1 ส.ค. 2021 เวลา 23:18 • หนังสือ
“บ้านคือรากฐานของชีวิตและจิตวิญญาณ”
บทวิจารณ์รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์
เราเรียกส่วนที่รับน้ำหนักของบ้านมากที่สุดว่า “ฐานราก” บ้านจะแข็งแรงและมีโครงสร้างที่มั่นคงได้ ต้องเริ่มขึ้นจากส่วนนี้ ชีวิตก็เช่นเดียวกัน แน่นอน พื้นฐานของทุกชีวิตคือครอบครัว บ้านจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับและเก็บกักทั้งสองสิ่ง เพราะในบ้านทุกบ้าน ต่างก็มีความรู้สึกหลากหลายอบอวลอยู่ในนั้น
รวมบทกวีชุด “ระหว่างทางกลับบ้าน” เป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มที่หก ของ อังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์ ประจำปี ๒๕๕๖ ประกอบด้วยบทกวีจำนวน ๔๕ สำนวน สร้างสรรค์ด้วยคำประพันธ์ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี ๒๕๖๐ และรางวัลชมเชย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์ (สพฐ.) ปี ๒๕๖๑
“ระหว่างทางกลับบ้าน” ถ่ายทอดเรื่องราวเรื่องของบ้านในหลายมิติ หลากแง่มุม สื่อความหมายทั้งในเชิงรูปธรรม และนามธรรมของบ้าน จากอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ บทกวีบางสำนวนยังเล่าถึงสังคมไทย สังคมโลก ผ่านการรับรู้และมุมมองของกวี เน้นสร้างจินตภาพให้เกิดแก่ผู้อ่าน ด้วยลีลาและท่วงทำนองตามแบบของ อังคาร จันทาทิพย์
ในคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี ๒๕๖๐ ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่น ทางด้านเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า
 
“รวมบทกวี ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ ของ ‘อังคาร จันทาทิพย์’ นำเสนอความคิดเรื่องบ้านในหลากหลายมิติ ทั้งบ้านของผู้ประพันธ์เอง และบ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก อาทิ บ้านของแรงงานอพยพข้ามชาติ บ้านของชาวโรฮิงญา บ้านของผู้ลี้ภัยสงคราม บ้านจึงมีความหมายมากกว่าที่เกิดและที่พำนักอาศัย แต่บ้านเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ความรัก ความผูกพันและความสุขของสมาชิกในครอบครัว ทุกชีวิตล้วนโหยหาและปรารถนาที่จะกลับบ้าน...”
อาจจะกล่าวได้ว่า บทกวีชุดนี้ ของ อังคาร จันทาทิพย์ กำลังสะท้อนภาพ “บ้าน” ที่นิยามตามโครงสร้าง ยึดโยงกับครอบครัว เกี่ยวพันถึงถิ่นฐานมาตุภูมิ สภาวะไกลบ้าน ไร้บ้าน การอพยพย้ายถิ่น หรือแม้แต่การถูกขับไล่ออกจากบ้านของตัวเองก็ตาม ทว่า อีกนัยหนึ่ง ยังแฝงเร้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับบ้าน ความคุ้นเคย การมีตัวตน และการไร้ตัวตนอีกด้วย ชวนตั้งคำถามกับเรา ว่าแท้จริงแล้ว เรารู้จักบ้านของเราในประเทศของเรา และบ้านของคนอื่นในโลกนี้ดีแค่ไหน
1.ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ
