไปรษณีย์ระหว่างทางและปลายทาง จะประทับตราลงด้านหลังจดหมายเพื่อเป็นหลักฐานการเดินทางของจดหมาย แต่ระยะหลังไม่ค่อยได้ประทับด้านหลังเนื่องจากปริมาณจดหมายที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก และมีการคัดแยกจดหมายด้วยเครื่องอัตโนมัติ
ตราประทับต้นทาง ปลายทางภายในประเทศ
ตราประทับต้นทาง ปลายทางต่างประเทศ (กรุงเทพส่งไปฝรั่งเศสใช้เวลา 5 วัน ในสมัย พ.ศ. 2507 ถือว่าเร็ว)
บางประเทศแยกตราออกเป็นสองส่วน คือ ตราประจำวัน และตราขีดฆ่า (Killer) ซึ่งต้องประทับด้วยมือสองครั้ง โดยจะประทับตราขีดฆ่าบนดวงแสตมป์ ส่วนตราประจำวันประทับบนซองโดยไม่แตะต้องแสตมป์ เพื่อจะได้เห็นวันที่และที่ทำการไปรษณีย์ชัดเจนกว่าการประทับตราประจำวันอย่างเดียวบนแสตมป์หรือส่วนของแสตมป์
ตราประจำวัน อาจประทับด้วยมือหรือด้วยเครื่องก็ได้ ซึ่งตราที่ประทับด้วยมือจะเป็นที่นิยมสะสมมากกว่า ตราที่ประทับด้วยเครื่อง (Machine Cancellation) อาจมีรายละเอียดอื่น เช่น เวลาที่ประทับ และอาจมีส่วนที่เพิ่มเติมสำหรับการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ (Slogan Cancel) หรือเป็นลักษณะลูกคลื่นหรือรูปธง (Flag Cancel) เพื่อให้ตราสามารถขีดฆ่าแสตมป์หลาย ๆ ดวงพร้อมกัน
นอกจากนี้ วันที่บนตราประจำวันยังมีความสำคัญ สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง เช่น วันที่ส่งแบบฟอร์มการเสียภาษีทางไปรษณีย์ในหลายประเทศจะถือจากตราประจำวันเป็นหลัก ไม่ใช้วันที่หน่วยงานด้านภาษีได้รับจดหมาย
📌📌 ** ปกติแล้วจะไม่มีการย้อนตราประทับสำหรับที่ทำการไปรษณีย์ครับ เป็นระเบียบที่เคร่งครัดมาก แต่กรณีที่แสตมป์มาล่าช้า ต้องการประทับเพื่อสะสม สามารถคุยกับหัวหน้าที่ทำการฯ ได้ครับจะได้หรือไม่ได้อีกเรื่องครับ😁😁😁
แต่เคยอ่านเจอว่า ส่วนมากแล้วจะอนุญาตครับ โดยมีเงื่อนไขว่า อนญาตให้ประทับแค่ 2-3 ซอง ต้องไม่ใช่ซองส่งจริง และเขียนด้านหลังว่า เพื่อการสะสมเท่านั้น ที่ต้องเข้มงวดเพราะเคยมีคนอ้างว่าเป็นนักสะสมเข้ามาขอประทับย้อนวัน แต่ความเป็นจริงกลับใช้ซองนั้นส่งเอกสารสำคัญซึ่งมีผลในด้านกฎหมาย
⁉️⁉️แล้วท่านทั้งหลายสงสัยมั้ยครับว่า ตราประทับรุ่นแรกๆ รูปร่างหน้าตาเป็นยังไง
ตราประจำวันตราแรกของไทย ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการเปิดที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศสยาม และการเปิดจำหน่ายแสตมป์ 5 ดวงชุดแรกที่รู้จักกันในชื่อชุด "โสฬศ" เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ปีมะแม จุลศักราช 1245 ตรงกับวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2426 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
แสตมป์ชุด โสฬศ ดวงอัฐ ประทับตรากรุงเทพ ร แคบ สระอุ ยาว