แม้การเล่าถึง “บ้าน” จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกวรรณกรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านย่อมย้อนกลับมากระทบใจใครต่อใครได้เสมอ เมื่อบ้านคือพื้นฐานของทุกชีวิต เป็นที่เกิด ที่กินที่อยู่ ที่สอนให้เรียนรู้และเติบโต การเฝ้าคิดถึงบ้าน หรือปรารถนาที่จะกลับบ้าน จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ยิ่งคนที่ต้องห่างบ้านมานาน หรือไกลบ้านด้วยแล้ว คำว่า “บ้าน” สำหรับเขาเหล่านั้น ย่อมมีความหมายหลายอย่างซ่อนอยู่
ในรวมบทกวีชุด “ระหว่างทางกลับบ้าน” ได้นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับบ้านอย่างมีลำดับความคิด ร้อยต่อกันเป็นเรื่องราว แม้จะเขียนขึ้นต่างกรรม ต่างวาระกันก็ตาม ซึ่งคล้ายกวีพาเรามารู้จักบ้าน ในที่นี้คือบ้านของนักประพันธ์ เริ่มจาก “บ้านที่พ่อสร้าง บทกวีที่พ่อเขียน” ต่อด้วย “เมื่อรุ้งลงกินน้ำ” แทนการออกเดินทาง เรียนรู้โลกกว้าง และกลับสู่บ้านอีกครั้ง ใน “บ้านไม่มีใครอยู่” และ “บ้าน” ตามชื่อของหนังสือเล่มนี้
จะโดยตั้งใจหรือมิตั้งใจก็ตาม หากเราย้อนอ่านงานเล่มก่อนหน้า ของ อังคาร จันทาทิพย์ อันได้แก่ “หัวใจห้องที่ห้า” โดยเฉพาะ “ภาคหลัง นิทานเดินทาง” จะสังเกตได้ว่ากวีแสดงทัศนะเกี่ยวกับบ้าน และภูมิลำเนาของตัวเองออกมาอย่างเด่นชัดอยู่หลายสำนวนกวี อาทิ “ฤดูเก็บเกี่ยว” “ในกระเป๋าสัมภาระ” หรือ “นิทานเดินทาง”จึงอาจกล่าวได้ว่า รวมบทกวีชุด “ระหว่างทางกลับบ้าน” เป็นเสมือนการเขย่าและขยายชุดความคิดเดิมของกวีให้มีมุมมองและมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เกี่ยวร้อยเป็นเรื่องราวใหม่ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบ้านโดยตรง
ในบทกวีชื่อ “บ้าน” ซึ่งเป็นบทกวีสำนวนสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้ กวีได้อธิบายความหมายโดยรวมและให้นิยามของบ้านเอาไว้ว่า
‘ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ ที่ไม่นับเล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่ ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู ที่สุขทุกข์ ทุกฤดู อยู่ในนั้น...’
( บ้าน : หน้า ๑๕๒ )
จะเห็นได้ว่า กวีแสดงความหมายของบ้าน ออกมาทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงจิตวิทยา ที่มีทั้งความเป็นรูปธรรม และนามธรรมรวมอยู่ คล้ายเป็นการสรุปรวบยอดความคิดของรวมบทกวีชุดนี้เอาไว้ ทั้งยังพยายามกล่าวถึงบ้านอย่างครอบคลุม เพื่อสร้างจินตภาพเชิงกวีให้แก่ผู้อ่านได้อย่างแจ่มชัด ขณะเดียวกัน เมื่อบ้านตามความหมายของกวี หลอมรวมเอาชีวิตและทุกสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน สร้างเป็นพื้นที่บรรจุความทรงจำและความหวัง ก็ย่อมก่อให้เกิดความรักความผูกพันและความรู้สึกหวงแหนในถิ่นที่ของตนเองขึ้นมา อันนำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในระดับภูมิภาค และระดับชาติได้อีกด้วย