ตราประจำวันตราแรกที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกในกิจการไปรษณีย์ของไทยมีลักษณะเป็นวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 มิลลิเมตร ใช้ตัวอักษรภาษาไทยทั้งหมด โดยตัวอักษรคำว่า "กรุงเทพ" ที่อยู่ด้านบนภายในวงกลมมีลักษณะโค้งไปตามแนวขอบของเส้นวงกลม ส่วนวันที่เป็นระบบจันทรคติ ปีจุลศักราชแบบย่อ โดยใส่ตัวเลขสองตัวสุดท้ายวางไว้ล่างสุด และตัวเลขที่ใช้เป็นเลขไทยทั้งหมด
🤔🤔วิธีการอ่าน ยกตัวอย่างชุดโสฬศ ดวงเสี้ยว ประทับตราที่ตะกั่วป่าเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 1249 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2430🌟🌟
รูปแบบตราประทับรุ่นแรก (ภาพจาก วารสาร สตท ฉบับที่ 9)
คุณจิรวิทย์ เทพพรชัย นักสะสมผู้เชี่ยวชาญด้านแสตมป์ และตราประทับทางไปรษณีย์ของไทย ได้ระบุถึงผลการศึกษาตราประจำวันตราแรกนี้ ซึ่งถูกนำมาใช้ในระหว่างปี พุทธศักราช 2426 - 2438 แบ่งออกเป็น 4 แบบย่อย ตามลักษณะของตัวอักษรและสระที่ปรากฏอยู่ในคำว่า "กรุงเทพ" คือ
แบบส่วนบนของตัวอักษร "ร" กว้าง และสระ "อุ" สั้น
แบบส่วนบนของตัวอักษร "ร" กว้าง และสระ "อุ" ยาว
แบบส่วนบนของตัวอักษร "ร" แคบ และสระ "อุ" สั้น
แบบส่วนบนของตัวอักษร "ร" แคบ และสระ "อุ" ยาว
รูปแบบตัวอักษรของตราประทับ
ตราประทับประจำวัน ตามแบบสากลดวงแรกของไทย
จากข้อมูลเกี่ยวกับตราประทับแสตมป์ที่คุณจิรวิทย์ได้เขียนไว้ในบทความ "ตราประทับแสตมป์แบบสวิตของสยาม" ในวารสารตราไปรษณียากร เดือนธันวาคม 2529 - กุมภาพันธ์ 2530 ระบุว่ากิจการไปรษณีย์ของประเทศสยามเริ่มมีการนำตราประทับแสตมป์ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยที่ทำการไปรษณีย์แห่งที่สองของสยาม หรือ กรุงเทพที่ 2 (ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2428 หลังจากประเทศสยามได้สมัครเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์เพียง 2 ปี) ได้เริ่มต้นนำตราประทับประจำวันตามแบบสากลของสวิสมาใช้เป็นครั้งแรกในปี พุทธศักราช 2444
1
ลักษณะของตราประทับแบบสวิสประกอบด้วยวงกลมใหญ่วงนอก 1 วง และวงกลมเล็กวงใน 1 วง ตรงกลางเป็นเส้นคู่ตัดผ่านเป็นแถบสำหรับแสดงวัน เดือน ปีศักราช โดยมีเส้นขีดเป็นแนวตั้งปูเป็นพื้นหลังอยู่ในในวงกลมเล็ก
สำหรับตราประทับแบบสวิสที่นำมาใช้มีอยู่ 2 แบบ
1️⃣ แบบแรก ตราประทับสวิสแบบภาษาอังกฤษ และปีคริสต์ศักราช
ในกรุงเทพฯ มีการนำตราประทับแบบนี้มาใช้เพียงแห่งเดียว คือ ที่ทำการไปรษณีย์กรุงเทพฯ ที่ 2 โดยตราประทับมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมวงนอก 29 มิลลิเมตร วงกลมวงใน 17 มิลลิเมตร และมีแถบวันที่กว้าง 8 มิลลิเมตร มีตัวอักษรคำว่า "BANGKOK" อยู่ด้านบน มีตัวเลข "2" อยู่ระหว่างดาวสองดวง และมีตัวอักษรกำกับตราประทับ "a", "b" หรือ "c" อยู่มุมด้านล่างขวามือ ส่วนแถบในสำหรับแสดงวัน เดือน ปีแบบคริสต์ศักราชแบบเต็ม