2.มองบ้านของเรา เข้าใจบ้านของคนอื่น
สังคมย่อมประกอบด้วยผู้คนหลากหลายแบบ ในรวมบทกวี “ระหว่างทางกลับบ้าน” นอกจากกวีจะกล่าวถึงบ้านของตัวเองแล้ว กวียังนำเสนอบ้านของผู้คนในสังคม และสภาวะของคนที่เกี่ยวกับบ้านอีกมากมาย รวมทั้งบ้านในภาวะสงคราม บ้านของคนที่กำลังอพยพ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมโลก
โดยถ้าดูจากเนื้อหา จะพบว่า อังคาร จันทาทิพย์ ให้ความสำคัญกับบ้านสองแบบ คือบ้านที่เป็นของเราและบ้านที่เป็นของคนอื่น
ในส่วนบ้านที่เป็นของเรานั้น กวีจำลองบ้านขึ้นมาจากความทรงจำ คือบ้านในความเป็นจริงของกวี เชื่อมโยงกับบ้านของผู้อ่านในระดับปัจเจกชน เนื่องจากลักษณะบ้านและครอบครัวในบริบทของสังคมไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกัน กวีจึงนำจุดร่วมในส่วนนี้มาใช้ ดังจะเห็นได้จากการแสดงตัวตนของกวีในสำนวนกวีหลายต่อหลายบท
‘ปากกาและกระดาษ’
หลังไม่เล็กไม่ใหญ่ ให้แม่อยู่ ไม่ได้เห็น พ่อผู้เคยดูหมิ่น “บ้านนักเขียน” เอ่ยชื่อให้พ่อได้ยิน กู้หนี้สินมาบ้าง สู้สร้างไป หอมกลิ่นหมึก ข้าวปลา หอมอาหาร พระสวดก้องกังวาน ขึ้นบ้านใหม่ ประคองมือแม่กรวดน้ำ เอ่ยความใน ‘พ่อวางใจ จะดูแลแม่เองครับ...’
(คนสร้างบ้าน หน้า๔๓)
หรือในบทกวี บ้านไม่มีใครอยู่
ผ่านประตู หยุดลง ตรงที่เก่า
ไม่เหลือเค้าเคยเห็นเช่นคนบ้า
เศร้าหน่วงอก หนักอึ้งยัง หลั่งน้ำตา
“พ่อ แม่ครับ ลูกหล่า กลับมาแล้ว...
( บ้านไม่มีใครอยู่ : หน้า ๑๔๕)
แม้การแสดงตัวตนของกวีในบทประพันธ์ จะดูเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่บ้านของกวีที่ปรากฏ ก็เพื่อเพิ่มความหนักแน่นให้บ้านของกวีมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น จนผู้อ่านสามารถสัมผัสและรับรู้ ถึงการมีอยู่ของบ้านได้ นอกจากนั้นแล้ว บ้านของกวียังเปรียบเหมือนภาพแทนบ้านของผู้อ่าน ซึ่งทำให้เราเข้าถึงง่าย และกลายเป็นบ้านสมมติในจินตภาพไปโดยปริยาย
สำหรับบ้านที่เป็นของคนอื่น ในที่นี้กล่าวได้คือ เรื่องราวของบ้านเมืองและผู้คนในสังคมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในสังคมไทย หรือสังคมโลก เพื่อให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง และปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิด ทัศนคติที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากของกวี โดยกวีจะต้องอาศัยกวีทัศน์ เป็นเครื่องมือในการแสวงหามุมมองใหม่และนำเสนอผ่านกระบวนการสร้างจินตภาพเชิงกวีที่เข้มขึ้น เช่นในบทกวีชื่อ “บ้านหลังสุดท้าย สุดปลายแผ่นดิน (ครุ่นคำนึงผู้อพยพชาวโรฮิงญา)” ( หน้า ๙๑-๙๔ ) ได้เสนอไว้ว่า
อคติ—ประวัติศาสตร์—ชาติพันธุ์
มีดเล่มนั้น ที่หยิบยื่น ขึ้นสนิม!
ในกำมือ ไม่เลือกพุทธ มุสลิม
แต่เรียกเลือดทะลักลิ่ม เมื่อทิ่มแทง
....
พรมแดนโลก ไร้พรมแดน ไร้แผ่นดิน
ศรัทธาไม่สิ้น อัลลอฮ์สร้างโลกกว้างใหญ่
แต่ทางสิ้นสุดกลางโลกกว้างไกล!
ชีวิตเอ๋ย โลกกว้างไยไร้ที่ยืน!..
จากบทกวีข้างต้น จะเห็นได้ว่า กวีนำเสนอภาพผู้อพยพชาวโรฮิงญาในมุมมองที่ต่างกัน ทั้งจากคนภายนอกที่มองเข้าไปและมุมมองที่ออกมาจากตัวผู้อพยพเอง แสดงให้ผู้อ่านเข้าใจและรับรู้อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงแสดงทัศนะที่กวีมีต่อปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อันเป็นต้นตอการอพยพของชาวโรฮิงญา ซึ่งจากบทกวีแรกที่ยกมา คำว่า “ขึ้นสนิม” ในวรรครับ อาจเปรียบได้กับความคิดเก่าของผู้คนในสังคมเมียนมา ที่ยังยึดติดอยู่กับอคติ ประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ นำไปสู่การเข่นฆ่า ห้ำหั่นกันอย่างไม่จบสิ้น ทั้งกวียังได้รวบยอดความคิดเอาไว้ในวรรคส่งว่า
“แต่เรียกเลือดทะลักลิ่ม เมื่อทิ่มแทง” เป็นการชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เราต่างก็เป็นคนเหมือนกัน มีเลือดเนื้อและชีวิตจิตใจไม่ต่างกัน ในบทกวีส่วนหลัง กวียังได้เผยให้เห็นถึงมุมมองความคิด เกี่ยวกับหลักศาสนาอิสลามและโลกในความเป็นจริง ด้วยน้ำเสียงที่ตัดพ้อต่อโชคชะตาของผู้อพยพ อย่างในวรรคส่งที่ว่า “ชีวิตเอ๋ย โลกกว้างไยไร้ที่ยืน!...
อย่างไรก็ดี การที่เราเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับบ้านของเรา และบ้านของคนอื่นให้ดีมากขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่ว่าจะเป็นบ้านของเรา หรือบ้านของคนอื่นก็ล้วนแล้วแต่มีความหมายกับทุกชีวิตที่อยู่ในนั้นเสมอ
3.‘เหมือนเคียว ถึงคราบอกลาข้าว
ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของรวมบทกวี “ระหว่างทางกลับบ้าน” คือการใช้โวหารภาพพจน์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการเปรียบเทียบ หรืออุปมาโวหาร ซึ่งเป็นการเปรียบสองสิ่งที่เหมือนกัน อยู่ตรงข้ามกัน หรือการเชื่อมโยงความคิดจากสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งหนึ่ง โดยมีคำแสดงความหมายว่า “เหมือน” ปรากฎอยู่ด้วย เพื่อก่อให้เกิดจินตภาพ และขับเน้นอารมณ์ให้เกิดแก่ผู้อ่าน อาทิ
ไม่ใช่บ้านอยู่นานคล้ายกลายเป็นบ้าน
เป็นวันวาน ครรภ์แห่งทุกข์ ถูกคุมขัง
พ้นเรือนจำ ถือกำเนิด เกิดอีกครั้ง
เหมือนตกฟากจากฝั่งพลาดพลั้งมา
​( นอกกำแพงเรือนจำ : หน้า ๕๖)
ยุคไหนแล้ว เรื่องแบบนี้ยังมีอยู่?...
ไปสิ คุณไปดู ท้ายหมู่บ้าน...
เหมือนในหนัง? อย่างนิยาย? คล้ายนิทาน?
ไปดูเอง เล่าแล้วคร้านจะขนลุก
( บ้านผีปอป : หน้า ๗๒)
จากสองบทกวีข้างต้นจะเห็นว่า กวีเลือกใช้คำว่า “เหมือน อย่าง และคล้าย” ในการอุปมาให้เราเห็นภาพที่มีลักษณะเชื่อมโยงกัน เช่น “ไม่ใช่บ้านอยู่นานคล้ายกลายเป็นบ้าน” เป็นการสื่อความหมาย ระหว่างบ้านกับบ้าน ซึ่งคำว่า “ไม่ใช่บ้าน” ในที่นี้หมายถึง เรือนจำ จึงเป็นการเปรียบว่าการถูกจองจำเป็นเวลานาน ความคุ้นเคยอาจทำให้ที่อื่น กลายเป็นบ้านของเราได้ หรืออย่าง “เหมือนในหนัง? อย่างนิยาย? คล้ายนิทาน?” ก็เป็นการเปรียบความเชื่อเรื่องผีสาง กับหนัง นิยาย และนิทาน ว่าเป็นเรื่องที่สมมติขึ้น ไม่มีอยู่จริง
นอกจากนั้นแล้วกวียังใช้ “อุปลักษณ์” (metaphor) ในการเปรียบเทียบโดยนัย เน้นให้ผู้อ่านตีความจากถ้อยคำ หรือรูปภาษาเป็นหลัก อาทิเช่น
อยู่อย่างไร ใจและร่าง อยู่อย่างไร
บ้านที่ใครไม่นับญาติ หรืออาจอยู่
ลูก สามี เลือดหลั่งลงพรั่งพรู
ความหดหู่ ความเศร้าเป็นเสาเรือ
( บ้านซึ่งความเศร้าเข้ายึดครอง : หน้า ๙๘)
​พ่อครับ...
ตะวันลับเลือนดวงให้ห่วงหา
กลางแสงสุดท้าย ผ้ายลา
ทุ่งข้าวกล้าแตกรวงเป็นดวงดาว!..
​( หอมข้าวใหม่ : หน้า ๑๔๙ )
ทั้งนี้ กวียังใช้ “อติพจน์” (hyperbole) หรือการกล่าวเกินจริง ในบทกวีชื่อ “บ้านเรือนชาวซีเรีย (แขนและขาทั้งสองของประวัติศาสตร์)”เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียซึ่งกวีได้กล่าวไว้ว่า
แผ่นดินยก ภูเขาแยก กระแทกกระทั้น
โลกวันสุดท้าย ทันได้เห็น
ฟ้าแตกออก ดอกดวงดาว ร่วงกราวกระเด็น
เดือดฝุ่นทรายกระเซ็น ลุกเป็นไฟ
( หน้า ๑๐๗)
ในบางบทประพันธ์กวียังผสมผสานโวหารภาพพจน์หลายลักษณะ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มจินตภาพแจ่มชัด สร้างสัมผัสทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งให้แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
ภูมิลำเนา เล่ายุคสมัย ในคำร้อง
ภูมิลำนำ เปล่งทำนอง ท้องทุ่งกว้าง
วิถีชีวิต ชีวา จำลาร้าง
เหมือนข้าวกลางพรรษา บอกลาเคียว
เหมือนเคียว ถึงคราบอกลาข้าว
คนปักดำ ถึงคราว ไม่อยู่เกี่ยว
ผักกะแญง บานแล้วโรยอยู่โดยเดียว
เคยท่องเที่ยวทุ่งท่า หลับตาฟัง
( ลมหายใจในรอยเท้า : หน้า ๓๔)
จะสังเกตได้ว่า บทกวีที่ยกมาข้างต้น สะท้อนภาพสังคมเกษตรกรรม และวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทออกมาได้อย่างชัดเจน โดยโวหารภาพพจน์ที่กวีนำมาใช้ หนึ่งคือ “อุปมา” (simile) ดังเห็นได้จากคำว่า “เหมือน” ที่ขึ้นต้นในวรรคส่งของบทแรก ที่ว่า “เหมือนข้าวกลางพรรษา บอกลาเคียว” และในวรรคสดับของบทต่อมา “เหมือนเคียว ถึงคราบอกลาข้าว” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเพื่อรองรับความคิด ที่ใช้เปรียบเทียบกับข้อความในวรรครองของบทแรก ที่ว่า “วิถีชีวิต ชีวา จำลาร้าง” เมื่ออ่านต่อเนื่องกันแล้วจะสื่อความได้ว่า การที่คนในชนบทจำต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและวิถีชีวิตเดิมของตัวเองนั้น ถือเป็นการแยกสิ่งของที่คู่ควรออกจากกัน ไม่ต่างจากข้าวกลางพรรษา อันหมายถึงข้าวที่ยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว กับเคียวเครื่องมือที่ชาวนาใช้เกี่ยวข้าวนั่นเอง
และในบทกวีท่อนที่ยกมานี้ยังนำ “บุคลาธิษฐาน” (personification) ซึ่งเป็นการสมมติให้สิ่งที่ไม่มีชีวิต มีกิริยา อารมณ์และความรู้สึกเหมือนมนุษย์ อนึ่ง เพื่อให้ธรรมชาติได้ร่วมรับรู้สุขทุกข์ในอารมณ์ของมนุษย์ด้วยดังในวรรค “เหมือนเคียว ถึงคราบอกลาข้าว” เป็นการใช้โวหารในแง่ที่นำอาการ “บอกลา” ซึ่งใช้สื่อสารกันระหว่างมนุษย์ มาใช้กับ “เคียว” และ “ข้าว” เพื่อแสดงความคร่ำครวญ ห่วงหาอาลัยต่อกันและกัน สร้างจินตภาพที่แจ่มชัดขึ้น ให้ความรู้สึกถึงการจากลาที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และยังใช้ “นามนัย”(metonymy) โดยให้ “เคียว” สื่อถึงชาวนาผู้ใช้เคียวเกี่ยวข้าว และให้ “ข้าว” สื่อถึงบ้านเกิดและวิถีชีวิตในชนบทที่จำต้องพรากจากกันได้อีกด้วย
หากมองในภาพรวมของเนื้อหาและการใช้โวหารภาพพจน์ของกวีในหนังสือเล่มนี้ อาจเรียกได้ว่า “พอเหมาะ พอดี” อาจมีบ้างบางส่วนที่ประเด็นยังไม่ชวนขบคิดมากนัก แต่อย่างไรก็ดี กวีก็ยังสามารถสื่อสาร ผ่านมโนทัศน์ของตัวเองอออกมาในงานชุดนี้ได้อย่างแหลมคม และน่าชื่นชมสมชื่อกวีซีไรต์
4.บ้านคือรากฐานของชีวิต และจิตวิญญา
เห็นได้ชัดว่า รวมบทกวี “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร จันทาทิพย์ มีความเป็นเอกภาพอย่างชัดเจน เป็นการเล่าเรื่องบ้านหลากหลายมิติ ที่มีเจตนาเชื่อมโยงมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน โดยมี “บ้าน” เป็นจุดร่วมและจุดศูนย์กลางเดียว หลอมรวมให้เรารู้สึกรักและเห็นอกเห็นใจในบ้านของเรา และบ้านของคนอื่นมากขึ้น รวมทั้งการเก็บร้อยเรื่องรายทางที่ผ่านมาของกวี สั่งสมบ่มเพาะประสบการณ์ สะท้อนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบ้าน ที่มีความเป็นสากล ส่งผ่านถึงการรู้สำนึกและการไม่ลืมรากเหง้า ที่ทำให้เราโหยหาที่จะกลับสู่บ้านอีกครั้ง ฉะนั้นแล้ว “บ้าน” จึงถือได้ว่าเป็นรากฐานและพื้นฐานสำคัญของทุกชีวิต ที่มีส่วนบ่มสร้างจิตวิญญาณให้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เรียนรู้ที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนดีและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดีต่อไปได้
อ้างอิง
ญาณิกา อักษรนำ. (๒๕๕๘). พลวัตความหมายของคำว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บุญเลิศ วิเศษปรีชา. (๒๕๔๖). เปิดพรมแดน โลกของคนไร้บ้าน. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อังคาร จันทาทิพย์. (๒๕๖๑).ระหว่างทางกลับบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ ๓ .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผจญภัย.
โฆษณา