🌟🌟 ตราประทับสวิสที่เป็นแบบภาษาอังกฤษและปีคริสต์ศักราช ซึ่งมีตัวอักษร "a" กำกับอยู่ พบว่าใช้ระหว่างวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1901 ถึง 1907 (พ.ศ. 2444 – 2450) ขณะที่แบบมีตัวอักษร "b" กำกับ ใช้ระหว่างวันที่ 26 มกราคม 1901 ถึง 1907 และแบบมีตัวอักษร "c" กำกับ ใช้ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1902 (พ.ศ.2445) ถึง 9 กันยายน 1924 (พ.ศ. 2467)
ตราประทับสวิตที่เป็นแบบภาษาอังกฤษและปีคริสต์ศักราช
นอกจากที่ทำการไปรษณีย์กรุงเทพฯ ที่ 2 แล้ว ในต่างจังหวัดก็มีการนำตราประทับแบบเดียวกันนี้มาใช้เช่นเดียวกัน เช่นที่ พระตะบอง ภูเก็ต เชียงใหม่ ระนอง ตรัง เป็นต้น แต่อาจจะนำมาใช้ช้ากว่าในกรุงเทพฯ ราว 1 ปี โดยตราประทับดังกล่าวมีลักษณะ และขนาดเท่ากับตราประทับ "BANGKOK" เพียงแต่มีการเปลี่ยนชื่อไปตามเมืองที่มีการนำตราประทับไปใช้งาน และมีรูปดาวกำกับอยู่ 3 ดวง
ตราประทับสวิตที่เป็นแบบภาษาอังกฤษและปีคริสต์ศักราช ที่ใช้ในต่างจังหวัด
2️⃣ แบบที่ 2 ตราประทับสวิสแบบภาษาไทย และปีรัตนโกสินทร์ศก
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของประเทศสยาม ทุกที่ทำการไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ เริ่มใช้ตราประทับสวิสแบบภาษาไทย และปีรัตโกสินทร์ศกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมวงนอก 34 มิลลิเมตร วงกลมวงใน 18 มิลลิเมตร และมีแถบวันที่กว้าง 10 มิลลิเมตร ด้านบนมีอักษรคำว่า "กรุงเทพ" โดยด้านล่างมีเลขที่ของที่ทำการไปรษณีย์อยู่ระหว่างลูกศรกับดาว ส่วนวัน เดือน และปี ร.ศ. แสดงเป็นเลขไทยทั้งหมด
การใช้ตราประทับสวิสแบบภาษาไทย และปีรัตนโกสินทร์ศก ของที่ทำการไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ ที่ 1 ใช้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ร.ศ. 120 ที่ทำการไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ ที่ 2 ใช้เมื่อ 28 ธันวาคม ร.ศ. 120 และที่ทำการไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ ที่ 5 ใช้เมื่อ 8 พฤศจิกายน ร.ศ. 120
ส่วนตราประทับสวิสแบบภาษาไทย และปีรัตนโกสินทร์ศกของที่ทำการไปรษณีย์ตามหัวเมืองมีขนาดเท่ากับตราประทับที่ใช้ในกรุงเทพฯ แต่ต่างกันที่ด้านบนเปลี่ยนเป็นชื่อที่ทำการไปรษณีย์ของแต่ละเมือง และมีลูกศร 2 ดอกอยู่ด้านล่าง
ตราประทับสวิสแบบภาษาไทย และปีรัตนโกสินทร์ศก
ปัจจุบัน ตราประทับสวิสที่ประทับบนแสตมป์จริงทั้ง 3 แบบข้างต้นนั้น หายากครับ ผมจึงหาตราประทับสวิสแบบธรรมดามาให้ชมแก้ขัดไปก่อนครับ
ตราสวิสบนแสตมป์วันชาติ ประทับตรา ประทุมธานี
ตราสวิส บนแสตมป์วันชาติ
พรุ่งนี้มาติดตามเรื่องตราประทับทั้งแปลก ทั้งราคาสูงมากๆๆ กันต่อครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพแสตมป์ จาก FB เพจ พิพิธภัณฑ์ดวงตราไปรษณียากร
บันทึก
18
36
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ความรู้เกี่ยวกับสิ่งสะสม
18
36
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย